เซ็นเซอร์คล้ายรอยสัก วัดค่าออกซิเจนในเลือด




มีหลายเหตุผลที่คนเราไปสักรอย รูป ข้อความบนร่างกาย เช่น เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ บุคคล ข้อความโดนใจ หรือแค่ความสวยงาม แต่ในอนาคตรอยสักจะเป็นได้มากกว่านั้น นั่นคือเป็นตัวช่วยวัดค่าในร่างกาย เช่น บอกว่าคนเราใช้ออกซิเจนมากแค่ไหนในการออกกำลังกาย วัดระดับน้ำตาลในเลือดได้ทุกช่วงเวลาของวัน หรือตรวจดูส่วนประกอบต่างๆของเลือด รวมถึงวัดการสัมผัสกับสารพิษในสิ่งแวดล้อม

ล่าสุดทีมวิจัยนำโดยวิศวกรของมหาวิทยาลัยทัฟส์ในสหรัฐอเมริกา เผยว่า ได้ประดิษฐ์วัสดุที่ทำจากโปรตีนเส้นใยไหมคือไฟโบรอิน (fibroin) มีคุณสมบัติพิเศษหากนำไปเป็นวัสดุปลูกถ่าย นักวิจัยระบุว่าวัสดุนี้สามารถขึ้นรูปเป็นฟิล์ม ฟองน้ำ เจล และอื่นๆได้ ไม่เพียงแต่จะเข้ากันได้ทางชีวภาพของร่างกายเท่านั้น แต่ยังกักเก็บสารเติมแต่งได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนเคมี และสารเติมแต่งเหล่านี้สามารถรับรู้การตรวจจับโมเลกุลในสภาพแวดล้อมของผู้ใช้งาน เซ็นเซอร์จะอยู่ใต้ผิวหนังได้ตั้งแต่ 2-3 สัปดาห์ ถึง 1 ปี นักวิจัยได้เติมสาร PdBMAP ที่จะเรืองแสงขึ้นหรือหรี่แสงลงภายใต้หลอดไฟเมื่อสัมผัสกับออกซิเจนในระดับต่างๆในเลือดเมื่อไหมสลายตัวมันก็เข้ากันได้กับร่างกาย โดยเชื่อว่าไม่น่าจะกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน

ทั้งนี้ สารในเลือด เช่น กลูโคสแลคเตท อิเล็กโทรไลต์ และออกซิเจนที่ละลายในน้ำ ถือเป็นหน้าต่างสุขภาพบ่งชี้ประสิทธิภาพร่างกาย ปกติแล้วต้องใช้การเจาะเลือด หรือใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่เพื่อตรวจสารเหล่านี้ ทว่าหากตรวจวัดระดับสารในร่างกายได้ต่อเนื่องโดยไม่รุกรานก็จะเป็นประโยชน์ยิ่งกว่า เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องเจาะเลือดอ่านค่ากลูโคสบ่อยครั้งในแต่ละวัน เพื่อตัดสินใจว่าจะกินอะไรหรือควรกินยาเมื่อใด.

Credit : Tom Falcucci, Tufts University