พระสมเด็จ พิมพ์ใหญ่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดระฆังฯ วงการยกให้เป็นระดับ “พระองค์ครู”




พระสมเด็จ พิมพ์ใหญ่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังฯ ของ “โป๊ยเสี่ย” นายไชยทัศน์ เตชะไพบูลย์.

มาเปิดสนามพระวันนี้ ก็สังเกตว่าถึงจะมีคนติดโควิดมากขึ้น แต่ผู้คนก็ยังใช้ชีวิตปกติ ไม่ได้หวาดกลัวเหมือนตอนระบาดใหม่ๆ เพราะมั่นใจว่ามีวัคซีนแล้ว และยารักษาก็พัฒนาดีขึ้นเรื่อยๆ ปราบอยู่ กับหลายคนที่ติด ก็บอกเหมือนกันว่า สามสี่วันก็หาย อาการก็แค่ไอๆ มีเจ็บคอ เสียงแหบ แต่ไม่ได้หนักหนาถึงกับล้มหมอนนอนเสื่อ–แต่ทั้งนี้ก็ต้องไม่ประมาท อะไรป้องกันได้ก็ต้องทำนะท่านผู้ชม

องค์แรก ตามคำขอแฟนคลับอยากเห็น พระสมเด็จ พิมพ์ใหญ่ วัดระฆัง สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังฯ กรุงเทพฯ จึงไปค้นกรุภาพพระสมเด็จองค์แชมป์ ระดับ “องค์ครู” เลือกองค์นี้มาให้

พระเป็นของ โป๊ยเสี่ย–นายไชยทัศน์ เตชะไพบูลย์ ที่ซื้อไปนานแล้ว และจำวัดเงียบเหมือนพระสมเด็จองค์ดังๆ ในตำนานนับสิบองค์

องค์นี้สภาพสมบูรณ์ สวยซึ้งด้วยฟอร์มทรงที่สมส่วน พิมพ์พระที่ชัดลึก เนื้อพระละเอียดหนักแน่น สีเนื้อขาวนวลสะอาดตา–รอยปาดหลังพระเป็นเอกลักษณ์ พระฝั่งธนฯ เห็นปุ๊บรู้เลย “วัดระฆังฯ”

จึงเป็นองค์ดัง ที่วงการยกให้เป็น “พระองค์ครู” อีกองค์ ซึ่งตอนได้ไป ราคาพระอยู่ที่หลักสิบล้าน แต่มาวันนี้ ราคาพระระดับนี้เริ่มมีการคุยที่หลักร้อยแร้ว

พระกริ่งฉลองพระชนม์ พ.ศ.๒๔๘๓ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) วัดสุทัศน์ ของ อิทธิ ชวลิตธำรง.

องค์ที่สอง เป็น พระกริ่ง ฉลองพระชนม์ พ.ศ.๒๔๘๓ สมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศน์ กทม. สร้างครั้งได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชฯ เมื่อวันที่ ๑๙ พ.ย.๒๔๘๓ ด้วยเนื้อโลหะผสม เหลืองแกมแดง ผิวกลับเป็นน้ำตาล จำนวนสร้าง ๓๓๐ องค์

๑ ในนั้นเป็นองค์นี้ ของ เสี่ยอิทธิ ชวลิตธำรง ที่เป็นพระสภาพงามสมบูรณ์เดิมๆ เป็นองค์ดารา จึงมีภาพแพร่หลายในหนังสือตำราพระกริ่งมาตรฐานมากมาย ถ้าเล่มไหนไม่มีองค์นี้ถือว่าไม่ค่อยมาตรฐาน

พระปิดตา พิมพ์ปั้น (วัดในปากทะเล) หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ ของมีชัย เถาเจริญ.

อีกรายการ เป็น พระปิดตา พิมพ์ปั้น (วัดในปากทะเล) หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ อ.เมือง จ.ชลบุรี พระปิดตา เนื้อผงดำ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเนื้อพระปิดตา ที่หลวงพ่อแก้วสร้างออกแพร่หลายไว้ที่วัดในปากทะเล จ.เพชรบุรี วัดเก่าแก่อายุเป็นร้อยปี ได้รับพระราชทานเป็นวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๙

มีประวัติว่า หลวงพ่อแก้วบวชและจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้ ฝึกวิชาจนแก่กล้าวิปัสสนากรรมฐาน และพัฒนาวัด โดยให้พระเณรและชาวบ้านเข้าป่าไปตัดไม้มาปลูกศาลาหรือกุฏิ ซึ่งงานโค่นต้นไม้ งานชักลากไม้ในป่า เป็นงานหนักเหนื่อย พระคนก็เจ็บป่วย หลวงพ่อแก้วจึงเริ่มสร้างพระปิดตาขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อให้ติดตัวเป็นกำลังใจ ไว้ป้องกันไข้ป่า ป้องกันสัตว์ป่าและภูตผีปีศาจ–ใครช่วยลากซุงจากป่ามาถึงวัด หรือเอาซุงมาถวาย ๑ ท่อน ท่านก็จะให้พระ ๑ องค์

พระปิดตารุ่นนี้เป็นพระปั้น เนื้อแกะด้วยมือ นั่งลอยองค์ พระหัตถ์สองข้างยกปิดตา ขาขวาทับซ้าย ในอดีตได้รับความนิยมเป็นรองพระปิดตาพิมพ์ปั้น (เนื้อน้ำตาล) ที่ออกวัดเครือวัลย์ ราคาก็ย่อมเยากว่า

แต่ปัจจุบันพระแท้ดูง่าย องค์งาม สมบูรณ์เดิมๆ อย่างองค์นี้ ของ เสี่ยสถิต ราชบุรี ทั้งความนิยมและราคาวิ่งมาใกล้เคียงกันมากแล้ว ขอบอก

พระผงยาวาสนา พิมพ์ลีลาหนังตะลุง หลวงปู่ บุญ ขันธโชติ วัดกลางบาง แก้ว ของอิทธิ ชวลิตธำรง.

องค์ที่สี่ เป็น พระผงยาวาสนา พิมพ์ลีลาหนังตะลุง หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม พิมพ์นิยม เนื้อนิยม ที่สุด ในสกุล “หลวงปู่บุญ” ที่หายากมาตั้งแต่โบราณ

เพราะ หลวงปู่บุญ ท่านสร้างพระพิมพ์นี้ เพื่อมอบศิษย์ใกล้ชิดคนสำคัญ ถึงปัจจุบัน พระอายุการสร้างเกือบ ๑๐๐ ปีแล้ว เนื้อพระมีพบแพร่หลาย ได้รับความนิยมทั้งเนื้อดิน เนื้อผงพุทธคุณ แต่น้อยนักที่จะพบเนื้อผงยาวาสนา ที่มีผู้แสวงหากันมาก

พระมีจำนวนน้อย และมีอยู่กับผู้มีฐานะ คนอยาก ได้จึงต้องสู้ราคาบุกแบบต้องสะใจเจ้าของเดิม

อย่างองค์นี้ที่ได้ชื่อเป็นพระแชมป์องค์จริงในตระกูล เมื่อมาเจอกับ เสี่ยเพชร–อิทธิ คนชอบตัวจริง จึงจ่ายกันด้วยเงินพันก้อนใหญ่ หนัก ๒ กิโล!!

พระกริ่งเป็งย้ง เนื้อนวโลหะ พ.ศ.๒๕๒๐ หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี ของเฉิน รังเทพ.

ตามมาด้วย พระกริ่งเป็งย้ง เนื้อนวโลหะ พ.ศ.๒๕๒๐ หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี เขตบางกอกใหญ่ กทม. ๑ ในพระกริ่งยอดนิยมแถวหน้าสกุล “พระหลวงปู่โต๊ะ”

ตอนนั้น เฮียเป็งย้ง ตลาดพลู เซียนพระใหญ่ ศิษย์ใกล้ชิด ได้รับอนุญาตให้สร้าง และนำเข้าพิธีคราวเดียวกับพระกริ่งสายฟ้า เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐

พระสร้างด้วยวิธีเทหล่อแบบโบราณ ตำรับวัดสุทัศน์ จำนวน ๕๐๐ องค์ และพระชัยวัฒน์ ๑,๐๐๐ องค์ องค์นี้ของ เสี่ยเฉิน รังเทพ เป็นพระสภาพสวยสมบูรณ์ เดิมๆ

เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.๒๕๑๐ เนื้อนวะกะไหล่ทอง หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี ของโอลาฟ กิติศิริสวัสดิ์.

ตามมาด้วย เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.๒๕๑๐ เนื้อนวะกะไหล่ทอง หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ ของ เสี่ยโอลาฟ กิติศิริสวัสดิ์

เป็นเหรียญปั๊มรูปเหมือนท่าน สร้างออกเป็นที่ระลึก รุ่นแรก ในงานทำบุญอายุครบ ๘๐ ปี มีเนื้อโลหะ ๔ ชนิด คือ ๑.ทองคำ ๑๗ เหรียญ ๒.เนื้อเงิน ๑๒๐ ๓.เนื้อนวโลหะ ๒,๕๐๐ ๔.เนื้อทองแดงรมดำ ๓,๐๐๐ เป็นเหรียญปั๊มรูปไข่ มีหูในตัว ด้านหน้าเป็นรูปจำลองท่าน นั่งสมาธิเต็มองค์บนโต๊ะขาสิงห์ สองข้างองค์เป็นช่อดอกไม้ลายกนก ด้านล่างมีแถบโบบอกนามสมณศักดิ์พระครูวิริยะกิตติ (หลวงปู่โต๊ะ) ด้านหลังกลางเหรียญเป็นยันต์ตรีนิสิงเห ล้อมด้วยอักษรบอกวาระการสร้างกับชื่อวัด

ปัจจุบันได้รับความนิยมสูง ถ้าเนื้อทองคำสภาพงามสมบูรณ์เดิมๆ ราคาหลักแสนถึงล้าน

เหรียญยันต์ดวง บล็อกนิยม ยันต์ทะลุ เนื้อเงิน หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ วัดสะแก ของโอลาฟ กิติศิริสวัสดิ์.

อีกสำนักเป็น เหรียญยันต์ดวง บล็อกนิยมยันต์ทะลุ เนื้อเงิน หลวงปู่ดู่ วัดสะแก อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา ๑ ในพระเกจิอาจารย์ยุคหลังปีกึ่งพุทธกาล

ท่านได้ชื่อในความเป็นพระแท้ และเผยแพร่พระธรรมได้อย่างล้ำเลิศลึกซึ้ง มีวิชาอาคมเข้มขลัง เพราะเป็นศิษย์สายตรงของหลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ พระเกจิระดับสูงสุดของเมืองกรุงเก่า

ท่านเกิดปี พ.ศ.๒๔๔๗ ในคืนวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ซึ่งเป็นวันวิสาขบูชา ที่บ้านสามเขา ต.ข้าวเม่า อ.อุทัย อยุธยา ในครอบครัวชาวนายากจน ตอนท่านเป็นทารกได้กลิ้งตกน้ำตอนแม่ไม่อยู่ แต่ตัวท่านลอยน้ำไปติดอยู่ข้างรั้ว แม่ได้ยินเสียงหมาเห่าก็วิ่งมาเอาขึ้นทัน จากเหตุการณ์นี้ทำให้ชาวบ้านพูดกันว่าเด็กคนนี้ต้องมีบุญวาสนา

แต่ท่านกำพร้าตั้งแต่ ๔ ขวบ ท่านไปอยู่กับยาย มีพี่สาวเลี้ยงดู และนำไปฝากที่วัดกลางคลองสระบัว วัดประดู่ทรงธรรม และวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ จนครบอายุก็บวช ที่วัดสะแก โดยมีหลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติการาม เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อแด่ วัดสะแก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลวงพ่อฉาย วัดกลางคลองสระบัว เป็นพระอนุศาสนาจารย์ ได้นามฉายา “พรหม ปัญโญ”

พรรษาแรกได้ศึกษาพระปริยัติธรรม ที่วัดประดู่ทรงธรรม โดยมี ท่านเจ้าคุณเนื่อง พระครูชม หลวงพ่อรอด (เสือ) เป็นพระอาจารย์สอน และเรียนและฝึกปฏิบัติสมถกรรมฐานกับหลวงพ่อกลั่น หลวงพ่อเภา

พอพรรษาที่ ๓ ท่านธุดงค์ไปสระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี ๓ เดือน ได้พบพระอาจารย์ถ่ายทอดวิชาอีกมาก ทำให้ท่านมีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติภาวนา เมื่อกลับถึงวัดท่านตัดสินใจไม่รับกิจนิมนต์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๐ เพื่อปฏิบัติและโปรดญาติโยม

เล่าว่า วันหนึ่งก่อนปี พ.ศ.๒๕๐๐ พอจำวัดท่านเกิดนิมิตว่าได้ฉันดาวที่มีแสงสว่าง ๓ ดวง เมื่อตื่นมาพิจารณาฝัน ท่านเข้าใจได้ว่าเป็นแก้ว ๓ ประการ คือไตรสรณาคมน์ ซึ่งเป็นแก่นแท้หรือรากแก้วของพระพุทธ ศาสนาที่ว่า พุทธังสะระณัง คัจฉามิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

เมื่อท่านภาวนาแล้ว ก็เกิดปีติ จึงกำหนดเอาเป็นองค์ภาวนา เป็นพระคาถาสำคัญประจำองค์ท่านตลอดมา

ท่านสอนศิษย์ให้ยึดมั่นในการปฏิบัติภาวนา โดยให้ศิษย์รู้จักการปรับปรุงแก้ไขตนเอง เช่น เมื่อมีลูกศิษย์กล่าวนินทาว่าร้ายผู้อื่นให้ท่านได้ยิน ท่านจะวางเฉย แต่จะกล่าวปรามว่า “เรื่องของคนอื่น เราเข้าไปแก้เขาไม่ได้ ที่แก้ได้คือตัวเรา แก้ข้างนอกเป็นเรื่องทางโลก แต่แก้ตัวเราเป็นการแก้ทางธรรม”

ตลอดอายุท่าน อนุญาตให้ศิษย์จัดสร้างพระเครื่องวัตถุมงคลหลายรุ่น เพื่อมอบผู้เข้าวัด ซึ่งท่านว่าเป็นกุศโลบายให้ศิษย์เข้าวัดปฏิบัติธรรม โดยท่านกล่าวรับรองว่า พระเครื่องที่ท่านสร้างมีอานุภาพความศักดิ์ สิทธิ์จริงทุกองค์ แต่ที่มี อานุภาพเหนือกว่าคือ การปฏิบัติธรรม ดังคำกล่าวว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่เหนือความศักดิ์สิทธิ์ คือกรรม

ผู้ปฏิบัติต้องมีพระสติ พระปัญญาจึงจะรู้เท่าทันกรรม ท่านบอกว่า วัตถุมงคล เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว จึงอนุญาตให้สร้าง เพราะ “ติดวัตถุมงคล ก็ยังดีกว่าจะไปติดวัตถุอัปมงคล”

ท่านเริ่มสร้างผงพุทธคุณ โดยใช้ดินสอพองปั้นเป็นแท่งเขียนอักขระเลขยันต์บนกระดานชนวน ลบผงมาผสมน้ำซาวข้าว ปั้นเป็นแท่งยาว ๓-๔ นิ้ว ๘ แท่ง นำมาเขียนอักขระเลขยันต์ แล้วลบจนหมดอีก ทำเช่นนี้ ๗ รอบ ตั้งแต่พรรษาที่ ๓ เก็บรักษาไว้ในโอ่งมังกรเป็นเวลากว่า ๓๐ ปี ได้ ๓ โอ่ง จึงนำมาสร้างพระในรูปแบบต่างๆ ที่ท่านกำหนดอย่างง่ายๆ

ในระยะหลังๆ จึงมีสร้างวัตถุมงคลเนื้อโลหะ เป็นเหรียญรูปเหมือนรูปพระ รูปพรหมแบบต่างๆ ล้วนมีชื่อเสียง ได้รับความนิยมสูง อาทิ พระสมเด็จลอยน้ำ พระเหนือพรหม (เพชรยอดมงกุฎ) ตะกรุด เงินยันต์ปั๊ม เหรียญรุ่นแรก เหรียญเปิดโลก หลวงปู่ทวด เหรียญปฏิบัติธรรม เหรียญมหาเศรษฐี–และเหรียญยันต์ดวง แบบเหรียญนี้ ของ เสี่ยโอลาฟ กิติศิริสวัสดิ์ ซึ่งเป็นเหรียญบล็อกนิยม ยันต์ทะลุ (ปัดตลอด) ที่มีกระแสความนิยมสูง–เนื้อพิเศษสร้างน้อย องค์งามๆ สภาพแกะกล่องแบบเหรียญนี้ ราคากลางพุ่งสูงถึง ๕-๖ แสน และยังไม่มีทีท่าจะหยุดสต็อป

เหรียญหน้าพรหมหรือนารายณ์แปลงรูป เนื้อเงิน อ.เทพ สาริกบุตร ของต่าย เชียงแสน.

อีกเหรียญ ก็เป็นที่ใฝ่ฝันเฝ้าหา คือ เหรียญหน้าพรหม หรือ นารายณ์แปลงรูป เนื้อเงิน อ.เทพ สาริกบุตร ฆราวาสผู้ได้ชื่อเป็นอาจารย์ใหญ่สายวิชาอาคม แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่มีลูกศิษย์ให้ความศรัทธาทุกระดับ

ท่านสร้าง เหรียญหน้าพรหม นี้ไว้ตามตำรับวิชานารายณ์แปลงรูป ด้วยศิลปะที่วิจิตรงดงาม ประกอบพิธีอย่างถูกต้อง เข้มขลัง มีอานุภาพความศักดิ์สิทธิ์สูง ด้านคุ้มครองป้องกันภัย ได้รับความนิยมสูง มีผู้แสวงหามาก แต่ก็หายาก เพราะสร้างน้อย–โดยเฉพาะเหรียญสมบูรณ์สวยเดิมๆ แบบเหรียญนี้ ของ เสี่ยต่าย เชียงแสน ที่ราคาหลักแสนมานานแล้ว

ลากันกับเรื่องปิดท้าย ของ เสี่ยชาติชาย นักนิยมพระเครื่อง “สายมู” ซึ่งชอบเดินทางไปกราบไหว้บนบานศาลกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั่วประเทศ ที่ไหนเป็นที่เลื่องลือ มีชื่อเสียง ใกล้ไกลแค่ไหนแกไปถึงโม้ด

ไปแล้วก็ขอให้ช่วยเรื่องโน่นนี่นั่น ที่อยากมีอยากได้ แบบว่าสากกะเบือถึงเรือรบ แกบนดะ ไม่ละเว้น โดยเฉพาะเรื่องตัวเลขโชคลาภ ซึ่งก็ได้โชคมากบ้างน้อยบ้างอยู่เสมอ

คราวนี้แกก็ขับรถพาเมียไปนั่งพนมมือแต้ ถวายของแก้บนตามสัญญา หน้าองค์ท้าวเวสสุวรรณ วัดดัง เมืองสมุทรสาคร ที่ให้โชคตามขอ เพราะซื้อสลากกินแบ่งแล้วถูกรางวัลที่ ๕ เป็นชุด ๕ ใบ ได้ลาภมา ๑๐๐,๐๐๐ เหนาะๆ

พอถวายของแก้บนเสร็จ เมียก็ลุกมายืนรอ พักใหญ่ เสี่ยชาติชาย จึงลุกตามมา เมียที่รอนานก็เลยพูดแซวว่า ขอแล้วท่านให้ เลยขอใหญ่เลยซิ เห็นนั่งภาวนาอยู่นานมาก

เสี่ยชาติชาย เอียงหน้ามองเมียบอกว่า ก็จริง ขอแล้วท่านให้ได้ จึงขออีก แต่ครั้งนี้ไม่ได้ขอตัวเลขร็อก เกรงใจท่าน แต่ขอเรื่องที่อยากได้มานานแล้ว แต่ไม่เคยได้

เมียก็ยิ้ม แชวว่า ขออะไรก็ได้ แต่อย่าขอมีเมียใหม่ก็แล้วกัน ท่านคงให้ไม่ได้ มันบาป

พูดจบ เสี่ยชาติชาย ส่ายหน้า ป๊าว ไม่ได้ขอมีเมียใหม่ แต่ขอให้ท่านช่วยให้ลื้อพูดบ่นว่านินทาน้อยๆลงหน่อย หรือไม่ก็ให้เป็นใบ้ไปเลยยิ่งดี เพราะรำคาญมานานเต็มทีแล้ว เจ้าค่ะ อามิตตพุทธ.

สีกาอ่าง