วัคซีนโควิด-19 สำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี




  • ประเทศไทยพบผู้ป่วยเด็กกลุ่ม 5-11 ปี ติดเชื้ออยู่ในสัดส่วน 10 เปอร์เซ็นต์ เพราะเด็กกลุ่มนี้ยังไม่ได้รับวัคซีน
  • จากการศึกษาเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 สำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี พบว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 ถึง 90.7%
  • การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในครอบครัว (หากมีความเสี่ยงและจำเป็นต้องตรวจ) แนะนำให้เลือกชุดตรวจที่ใช้วิธีป้ายจมูกแบบตื้น เพราะหากใช้แบบก้านยาวอาจเกิดการผิดพลาด กระทบกระเทือนอวัยวะด้านหลังของคอหอย และเป็นอันตรายได้ ทั้งนี้ควรศึกษาวิธีการใช้งานของแต่ละยี่ห้ออย่างละเอียดเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดของผลตรวจ

จะเห็นได้ว่าเชื้อโควิด-19 มีการพัฒนาสายพันธุ์อย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นสายพันธุ์โอมิครอนในช่วงที่ผ่านมานี้ ซึ่งแพร่กระจายและติดต่อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น โดยเชื้อแพร่กระจายได้เร็วกว่าเดิม 3-4 เท่า ในต่างประเทศมีรายงานว่า อัตราการติดเชื้อของเด็กสูงขึ้นตามสัดส่วนของผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น แต่ในประเทศไทยผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อยังอยู่ในสัดส่วนเดิม คือ 10 เปอร์เซ็นต์

อาการของเด็กหากติดเชื้อโควิดโอมิครอน และความจำเป็นในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19

หากเปรียบเทียบอาการของเด็กกับผู้ใหญ่ที่ฉีดวัคซีนแล้ว ดูเหมือนกับว่าผู้ใหญ่จะมีอาการน้อยกว่า เพราะความรุนแรงของโรคจะลดลงเมื่อได้รับวัคซีน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความรุนแรงของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนสำหรับเด็กนั้นค่อนข้างน้อย จากการศึกษาพบว่า แนวโน้มการติดเชื้อโอมิครอนในเด็กนั้นก็มีความรุนแรงไม่มาก

แต่ถึงกระนั้นแล้ว วัคซีนโควิด-19 ก็ยังมีความจำเป็นกับเด็ก เพราะเด็กๆ จำเป็นต้องไปโรงเรียน หากเด็กมีการติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว จะทำให้เชื้อแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการได้รับวัคซีนจะทำให้การแพร่กระจายของโรคน้อยลง และสามารถควบคุมการระบาดได้ อีกทั้งในเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคทางเดินหายใจ ยิ่งจำเป็นต้องได้รับวัคซีนป้องกัน เพราะหากมีการติดเชื้อจะทำให้มีอาการรุนแรงได้

สำหรับกลุ่มอาการ MIS-C ที่เกิดหลังจากที่เด็กติดโควิด-19 และก่อให้เกิดการอักเสบกับอวัยวะและระบบต่างๆ ทั่วร่างกาย อันเนื่องมาจากระบบภูมิคุ้มกันที่สูงผิดปกตินั้น อาจทำให้มีอาการคล้ายโรคคาวาซากิ เช่น มีไข้สูง ผื่น ตาแดง ปากแดง ซึ่งหากอาการทวีความรุนแรงมากขึ้น อาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในห้องไอซียู

วัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเด็กกลุ่มอายุ 5-11 ปี

การวิจัยวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเด็กอายุ 5-11 ปี ได้ผลิตเสร็จสิ้นและมีการวางแผนที่จะเริ่มฉีดให้เด็กไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 โดยวัคซีนนี้เป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันเช่นเดียวกันกับของผู้ใหญ่ แต่จะมีปริมาณการฉีดที่น้อยกว่า โดยมีปริมาณเพียง 1 ใน 3 ที่ใช้ฉีดในเด็กกลุ่ม 12-18 ปี และในผู้ใหญ่เท่านั้น

ผลข้างเคียงของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเด็กอายุ 5-11 ปี

จากข้อมูลการฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 5-11 ปี ในกลุ่มตัวอย่างพบว่า มีอาการรุนแรงหลังฉีดวัคซีนน้อยกว่าวัยรุ่น หรือวัยผู้ใหญ่ และส่วนมากมีผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อย เช่น ปวดบริเวณที่ฉีดวัคซีน มีไข้ อาจมีอาการหนาวสั่น ปวดข้อและกล้ามเนื้อ อาการเหล่านี้มักจะดีขึ้นภายใน 24-48 ชั่วโมง และบางคนก็ไม่มีผลข้างเคียงใดๆ

ส่วนอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเด็กกลุ่มนี้ จากการศึกษาพบว่ามีน้อยมาก โดยในเด็กผู้หญิงพบเพียง 2 คนในล้านคน ในเด็กผู้ชายพบเพียง 4 คนในล้านคนเท่านั้น

การเตรียมตัวก่อนไปฉีดวัคซีนโควิด-19

เด็กๆ ควรเตรียมร่างกายให้แข็งแรง ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 8 ชม. ก่อนมารับวัคซีน และยังสามารถฉีดพร้อมวัคซีนตัวอื่นๆ ได้ ไม่ต้องเว้นระยะ ในส่วนของเด็กที่เคยติดโควิด-19 แล้วก็สามารถให้กระตุ้นวัคซีนโควิด-19 ได้ภายหลังจากที่หายเป็นปกติแล้ว 1 เดือน แต่สำหรับการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 และ 4 ในเด็กกลุ่ม 5-11 ปีนั้นยังอยู่ในกระบวนการศึกษา ซึ่งคาดว่าจะมีข้อสรุปในเร็ววันนี้

วัคซีนโควิด-19 สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ

ในด้านของการวิจัยวัคซีนในเด็กอายุ 2-5 ปี ยังอยู่ในกระบวนการศึกษา ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเสร็จสิ้นภายในปี 2565 นี้ โดยคาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงปริมาณการฉีด ส่วนเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี ก็ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาอยู่เช่นกัน โดยอาจจำเป็นต้องใช้ระยะเวลานานในการศึกษาเพราะอายุของเด็กที่น้อยลง และปัจจุบันก็ยังมีการศึกษาเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ในเด็กทารกวัย 6 เดือนอีกด้วย

การตรวจ ATK ในเด็ก จำเป็นหรือไม่ และควรตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในเด็กด้วยวิธีใด

การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วย Antigen Test Kit (ATK) ในเด็ก เป็นอีกทางหนึ่งในการช่วยลดการระบาดของเชื้อโควิด-19 ดังนั้นการตรวจด้วยวิธีนี้จึงค่อนข้างมีความสำคัญ โดยแนะนำให้มีการตรวจประมาณ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ สำหรับเด็กที่ต้องไปโรงเรียน หรือมีความเสี่ยง แต่ในบางกรณีที่มีการใกล้ชิด หรือเพิ่งสัมผัสกับผู้ป่วย การตรวจ ATK ก็อาจไม่แสดงผลที่ชัดเจน หรือตรวจแล้วยังไม่พบเชื้อ เพราะเชื้อยังอยู่ในระยะฟักตัว

ดังนั้นหลังตรวจก็ยังจำเป็นต้องกักตัวเพื่อดูอาการและตรวจซ้ำ ในกรณีที่มีความเสี่ยงสูง เช่น กินอาหารด้วยกัน อยู่ในห้องปิดด้วยกัน แม้ตรวจเชื้อด้วย ATK ไม่เจอ ก็ต้องกักตัวอย่างน้อย 7 วัน และต้องทำการตรวจซ้ำในวันที่ 5 และวันที่ 10 โดยนับจากวันที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อครั้งสุดท้าย

ในส่วนของการตรวจ หากจำเป็นต้องตรวจกันเองในครอบครัว ไม่แนะนำให้ใช้ชุดตรวจที่ต้องแยงจมูกแบบลึก เพราะคนในครอบครัวอาจไม่มีความเชี่ยวชาญ อาจเกิดการผิดพลาดและเป็นอันตรายได้ ในกรณีที่แยงเข้าไปลึกจนเกินไป อาจไปกระทบกระเทือนถึงด้านหลังคอหอย หรือในกรณีที่เด็กเจ็บ ตกใจ สะบัด ขัดขืน ดิ้น อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ จึงแนะนำให้เลือกชุดตรวจที่ใช้วิธีป้ายจมูกแบบตื้น

สิ่งสำคัญ คือ ต้องมีการหมุนเขี่ยภายในจมูกให้ทั่ว เพราะการตรวจหาเชื้อต้องเก็บเนื้อเยื่อภายในจมูกที่อาจมีเชื้อมาตรวจสอบ ส่วนในกรณีที่ตรวจด้วยเครื่องตรวจแบบน้ำลาย ต้องมีการขากน้ำลายอย่างถูกต้อง เพราะต้องตรวจเนื้อเยื่อในลำคอที่อาจมีเชื้อมาตรวจสอบ การตรวจแบบน้ำลายจึงเหมาะกับการตรวจในเด็กที่ค่อนข้างโตพอที่จะขากน้ำลายได้ ทั้งนี้ต้องศึกษาวิธีการใช้งานของชุดตรวจแต่ละยี่ห้ออย่างละเอียดเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดของการทดสอบ

วิธีการดูแลเด็กให้ห่างไกลจากโรคโควิด-19

  • ใส่หน้ากากอนามัยที่ขนาดพอดีกับใบหน้าเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อโอมิครอนนั้นติดกันได้ง่ายมาก ดังนั้นขนาดของตัวหน้ากากที่พอดีและปกปิดมิดชิดจึงสำคัญ
  • หากเด็กอายุน้อยมากๆ ไม่สามารถใส่หน้ากากได้ ต้องดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด ไปในที่ระบายอากาศได้ดี รักษาระยะห่าง
  • หากจำเป็นต้องฝากเด็กกับศูนย์รับเลี้ยงเด็ก อาจต้องดูเรื่องคนรอบข้างและสิ่งแวดล้อม ยืนยันว่าพี่เลี้ยงไม่มีความเสี่ยง และได้รับวัคซีนแล้ว
  • หากผู้ปกครองติดเชื้อและรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ใกล้ชิดกับเด็ก ต้องสังเกตอาการเด็กอยู่เสมอ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก หากเด็กมีอาการซึม กินไม่ได้ หอบเหนื่อย มีไข้ ต้องรีบพาไปตรวจเพื่อหาเชื้อโดยเร็ว ส่วนเด็กโตอาการจะคล้ายคลึงกับผู้ใหญ่ หากมีอาการต้องตรวจหาเชื้อเช่นกัน
  • หากเด็กติดเชื้อโควิด-19 และผู้ปกครองต้องให้การดูแล ต้องระวังช่วงแพร่เชื้อใน 5 วันแรก
  • หลีกเลี่ยงไม่นั่งทานข้าวร่วมกัน ไม่อยู่ในพื้นที่ปิดร่วมกัน เว้นระยะห่าง แต่หากต้องนั่งโต๊ะร่วมกัน ให้ปิดแอร์ เปิดหน้าต่าง เพื่อให้อากาศระบายตลอดเวลา หรือทานข้าวภายนอกตัวบ้านในที่โล่งแจ้งแทน

การติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กแม้จะมีความรุนแรงน้อย แต่เด็กก็จำเป็นต้องได้รับวัคซีน เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมการระบาดให้น้อยลง การฉีดวัคซีนจะเป็นตัวช่วยสำคัญทำให้การใช้ชีวิตของทุกคนกลับมาปกติดังเดิม

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 สำหรับเด็ก 5-11 ปี

บทความโดย : พญ.ภัสสร บุณยะโหตระ กุมารแพทย์ด้านโรคติดเชื้อ รพ.เด็กสมิติเวช สุขุมวิท