“ดิ๊กเดียม” ต้นไม้จั๊กจี้ อัศจรรย์ตำรายาโบราณ




ความเชื่อในเรื่องราวของ “ยาผีบอก” นั้นก็ยังมีความเกี่ยวโยงกับ “คัมภีร์โบราณ” ที่บันทึกไว้ในใบลาน จารึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรตั้งแต่โบร่ำโบราณ

แม้นว่าจะไม่ได้มีการอ้างผู้บันทึกเอาไว้ หากแต่บอกเล่าผ่านต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นและได้มีการปฏิบัติตามกันมาแล้วได้ผล ทำให้สร้างความศรัทธาสืบต่อๆกันมาถึงปัจจุบัน

สำคัญที่ว่าบางตำรายาก็เป็นความเชื่อส่วนบุคคลจะต้องวินิจฉัยอ้างอิงตามความเป็นจริง หาความรู้เพิ่มเติมด้านตัวยาที่นำมาเป็นส่วนประกอบ ด้วยอาจส่ง “ผลเสีย” กับ “ผู้ใช้” ขึ้นมาได้

“ต้นดิ๊กเดียม” อีกความหมายที่เข้าใจง่ายๆก็คือจั๊กเดียม…จั๊กจี้ ที่วัดปรางค์ จังหวัดน่าน ต้นไม้นี้เมื่อถูกคนเอามือไปลูบที่ลำต้น จะปรากฏอาการสั่นไหวโดยที่ไม่ได้โดนลมพัด สั่นสะท้านแบบว่าเหมือนถูกจั๊กจี้…ทั้งยอดไม้ใบไหวจะปรากฏให้เห็นเป็นที่น่าอัศจรรย์ใจแก่ผู้พบเห็นยิ่งนัก

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ด้วยอายุต้นดิ๊กเดียมที่ผ่านกาลเวลาล่วงเลยมามาก อายุกว่า 114 ปีแล้ว ลำต้นก็จวนเจียนจะล้มก็เลยแก้ไขด้วยการนำเสาปูนมาค้ำยันเอาไว้แล้วก็เอาเชือกล็อกผูกไว้อีกชั้น ทำให้เมื่อถูกลูบที่ลำต้นอาการสั่นไหวแม้จะมีให้เห็นอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ชัดเจนเท่าสมัยเก่าก่อนในอดีตที่จะเห็นชัดว่าสั่นมากๆ

เวลาลูบ ปลายไม้ก็จะสั่นไหวดิ๊กๆ ราวกับว่าต้นไม้นี้จั๊กจี้ เมื่อโดนลูบไล้ น่าอัศจรรย์จริงๆ ต้นไม้ก็รู้สึกจั๊กจี้ได้ครับ

ชื่อต้นดิ๊กเดียม สันนิษฐานกันว่าน่าจะมาจากอาการสั่นไหวเมื่อถูกลูบ ปกติต้นไม้นี้ก็จะเอาไว้รักษาโรค มีสรรพคุณรักษาโรคมะเร็ง หอบหืด ลมชัก ริดสีดวง ภูมิแพ้ ใช้กิ่งใช้ใบบดเป็นผงแล้วก็ปั้นตามตำรับเป็นยาลูกกลอน ตำรับยาโบราณนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2451 วันเวลาผ่านมาถึงวันนี้น่าเสียใจว่าไม่มีผู้สืบทอดแล้ว

เท่าที่รู้มา…หมอพื้นบ้านโบราณมีประวัติบันทึกไว้ว่า ใช้ปรุงยาโดยมีการนำยอดและใบมาตากแดดให้แห้ง แล้วมาบดเป็นผง นำมาผสมน้ำผึ้งเข้ายาแบบโบราณ โดยมีตัวยาอื่นเข้ามาผสมด้วยสองสามอย่าง

@@@@@@

“ต้นดิ๊กเดียม” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Gor denia turgid Roxb”

ต้นดิ๊กเดียมต้นนี้ที่วัดปรางค์ อำเภอปัว จังหวัดน่าน ครูฤระวงค์ สุทธหลวง เป็นคนนำมาปลูกเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2451 สมัยหลวงพ่อปลัดยศ ยศโส เป็นเจ้าอาวาส ลักษณะเป็นไม้ยืนต้น สูงได้ถึง 10 เมตร เปลือกต้นและกิ่งจะมีสีน้ำตาล ผิวตะปุ่ม ตะปํ่า กิ่งมีหนามแหลม ใบเดี่ยวรูปไข่

ดอกเดียวออกเป็นกระจุกตามกิ่ง สีขาวครีม กลิ่นหอมอ่อนๆ ผลกลม ผิวมีขนนุ่มสีน้ำตาลเข้ม ภายในมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก ทุกส่วนของต้นดิ๊กเดียมสามารถนำมาใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคได้

หากจะยึดโยงตำรายาเก่าแก่โบราณตำรับสมุนไพร “ต้นดิ๊กเดียม” นั้นว่ากันว่าหลวงปู่ท่านสืบทอดได้มา แล้วก็น่าเสียดายว่าหลวงปู่ท่านได้มรณภาพไปแล้ว และก็น่าเสียดายอีกด้วยว่าต้นดิ๊กเดียมที่วัดปรางค์ อำเภอปัว จังหวัดน่าน ต้นนี้ก็กำลังเสื่อมถอยทรุดโทรม ว่าง่ายๆก็คือกำลังจะตายนั่นเอง

“ต้นดิ๊กเดียม” พันธุ์นี้เป็นไม้หายาก พบได้น้อยมากจริงๆ มีต้นเดียวจนเป็นอันซีน ส่วนที่อื่นเป็นอีกสายพันธุ์อื่น ตามลำต้นจะมีหนามยาวประมาณ 2 เซนติเมตร องค์ความรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านระบุว่า “ต้นดิ๊กเดียม” สายพันธุ์ที่มีหนามจะเป็นพิษ เอามาทำยาตำรับโบราณไม่ได้

ใครที่เคยมาลูบต้นดิ๊กเดียมวัดปรางค์จะเห็นว่าลำต้นจะราบเรียบ ไม่มีหนาม เห็นต้นเล็กๆหน้ากว้างไม่ถึงคืบอย่างนี้อายุกว่าร้อยปีเข้าไปแล้วดิ๊กเดียมถือว่าเป็นไม้โตช้า

“ถ้าเทียบกับต้นกระท้อนอายุ 80 ปีเท่านั้น ใหญ่โตมากมาย แต่ดิ๊กเดียมโตขึ้นมาอายุเท่าๆกันก็แค่เท่าแขนเห็นจะได้” “มิตร” หรือ มิตร ขันเขื่อน อายุ 56 ปี บอกเล่าจากประสบการณ์

ย้ำให้รู้กันว่า…ภาพในอินเตอร์เน็ตโลกโซเชียลจะเห็นว่าต้นดิ๊กเดียมที่นี่ลำต้นยังตั้งตรง แต่ตอนนี้เอียงไปมาก สังเกตยากพอควรเมื่อเวลาขยับเคลื่อนไหว

@@@@@@

ที่พิเศษอีกอย่าง จากประสบการณ์ความเชื่อส่วนบุคคล “มิตร” บอกว่า สำหรับต้นดิ๊กเดียมเก่าแก่ต้นนี้น่าจะมีเทพยดาอารักษ์ปกปักรักษา
ประจำ เรื่องราวความเชื่อนี้เกิดขึ้นย้อนไปเมื่อราวๆ 7 ปีที่แล้ว คนจังหวัดลำปางได้มาเป็นเขยที่นี่อำเภอบ้านปรางค์ แล้วเขาก็มีญาติป่วยเป็นโรคมะเร็งเข้ามาแก้บน

ยายเขามาเที่ยวบ้านลูกเขยที่นี่ ก่อนหน้า…ไปหาหมอ ไปตรวจที่โรงพยาบาลในจังหวัดเชียงใหม่ หมอวินิจฉัยว่ามีจุดอยู่ในตับ เข้าใจว่าเป็นมะเร็งตับครอบครัวก็ทำใจกันแล้ว มากราบพระขอพร แล้วก็มาบนที่ต้นดิ๊กเดียมนี้ นำดอกดิ๊กเดียมสีขาวคล้ายดอกมะลิที่หล่นจากพื้นเก็บกลับไปด้วย

ดอกดิ๊กเดียม…จะร่วงในตอนเช้า ช่วงเวลาประมาณเดือนเมษายน…พฤษภาคม

เขาเก็บไปต้มดื่มวันละ 9 ดอกทุกเช้า ต้มซ้ำต่อวันจนน้ำใส ระยะเวลาต่อเนื่องนานประมาณ 2 เดือน ไม่เชื่ออย่าลบหลู่…นะครับ ที่รู้เพราะเขากลับมาแก้บน บังเอิญมาเจอกันแล้วก็เล่าให้เราฟัง

กลับไปเช็กกับหมอ…ปรากฏว่าจุดที่พบในตับไม่มีแล้ว ในทางศรัทธาความเชื่อ แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะสรรพคุณยาโบราณต้น
ดิ๊กเดียม แต่ถ้ามองในมุมวิทยาศาสตร์ก็อาจจะเป็นการตรวจผิดพลาดหรือไม่? หรือว่าพบเพียงแค่มีอาการน้อย แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ…ถ้าตรวจเจอจริงๆ ก็จะคิดเป็นอื่นไปไม่ได้เลย

วันแก้บนก็มีพวงมาลัย ผลไม้ มะพร้าว ธูปเทียน…ตอนลาของไหว้ เสสังฯก็ยังเอากลับมากิน ด้วยเชื่อว่าของแก้บนเป็นอาหารที่มีความเป็นมงคลสูงยิ่ง

“ส่วนตัวแล้วก็เก็บบูชาเอาไว้ในตู้ เป็นดอกดิ๊กเดียมแห้ง ได้ปริมาณพอเหมาะก็เอามาชงดื่มเป็นชาเช่นกัน”

ครอบครัวเขาดีใจกันมาก ยังเสียดายที่ไม่ได้บันทึกไว้เป็นภาพนิ่ง หรือวิดีโอเอาไว้ แล้วก็ให้หวนเสียดายไปถึงตำรับยาโบราณเก่าแก่ที่จางหายไปตามกาลเวลา เพราะแค่มีตัวยาอื่นสักตัวสองตัวเพิ่มเข้ามาตามตำราโบราณจารึกไว้เป็นอักษรล้านนา ก็จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยกับผู้เจ็บไข้ได้ป่วย

ว่าแล้ว…ก็สะกิดต้นดิ๊กเดียมให้ดู สักพักก็สั่นไหว สะท้อนศรัทธา ความเชื่อที่มีอยู่อย่างล้นเหลือ

“ศรัทธา” นำมาซึ่ง “ปาฏิหาริย์” เชื่อไม่เชื่ออย่างไรโปรดอย่าได้ “ลบหลู่”.

รัก-ยม