พิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา เรียนลัด “ประวัติอยุธยา” ที่นี่




รายงานซอกแซกพิเศษชุดเรียนประวัติ ศาสตร์อยุธยาของหัวหน้าทีมซอกแซกมาถึงบทสุดท้ายแล้วนะครับสัปดาห์นี้

โดยจะขอนำท่านผู้อ่านแวะเข้าชมของเก่าของโบราณอันทรงคุณค่าที่ขุดค้นได้จากกรุต่างๆของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่มาตั้งแสดงไว้ ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา ในจำนวนที่มากพอที่จะทำให้พวกเราชาวไทยรุ่นหลังได้มีโอกาส “เรียนรู้” และ “เรียนลัด” เพื่อทราบถึงประวัติความเป็นมาและความยิ่งใหญ่ในอดีตของกรุงศรีอยุธยาได้ภายในไม่เกิน 1 ชั่วโมงจากการเข้าเยี่ยมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเราแวะไปสักการะ วัด ราชบูรณะ อันเป็นวัดที่สร้างโดย เจ้าสามพระยา เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ พระเชษฐา ของพระองค์ท่าน ได้แก่ เจ้าอ้ายพระยา และ เจ้ายี่พระยา ที่กระทำยุทธหัตถีแย่งบัลลังก์ที่ว่างลงจากการเสด็จสวรรคตของพระราชบิดา

ปรากฏว่าทั้ง 2 พระองค์สิ้นพระชนม์ชีพบนหลังช้างไปด้วยกัน–อาณาประชาราษฎร์จึงอัญเชิญ เจ้าสามพระยา พระอนุชาองค์สุดท้องขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งกรุงศรีอยุธยา และเมื่อพระราชทานเพลิงพระศพแก่เจ้าพี่ทั้ง 2 แล้ว ก็ทรงสร้างวัดนี้ขึ้น ณ บริเวณพระราชทานเพลิงพระศพนั้นเอง พระราช ทานนามว่า “วัดราชบูรณะ” สืบมานับแต่บัดนั้น

จนกระทั่งกาลเวลาผ่านไป 532 ปี และผ่านยุคกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มาสู่ยุคกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี…ก็ปรากฏว่า ใน พ.ศ.2499 นั้นเอง

ก็มีการลักลอบขุดพระปรางค์ในวัดนี้ ภายหลัง“กรุแตก” คนร้ายพบวัตถุโบราณมีค่าและเครื่องทองของใช้ประจำยุคต้นๆของกรุงศรีอยุธยาจำนวนมาก เป็นข่าวใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์ยุคนั้น ดังที่ทีมงานซอกแซกได้เขียนเอาไว้แล้ว

ต่อมา กรมศิลปากร ก็เข้าทำการ “ขุดกรุ” ในวัดราชบูรณะอย่างเป็นทางการ ค้นพบโบราณ วัตถุอันทรงคุณค่าอีกมากมาย รวมทั้ง “พระเครื่อง” จำนวนไม่น้อย ซึ่งในช่วงแรกกรมศิลปากรได้ดำเนินการไปจัดเก็บไว้ในสถานที่และพิพิธภัณฑ์อื่นๆหลายแห่ง แม้แต่นอกจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

จากนั้นไม่นานนัก พระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และ สมเด็จ พระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จทอดพระเนตรวัตถุโบราณบางส่วน ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทรงมีพระราชดำริ แก่กรมศิลปากรว่า ควรจะสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นในจังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้นเอง เพื่อเก็บรวบรวมโบราณ วัตถุอันทรงคุณค่าจากวัดราชบูรณะและสถานที่อื่นๆที่ค้นพบในภายหลังมาแสดงไว้ในที่เดียวกัน

ประกอบกับ กรมศิลปากรได้รับเงินบริจาคจากประชาชนจำนวนหนึ่ง ที่ประสงค์จะเช่าพระเครื่องบางส่วนจากกรุวัดราชบูรณะไปบูชา…จึงมีงบประมาณต้นทุนในการก่อสร้างอาคารหลังแรกขึ้น และก่อสร้างจนแล้วเสร็จในที่สุด ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระบรมราชินีนาถ ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินไปททรงเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2504 และทรงให้อัญเชิญพระนาม สมเด็จพระราชาธิราชที่ 2 หรือ เจ้าสามพระยา ให้เป็นนามของพิพิธภัณฑ์

เพราะนอกจากจะใช้ตั้งแสดงโบราณวัตถุจากกรุของวัดราชบูรณะของเจ้าสามพระยาเป็นหลักแล้ว เงินงบประมาณตั้งต้นจำนวนหนึ่งยังมาจากเงินบริจาคเช่าพระเครื่องจากกรุของวัดแห่งนี้ดังได้กล่าวไว้

ในอาคารจัดแสดงที่ 1 ซึ่งเป็นอาคารแรกนั้น จะแบ่งออกเป็น 2 ชั้น …โดย ชั้นบน ใช้จัดแสดงโบราณวัตถุศิลปวัตถุที่ค้นพบ และได้จากการดำเนินงานทางโบราณคดีในจังหวัดมหานครศรีอยุธยา เช่น พระพุทธรูป, พระพิมพ์, ตู้พระธรรมลายรดนํ้า รวมถึงพระบรมสารีริกธาตุจาก วัดมหาธาตุ แห่งกรุงศรีอยุธยา และเครื่องทองอันสวยงามมากจากกรุ วัดราชบูรณะ เป็นต้น

สำหรับ ชั้นล่าง ใช้เป็นที่จัดแสดงโบราณ วัตถุที่ค้นพบในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและพื้นที่ใกล้เคียงอื่นๆด้วย โดยเฉพาะพระพุทธรูปและเศียรพระพุทธรูปที่สำคัญจากวัดต่างๆ

โบราณวัตถุสำคัญที่นำมาแสดงและควรแวะชมเพื่อเป็นความรู้และบุญตาก็เช่น พระแสงดาบทองคำ สมัยอยุธยา, พระเต้าทักษิโณทกทองคำ, ช้างทรงเครื่องทองคำ, บานประตูไม้จำหลักรูปเทวดาทรงพระขรรค์ จากวัดพระศรีสรรเพชญ์ รวมถึงครุฑโขนเรือศิลปอยุธยา โบราณ ฯลฯ

ยอมรับว่าตื่นตาตื่นใจจริงๆ กับสิ่งที่เห็นใน พิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา ซึ่งปัจจุบันนี้มีอาคารแสดงถึง 3 อาคารด้วยกัน

ท่านอาจารย์ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ท่านสรุปกับพวกเราว่ากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีไทยยาวนานถึง 417 ปี นับว่ายาวนานที่สุดในบรรดาราชธานีทั้งหลายของเรา จึงได้ชื่อว่าเป็นยุคสมัยแห่งความเจริญรุ่งเรืองของราชอาณาจักรสยาม ซึ่งแม้ต่อมาจะพลาดท่าเสียทีแก่ข้าศึกแต่ก็ยังเหลือร่องรอยแห่งความเจริญรุ่งเรืองทั้งหลายทั้งปวงเอาไว้อย่างมาก

ยกตัวอย่างใน พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา นี่แหละครับ…ขนาดว่าหลุดไปอยู่ในการครอบครองของบุคคลที่ไม่สมควรครอบครองเสียเป็นจำนวนไม่น้อย…รวมทั้งที่ถูกเผา ถูกทำลายไประหว่างเสียกรุงก็อีกมาก…แต่เท่าที่พอเหลืออยู่และตั้งแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ สถานแห่งชาติก็เป็นเครื่องพิสูจน์ได้แล้วละครับว่า เราเคยเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่จริงในบูรพา

ขอบพระคุณท่านอาจารย์ ดร.สุเนตร สำหรับการบรรยายที่เปี่ยมไปด้วยความรู้คู่ความสนุก จนมองเห็นภาพต่างๆ ลอยเด่นขึ้นมากลางซากปรักหักพังต่างๆ

ขอบคุณคุณ เข็มทัศน์ มนัสรังษี ประธานบริษัท เคเบสต์ ฟาร์ม จำกัด ผู้จัดคอร์สพิเศษชุด “เจาะเวลาหาอดีตกรุงศรีอยุธยา” ขึ้นจนทีมงานซอกแซกมีเรื่องมาเขียนได้ถึง 5-6 สัปดาห์

ปล.ขอบคุณร้านอาหาร “ขาวละออ” อยุธยา ด้วยนะครับ ที่เสิร์ฟอาหารกลางวันแก่คณะนักเรียนพิเศษชุดนี้ด้วย “ปลาทูโอมาน” คู่กับ “น้ำพริกไทย” ทำให้หัวหน้าทีมซึ่งเชยมากเพิ่งจะมีโอกาสรับประทานเป็นครั้งแรก มีเรื่องเขียนผ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” ว่าด้วย “วิกฤติปลาทูไทย” ได้อีกหลายวัน และล่าสุด กรมประมง ท่านชี้แจงมาว่า กำลังดำเนินการแก้ไขวิกฤติทั้งหลายอยู่พร้อมกับให้สัญญาว่า “ปลาทูไทย” จะต้องไม่หมดไปจากท้อง “ทะเลไทย”.

เอวัง…ก็มีด้วยประการฉะนี้แล.

“ซูม”

Share

Recent Posts

New York City’s Sweetest Ice Cream Shops To Check OutNew York City’s Sweetest Ice Cream Shops To Check Out

New York City’s Sweetest Ice Cream Shops To Check Out

New York City is a haven for food lovers, and when it comes to ice… Read More

11 months ago

Explore Montenegro, The Hidden Gem of the Balkans

Montenegro, a hidden gem nestled in the Balkans, offers travelers a captivating experience with its… Read More

11 months ago

Spice Up Your Salad Game With These Tips To Make Salads More Exciting

Salads are a fantastic way to incorporate fresh and nutritious ingredients into our daily meals.… Read More

11 months ago

The Best Travel Destinations For Fitness Enthusiasts

  For fitness enthusiasts seeking to combine their love for travel and physical well-being, there… Read More

12 months ago

What To Do On Your First Visit To Edinburgh

Edinburgh, the capital city of Scotland, is a captivating destination that offers a perfect blend… Read More

12 months ago

Which Are The Consistently Most Popular Starbucks Drinks?

Starbucks has become a global phenomenon, captivating millions of coffee enthusiasts with its diverse menu… Read More

12 months ago