“ไมเกรน” อีกหนึ่งโรคฮิตของคนออฟฟิศ




เชื่อว่าทุกคนจะต้องเคยมีอาการ “ปวดศีรษะ” ซึ่งหากอาการปวดศีรษะมีความรุนแรง ย่อมส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของคุณ ทำให้ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวัน หรือไปทำงานได้ตามปกติ ซึ่งอาการปวดศีรษะนี้เป็นสัญญาณของโรคต่างๆ มากมายหลายโรค และหนึ่งในนั้นก็คือ “โรคไมเกรน”

“ไมเกรน” เป็นโรคที่เกิดจากวงจรภายในสมองเกิดความผิดปกติ ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาท และหลอดเลือดที่ผิดปกติ โดยอาจมีปัจจัยทางพันธุกรรมมาเกี่ยวข้องด้วย คนที่เป็นไมเกรนมักมีประวัติคนในครอบครัวเป็นไมเกรน นอกจากนี้ไมเกรนอาจมีผลจากฮอร์โมน เช่น ผู้หญิงที่กินยาคุมกำเนิดบางคนอาจมีอาการปวดศีรษะไมเกรน หรือ ผู้หญิงบางคนจะเป็นไมเกรนช่วงที่มีประจำเดือน ปัจจัยอื่นๆ ที่อาจกระตุ้นไมเกรนได้ ได้แก่ ความเครียด อดนอน รับประทานอาการไม่ตรงเวลา การรับประทานอาหารบางอย่าง เช่น อาหารที่มีผงชูรส หรืออาหารแปรรูปที่มีสารไนเตรต-ไนไตรต์ เช่น แฮม ไส้กรอก เป็นต้น

ไมเกรนแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ไมเกรนที่มีอาการเตือน (aura) นำมาก่อน และไมเกรนที่ไม่มีอาการเตือนนำมาก่อน ซึ่งพบได้บ่อยกว่า

อาการเตือน (Aura)

ผู้ที่เป็นไมเกรนโดยส่วนใหญ่จะมีอาการปวดศีรษะเลย โดยไม่มีอาการเตือนเหล่านี้นำมาก่อน แต่ในผู้ที่เป็นไมเกรนชนิดที่มีอาการเตือนนำมาก่อน จะมีอาการเตือนนำมาก่อนอาการปวดศีรษะประมาณ 10-15 นาที บางคนอาจจะนานเป็นชั่วโมง โดยมีอาการหลากหลายกันออกไป เช่น

● อาการที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็น อาการเตือนชนิดนี้พบได้บ่อยกว่า โดยผู้ป่วยจะเห็นภาพเบลอเมื่อมองไปด้านหน้า ส่วนขอบที่เบลอจะค่อยๆ ขยาย เห็นเป็นขอบซิกแซก บางคนเห็นแสงวูบวาบ ซึ่งอาจจะขยายเป็นวงที่กว้างขึ้นได้

● รู้สึกชาตามแขนขา พบได้น้อย ส่วนใหญ่จะเป็นอาการเตือนที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็น

อาการปวดศีรษะไมเกรน

ช่วงที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรน ผู้ป่วยจะปวดตื้อๆ หรือปวดตุ้บๆ มักจะเป็นข้างเดียว แต่ไม่ได้เป็นข้างเดียวกันทุกครั้ง จะสลับเป็นอีกข้างได้ บางคนอาจจะมีอาการร้าวมาที่กระบอกตา หรือร้าวมาที่คอได้ อาการปวดมักจะเป็นประมาณ 4-72 ชั่วโมง ระหว่างที่มีอาการปวด อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วยได้ นอกจากนี้จะมีความรู้สึกไวต่อแสงหรือเสียง ดังนั้น คนที่เป็นไมเกรน มักต้องการอยู่ในที่มืดๆ และในที่เงียบๆ เวลาที่มีอาการปวด นอกจากนี้ ในรายที่มีอาการปวดมากๆ อาจไม่สามารถทำงานหรือกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ หลายรายอาจต้องนอนพัก

หลังจากที่อาการปวดศีรษะหายไปแล้ว บางคนก็จะรู้สึกเหนื่อย เพลีย หรือมีอาการง่วงเหงาหาวนอนได้

การวินิจฉัย

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคไมเกรนได้โดยดูจากประวัติ และการตรวจร่างกายตามระบบและการตรวจร่างกายทางระบบประสาท โดยในโรคไมเกรนนั้นการตรวจร่างกายจะไม่พบความผิดปกติใดๆ การส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติมนั้นไม่จำเป็นในผู้ป่วยส่วนใหญ่ ยกเว้นในบางรายที่ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะที่เป็นมากขึ้น หรือมีอาการบางอย่างที่ไม่ตรงไปตรงมากับโรคไมเกรน จึงจะส่งตรวจเพิ่มเติมเป็นเฉพาะรายไป

แม้ว่าโรคไมเกรนจะไม่ได้เป็นโรคที่มีอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ในคนที่มีอาการมากๆ ก็จะทำให้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง เพราะไม่สามารถทำงานได้ บางรายอาจต้องนอนทั้งวัน นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการปวดศีรษะก็มักจะซื้อยาแก้ปวดมารับประทานเอง ซึ่งการรับประทานยาแก้ปวดถี่เกินไปก็จะทำให้อาการปวดศีรษะแย่ลงได้ (เรียกว่า Medication-overuse headache) ดังนั้นคนที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรนบ่อย เช่น มากกว่า 4 ครั้งต่อเดือน จึงควรไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

การรักษา

การรักษาอาการปวด เป็นการรักษาตามอาการ โดยยาที่ใช้รักษาแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้

1. ยากลุ่มบรรเทาอาการปวด

ยากลุ่มนี้เป็นยาที่ให้กินเฉพาะเวลาที่มีอาการเท่านั้น ยากลุ่มนี้มีด้วยกันหลายชนิด ตั้งแต่ชนิดที่หาซื้อได้เอง (over-the-counter) เช่น พาราเซตามอล หรือยากลุ่ม NSAIDs เช่น ไอบูโพรเฟน เป็นต้น หากรับประทานยาที่ใช้รักษาอาการปวดศีรษะเบื้องต้นแล้ว อาการปวดศีรษะไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ แพทย์จะมีการพิจารณาใช้ยากลุ่มที่จำเพาะต่ออาการปวดศีรษะไมเกรน เช่น triptans แต่การใช้ยากลุ่มนี้ต้องอยู่ในการพิจารณาและความดูแลของแพทย์ บางคนถ้ามีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย แพทย์ก็จะพิจารณาให้ยาแก้อาเจียนซึ่งจะมีส่วนช่วยให้อาการปวดศีรษะดีขึ้นด้วย

2. ยากลุ่มป้องกันอาการปวด

ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการอาการปวดศีรษะมากกว่า 4 ครั้งต่อเดือน แนะนำปรึกษาแพทย์ เนื่องจากจะมีบทบาทของการใช้ยากลุ่มป้องกันอาการปวด ยากลุ่มนี้จะต้องรับประทานทุกวันแม้ไม่มีอาการปวดศีรษะ เพื่อป้องกันไม่ให้มีอาการปวดศีรษะเกิดขึ้น ยากลุ่มนี้ก็มีอยู่หลายชนิด โดยการใช้ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ นอกจากนี้มียากลุ่มใหม่ๆ ที่ออกฤทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับสารสื่อประสาท CGRP ยากลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นยาฉีด แพทย์เป็นผู้เลือกใช้ตามความเหมาะสมในผู้ป่วยเป็นรายๆ ไปตามข้อบ่งชี้ แต่ยากลุ่มนี้ยังมีราคาค่อนข้างสูง

การดูแลตนเองและการป้องกัน

ผู้ที่เป็นโรคไมเกรน สามารถดูแลตนเองได้ง่ายๆ โดยการรับประทานอาหารให้ตรงเวลา พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงความเครียด และ สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะ เช่น กลิ่น หรือ อาหารบางอย่าง ดังที่กล่าวข้างต้น ซึ่งแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป

นอกจากนี้ ควรทำไมเกรนไดอารี่ เพื่อบันทึกว่ามีอาการปวดศีรษะวันใดบ้าง ปวดมากแค่ไหน มีอะไรเป็นตัวกระตุ้นให้ปวดศีรษะหรือไม่ อย่างไร และรับประทานยาอะไรไปบ้าง ในรายที่มีอาการปวดศีรษะมากกว่า 4 ครั้งต่อเดือน ควรมาพบแพทย์ เพื่อพิจารณาการใช้ยาป้องกันอาการปวดศีรษะ และ ป้องกันอาการปวดศีรษะจากการรับประทานยาแก้วปวดบ่อยเกินไป

_____________________________________________

แหล่งข้อมูล
อ. นพ.พิเชฐ เติมสารทรัพย์ สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล