รู้ตัวก่อนสาย ใครบ้างเสี่ยงภาวะหัวใจล้มเหลว




ภาวะหัวใจล้มเหลว หรือที่ใครหลายคนคุ้นชินกันดีกับคำว่า “หัวใจวาย” นั้น เป็นอาการที่เราอาจจะมองว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัว โดยไม่รู้เลยว่าในความเป็นจริงแล้ว ทุกเพศ ทุกวัย ล้วนมีความเสี่ยงต่อภาวะนี้ทั้งสิ้น เช่นในช่วงต้นปีที่ผ่านมาเรามักจะเห็นข่าวการจากไปของบุคคลที่มีชื่อเสียงด้วยอาการหัวใจล้มเหลวทั้งที่อายุยังไม่มากอยู่บ่อยครั้ง แต่ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องภาวะหัวใจล้มเหลว เรามาทำความรู้จักกับหัวใจกันก่อน

อวัยวะในการทำหน้าที่สำคัญ “ หัวใจ ”

หัวใจเราเป็นอวัยวะในการทำหน้าที่สำคัญ หลักๆ คือรับเลือดจากส่วนต่างๆ ของร่างกาย ส่งไปรับออกซิเจนที่ปอด ก่อนจะรับเลือดจากออกซิเจนที่ปอดส่งกลับมาที่หัวใจ และส่งเลือดด้วยการบีบตัวนำเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ในร่างกาย ดังนั้นภาวะหัวใจล้มเหลวจึงเป็นภาวะที่หัวใจไม่สามารถทำหน้าที่รับและส่งเลือดได้ อาจจะเริ่มจากรับไม่ได้ และตามมาด้วยการส่งไม่ได้ ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้เกิดมาจากการที่กล้ามเนื้อหัวใจไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้

หัวใจวายมีกี่แบบ

ภาวะหัวใจล้มเหลว แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้
1. หัวใจด้านซ้ายล้มเหลว เกิดจากหัวใจห้องล่างซ้าย หรือห้องบนซ้าย มีความผิดปกติ จะมีอาการเหนื่อยง่ายในขณะที่ออกแรง หายใจไม่สะดวกขณะนอนราบ อ่อนเพลีย เป็นต้น
2. หัวใจด้านขวาล้มเหลว เกิดจากหัวใจห้องล่างขวา หรือห้องบนขวามีความผิดปกติ จะมีอาการบวมในบริเวณ เท้า ขา แน่นท้อง ท้องอืด เนื่องจากตับโตจากเลือดคั่งในตับ มีน้ำในช่องท้อง อาจพบอาการคลื่นไส้เบื่ออาหารร่วมด้วย

สาเหตุของการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวาย

หัวใจล้มเหลว คือ ภาวะใดๆ ก็ตามที่ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจทำหน้าที่ไม่ได้ ซึ่งมีสาเหตุที่มักพบได้บ่อยครั้งอยู่ ดังนี้
1. หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเกิดการอุดตัน ขาดเลือดเฉียบพลัน เลยทำให้กล้ามเนื้อหัวใจไม่สามารถทำหน้าที่ได้
2. ความดันโลหิตสูง ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวผิดปกติ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวขึ้น เมื่อทิ้งระยะเวลาไปนานๆ จะทำให้กล้ามเนื้อมีการยืดขยายในที่สุดส่งผลให้การบีบตัวไม่ดี
3. ความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจ เช่น ลิ้นหัวใจมีการตีบ หรืออุดตัน จะทำให้หัวใจมีการบีบเลือดออกไปข้างนอกได้ไม่ดี หรือมีการไหลย้อนกลับของเลือด ส่งผลให้หัวใจล้มเหลวได้, กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวกว่าปกติ, ความผิดปกติแต่กำเนิด และ ความผิดปกติของเยื้อหุ้มหัวใจ เป็นต้น
4. การเต้นของหัวใจผิดจังหวะ เช่น ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว
นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยเพิ่มเติม เช่น โรคเบาหวาน น้ำหนักเกิน สูบบุหรี่ การออกกำลังกายไม่เหมาะสม โรคโลหิตจาง การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินไป ไทรอยด์เป็นพิษ รวมไปถึงปัจจัยด้านกรรมพันธ์ เป็นต้น

ใครบ้างเสี่ยงกับภาวะหัวใจล้มเหลว

โรคหัวใจวาย หรือหัวใจล้มเหลวนั้นสามารถเกิดได้ในทุกกลุ่มอายุ ขึ้นอยู่กับว่าสาเหตุนั้นมาจากอะไร ถ้าเป็นอายุน้อยๆ ส่วนใหญ่จะเกิดจากปัจจัยทางด้านกรรมพันธุ์ เช่น มีลิ้นหัวใจที่ผิดปกติมาตั้งแต่กำเนิด แต่ไม่เคยแสดงอาการออกมาให้เห็น เมื่อไหร่ก็ตามที่มีสิ่งกระตุ้น เช่น เกิดการอักเสบ ติดเชื้อ ทำให้ลิ้นหัวใจอักเสบ ลิ้นหัวใจทำหน้าที่ได้ไม่ดี ก็จะส่งผลให้เกิดอาการหัวใจวาย หรือหัวใจล้มเหลวได้ หรือในบางคนมีกล้ามเนื้อหัวใจหนากว่าปกติ ซึ่งเป็นปัจจัยด้านพันธุกรรมมาตั้งแต่เด็ก และมีปัจจัยอย่างอื่นจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันมาเป็นตัวกระตุ้น เกิดภาวะที่ทำให้หัวใจทำหน้าที่เพิ่มขึ้น เช่น ติดเชื้อ ออกกำลังกายหนัก หักโหมมากจนเกินไป กินเค็ม มีความดันขึ้นสูง จะเป็นภาวะที่พบได้ในกลุ่มที่อายุน้อย แต่ในกลุ่มอายุมากๆ ส่วนใหญ่ก็จะมีปัจจัยรวมโรคร่วมด้วย เช่น โรคความดันโลหิตสูง ไขมัน เบาหวาน ซึ่งในผู้ที่เป็นโรคหัวใจส่วนใหญ่ในระยะแรกจะไม่มีอาการ จะเริ่มมีอาการเมื่อเป็นหนักขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือกระบวนการของโรคหัวใจที่จะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ไม่แสดงอาการให้เห็นเพราะหัวใจจะมีการพยายามปรับตัวเพื่อให้ร่างกายสบายและเป็นปกติที่สุด จึงไม่มีอาการ ดังนั้นเมื่อไม่เห็นมีอาการ อย่าคิดว่าไม่เป็นอะไร ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ปัจจัยทางด้านกรรมพันธุ์ ควรหมั่นเช็กสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ

หัวใจวาย ป้องกันได้อย่างไร

1. กลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น มีคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ มีน้ำหนักตัวมาก ไม่ค่อยออกกำลังกาย มีความดันสูง มีไขมันสูง ควรตรวจเช็กสุขภาพ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ถ้าหากว่ามีอายุเกิน 35 ปี จะแนะนำให้ตรวจเช็กหัวใจเบื้องต้นไปก่อน ถึงแม้จะไม่มีอาการอะไรเลยก็ตาม ด้วยการเจาะเลือดเพื่อดู ความดัน เบาหวาน ไขมัน เอกซเรย์ปอด และดูความผิดปกติของหัวใจด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ รวมไปถึงการตรวจด้วยการเดินสายพานเพื่อตรวจเช็กภาวะของหัวใจ และควรมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันเพื่อแก้ไขปัจจัยเสี่ยงข้างต้น ป้องกันให้ไม่เกิดโรคหัวใจในลำดับถัดไป
2. กลุ่มที่มีความผิดปกติของหัวใจตั้งแต่กำเนิด ต้องดูว่าเป็นความผิดปกติในรูปแบบไหน เช่น ลิ้นหัวใจหย่อน ลิ้นหัวใจรั่วไม่เยอะมาก ไม่มีอาการ สามารถใช้ชีวิตได้ปกติ ควรมาตรวจปีละครั้ง แต่ถ้ามีความผิดปกติมาก กระทบการใช้ชีวิตประจำวันก็ควรมาพบแพทย์บ่อยขึ้นตามความเห็นของแพทย์ว่าอาการอยู่ในระดับรุนแรงขนาดไหน ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มของผู้ที่มีความผิดปกติของหัวใจตั้งแต่กำเนิดได้ 2 ประเภท
· หัวใจผิดปกติมาตั้งแต่กำเนิด ได้รับการผ่าตัดแก้ไขจนเหมือนปกติแล้ว ควรมาตรวจเช็กสุขภาพและหัวใจอีกครั้งหลังจากอายุเกิน 35 ปี
· หัวใจผิดปกติมาตั้งแต่กำเนิด ได้รับการผ่าตัดแก้ไขแล้วแต่ยังคงมีร่องรอยเหลืออยู่ ควรมีการติดตามอาการเป็นระยะตามร่องรอยที่คุณหมอตรวจพบ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้กลับมาเป็นอีกครั้ง

อาการเข้าข่ายเสี่ยงภาวะหัวใจล้มเหลว

อาการที่จะสังเกตได้อย่างชัดเจนนั้น ระยะเริ่มแรกจะเดินเหมือนคนที่ไม่ค่อยมีแรง เนื่องจากหัวใจบีบตัวนำเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ในร่างกายไม่เพียงพอ มีอาการเหนื่อยง่าย เวลาที่ออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงหนักมาก มีอาการขาบวม เท้าบวม นอนราบไม่ได้ น้ำท่วมปอด ในบางคนมีอาการบวมน้ำที่ท้อง ทำให้แน่นท้อง เบื่ออาหาร ดังนั้นถ้าหากมีอาการที่แตกต่างไปจากชีวิตประจำวันโดยปกติควรมาตรวจก่อนเพื่อให้สามารถระบุได้ว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจหรือไม่ ซึ่งถ้ามาตรวจพบตั้งแต่ในระยะแรกๆ ในบางกรณีอาจไม่ต้องพึ่งยารักษาเพียงแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก็ทำให้อาการดีขึ้นได้ ผลการรักษาจะดีกว่ามาตรวจพบตอนที่เป็นมากขึ้นแล้ว และปล่อยทิ้งไว้นานๆ

ผู้ป่วยโรคหัวใจกับการติดโควิด-19

โควิดคือการอักเสบติดเชื้อ ที่สามารถก่อให้เกิดโรคหัวใจได้ เพราะมันสามารถทำให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือด และถ้าหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเกิดการอักเสบ ก็จะทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือขาดเลือดได้ และด้วยโรคโควิดเองนั้นก็ยังสามารถทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และกระตุ้นทำให้เกิดหัวใจวาย ทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ รวมไปถึงโควิดสามารถทำให้ปอดติดเชื้อเกิดการอักเสบ ทำให้ออกซิเจนในร่างกายต่ำ หัวใจทำงานหนักขึ้น ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคได้เช่นกัน ดังนั้นในกรณีผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจก่อนที่จะติดเชื้อโควิดก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงอันตรายมากกว่าคนทั่วไป 2-3 เท่า ทางแพทย์จึงแนะนำผู้ที่เป็นโรคหัวใจควรได้รับการฉีดวัคซีนโควิดทุกราย ถึงแม้จะได้รับเชื้อโควิด ความรุนแรงของอาการก็จะน้อยลง เนื่องจากมีภูมิต้านทานบ้างแล้ว และควรออกกำลังกายตามแพทย์แนะนำอย่างเหมาะสม จะเป็นการช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันได้
ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีนวัตกรรมการผ่าตัดที่หลากหลายวิธี รวมถึงการให้ยาเพื่อช่วยรักษา แต่ผลจากการรักษานั้นทำให้คุณภาพชีวิตไม่ได้ดีเหมือนก่อนที่มีอาการ การป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากความเสี่ยงนี้จึงเป็นหนทางที่ดีกว่าการรักษา ดังนั้นเราควรตรวจเช็กสุขภาพและหัวใจอยู่เสมอ เพื่อป้องกันตนเองก่อนที่จะเกิดโรค เพราะโรคนี้จะไม่แสดงอาการในตอนต้น ถ้าตรวจพบความผิดปกติเพียงเล็กน้อยในช่วงระยะแรก ก็สามารถที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ดูแลสุขภาพของตนเองให้แข็งแรง เพื่อห่างไกลโรค และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขตามที่ต้องการ

บทความโดย : พญ.ปาริฉัตร การปลื้มจิตต์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ ศูนย์หัวใจ รพ.พญาไท 2