แสงแดด…ชายหล่อล่ำ หญิงสวยเพรียว…




เรื่องแสงแดดและรังสีอัลตราไวโอเลต หรือยูวี ในสมัยก่อน ตั้งแต่ปี 1928 ที่พบว่า รังสียูวี ทำให้เกิดมะเร็งของผิวหนังได้เลยทำให้มีการหลีกเลี่ยงแสงแดดกันมาตลอด

ตราบจนกระทั่งประมาณปี 1980 เป็นต้นมาที่เริ่มเป็นที่ประจักษ์ว่าแสงแดดมีคุณประโยชน์นานัปการ โดยการติดตาม รวมทั้งมีการศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่าแสงแดดเปรียบเสมือนกับเป็นยาอายุวัฒนะ ทำให้มีชีวิตยืนยาวขึ้นและยังสามารถป้องกันโรคหัวใจและเส้นเลือดทั้งร่างกาย รวมกระทั่งถึงสาเหตุการตายต่างๆจนถึงมะเร็ง

ทั้งนี้ยังปรับสมดุลการทำงานของตับทำให้ต้านพิษได้เก่งขึ้น และทำให้โรคที่เรียกว่าโรคเมตาบอลิก อ้วน ลงพุง เบาหวาน ไขมันความดัน สามารถชะลอหรือควบคุมได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ แสงแดดกับสุขภาพที่ดีนั้นไม่สามารถอธิบายได้จากการที่แสงแดดทำให้เกิดการสังเคราะห์วิตามินดี เนื่องจากพิสูจน์แล้วว่าการเสริมวิตามินดี ไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงในการตายและการป้องกันการเกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดต่างๆ รวมกระทั่งถึงมะเร็ง

ผิวหนัง จัดเป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดในร่างกายมนุษย์และถือเป็นปราการด่านแรกในการปกป้องอันตรายจากภายนอก ผิวหนังชั้นนอกสุด (epidermis) และชั้นถัดมา (dermis) มีการสอดแทรกแยกออกจากกัน ด้วยเซลล์ Keratinocyte และ Melanocyte ในชั้น dermis มีเซลล์ fibroblasts และหลอดเลือด โดยที่ชั้นล่างสุด (hypodermis) เป็นเซลล์ไขมัน adipocytes ผิวหนังเป็นอวัยวะที่เชื่อมโยงกับระบบต่อมไร้ท่อ ทั้งนี้ โดยที่มีเซลล์ที่เป็นตัวรับฮอร์โมนหลายชนิด และยังมีการสร้างสารเอนโดฟิน วิตามินดี และฮอร์โมนเอสโตรเจน เป็นต้น

ความแตกต่างของเพศ คือผู้ชายและผู้หญิง (sexual dimorphisms) เป็นที่สนใจกันมานานมาก ว่าอวัยวะ ผิวหนังของชายและหญิงจะมีอะไรแตกต่างกันบ้าง เหมือนกับที่ทราบกันในระบบอื่นๆ ไม่ว่าอัตราความต้องการ การใช้และการเผาผลาญพลังงาน พละกำลังความแข็งแรง ความแตกต่างกันในการทำงานของเซลล์ ในหลอดลมรวมกระทั่งถึงในระบบเลือด ทั้งเม็ดเลือดขาว และการแข็งตัวของเลือด รวมกระทั่งถึงระบบภูมิคุ้มกันที่เป็นชนิดฉับพลันออกฤทธิ์ทันทีแต่ไม่เจาะจง (innate) กับชนิดที่ออกฤทธิ์ช้าแต่มีความจำเพาะมากกว่า (adaptive immunity) และในการทำงานของสมองการศึกษาของหลายคณะจากสถาบันต่างๆ ร่วมกันของประเทศอิสราเอลได้ทำการวิเคราะห์เจาะลึก ถึงผลของแสงแดด ยูวี ต่อเพศชายและหญิง ในกระบวนการความต้องการอาหาร ความอยาก ความหิว การใช้และการเผาผลาญพลังงาน อะไรที่เป็นตัวควบคุม ที่ผ่านทางผิวหนังและด้วยกลไกอะไร และมีการประเมิน ผลกระทบต่อร่างกายโดยการวิเคราะห์เลือดโดย mass spectrometry

และดูความสัมพันธ์กับหน้าที่การควบคุมร่างกายโดย proteomap และ gene ontology รายงานในวารสาร Metabolism) ติดตามประชากรในช่วงที่มีแสงแดดแตกต่างกันในแต่ละ ฤดู พบว่า ผู้ชายจะได้รับอิทธิพลจากแสงแดดอย่างชัดเจนมากกว่าผู้หญิง และมีความอยากอาหารมากกว่า โดยไปตามระดับของฮอร์โมน ghrelin โดยตัวที่ผลิต ฮอร์โมนนี้มาจากเซลล์ adipocytes ที่ผิวหนัง เมื่อกระทบกับแสงยูวีบี โดยผ่านกลไกของ p53 หรือที่เราเรียกว่า เป็นโปรตีนที่เป็นเทวดาอารักษ์ของจีโนม (guardian of genome)

ทั้งนี้ หน้าที่โดยสังเขป คือควบคุมวงจรชีวิตของเซลล์ให้มีการซ่อมแซม ดีเอ็นเอ เมื่อเจอกับอันตราย และที่จะก่อมะเร็ง รวมทั้งความแก่ชรา และในความสั้น ยาวของเส้นทีโลเมียร์ (telomere) ที่เกี่ยวกับอายุ และควบคุมความเสถียรของยีน (genomic stability) และถ้ามีความเสียหายเกินที่จะเยียวยาได้ ก็จะกำหนดให้เซลล์ตาย (programmed cell death) และยังเกี่ยวพันกับ ระบบการควบคุม การคลี่และบิดเกลียวของโปรตีน ที่จะเป็นพิษทำให้เซลล์ตาย (unfolded protein response และ ubiquitinylation)

สำหรับในผู้หญิงนั้น ที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน จะมีผลในการยับยั้ง p53 และทำให้ไม่เพิ่มระดับของฮอร์โมน ghrelin เมื่อถูกแดด ดังนั้น ผู้หญิงก็จะรู้สึกเฉยๆ เมื่อถูกแสงแดดและไม่ได้เกิดมีความหิวหรือความอยากอาหารที่จะกินหรือ บริโภคมากขึ้น

ในผู้ชายเมื่อเปรียบเทียบกับฤดูที่มีแสงแดดมากและน้อยจะพบว่าปริมาณการบริโภคพลังงานจะต่างกันมากเฉลี่ย 2,188 กิโลแคลอรีต่อ 1,875 กิโลแคลอรี ในขณะที่ฝ่ายหญิงจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกันคือ 1,475 ต่อ 1,507 กิโลแคลอรี… ในส่วนของผู้ชายนั้น ส่วนประกอบของอาหารที่เพิ่มขึ้นเป็นทั้งคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน โซเดียม โอเมก้าสาม สังกะสีและธาตุเหล็ก ผลของแสงแดดต่อผู้ชาย ยังทำให้มีการเพิ่มเมตาบอลิซึม ของไขมันและสเตียรอยด์และเปปไทด์ที่เกี่ยวข้องกับเมตาบอลิซึม ในวงจรยูเรีย apoli poprotein ไขมันดี HDL PPAR signaling ในการรับและส่งสัญญาณอันตรายของเซลล์

การศึกษาในหนูยืนยันผลที่ได้จากการทดสอบในมนุษย์ ทั้งในด้านพฤติกรรม ความอยากอาหารและผลที่เกิดขึ้นในการเผาผลาญและการใช้พลังงานและเกี่ยวข้องกับการสร้างฮอร์โมนจากเซลล์ผิวหนังในอดีตนั้น เราเข้าใจว่า ghrelin ถูกสร้างจากกระเพาะ แต่ก็เป็นเพียงในจำนวน 60% เท่านั้น และจากข้อมูลในรายงานนี้ ทำให้มีความกระจ่างชัดขึ้นว่า p53 จะปฏิบัติตัวเป็นฟัลครัม หรือ เหมือนจุดคานงัดไม้กระดก และไม่เพียงแต่เป็นเทวดาอารักขา การอยู่หรือตายของเซลล์ และการป้องกันการเกิดเนื้องอกหรือมะเร็งเท่านั้น ยังมีตัว ghrelin เป็นตัวกระตุ้นให้มีการซ่อมแซมดีเอ็นเอที่เสียหายไป

ในส่วนของสมดุลในระดับเซลล์นี้ยังเกี่ยวพันกับฮอร์โมน leptin ซึ่งออกฤทธิ์ตรงข้ามกับ ghrelin

วงจรของผิวหนังฮอร์โมนยังเชื่อมโยงประสานกับสมองผ่านทางกลูตาเมต ซึ่งกระตุ้นการเรียนรู้ของสมอง และ ghrelin ยังมีการเชื่อมกับระบบที่ทำให้ผ่อนคลายความวิตกกังวล รวมกระทั่งปกป้องสมองจากภยันตรายต่างๆ มีฤทธิ์ในการต่อต้านการอักเสบช่วยปกป้องหัวใจและควบคุมความดันทำให้ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคทางหัวใจและเส้นเลือด รวมกระทั่งบรรเทาภาวะดื้ออินซูลิน ในโรคเมตาบอลิกซินโดรม ต่างๆ และระบบภูมิคุ้มกัน

ผลของการศึกษานี้ ยืนยันความสำคัญของแสงแดดที่ผ่านกระทบมาถึงระบบผิวหนังและส่งต่อในการสร้างสมดุลการทำงานของทุกระบบของร่างกาย รวมกระทั่งถึง สมอง หัวใจ เส้นเลือดและระบบภูมิคุ้มกันต่างๆ ให้ไม่เกิดความวิปริตแปรปรวน

ผลของการศึกษานี้ แม้ดูเหมือนว่าผู้ชายน่าจะได้ประโยชน์มากกว่าผู้หญิงเมื่อถูกแดด แต่พวกเราต้องไม่ลืมว่าในการถูกแดดนั้น ถ้ามีการออกกำลัง เคลื่อนไหวร่วมด้วย จะเพิ่มหรือเปล่งประสิทธิภาพของแสงแดดขึ้นไปอีก และในผู้ชายถึงแม้จะกินมากแต่เมื่อออกกำลังไปด้วยก็จะกลายเป็นหล่อล่ำ

ส่วนในผู้หญิง แม้จะมีฮอร์โมนเพศหญิงคอยแทรกแซงอยู่ แต่แน่นอนยังคงได้ประโยชน์อยู่ด้วยและถ้าไม่เพิ่มความอยากอาหารจะกลับได้ความแข็งแรงสวยเพรียวและดำขำขึ้นเป็นการทดแทน

และเราคงจะได้คำขวัญของ “แสงแดด เดินวันละ 10,000 ก้าว และเข้าใกล้มังสวิรัติ” ก็จะอายุยืน สุขภาพดี ไม่มีโรค ไปทั้งหมดนะครับ.

หมอดื้อ