เปิดตำนาน “วันสารทจีน 2565” ที่มาความเชื่อไหว้บรรพบุรุษ




วันสารทจีน 2565 ตรงกับวันอะไร? สำหรับปีนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม ถือเป็นอีกหนึ่งเทศกาลสำคัญของลูกหลานชาวจีนทั่วโลก ที่จะได้กลับมารวมตัวกันเพื่อไหว้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษ ตามความเชื่อที่ส่งต่อกันมาอย่างยาวนาน ไทยรัฐออนไลน์จะพาไปทำความรู้จักว่า “วันสารทจีน” คืออะไร และมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจอย่างไรบ้าง 

ทำความรู้จัก วันสารทจีน คืออะไร?

วันสารทจีน (ภาษาอังกฤษ : Hungry Ghost Festival) คือ วันที่ลูกหลานชาวจีนจะเซ่นไหว้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ เพื่อแสดงถึงความกตัญญูกตเวที ซึ่งถือเป็นคุณธรรมข้อสำคัญในคติความเชื่อของจีน กำหนดวันสารทจีนจะยึดตามปฏิทินจันทรคติ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ของทุกปี

ในภาษาจีนเรียกวันสารทจีนว่า “จงหยวนเจี๋ย” (中元节) หรือที่มักเรียกกันง่ายๆ ว่า “กุ่ยเจี๋ย” (鬼节) ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่า “วันผี” โดยเชื่อว่าเป็นวันที่ยมบาลจะเปิดประตูนรก ให้ดวงวิญญาณได้กลับมาที่โลกมนุษย์ เพื่อรับผลบุญกุศลที่ลูกหลานและญาติพี่น้องทำไปให้

ชาวจีนและผู้ที่มีเชื้อสายชาวจีนก็จะมารวมตัวกันในวันสารทจีน เพื่อแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษด้วยการเซ่นไหว้อาหารและของคาวหวานต่างๆ สำหรับของไหว้วันสารทจีนก็มีมากมาย เช่น อาหาร ขนม ผลไม้มงคล น้ำชา ฯลฯ เพื่อไหว้เจ้าที่เจ้าทางและบรรพบุรุษ อีกทั้งยังมีการทำทานให้แก่วิญญาณเร่ร่อนอีกด้วย

ประวัติวันสารทจีน มีความเป็นมาอย่างไร?

ตำนานวันสารทจีน เป็นเรื่องราวที่เล่าถึง “มู่เหลียน” ชายผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ที่อาศัยอยู่กับมารดาใจบาป ผู้มักมีนิสัยขัดขวางการสร้างบุญกุศลของผู้อื่น จนกระทั่งวันหนึ่ง มารดาของมู่เหลียนเห็นคนนุ่งขาวห่มขาวในช่วงวันกินเจ แล้วรู้สึกหมั่นไส้ จึงให้ลูกชายไปเชิญผู้ถือศีลกินเจมาร่วมประทานอาหารที่บ้าน โดยออกอุบายว่าขอทำอาหารเลี้ยงสักมื้อ

ผู้ที่ถือศีลกินเจเมื่อทราบข่าว ก็หลงเชื่อว่ามารดาของมู่เหลียนเลื่อมใสในการสร้างกุศล จึงเดินทางมาตามคำเชิญ โดยที่ไม่ทราบว่าอาหารมื้อนั้นใช้น้ำมันหมูในการปรุงอาหาร ต่อมาเมื่อมารดาของมู่เหลียนเสียชีวิต ก็ตกนรกอเวจีเนื่องจากทำกรรมหนักไว้ ทำให้ได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัส

ในขณะที่ทางด้านมู่เหลียนบำเพ็ญบารมีจนสามารถถอดกายทิพย์ลงไปเยี่ยมมารดาที่นรกภูมิได้ และได้เห็นความทุกขเวทนาของมารดา ก็เกิดความสงสารที่นางไม่สามารถกินอาหารได้ เนื่องจากโดนภูตผีแย่งจนหมด และเมื่อจะหยิบข้าวเข้าปากก็เกิดไฟเผาปากจนพุพอง ทำให้มู่เหลียนไปบอกยมบาลว่าจะขอรับโทษแทนมารดาเอง

แต่แล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จลงมาโปรดไว้ทัน พร้อมแสดงธรรมว่า “กรรมใด ใครก่อ ก็ย่อมเป็นกรรมของผู้นั้น” แต่ก็ได้มอบคัมภีร์ที่มีชื่อว่า คัมภีร์อิ๋ว หลันเผิน ไว้ให้มู่เหลียนใช้ภาวนาเรียกเซียนจากทุกทิศมาช่วยมารดาให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทรมาน โดยจะต้องเซ่นไหว้อาหารให้มารดา และสวดภาวนาคัมภีร์นี้ในเดือนที่ประตูนรกเปิดเท่านั้น จากความเชื่อนี้เอง ที่ทำให้ชาวจีนถือปฏิบัติในการนำอาหารทั้งคาวหวานมาเซ่นไหว้บรรพบุรุษมาจนถึงปัจจุบัน

ทำไมต้องเผา “กงเต๊ก” ในวันสารทจีน 2565?

การเผากระดาษเงินกระดาษทองในวันสารทจีน หรือที่เรียกกันว่า “เผากงเต๊ก” ตามความเชื่อของชาวจีน ถือเป็นอีกหนึ่งธรรมเนียมปฏิบัติที่แสดงถึงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว

กงเต๊ก (功德) ที่คนไทยเรียกกันนั้น เป็นการออกเสียงตามภาษาแต้จิ๋ว โดยคำว่า “กง” (功) แปลว่า ทำ ส่วนคำว่า “เต๊ก” (德) แปลว่า คุณธรรม หรือกุศล เมื่อมารวมกันก็จะหมายความว่า การกระทำที่มีคุณธรรม, มีบุญกุศล

การเผากระดาษกงเต๊ก เป็นหนึ่งในพิธีอุทิศส่วนผลส่วนกุศลไปให้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษ โดยเชื่อว่าเป็นการส่งเงินทอง ข้าวของเครื่องใช้ และสิ่งของต่างๆ เพื่อส่งวิญญาณบรรพบุรุษสู่สรวงสวรรค์ และเพื่อให้วิญญาณที่อยู่ในอีกภพภูมิอื่นได้ใช้สิ่งของที่ส่งไปให้ผ่านการเผากงเต๊กนั่นเอง

วันไหว้สารทจีนปี 2565 ยังคงเป็นเทศกาลสำคัญของผู้มีเชื้อสายจีนที่ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาทุกๆ ปี ซึ่งนอกจากเป็นการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษแล้ว ก็ยังถือเป็นวันที่บรรดาญาติพี่น้องจะได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้ง เพื่อสานสัมพันธ์ในครอบครัวให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

อ่านเพิ่มเติม