เกิดมาเพื่อเป็นนักสู้ “กวิน กาญจนพาสน์” ปิดประตูเสี่ยง..มองหาโอกาสในวิกฤติ




เป็นคู่พ่อลูกที่กอดคอกันฟันฝ่าวิกฤตินับครั้งไม่ถ้วน สำหรับสองพ่อลูกนักสู้เลือดมังกร “คีรี กาญจนพาสน์” และ “กวิน กาญจนพาสน์” แม้จะมีความบุ๋นความบู๊ต่างกันสุดขั้ว แต่กลับเป็นส่วนผสมที่ลงตัวในการขับเคลื่อนธุรกิจ โดยเฉพาะในยุคดิสรัปชัน ที่ทุกอุตสาหกรรมต้องเร่งปรับตัวให้เร็วเพื่อความอยู่รอด มิฉะนั้นอาจสูญพันธุ์เหลือไว้แต่ตำนาน!!

“ป๊าผมเป็นนักสู้ตัวจริง ไม่เคยยอมแพ้ เขาจะลุยไปข้างหน้าอย่างเดียว ผมก็ไม่ยอมแพ้ แต่เพราะผมไม่แข็งแรงเหมือนเขา จึงเลือกทำในสิ่งที่ไม่คิดว่าแพ้ ถ้าเป็นอะไรที่รู้ว่าเสี่ยงแพ้จะไม่ทำเด็ดขาด เช่น ย้อนกลับไปถ้าให้ผมตัดสินใจว่าจะทำรถไฟฟ้าบีทีเอสไหม ผมไม่มีทางทำบีทีเอส แต่ป๊าผมเชื่อมั่นว่าเมื่อไหร่ทำอะไรที่ดีต่อประเทศ เราย่อมได้รับแต่สิ่งดีๆ ตรงนี้ผมเรียนรู้จากเขาว่าเวลาทำอะไรอาจจะไม่ได้รีเทิร์นเต็มร้อย แต่ทำแล้วมีประโยชน์ต่อสังคมต่อประเทศชาติ เราก็ควรทำ ไม่ใช่คิดถึงแต่ผลกำไร ผมได้เลือดนักธุรกิจมาจากป่าป๊า เขาไม่เคยสอน แต่มันอยู่ในสายเลือด”…มังกรสายพันธุ์ใหม่แห่ง “บีทีเอส กรุ๊ปฯ” บอกเล่าถึงดีเอ็นเอ

ทุกวันนี้ “เจ้าสัวคีรี” ยังแอ็กทีฟเต็มร้อยไหม

คุณคีรีทำงานทุกวัน ตอนนี้กำลังบุกโครงการร่วมทุนพัฒนาสนามบินนานาชาติอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่ากว่า 2.9 แสนล้านบาท เราพ่อลูกฝ่าวิกฤติต้มยำกุ้งมาด้วยกัน จนสามารถล้างหนี้สินจาก 8 หมื่นล้านบาท ให้เหลือ 3 พันล้านบาท ภายในเวลาไม่ถึง 10 ปี ถึงตอนนี้ถือว่ามองตาก็รู้ใจแล้ว เราทำงานเหมือนพี่น้องที่รู้ใจกัน ป่าป๊าเป็นแบบอย่างของนักสู้ตัวจริง ไม่เคยยอมแพ้ อะไรคิดว่าถูกต้องก็จะเดินหน้าทำไม่ถอย ส่วนผมเป็นผู้บริหารสไตล์ง่ายๆ ไม่เคยทะเลาะกับใคร สิ่งที่ผมพยายามจะทำให้ได้อย่างป๊าคือ การเป็นคนไม่ยอมแพ้

ถามจริงๆนะคะ เกิดเป็นลูก “เจ้าสัวคีรีผู้ยิ่งใหญ่” หนักใจไหม

ผมชอบมาก ไม่มีปัญหากับเรื่องนี้ ตั้งแต่เด็ก ตอนอายุ 9 ขวบ ผมก็รู้แล้วว่าโตขึ้นต้องทำงานแบบป๊าแบบอากง ต้องตื่น 6 โมงเช้ามาประชุม และกลับบ้าน 5 ทุ่ม ผมเลยตั้งใจว่าตราบใดที่ยังเป็นเด็ก เราจะต้องเที่ยวต้องใช้ชีวิตให้คุ้ม ผมเป็นเด็กเกเรนิดหน่อย ชอบเอาเวลาเรียนไปเที่ยว เพราะรู้สึกว่าโตขึ้นจะไม่มีเวลาไปเที่ยวแล้ว ผมไปเรียนที่อังกฤษตั้งแต่ 12 ปี เคยขับรถจากลอนดอน ไปแมนเชสเตอร์ 4-5 ชั่วโมง เพื่อซื้อมอเตอร์ไซค์ 150 ปอนด์ เอากลับมาที่ลอนดอน ขี่ไม่กี่วันก็ชนเลย ชีวิตวัยรุ่นมันส์แบบนี้ แต่พอทำงานกับป๊าไม่มีเวลาเที่ยวเลย

จากเด็กไม่เอาถ่านต้องช่วยคุณพ่อกอบกู้วิกฤติ ตอนนั้นเอาความกล้ามาจากไหน

ส่วนตัวผมเป็นคนไม่ค่อยเครียดง่าย ตอนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง เมื่อปี 1997 ป๊าเครียดมาก เพราะธุรกิจแทบล้มทั้งยืน เราทำงานเคียงข้างกันเหมือนพี่น้อง ไปเจอแบงก์ก็ไปด้วยกัน ไปเจอเจ้าหนี้ก็ไปด้วยกัน ไปเจรจาธุรกิจก็ไปด้วยกัน ไปดูรถไฟฟ้าก็ไปด้วยกัน เอาป้ายโฆษณาขึ้นผมยังไปคุมเอง เราใช้เวลาฟื้นฟูธุรกิจเกือบ 10 ปี กว่าจะกลับมายืนได้ ธุรกิจทุกอย่างป๊าเป็นคนคิด และให้ผมสานต่อทำจนสำเร็จ เราเป็นคู่คิดกันเรื่องงาน

โลกยุคใหม่เป็นยุคปลาเร็วกินปลาช้า “คุณกวิน” เห็นด้วยมากน้อยแค่ไหน

ผมไม่อยากกินใครทั้งนั้น แต่อยากเอาระบบของเราที่มีอยู่ไปเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้พาร์ตเนอร์ธุรกิจมากกว่า ถ้าธุรกิจของเขาดี เราในฐานะผู้ร่วมทุนและผู้ถือหุ้นก็ได้ส่วนแบ่งรายได้ด้วย เวลาเราจับมือกับใครทุกคนถึงรักเราและเชื่อใจเรา เพราะรู้ว่าเราทำธุรกิจอยู่บนพื้นฐานของความแฟร์ ไม่เคยซี้ซั้ว

“บีทีเอส กรุ๊ปฯ” เอาตัวรอดจากวิกฤติโควิดมาได้อย่างไร

ตอนเกิดวิกฤติโควิดใหม่ๆ เมื่อต้นปี 2020 คุณคีรีและผมพยายามคิดว่าเราควรปรับเปลี่ยนตัวเองขนานใหญ่ยังไง ตอนนั้นไม่มีใครรู้ว่าโควิดจะรุนแรงขนาดไหน และจะอยู่กับเราไปนานแค่ไหน จากตอนวิกฤติต้มยำกุ้ง และวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ทำให้พวกเรารู้ว่า “Cash is king” ยังไงก็ต้องถือเงินสดให้มากที่สุด ถามว่าธุรกิจของเราได้รับผลกระทบขนาดไหน ก็โดนหมดเพราะประเทศถูกล็อกดาวน์ รถไฟฟ้าไม่มีใครขึ้น ส่วนโรงแรมและร้านอาหารก็ไม่มีลูกค้า พนักงาน 7-8 พันคน

มาทำงานไม่ได้ ถ้าโควิดอยู่ยาวเป็น 5-10 ปี แล้วจะทำยังไง

เราสองคนพ่อลูกปิดประตูห้องคุยกันอยู่ 2-3 เดือน เพื่อหาคำตอบว่าต่อไปแนวทางของ “บีทีเอส กรุ๊ปฯ” จะเป็นยังไง สิ่งแรกที่ทำคือสำรวจว่ามีอะไรขายได้บ้าง เพื่อรวบรวมเงินสดให้มากที่สุด ซึ่งสิ่งที่เปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็วที่สุดคืออสังหาฯและหุ้น บริษัทในกรุ๊ปประกาศเพิ่มทุนหลายครั้ง เมื่อไหร่มีเงินสดอยู่ในกระเป๋า ทำให้รู้สึกปลอดภัยหน่อย โชคดีที่มีธุรกิจหลายอย่างที่ลงทุนไว้สามารถทำรายได้ชดเชยที่ขาดทุนไป เช่น “Kerry Express” สร้างรายได้ให้เราดีมากๆในช่วงโควิด เมื่อรวมกับรายได้ที่ขายอสังหาหลายอย่างออกไป ทำให้ภาพรวมของทั้งกรุ๊ปยังโอเคอยู่ แต่ตอนนั้นกลัวที่สุดคือสมมติโควิดอยู่กับพวกเราไปอีก 5 ปี 10 ปี คราวนี้ทำยังไง ผมกับคุณคีรีต้องมาคุยกันว่าจะเอายังไง หนึ่งคือเก็บเงินสดให้ได้มากที่สุด สองต้องเปลี่ยนแนวทางการทำธุรกิจของ “บีทีเอส กรุ๊ปฯ” จัดทัพใหม่เพื่อมองหาโอกาสทางธุรกิจอย่างไม่สิ้นสุด

ในฐานะผู้บริหารยุคใหม่จะเสริมความแกร่งให้ “บีทีเอส กรุ๊ปฯ” ยังไง

ผมไม่อยากให้คนมองว่า “บีทีเอส กรุ๊ปฯ” คือรถไฟฟ้าบีทีเอสอย่างเดียว เพราะในกรุ๊ปมีธุรกิจหลาก หลายมาก ทั้งธุรกิจโฆษณา, อสังหาฯ, โรงแรม หรือแม้กระทั่งไฟแนนเชียล เซอร์วิส เดิมทีเดียว “บีทีเอส กรุ๊ปฯ” ประกอบด้วยธุรกิจ 4 ขา คือ รถไฟฟ้าบีทีเอส, VGI ผู้ให้บริการสื่อโฆษณานอกบ้าน ขณะที่ U City ลงทุนและพัฒนาอสังหาฯ ทำคอนโดร่วมกับแสนสิริ และโนเบิล เรามีโรงแรมทั้งในประเทศและในยุโรป รวมทั่วโลกมีห้องพัก 18,000 ห้อง และยังมีธุรกิจด้านเซอร์วิส ช่วงที่เกิดวิกฤติโควิดกลายเป็นจังหวะเหมาะที่จะจัดทัพธุรกิจใหม่ ผมสร้างกลยุทธ์เชิงนวัตกรรมที่เรียกว่า “3 M” ขึ้นมา เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่การเติบโตที่แข็งแกร่งขึ้น โดย “MOVE” คือ ขยับขยายธุรกิจคมนาคมขนส่งทุกรูปแบบไปมากกว่าธุรกิจรถไฟฟ้า มุ่งให้บริการการเดินทางในรูปแบบ “door-to-door solutions” ส่วน “MIX” จะรวมมันสมองของพาร์ตเนอร์ แล้วแบ่งปันกันพัฒนาธุรกิจ ก้าวกระโดดจากการเป็นผู้นำให้บริการสื่อโฆษณานอกบ้าน สู่ผู้ให้บริการ O2O โซลูชันส์ แบบครบวงจร ที่ครอบคลุมธุรกิจสื่อโฆษณา, ธุรกิจบริการชำระเงิน และธุรกิจโลจิสติกส์ รวมถึงผสานการใช้ “smart DATA” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพข้อมูลเชิงลึก สร้างความพึงพอใจให้ผู้ใช้บริการ ขณะที่ “MATCH” เป็นการแชร์อีโคซิสเต็มแบ่งปันการเข้าถึงแพลตฟอร์มของหน่วยธุรกิจต่างๆ และหาพาร์ตเนอร์ทำงานร่วมกัน จับมือสร้างโอกาสทางธุรกิจอย่างไม่สิ้นสุด ต่อไปจะได้เห็นความร่วมมือใหม่ๆระหว่างบริษัทในกลุ่ม “บีทีเอส กรุ๊ปฯ” กับพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อให้เกิดโอกาสใหม่ๆกลายเป็น 1+1=3

อภิมหาดีลของ “BTS” และ “JMART” จะสร้างโอกาสแบบเสือติดปีกได้ขนาดไหน

พวกเราตั้งใจเป็นพันธมิตรกันในระยะยาว เพื่อช่วยสร้างมูลค่าธุรกิจร่วมกัน โดยต่อยอดธุรกิจภายใต้เครือข่าย 3 M ผมเชื่อในความสามารถด้านฟินเทคที่เข้มแข็งของ “กลุ่ม JMART” บวกศักยภาพของระบบกระจายสินค้าและสาขาที่มีอยู่ทั่วประเทศ เมื่อร่วมทุนกับ “JMART” ก็สามารถบุกตลาดเงินดิจิทัล, พัฒนาอีโคซิสเต็มทางธุรกิจ, พัฒนาแพลตฟอร์มให้บริการ และขยายฐานลูกค้า เรายังวางแผนรวมเทคโนโลยีการเงิน และสกุลเงินดิจิทัล เพื่อใช้ภายในเครือข่าย “บีทีเอส กรุ๊ปฯ” ซึ่งจะสร้างประสบการณ์ใหม่และความสะดวกสบายให้ลูกค้า โดยเริ่มจากการนำ “JFin Coin” มาเปิดใช้งานในอีโคซิสเต็มบริการทางการเงินต่างๆ ต่อไปจะสามารถใช้จ่ายเงินดิจิทัลขึ้นรถไฟฟ้า, ส่งสินค้า, ซื้อขายของบนโลกออนไลน์และออฟไลน์ หรือแม้แต่ซื้อขายอสังหาฯ

หลายคนบ่นว่าเมืองไทยมีแต่ธุรกิจยุคเก่า เมืองไทยไม่มีอนาคตแล้ว?

ผมว่าไม่จริงนะ ผมเกิดที่ฮ่องกง และไปเรียนอังกฤษ เดินทางมาแล้วทั่วโลก ทุกประเทศมีข้อดีและเสน่ห์ในแบบตัวเอง จะบอกว่าเมืองไทยไม่มีอนาคตแล้วมันก็ไม่ใช่ เด็กไทยยุคนี้ปรับตัวเก่งทันโลกมาก ผมไม่คิดว่าเด็กไทยจะด้อยกว่าชาติไหนในโลก อนาคตเมืองไทยยังดีกว่าฮ่องกงด้วยซ้ำ ฮ่องกงมีแต่อสังหาฯและซื้อขายหุ้น ขณะที่เมืองไทยมีความหลากหลายทางธุรกิจ และเรามีธุรกิจที่มีความยั่งยืน ถึงโลกจะไฮเทคขนาดไหน แต่คนก็ยังต้องกินข้าวอยู่ดี ผมไม่คิดว่าเราเป็นโอลด์อีโคโนมีเติบโตไม่ได้แล้ว เมืองไทยยังสามารถเติบโตได้อีก เพียงแต่รัฐบาลต้องช่วยสนับสนุน ถ้าเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน เราไม่ด้อยกว่าใครแน่นอน ไม่มีวิกฤติไหนจะหนักเท่าวิกฤติต้มยำกุ้ง แต่เรายังผ่านมาได้ ผมมองไม่ออกว่าอีก 10 ปีอะไรจะเกิดขึ้น เพราะโลกยุคนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก เด็กสมัยนี้เรียนรู้เร็วและฉลาดมาก ผมคิดว่าบางทีเด็กรุ่นใหม่อาจไม่จำเป็นต้องไปเรียนต่อสูงๆเหมือนคนยุคเรา ขอให้หาเงินได้สบายๆก็จบแล้ว สมัยก่อนต้องเข้าโรงเรียน แล้วต้องไปเมืองนอกเพื่อเรียนต่อมหาวิทยาลัย จากนั้นค่อยกลับมาหางานทำ มันหมดสมัยแล้ว!! ผมชอบเล่นเกมตอนเด็กๆก็โดนแม่ด่า แต่วันนี้ถ้าเราด่าลูกตอนเล่นเกม ก็จะโดนลูกย้อนว่าเล่นเกมหาเงินได้ แสดงว่าโลกเปลี่ยนไปหมดแล้ว เราต้องวิ่งไล่ตามให้ทัน และประเทศไทยก็ต้องเปลี่ยนให้ทันด้วย ปีหน้าผมจะอายุ 48 แล้ว แต่ไม่เคยหยุดนิ่งที่จะพัฒนาตัวเอง และพยายามตามโลกให้ทัน เราต้องเปลี่ยนตัวเอง ก่อนที่โลกจะเปลี่ยนเรา.

ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ