รถยนต์ไฟฟ้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (จริงหรือ?)




รถยนต์ไฟฟ้า (EV Car) เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจริงหรือ? ทุกวันนี้ ดูเหมือนว่า การเดินทางด้วยพลังงานไฟฟ้า น่าจะเป็นทางออกที่ดีในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก เกือบทุกคนที่กำลังเล็งรถไฟฟ้า มักจะได้ยินมาว่า รถยนต์ไฟฟ้านั้นไม่มีการปล่อยมลพิษ แต่ยานยนต์พลังงานสะอาดเหล่านี้ ใช้งานจริงจังแล้วจะคุ้มค่าหรือไม่? จริงหรือที่ Electric Car ไม่เป็นอันตรายต่อสภาพภูมิอากาศโลก?

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นอย่างช้าๆ แต่เป็นภัยคุกคามต่อสิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่บนโลก ซึ่งรวมถึงความเป็นอยู่ของมนุษยชาติ” António Guterres เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 2018 และเขาก็ไม่ได้ยืนอยู่คนเดียวอย่างเดียวดาย องค์กรและหน่วยงานสำคัญทั่วโลก เช่น IPCC ไปจนถึง NASA, WWF หรือ CDP ทั้งหมดเห็นด้วยกับปรากฏการณ์ที่เลวร้ายนี้และมุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับมัน ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศอันร้อนระอุในยุโรป รัสเซียและจีน ฝนตกน้ำท่วมหนักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในลาว กัมพูชา เวียดนาม ไทยและเมียนมา ล่าสุด ทางการจีนสั่งให้โรงงานขนาดใหญ่ เช่น โรงงานผลิตรถยนต์และแบตเตอรี่ EV ลดกำลังการผลิตลง เพื่อให้มีกระแสไฟฟ้าที่พอเพียงสำหรับบ้านเรือนที่ต้องเปิดระบบปรับอากาศ ท่ามกลางอุณหภูมิสูงจนทำให้อากาศร้อนจัดในช่วงกลางวัน แม่น้ำสายหลักในยุโรปลดระดับลงจนสามารถเดินข้ามไปมาได้! นั่นยังไม่นับรวมกับความแห้งแล้งที่กินเวลายาวนานในทวีปแอฟริกา  

ตั้งแต่การสูญเสียธารน้ำแข็งและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ไปจนถึงเหตุการณ์รุนแรงต่างๆ เช่น พายุเฮอริเคน ไต้ฝุ่น และไซโคลน ที่ทวีกำลังรุนแรงมากกว่าเดิม พายุระดับ 5 กลายเป็นเรื่องปกติที่พบเห็นกันบ่อยครั้ง ความแห้งแล้ง หรือคลื่นความร้อนที่รุนแรงในแถบแอฟริกา เป็นการยากที่จะปฏิเสธมิติของสิ่งที่มนุษย์กำลังต่อสู้ จะมีอะไรเกิดขึ้นถ้าโลกร้อนขึ้นจนไปถึงเขตแดนอันตราย เมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส หายนะอาจมาเยือนเราเร็วกว่าที่คิด ในความพยายามที่จะลดผลกระทบเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก นักวิทยาศาสตร์ได้มองหาสาเหตุ ที่อาจเป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ นานมาแล้วที่เราตรวจพบว่า ก๊าซเรือนกระจก (GHG) เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน หรือไนตรัสออกไซด์ และละอองที่ลอยละล่องไปทั่วกำลังเปลี่ยนแปลงชั้นบรรยากาศ มันทำให้เกิดรูโหว่ของโอโซนที่ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้โลกเปิดรับแสงจากดวงอาทิตย์มากขึ้น

คณะกรรมการระหว่างรัฐ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ชี้ให้เห็นว่า Co2 ที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศในปี 2010 นั้น จำนวน 14% เกิดขึ้นจากยานพาหนะขนส่งที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน และถึงแม้รถยนต์ไฟฟ้าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ผลกระทบของ Co2 ของกิจกรรมเสริม เช่น การผลิตยานพาหนะในโรงงาน หรือการเสื่อมสภาพของพื้นผิวถนน ยิ่งเร่งให้เกิดปฏิกิริยามลพิษที่เร็วขึ้น ผลการศึกษาคาดการณ์ว่า จะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถูกปล่อยออกมาในปี 2021 ราว 3.64 หมื่นล้านตัน ขณะที่เมื่อ 2 ปีก่อน (2019) อยู่ที่ 3.67 หมื่นล้านตัน

ปัจจุบัน 72% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เกิดขึ้นจากรถยนต์สันดาปภายใน (ตามด้วยเครื่องบินโดยสาร คิดสัดส่วนที่ 10-15%) สภาวการณ์ดังกล่าว ทำให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ดูเหมือนว่ายานยนต์พลังงานไฟฟ้า น่าจะเป็นทางออกที่ดีในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ในความเป็นจริง รถยนต์ EV มีการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์จริงหรือ? โดยเฉพาะที่มาของแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่นำมาชาร์จ เพราะไฟทั้งหมดที่เราใช้ ไม่ได้มาจากแหล่งพลังงานธรรมชาติที่มีความสะอาดอย่างแท้จริงแต่เพียงแหล่งเดียว จริงๆ แล้วเราได้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม รวมถึงพลังงานน้ำในเขื่อนน้อยเกินไป ไฟฟ้าส่วนใหญ่ได้มาจากการเผาก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมถึงพลังงานนิวเคลียร์ที่ไม่ค่อยจะมีความเสถียรเท่าที่ควร 

ความแตกต่างพื้นฐานระหว่างรถยนต์สันดาปภายในที่เผาน้ำมันเชื้อเพลิงและรถยนต์ไฟฟ้านั้นเกี่ยวข้องกับกระบวนการเปลี่ยนพลังงานศักย์ ให้เป็นพลังงานจลน์ ในรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป พลังงานนี้ถูกเก็บอยู่ในรูปทางเคมี (เชื้อเพลิง เบนซิน- ดีเซล ก๊าซธรรมชาติ) และถูกปล่อยออกมาจากปฏิกิริยาทางเคมี ด้วยการจุดระเบิดและเผาไหม้ภายในเครื่องยนต์ ซึ่งทำให้เกิดการปล่อยมลพิษอย่างมโหฬาร

ในทางกลับกัน แม้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะมีพลังงานสะสมอยู่ในแบตเตอรี่ แต่รถยนต์ไฟฟ้าก็ปล่อยพลังงานทางไฟฟ้าเคมีโดยไม่ต้องมีการเผาไหม้ใดๆ ด้วยแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนหรือโซลิดสเตท ซึ่งหมายความว่า เมื่อทำการขับเคลื่อน ก็จะไม่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิง ดังนั้น จึงไม่มีมลพิษทางอากาศหรือ CO2 เกิดขึ้นขณะขับใช้งานแต่อย่างใดทั้งสิ้น แถมยังประหยัดเงินมากกว่า จากการจ่ายค่าไฟแทนที่จะเป็นค่าน้ำมันที่แพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยานยนต์พลังงานไฟฟ้ายุคใหม่ ยังมีประสิทธิภาพมากกว่ารถยนต์เครื่องยนต์สันดาปที่เผาเชื้อเพลิง จากการพัฒนามอเตอร์ขับเคลื่อนและแบตเตอรี่แบบใหม่ที่รุดหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ 

มองกลับอีกมุม (ที่เจ้าของรถยนต์ EV ส่วนใหญ่ทำเป็นลืมๆ) หากแหล่งพลังงานของรถยนต์เหล่านี้ไม่ได้มาจากแผงโซลาร์เซลล์ขนาดยักษ์ กังหันลม หรือแม้แต่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไฟฟ้าพลังน้ำ การปล่อย CO2 ของรถยนต์ไฟฟ้าเหล่านี้ ก็ยังคงสูงอยู่ดี ยกตัวอย่างเช่น หากไฟฟ้าที่ใช้ในการชาร์จรถยนต์ EV มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล หรือแม้แต่การเผาก๊าซธรรมชาติ ก็ไม่สำคัญว่า รถยนต์ไฟฟ้าจะไม่สร้างมลพิษในขณะที่กำลังขับเคลื่อนอยู่จริงหรือไม่ เนื่องจากมลพิษนั้นถูกปล่อยออกมาแล้ว ในโรงผลิตกระแสไฟฟ้าที่อยู่ห่างไกลออกไป เราแค่ย้ายมลพิษจากในเมืองไปยังโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าที่ไม่ได้ผลิตไฟจากพลังงานธรรมชาติอย่างแท้จริง 

หมายความว่าหากคุณกำลังขับรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเชื้อเพลิงฟอสซิลคิดเป็น 62.7% ของการผลิตพลังงานภายในประเทศ ในปี 2565 คุณอาจจะปล่อย CO2 สู่ชั้นบรรยากาศมากกว่ารถยนต์ไฟฟ้าในไอซ์แลนด์ ที่ใช้พลังงานน้ำ ความร้อนใต้พิภพ และพลังงานแสงอาทิตย์เกือบทั้งหมด แต่แหล่งพลังงานธรรมชาติแบบไอซ์แลนด์นั้นไม่ได้มีอยู่ทั่วไปและมีน้อยเกินไปจนทำให้เรายังต้องเผาซากฟอสซิลกันต่อไปเพื่อให้ได้ไฟฟ้ามาใช้งาน 

วัฏจักรการผลิตรถยนต์เริ่มต้นจากการสกัดแร่ต่างๆ การขนส่ง และผลิตวัตถุดิบเป็นส่วนประกอบหลายๆ ชิ้นส่วน ที่จะนำมาประกอบเป็นรถยนต์ กระบวนการนี้เหมือนกับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม เมื่อสิ้นสุดกระบวนการผลิต ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (ของบางบริษัท) กลับกลายเป็นรถยนต์ที่สร้างการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น ตามรายงานของนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ

เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าเก็บพลังงานไว้ในแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ (ยิ่งมีขนาดใหญ่เท่าใด ก็ยิ่งมีระยะทางการขับใช้งานไกลมากขึ้น) ซึ่งมีค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อมสูง แบตเตอรี่เหล่านี้ทำจากธาตุหายาก (REE) เช่น ลิเธียม นิกเกิล โคบอลต์ หรือกราไฟต์ ที่มีอยู่ใต้พื้นผิวโลกบางแห่งเท่านั้น ดังนั้น มันจึงขึ้นอยู่กับกิจกรรมการขุดที่มีกระบวนการก่อมลพิษสูง เป็นเหตุผลที่ถามว่ารถยนต์ไฟฟ้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือไม่นั้น มาพร้อมกับคำตอบง่ายๆ ว่าไม่ 100%! 

ตัวอย่างเช่น ในการผลิตธาตุหายาก หรือ “rare earths” หรือ REE 1 ตัน จะมีของเสียที่มีสภาพเป็นกรดมากถึง 75 ตัน (ซึ่งของเสียเหล่านั้น ไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้องเสมอไป) และกัมมันตภาพรังสีตกค้างก็ถูกสร้างขึ้นเช่นกัน ตามรายงานของ Chinese Society of Rare Earths แม้จะมีปัญหาด้านมลพิษ แต่นักวิจัยบอกเราว่า ไม่ต้องกังวลกับการสกัดธาตุหายากเหล่านี้ และเมื่อพูดถึงลิเธียม มีข้อมูลประมาณการสำรองทั่วโลกเพียงพอสำหรับอีก 185 ปี ข้างหน้า แม้ว่าตลาด EV จะเพิ่มเป็นสามเท่าก็ตาม สำหรับโคบอลต์ กราไฟต์ และนิกเกิล ดูเหมือนว่าพวกมันจะอยู่ในสถานการณ์ที่ยังพอเพียงต่อการเพิ่มขึ้นของรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากความต้องการในปีต่อๆ ไปนั้นคาดว่าจะอยู่ห่างไกลจากแหล่งสำรองของโลก ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะออกมาดี แต่อย่าลืมผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมของการแยกธาตุหายาก หรือ rare earths

นอกเหนือจากผลกระทบของการสกัดธาตุหายากเพื่อผลิตแบตเตอรี่แล้ว พลังงานที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่เองก็ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมเกือบครึ่งหนึ่ง เนื่องจากพลังงานส่วนใหญ่ในการผลิตแบตฯ ไม่ได้มาจากแหล่งคาร์บอนต่ำ อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์แสดงให้เห็นว่า การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาดจากธรรมชาติ ในอุตสาหกรรมยานยนต์กำลังดีวันดีคืน เรามีแหล่งพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดมลพิษทางระบบนิเวศวิทยาในการสร้างแบตเตอรี่เหล่านี้ให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ในทางกลับกัน เมื่อแบตเตอรี่หมดอายุการใช้งาน จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป? มีการจัดการแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนอย่างไรเมื่อแบตฯ เก่าหมดสภาพเหล่านั้นไม่มีประโยชน์สำหรับเป็นแหล่งพลังงานให้กับรถยนต์ไฟฟ้า หรือแม้แต่เครื่องใช้ไฟฟ้าอีกต่อไป

ในอุตสาหกรรมยานยนต์ จากการศึกษาของสภาการขนส่งที่สะอาดระหว่างประเทศ (ICCT) พบว่า 99% ของแบตเตอรี่ตะกั่ว-กรด (แบตเตอรี่ที่ใช้ในรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิล) ถูกรีไซเคิลในสหรัฐอเมริกา นี่ไม่ใช่กรณีสำหรับแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ซึ่งมีส่วนประกอบทางเคมีที่เฉพาะเจาะจงมากกว่า และมีลิเธียมในปริมาณเล็กน้อย ซึ่งไม่ได้ทำให้เป็นโอกาสทางการตลาดที่น่าดึงดูดสำหรับบริษัทรีไซเคิลแบตฯเก่า ในสหภาพยุโรปเมื่อกว่า 9 ปีก่อน มีการรวบรวมธาตุลิเธียมเพียง 5% ในแบตเตอรี่เก่า และส่วนที่เหลือถูกเผาหรือทิ้งในหลุมฝังกลบ โดยเฉพาะการเผาหรือฝังกลบนั้น ไม่ได้ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเลยแม้แต่น้อย เนื่องจากต้นทุนในการรีไซเคิลแบตฯ เก่านั้นสูงเกินไป รวมถึงกฎระเบียบในการรีไซเคิลแบตฯ หมดสภาพโดยกระบวนการไฮโดรเมทัล

ในอนาคต เมื่อเรามีแบตเตอรี่ที่หมดสภาพการใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด จึงมีความน่าสนใจอย่างมาก ในความพยายามที่จะหาวิธีรีไซเคิล หรือนำธาตุหายากกลับคืนมาใช้งานอีกครั้งหรือหลายๆ ครั้ง อุตสาหกรรมรีไซเคิลสำหรับแบตเตอรี่เก่า กำลังมีการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง วิธีแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการนำแบตเตอรี่เก่ากลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง แบตฯ รีไซเคิล สามารถรองรับโครงข่ายไฟฟ้าของอาคารและเก็บประจุไฟฟ้า จากแหล่งพลังงานลมหรือพลังงานแสงอาทิตย์ได้ ซึ่งจะช่วยชดเชยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของการผลิตแบตเตอรี่ตั้งแต่ออกจากโรงงาน แบตเตอรี่จะถูกใช้งานอย่างคุ้มค่าในระยะเวลาที่นานขึ้น

รถยนต์ไฟฟ้าไม่ใช่ยานพาหนะที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ แม้ว่าจะไม่มีการปล่อย CO2 ออกมาในขณะที่ขับเคลื่อน แต่ในกระบวนการผลิต และเมื่อสิ้นสุดวงจรการใช้งานหรือหมดอายุ ในกรณีแรก ความจำเป็นในขั้นตอนของการทำเหมือง เพื่อสกัดโลหะหายากที่ใช้ในแบตเตอรี่นั้น กลไกดังกล่าวกลับใช้พลังงานมากขึ้นและก่อให้เกิดมลพิษตามมา

สำหรับการผลิตพลังงานไฟฟ้าเพื่อนำมาชาร์จ เมื่อรถยนต์ไฟฟ้าถูกขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าที่ได้มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ที่ยังคงปล่อย CO2 ออกสู่บรรยากาศ และมาจากโรงไฟฟ้าที่อยู่ห่างไกลออกไป มันเป็นเพียงการย้ายมลพิษออกนอกเมือง และไปกระจุกตัวอยู่ในบริเวณของโรงไฟฟ้า เมื่อพูดถึงการรีไซเคิลแบตเตอรี่เก่า ซึ่งยังคงเป็นกระบวนการที่มีต้นทุนสูง แบตเตอรี่เก่าของรถยนต์ EV ส่วนใหญ่ยังไม่ได้นำไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธี โซลูชันต่างๆ ในการทำให้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีความยั่งยืน กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา โดยทั่วไป รถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่ารถยนต์เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคุณใช้พลังงานธรรมชาติเพื่อให้ได้ไฟฟ้ามาชาร์จ นั่นเป็นสาเหตุที่มีการสนับสนุนการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกพร้อมๆ ไปกับการหาแหล่งไฟฟ้าที่สะอาดอย่างแท้จริง ประเทศต่างๆ เช่น นอร์เวย์ เยอรมนี หรือแม้แต่ไทย กำลังเพิ่มพื้นที่แผงโซลาร์เซลล์ขนาดยักษ์ ทุ่งกังหันลมปั่นกระแสไฟฟ้าและพลังงานจากแหล่งความร้อนใต้พิภพ เพื่อเพิ่มพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดไว้ใช้งาน 

สุดท้ายแล้ว รถยนต์ไฟฟ้าคือทางออกของปัญหาความยั่งยืนในการขับเคลื่อนของเราหรือไม่? เรากำลังดำเนินการเพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ 2° เซลเซียส และป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบที่เลวร้ายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

ความจริงก็คือ การขนส่งสาธารณะขนาดใหญ่ เป็นทางเลือกที่ดีกว่าการใช้ยานพาหนะส่วนบุคคล หากเราต้องการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนลง เราควรเดินทางด้วยยานพาหนะที่ใช้พลังงานจากแหล่งที่มีความสะอาดอย่างแท้จริง ถ้าทำได้ คาร์บอนที่ปกคลุมชั้นบรรยากาศของโลกก็จะค่อยๆ ลดระดับลงจนไม่ทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างที่คาดการณ์กันเอาไว้.  

อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail [email protected]
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/