ไขข้อสงสัย “ฝันร้าย” เกิดจากอะไร เป็นสัญญาณเตือนสุขภาพหรือไม่?




เชื่อว่าหลายคนต้องเคยฝันร้าย (Nightmare) ในขณะกำลังนอนหลับ ซึ่งบางครั้งฝันร้ายนั้นก็อาจทำให้สะดุ้งตื่นเลยก็ได้ แม้คนไทยบางส่วนอาจตีความไปถึงเรื่องการทำนายฝัน แต่จริงๆ แล้ว การฝันร้ายเป็นภาวะที่สามารถบ่งบอกได้ถึงสัญญาณสุขภาพบางอย่าง โดยเฉพาะผู้ที่นอนหลับฝันร้ายอยู่บ่อยๆ ก็อาจต้องหาสาเหตุที่แท้จริงให้พบ เพื่อที่จะได้นอนหลับพักผ่อนอย่างมีคุณภาพในเวลากลางคืน

ทำความรู้จัก “ฝันร้าย” คืออะไร?

ฝันร้าย คือ ความฝันที่ทำให้เกิดการตอบสนองทางอารมณ์ในเชิงลบ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในขณะที่เรานอนหลับ และกล้ามเนื้อสมองกำลังควบคุมการเคลื่อนไหวของการทำงานของร่างกายหลายๆ ส่วน โดยฝันร้ายส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องราวที่ยาว หรือภาพที่ซับซ้อน บางครั้งก็อาจปะติดปะต่อเรื่องราวไม่ได้ ในขณะที่บางคนก็มักจะฝันร้ายตอนเช้า มักส่งผลให้ผู้ฝันเกิดความรู้สึกหวาดวิตก หวาดกลัว โศกเศร้า จนบางครั้งฝันร้ายก็ทำให้สะดุ้งตื่นขึ้นมานั่นเอง

สาเหตุของ “ฝันร้าย” เกิดจากอะไรได้บ้าง?

การฝันร้ายอาจเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน บางคนอาจฝันว่าตกจากที่สูงจนสะดุ้งตื่น แต่ในผู้ใหญ่ที่มักฝันร้ายบ่อยๆ หรือฝันร้ายทุกคืนจนสะดุ้งตื่น ทำให้ไม่ได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ก็อาจเกิดจากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพ โดยส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 60 มักมีสาเหตุมาจากภาวะความเครียด ความวิตกกังวล จนทำให้ฝันร้ายขณะนอนหลับ และยังมีสาเหตุอื่นๆ ดังต่อไปนี้

  • เกิดเรื่องราวสะเทือนใจและเหตุการณ์เจ็บปวดทางจิตใจจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก
  • มีอาการของ PTSD หรือ โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง
  • สูบบุหรี่เป็นประจำ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
  • ใช้ยาที่มีผลข้างเคียง เช่น ยานอนหลับ เป็นต้น
  • มีปัญหาด้านสุขภาพจิต เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า
  • รับประทานอาหารที่ย่อยยาก ก่อนเข้านอน
  • มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ

ฝันร้ายทุกคืน ฝันร้ายบ่อย มีวิธีป้องกันอย่างไร?

หากฝันร้ายแล้วสะดุ้งตื่นอยู่บ่อยครั้ง จนกระทบต่อสุขภาพการนอน ทำให้ร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ ควรหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อหลีกเลี่ยงการฝันร้าย และช่วยให้สามารถหลับง่ายได้มากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างดังนี้

  • ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนก่อนนอน เช่น ชา กาแฟ ช็อกโกแลต น้ำอัดลม
  • พยายามทำกิจกรรมผ่อนคลายก่อนนอน เพื่อหลีกเลี่ยงความเครียด
  • รักษาอุณหภูมิในห้องไม่ให้ร้อนหรือเย็นจนเกินไป
  • ปิดผ้าม่าน ปิดไฟ ทำให้ห้องมืดสนิท จะช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น
  • ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 20-30 นาที แนะนำให้ออกกำลังกายในช่วงเย็น หรือประมาณ 3-4 ชั่วโมงก่อนเข้านอน
  • กำหนดเวลานอนให้เหมือนกันในทุกวัน เพื่อให้ร่างกายได้จดจำเวลาเข้านอน-ตื่นนอน
  • หลีกเลี่ยงการเล่นโซเชียลมีเดีย หรือติดตามข่าวเครียดๆ ก่อนนอน 

อย่างไรก็ตาม หากทำตามคำแนะนำข้างต้นแล้ว พบว่ายังไม่สามารถแก้ไขปัญหาการนอนฝันร้ายที่รบกวนคุณภาพการนอนได้ หรือรู้สึกว่าส่งผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตประจำวัน ก็ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จะได้รักษาได้อย่างตรงจุด และเพื่อให้ได้สุขภาพการนอนที่ดีคืนกลับมา

อ้างอิงข้อมูล : กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

อ่านเพิ่มเติม