เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “โรคลมชัก” (ตอน 3)




สิ่งที่ผู้ป่วยโรคลมชักควรทราบ มีดังนี้

การรับประทานยากันชัก

การติดตามประเมินการตอบสนองต่อการรักษาอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์นัดตรวจ โดยมีเป้าหมายคือ การไม่มีอาการชัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการชักที่ทำให้สูญเสียความสามารถของผู้ป่วยไปชั่วครู่ขณะที่มีอาการชัก เช่น ชักเหม่อ และชักเกร็งกระตุกทั้งตัว การรายงานผลข้างเคียงของยากันชักให้แพทย์ทราบ เพื่อพิจารณาปรับ หรือเลือกยากันชักให้เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยในแต่ละราย และการทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ปกติเหมือนไม่มีอาการชัก

ยากันชักบางชนิด เพิ่มการขับแคลเซียมและไวตามินดี การรับประทานแคลเซียมและไวตามินดีเสริมอาจช่วยลดโอกาสการเกิดโรคกระดูกพรุนได้

ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์และรับประทานยากันชักอยู่แนะนำให้รับประทาน folic acid ทุกวัน เนื่องจาก ยากันชัก อาจจะเพิ่มโอกาสที่ทารกจะเกิดมามีความผิดปกติได้ เช่น ปากแหว่ง เพดานโหว่ สมองพิการ โดยข้อมูลจากงานวิจัยพบว่า folic acid สามารถลดโอกาสในการเกิดภาวะความผิดปกติของทารกได้

โรคลมชักไม่ได้เป็นข้อห้ามของการตั้งครรภ์ แต่การตั้งครรภ์ในผู้ป่วยโรคลมชักควรเป็นการตั้งครรภ์ที่วางแผนการตั้งครรภ์ไว้ล่วงหน้า (planned pregnancy) โดยทำการปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลโรคลมชักและสูติแพทย์ก่อนการตั้งครรภ์เสมอว่ามีความพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์หรือไม่ หรือมีโรคประจำตัวอย่างอื่นซึ่งจำเป็นที่จะต้องได้รับการประเมินและรักษา เพื่อที่จะลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์และหลังการตั้งครรภ์ กรณีผู้ป่วยลมชักที่วางแผนจะมีบุตรควรแจ้งให้แพทย์ที่ดูแลทราบ เพื่อที่จะได้วางแผนและเตรียมความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์ เนื่องจากยากันชัก อาจจะเพิ่มโอกาสที่ทารกจะเกิดมามีความผิดปกติได้ แต่ทั้งนี้การที่ทารกจะเกิดมามีความผิดปกติขึ้นกับหลายปัจจัยเช่น พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

การรายงานผลข้างเคียงของยากันชักให้แพทย์ที่รักษาทราบ

ยากันชักก็มีความเหมือนกับยารักษาโรคอื่นๆ ทั่วไป กล่าวคือ มีทั้งข้อดี ข้อเสีย โดยเป้าหมายหลักของการรักษาโรคลมชัก คือ การไม่มีอาการชัก โดยที่ปราศจากผลข้างเคียงของการรักษาโรคลมชัก เพื่อที่จะให้ผู้ป่วยโรคลมชักสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดี ดังนั้น ในการพบแพทย์แต่ละครั้ง ผู้ป่วยควรจะแจ้งให้แพทย์ทราบว่าหลังรับประทานยากันชักแล้ว มีผลข้างเคียงใดๆ หรือไม่ และสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติหรือไม่

การดำเนินชีวิตกับโรคลมชักของผู้ป่วย

ผู้ป่วยลมชักที่ควบคุมอาการชักได้แล้วสามารถเรียน ทำงาน ประกอบอาชีพได้เป็นปกติเหมือนกับบุคคลทั่วไป

ผู้ป่วยลมชักที่ยังควบคุมอาการชักไม่ได้ ก็สามารถทำงานได้ โดยแนะนำให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่หรือภาวะที่ผู้ป่วยมีการสูญเสียการรับรู้ไปชั่วขณะ หรือชักเกร็งกระตุกทั้งตัว แล้วจะทำให้ผู้ป่วยอยู่ในภาวะที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ หรืออันตราย เช่น ได้แก่ การขับขี่รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ ทำงานในที่สูง งานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรกล เปลวไฟ หรือของร้อน ทำงานในบ่อน้ำ หรือแหล่งน้ำ เป็นต้น

การขับรถ

กรมการขนส่งทางบกกำหนดให้การขอรับใบอนุญาตขับรถต้องใช้ใบรับรองแพทย์แสดงว่าไม่มีโรคประจำตัวอันอาจเป็นอันตรายขณะขับรถเป็นหลักฐานประกอบการขอดำเนินการ โรคลมชักในสภาวะที่ควบคุมอาการชักไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการชักที่ทำให้เกิดภาวะไร้ความสามารถไปชั่วขณะ (disabling seizure) เช่น ชักเกร็งกระตุกทั้งตัว ชักเหม่อไม่ตอบสนอง เป็นต้น เป็นโรคที่อาจเป็นอันตรายหากมีการขับขี่ยานพาหนะ ผู้ป่วยที่ยังควบคุมอาการชักไม่ได้ จึงควรต้องรับยาอย่างต่อเนื่องจนปลอดอาการของโรค และไม่เกิดอาการชักอย่างน้อย 1 ปีจึงจะปลอดภัยเพียงพอในการขับขี่ยานพาหนะ

ผู้ป่วยโรคลมชักสามารถอ่านรายละเอียดการทำใบขับขี่เพิ่มเติมได้ในเว็บไซต์ของกรมการขนส่งทางบก และในเว็บไซต์ของแพทยสภา ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยโรคลมชักควรที่จะต้องทราบและปฏิบัติตาม

การหลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการชัก

แนะนำให้หลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการชักได้ง่าย เช่น รับประทานยากันชักไม่สม่ำเสมอ การอดหลับอดนอน ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือกาเฟอีน ภาวะเครียดทางร่างกายอ่อนล้าจากการทำงานหนัก ภาวะเครียดทางจิตใจ

ครอบครัวและสังคมของผู้ป่วยโรคลมชัก

ผู้ป่วยโรคลมชักสามารถที่จะทำงานได้เหมือนกับบุคคลทั่วไป ความรู้และความเข้าใจในโรคลมชักของครอบครัวและสังคมต่อผู้ป่วยโรคลมชักเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อที่จะทำให้ผู้ป่วยโรคลมชักมีคุณภาพชีวิตที่ปกติเหมือนกับบุคคลทั่วไป และได้รับโอกาสทางสังคม ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญคือ ผู้ป่วย ครอบครัวและสังคม มีความตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาโรคลมชัก และการมาติดตามอาการอย่างต่อเนื่องของผู้ป่วยโรคลมชัก

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อพบผู้ป่วยโรคลมชัก

การดูแลปฐมพยาบาลเบื้องต้นขณะที่พบผู้ป่วยโรคลมชักมีอาการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว สิ่งแรกที่ผู้ปฐมพยาบาลผู้ป่วยโรคลมชักต้องทำ คือ ตั้งสติ จากนั้นประเมินว่าผู้ป่วยโรคลมชักและผู้ช่วยเหลือปฐมพยาบาลอยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัยที่จะเข้าไปช่วยเหลือหรือไม่ หลังจากนั้น ป้องกันการบาดเจ็บขณะที่ผู้ป่วยมีอาการชัก โดยให้ผู้ป่วยอยู่ในบริเวณที่โล่งไม่มีสิ่งกีดขวางที่จะเป็นอันตราย ไม่กอดรัดผู้ป่วย จัดท่าผู้ป่วยนอนตะแคงบนไหล่ด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อลดอาการสำลักเข้าหลอดลม ห้ามนำสิ่งใดๆ ใส่ในปากผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยอาจกัดสิ่งเหล่านั้นจนขาด และตกไปอุดหลอดลม เกิดการบาดเจ็บในปากได้ อย่าให้น้ำ ยา หรืออาหารแก่ผู้ป่วยจนกว่าผู้ป่วยจะรู้สึกตัวดี โดยทั่วไป แนะนำให้ผู้ช่วยเหลือสังเกตลักษณะอาการชักของผู้ป่วยว่ามีอาการแสดงอย่างไร เพื่อใช้เป็นข้อมูลที่สำคัญสำหรับแพทย์ในการรักษาผู้ป่วย และจับระยะเวลาตั้งแต่เริ่มชักจนกระทั่งหยุดชัก อาการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัวจะสามารถหยุดได้เองภายในระยะเวลา 5 นาที ด้วยกลไกการทำงานของสมอง ในกรณีที่อาการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัวนานกว่า 5 นาที หรือผู้ป่วยไม่ฟื้นรู้สึกตัวหลังจากนั้น เรียกว่าชักแบบต่อเนื่อง ควรเรียกรถโรงพยาบาลและรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล

การดูแลปฐมพยาบาลเบื้องต้นขณะที่พบผู้ป่วยโรคลมชักมีอาการชักแบบเหม่อ ไม่รู้สึกตัว สิ่งแรกที่ผู้ปฐมพยาบาลผู้ป่วยโรคลมชักต้องทำ คือ ตั้งสติ จากนั้นประเมินว่าผู้ป่วยโรคลมชัก และผู้ช่วยเหลือปฐมพยาบาลอยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัยที่จะเข้าไปช่วยเหลือหรือไม่ หลังจากนั้นทดสอบโดยเรียกผู้ป่วยว่ายังรู้สึกตัวดีหรือไม่ หรือสูญเสียความรู้สึกตัวขณะที่มีอาการชัก กรณีถ้าผู้ป่วยสูญเสียความรู้สึกตัวขณะที่มีอาการชัก แนะนำให้ผู้ช่วยเหลือสังเกตลักษณะอาการชักของผู้ป่วยว่ามีอาการแสดงอย่างไร เพื่อใช้เป็นข้อมูลที่สำคัญสำหรับแพทย์ในการรักษาผู้ป่วย และจับระยะเวลาตั้งแต่เริ่มชักจนกระทั่งหยุดชักป้องกันการบาดเจ็บขณะที่ผู้ป่วยมีอาการชัก โดยให้ผู้ป่วยอยู่ในบริเวณที่โล่งไม่มีสิ่งกีดขวางที่จะเป็นอันตราย ห้ามนำสิ่งใดๆ ใส่ในปากผู้ป่วย อย่าให้น้ำ ยา หรืออาหารแก่ผู้ป่วยจนกว่าผู้ป่วยจะรู้สึกตัวดี โดยทั่วไป อาการชักแบบแบบเหม่อ ไม่รู้สึกตัว จะสามารถหยุดได้เองภายในระยะเวลา 10 นาที ด้วยกลไกการทำงานของสมอง ถ้าผู้ป่วยไม่ฟื้นรู้สึกตัวหลังจากนั้น เรียกว่าชักแบบต่อเนื่อง ควรเรียกรถโรงพยาบาล และรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล

สรุปเกี่ยวกับโรคลมชัก

อาการแสดงของโรคลมชัก แม้จะเกิดเป็นพักๆ และหยุดได้เองโดยกลไกการทำงานของสมอง แต่โรคลมชักมีผลกระทบในการดำรงชีวิตประจำวันทั้งในแง่ร่างกาย จิตใจ และสังคมของผู้ป่วยโรคลมชัก สิ่งที่สำคัญคือ ผู้ป่วย ครอบครัวและสังคม มีความตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาโรคลมชัก และการมาติดตามอาการอย่างต่อเนื่องของผู้ป่วยโรคลมชัก

ความรู้และความเข้าใจในโรคลมชักของครอบครัวและสังคมต่อผู้ป่วยโรคลมชักเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อที่จะทำให้ผู้ป่วยโรคลมชักมีคุณภาพชีวิตที่ปกติเหมือนกับบุคคลทั่วไป และได้รับโอกาสทางสังคม ทั้งในแง่การเรียน การทำงาน และการดำรงชีวิตประจำวัน

@ @ @ @ @

แหล่งข้อมูล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิสิทธิ์ บุญเกิด สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
รูปภาพ
อาจารย์แพทย์หญิง วันนิษา วงษ์พิพัฒน์พงษ์
สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

Share

Recent Posts

New York City’s Sweetest Ice Cream Shops To Check Out

New York City is a haven for food lovers, and when it comes to ice… Read More

12 months ago

Explore Montenegro, The Hidden Gem of the Balkans

Montenegro, a hidden gem nestled in the Balkans, offers travelers a captivating experience with its… Read More

12 months ago

Spice Up Your Salad Game With These Tips To Make Salads More Exciting

Salads are a fantastic way to incorporate fresh and nutritious ingredients into our daily meals.… Read More

12 months ago

The Best Travel Destinations For Fitness Enthusiasts

  For fitness enthusiasts seeking to combine their love for travel and physical well-being, there… Read More

12 months ago

What To Do On Your First Visit To Edinburgh

Edinburgh, the capital city of Scotland, is a captivating destination that offers a perfect blend… Read More

1 year ago

Which Are The Consistently Most Popular Starbucks Drinks?

Starbucks has become a global phenomenon, captivating millions of coffee enthusiasts with its diverse menu… Read More

1 year ago