ทำความรู้จักกับ “แพทย์ทางเลือก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี” ตอน 4




หลังจากที่ได้รู้จักแพทย์แผนจีน ซึ่งเป็นแพทย์ทางเลือกหนึ่งกันไปแล้ว คอลัมน์ศุกร์สุขภาพ สัปดาห์นี้ยังมีเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับเรื่อง “แพทย์แผนไทยประยุกต์” ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

ขั้นตอนการรักษา

1. การคัดกรองเบื้องต้น : วัดสัญญาณชีพ และสอบถามอาการเบื้องต้น

2. การตรวจวินิจฉัย : แพทย์แผนไทยประยุกต์สอบถามข้อมูลการเจ็บป่วยรวมถึงประวัติอื่นๆ ที่จำเป็นเพื่อให้ครอบคลุมปัจจัยที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรค เพื่อวิเคราะห์ความผิดปกติของธาตุที่เสียสมดุลไป วินิจฉัย และวางแผนการรักษาให้สอดคล้องกับหลักการ โดยการจะปรับธาตุให้กลับมาสมดุลนั้นสามารถทำได้หลายวิธี ทั้งการจ่ายยาสมุนไพร ทำหัตถการนวดไทยแบบราชสำนัก ประคบสมุนไพร/น้ำร้อน อบไอน้ำสมุนไพร หรือบางอาการเพียงให้คำแนะนำการปฏิบัติตนที่เหมาะสม เช่น แนะนำให้ผู้ป่วยลองปรับเปลี่ยนวิธีคิด หรือการใช้ชีวิตเพียงเล็กน้อย อาการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่ก็อาจจะค่อยๆ ได้รับการเยียวยา และบรรเทาลงได้เช่นกัน

3. การบำบัดรักษา : ในปัจจุบันนี้ คลินิกแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลรามาธิบดีให้บริการด้านหัตถการเป็นหลัก ประกอบด้วยการนวดไทยแบบราชสำนักเพื่อการรักษาโรค การประคบสมุนไพร การอบไอน้ำสมุนไพร และการดูแลหญิงหลังคลอด แต่ถ้าผู้ป่วยต้องการปรึกษาเรื่องการรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์สามารถแนะนำวิธีปฏิบัติตนหรือยาสมุนไพรได้

4. การตรวจประเมินหลังการรักษาและให้คำแนะนำ : หลังเข้ารับการรักษาจะมีการประเมินผลการรักษาและอาการดำเนินโรค เพื่อที่จะสามารถให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับผู้ป่วยและวางแผนในการรักษาต่อไป

5. การนัดหมาย : ผู้ป่วยรับการนัดหมายเพื่อรักษาต่อเนื่องตามแผนการรักษา

6. การส่งต่อการรักษา : หากผู้ป่วยรับการรักษาแล้วยังมีความจำเป็นต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมเพื่อรักษาร่วมกันกับสหวิชาชีพ จะมีการส่งต่อการรักษาให้ผู้เชี่ยวชาญตามสาขาวิชาต่างๆ เพื่อการรักษาที่ตรงจุด

ค่าใช้จ่ายในการรักษา

อบไอน้ำสมุนไพร 30 นาที มีอัตราค่าบริการ 350 บาท และการนวดไทยเพื่อการรักษา มีอัตราค่าบริการเริ่มต้น 450 บาท ระยะเวลาการรักษาขึ้นอยู่กับอาการของโรค โดยปกติประมาณ 45-50 นาที รักษาครั้งละไม่เกิน 60 นาที ทั้งนี้ประเมินตามดุลยพินิจของแพทย์

การดูแลตนเองหลังเข้ารับการรักษา

1. ทบทวนและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์แผนไทยประยุกต์

2. สังเกตอาการของตนเองถ้ามีอาการผิดปกติใดๆ ให้ดูแลตนเองในเบื้องต้นก่อน ถ้าปฐมพยาบาลแล้วยังไม่ดีขึ้นให้ไปพบแพทย์แผนปัจจุบันที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือ โทรแจ้งสายด่วนเจ็บป่วยฉุกเฉิน 1669

ข้อห้ามในการนวด

1. ผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันหรือมีไข้สูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส
2. มีความดันโลหิตสูงเกิน 160/100 mmHg ที่มีอาการหน้ามืด ใจสั่น ปวดศีรษะ หรือคลื่นไส้อาเจียน
3. บริเวณที่มีกระดูกแตก หัก ปริ ร้าวที่ยังไม่ติดดี
4. บริเวณที่เป็นมะเร็ง
5. บริเวณที่เป็นแผลเปิด แผลเรื้อรัง หรือบริเวณที่มีรอยโรคผิวหนังที่สามารถติดต่อได้
6. บริเวณที่มีการบาดเจ็บภายใน 48 ชั่วโมง
7. บริเวณที่ผ่าตัดภายในระยะเวลา 1 เดือน
8. บริเวณที่มีหลอดเลือดดำอักเสบ (DVT)
9. มีภาวะกระดูกพรุนรุนแรง
10. ผู้ป่วยที่มีโรคที่ยังไม่ทราบการวินิจฉัยแน่นอน

!!! ควรระวังการนวดในหญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุและเด็ก

ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้หลังทำหัตถการ

1. ผลแทรกซ้อนที่ไม่อันตรายสามารถเกิดขึ้นและหายได้เองใน 3-7 วัน ได้แก่ อาการระบม รู้สึกไม่สบายเนื้อสบายตัว รอยแดง อาจไม่ต้องทำอะไร แต่ให้คอยสังเกตว่าอาการควรจะดีขึ้นเองเรื่อยๆ หากมีอาการระบมก็ให้ประคบอุ่นวันละ 1-2 ครั้ง หากมีอาการมึนศีรษะ เหงื่อออกมาก ประจเดือนมาเร็วกว่าปกติหรือมามากขึ้น ให้ดื่มน้ำอุ่นๆ และนอนพักผ่อนให้เพียงพอ ประคบอุ่นเบาๆ บริเวณต้นคอ กลางหลัง หรือท้อง หลีกเลี่ยงอาหารแสลง หากอาการไม่ทุเลาหรือเป็นหนักขึ้นให้รีบพบแพทย์แผนปัจจุบัน

2. ผลแทรกซ้อนที่ต้องได้รับการรักษาโดยเร็ว ได้แก่ อาการปวดระบมกล้ามเนื้อมากจนลุกเดินไม่ได้ มึนศีรษะมากจนเดินเซ อ่อนแรง ชา บวมรุนแรง ความดันโลหิตสูงฉับพลัน หัวใจเต้นผิดจังหวะผิดปกติโดยที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์แผนปัจจุบันโดยเร็ว

หลักการรักษาของแพทย์แผนไทยคือมุ่งเน้นเรื่องการปรับความสมดุลของธาตุให้เป็นปกติ ซึ่งอาการผิดปกติบางอย่างสามารถหายได้ด้วยการปรับพฤติกรรมโดยไม่จำเป็นต้องทำหัตถการหรือพึ่งยาด้วยซ้ำ ดังนั้น การรักษาที่แท้จริงจะเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยได้เรียนรู้และเข้าใจว่าสุขภาพที่ดีเกิดจากความสมดุลของร่างกายและจิตใจของตนเอง ได้ฝึกฝนทักษะการใช้ชีวิตประจำวันให้สอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติและมีความสามารถในการปรับตัวตามความเป็นจริงของธรรมชาติที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา หมั่นสังเกตอาการปกติและผิดปกติของตนเอง จนสามารถเป็นหมอรักษาตนเองได้ ยามเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์อีกต่อไปเพราะมีหลักในการดูแลตนเองแล้ว แต่หากมีข้อสงสัยก็ยังสามารถมาปรึกษาแพทย์แผนไทยประยุกต์เพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสมต่อไป จึงเป็นเรื่องสำคัญในการทำความเข้าใจความเป็นจริงของธรรมชาติ เพราะจะช่วยทำให้เราสามารถแก้ไขปัญหาของชีวิตเราได้ตรงจุดและถาวร

อ่านเพิ่มเติม

ทำความรู้จักกับ “แพทย์ทางเลือก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี” ตอน 1

ทำความรู้จักกับ “แพทย์ทางเลือก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี” ตอน 2

ทำความรู้จักกับ “แพทย์ทางเลือก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี” ตอน 3

แหล่งข้อมูล
แพทย์แผนไทยประยุกต์ สุชานนท์ เบ้าสุวรรณ หน่วยตรวจผู้ป่วยนอกแพทย์ทางเลือก ศูนย์บริการทางการแพทย์ สาขาโรงเรียนเรวดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทรศัพท์ 064-585-0938-9