เชื้อวิบริโอ พาราฮีโมไลติคัส ในหอยแมลงภู่อบ




อากาศร้อนจัดในช่วงฤดูร้อนนี้ นอกจากเราจะต้องระวังอันตรายจากโรคลมแดดแล้ว เรื่องของอาหารการกินก็ต้องระวังกันด้วย เพราะในช่วงที่อากาศร้อนหรือร้อนจัดอาหารมักจะเน่าเสียง่าย เมื่อเราทานเข้าไปก็จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคอาหารเป็นพิษได้ โดยเฉพาะอาหารทะเลจำพวกกุ้ง กั้ง หอย ปู ที่ปกติจะมีเชื้อก่อโรค เช่น เชื้อวิบริโอ พาราฮีโมไลติคัส ปนเปื้อนอยู่ตามธรรมชาติ เชื้อชนิดนี้จะอาศัยอยู่ในดินหรือตะกอนก้นทะเลที่ไม่ลึกมาก ตามทะเลชายฝั่ง หรือน้ำกร่อยจึงทำให้ปนเปื้อนอยู่ในอาหารทะเลดิบๆได้ไม่ยาก ทว่าเชื้อวิบริโอ พาราฮีโมไลติคัส เป็นอันตรายต่อร่างกาย เพราะทำให้เกิดโรคกระเพาะลำไส้อักเสบ ทำให้มีอาการท้องร่วง ท้องเสีย อุจจาระมีเลือดปน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว หนาวสั่น ไข้ต่ำ อาการมักเกิดหลังได้รับเชื้อภายใน 10-12 ชั่วโมง แต่เชื้อชนิดนี้ไม่ทนความร้อน สามารถทำลายได้โดยใช้อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส เวลานาน 15 นาที ฉะนั้น ถ้าเราปรุงอาหารทะเลให้สุกอย่างทั่วถึงเช่น ต้ม ทอด นึ่ง อบ ปิ้ง ก่อนนำมาทาน ก็จะปลอดภัยจากอันตรายของเชื้อชนิดนี้ได้

วันนี้สถาบันอาหารได้เก็บตัวอย่างหอยแมลงภู่อบจำนวน 5 ตัวอย่าง จากร้านในตลาดสดและร้านอาหารในเขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์เชื้อวิบริโอ พาราฮีโมไลติคัสปนเปื้อน ผลปรากฏว่าไม่พบเชื้อวิบริโอ พาราฮีโมไลติคัส ในหอยแมลงภู่ทั้ง 5 ตัวอย่าง

ตามเกณฑ์คุณภาพทางจุลชีววิทยาของอาหารและภาชนะสัมผัสอาหาร ฉบับที่ 3 พ.ศ.2560 ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กำหนดให้อาหารพร้อมบริโภคต้องไม่พบวิบริโอ พาราฮีโมไลติคัสปนเปื้อน หน้าร้อนนี้ ขอแนะว่าควรกินร้อน ใช้ช้อนตัวเอง เลี่ยงอาหารที่ปรุงสุกไว้นานแล้ว และหมั่นล้างมือ เพื่อความปลอดภัยจากทั้งเชื้อก่อโรคและโควิด-19.

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย