“ไมเกรน” อีกหนึ่งโรคฮิตของคนออฟฟิศ




เชื่อว่าทุกคนจะต้องเคยมีอาการ “ปวดศีรษะ” ซึ่งหากอาการปวดศีรษะมีความรุนแรง ย่อมส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของคุณ ทำให้ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวัน หรือไปทำงานได้ตามปกติ ซึ่งอาการปวดศีรษะนี้เป็นสัญญาณของโรคต่างๆ มากมายหลายโรค และหนึ่งในนั้นก็คือ “โรคไมเกรน”

“ไมเกรน” เป็นโรคที่เกิดจากวงจรภายในสมองเกิดความผิดปกติ ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาท และหลอดเลือดที่ผิดปกติ โดยอาจมีปัจจัยทางพันธุกรรมมาเกี่ยวข้องด้วย คนที่เป็นไมเกรนมักมีประวัติคนในครอบครัวเป็นไมเกรน นอกจากนี้ไมเกรนอาจมีผลจากฮอร์โมน เช่น ผู้หญิงที่กินยาคุมกำเนิดบางคนอาจมีอาการปวดศีรษะไมเกรน หรือ ผู้หญิงบางคนจะเป็นไมเกรนช่วงที่มีประจำเดือน ปัจจัยอื่นๆ ที่อาจกระตุ้นไมเกรนได้ ได้แก่ ความเครียด อดนอน รับประทานอาการไม่ตรงเวลา การรับประทานอาหารบางอย่าง เช่น อาหารที่มีผงชูรส หรืออาหารแปรรูปที่มีสารไนเตรต-ไนไตรต์ เช่น แฮม ไส้กรอก เป็นต้น

ไมเกรนแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ไมเกรนที่มีอาการเตือน (aura) นำมาก่อน และไมเกรนที่ไม่มีอาการเตือนนำมาก่อน ซึ่งพบได้บ่อยกว่า

อาการเตือน (Aura)

ผู้ที่เป็นไมเกรนโดยส่วนใหญ่จะมีอาการปวดศีรษะเลย โดยไม่มีอาการเตือนเหล่านี้นำมาก่อน แต่ในผู้ที่เป็นไมเกรนชนิดที่มีอาการเตือนนำมาก่อน จะมีอาการเตือนนำมาก่อนอาการปวดศีรษะประมาณ 10-15 นาที บางคนอาจจะนานเป็นชั่วโมง โดยมีอาการหลากหลายกันออกไป เช่น

● อาการที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็น อาการเตือนชนิดนี้พบได้บ่อยกว่า โดยผู้ป่วยจะเห็นภาพเบลอเมื่อมองไปด้านหน้า ส่วนขอบที่เบลอจะค่อยๆ ขยาย เห็นเป็นขอบซิกแซก บางคนเห็นแสงวูบวาบ ซึ่งอาจจะขยายเป็นวงที่กว้างขึ้นได้

● รู้สึกชาตามแขนขา พบได้น้อย ส่วนใหญ่จะเป็นอาการเตือนที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็น

อาการปวดศีรษะไมเกรน

ช่วงที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรน ผู้ป่วยจะปวดตื้อๆ หรือปวดตุ้บๆ มักจะเป็นข้างเดียว แต่ไม่ได้เป็นข้างเดียวกันทุกครั้ง จะสลับเป็นอีกข้างได้ บางคนอาจจะมีอาการร้าวมาที่กระบอกตา หรือร้าวมาที่คอได้ อาการปวดมักจะเป็นประมาณ 4-72 ชั่วโมง ระหว่างที่มีอาการปวด อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วยได้ นอกจากนี้จะมีความรู้สึกไวต่อแสงหรือเสียง ดังนั้น คนที่เป็นไมเกรน มักต้องการอยู่ในที่มืดๆ และในที่เงียบๆ เวลาที่มีอาการปวด นอกจากนี้ ในรายที่มีอาการปวดมากๆ อาจไม่สามารถทำงานหรือกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ หลายรายอาจต้องนอนพัก

หลังจากที่อาการปวดศีรษะหายไปแล้ว บางคนก็จะรู้สึกเหนื่อย เพลีย หรือมีอาการง่วงเหงาหาวนอนได้

การวินิจฉัย

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคไมเกรนได้โดยดูจากประวัติ และการตรวจร่างกายตามระบบและการตรวจร่างกายทางระบบประสาท โดยในโรคไมเกรนนั้นการตรวจร่างกายจะไม่พบความผิดปกติใดๆ การส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติมนั้นไม่จำเป็นในผู้ป่วยส่วนใหญ่ ยกเว้นในบางรายที่ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะที่เป็นมากขึ้น หรือมีอาการบางอย่างที่ไม่ตรงไปตรงมากับโรคไมเกรน จึงจะส่งตรวจเพิ่มเติมเป็นเฉพาะรายไป

แม้ว่าโรคไมเกรนจะไม่ได้เป็นโรคที่มีอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ในคนที่มีอาการมากๆ ก็จะทำให้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง เพราะไม่สามารถทำงานได้ บางรายอาจต้องนอนทั้งวัน นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการปวดศีรษะก็มักจะซื้อยาแก้ปวดมารับประทานเอง ซึ่งการรับประทานยาแก้ปวดถี่เกินไปก็จะทำให้อาการปวดศีรษะแย่ลงได้ (เรียกว่า Medication-overuse headache) ดังนั้นคนที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรนบ่อย เช่น มากกว่า 4 ครั้งต่อเดือน จึงควรไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

การรักษา

การรักษาอาการปวด เป็นการรักษาตามอาการ โดยยาที่ใช้รักษาแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้

1. ยากลุ่มบรรเทาอาการปวด

ยากลุ่มนี้เป็นยาที่ให้กินเฉพาะเวลาที่มีอาการเท่านั้น ยากลุ่มนี้มีด้วยกันหลายชนิด ตั้งแต่ชนิดที่หาซื้อได้เอง (over-the-counter) เช่น พาราเซตามอล หรือยากลุ่ม NSAIDs เช่น ไอบูโพรเฟน เป็นต้น หากรับประทานยาที่ใช้รักษาอาการปวดศีรษะเบื้องต้นแล้ว อาการปวดศีรษะไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ แพทย์จะมีการพิจารณาใช้ยากลุ่มที่จำเพาะต่ออาการปวดศีรษะไมเกรน เช่น triptans แต่การใช้ยากลุ่มนี้ต้องอยู่ในการพิจารณาและความดูแลของแพทย์ บางคนถ้ามีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย แพทย์ก็จะพิจารณาให้ยาแก้อาเจียนซึ่งจะมีส่วนช่วยให้อาการปวดศีรษะดีขึ้นด้วย

2. ยากลุ่มป้องกันอาการปวด

ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการอาการปวดศีรษะมากกว่า 4 ครั้งต่อเดือน แนะนำปรึกษาแพทย์ เนื่องจากจะมีบทบาทของการใช้ยากลุ่มป้องกันอาการปวด ยากลุ่มนี้จะต้องรับประทานทุกวันแม้ไม่มีอาการปวดศีรษะ เพื่อป้องกันไม่ให้มีอาการปวดศีรษะเกิดขึ้น ยากลุ่มนี้ก็มีอยู่หลายชนิด โดยการใช้ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ นอกจากนี้มียากลุ่มใหม่ๆ ที่ออกฤทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับสารสื่อประสาท CGRP ยากลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นยาฉีด แพทย์เป็นผู้เลือกใช้ตามความเหมาะสมในผู้ป่วยเป็นรายๆ ไปตามข้อบ่งชี้ แต่ยากลุ่มนี้ยังมีราคาค่อนข้างสูง

การดูแลตนเองและการป้องกัน

ผู้ที่เป็นโรคไมเกรน สามารถดูแลตนเองได้ง่ายๆ โดยการรับประทานอาหารให้ตรงเวลา พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงความเครียด และ สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะ เช่น กลิ่น หรือ อาหารบางอย่าง ดังที่กล่าวข้างต้น ซึ่งแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป

นอกจากนี้ ควรทำไมเกรนไดอารี่ เพื่อบันทึกว่ามีอาการปวดศีรษะวันใดบ้าง ปวดมากแค่ไหน มีอะไรเป็นตัวกระตุ้นให้ปวดศีรษะหรือไม่ อย่างไร และรับประทานยาอะไรไปบ้าง ในรายที่มีอาการปวดศีรษะมากกว่า 4 ครั้งต่อเดือน ควรมาพบแพทย์ เพื่อพิจารณาการใช้ยาป้องกันอาการปวดศีรษะ และ ป้องกันอาการปวดศีรษะจากการรับประทานยาแก้วปวดบ่อยเกินไป

_____________________________________________

แหล่งข้อมูล
อ. นพ.พิเชฐ เติมสารทรัพย์ สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

Share

Recent Posts

New York City’s Sweetest Ice Cream Shops To Check OutNew York City’s Sweetest Ice Cream Shops To Check Out

New York City’s Sweetest Ice Cream Shops To Check Out

New York City is a haven for food lovers, and when it comes to ice… Read More

11 months ago

Explore Montenegro, The Hidden Gem of the Balkans

Montenegro, a hidden gem nestled in the Balkans, offers travelers a captivating experience with its… Read More

11 months ago

Spice Up Your Salad Game With These Tips To Make Salads More Exciting

Salads are a fantastic way to incorporate fresh and nutritious ingredients into our daily meals.… Read More

11 months ago

The Best Travel Destinations For Fitness Enthusiasts

  For fitness enthusiasts seeking to combine their love for travel and physical well-being, there… Read More

12 months ago

What To Do On Your First Visit To Edinburgh

Edinburgh, the capital city of Scotland, is a captivating destination that offers a perfect blend… Read More

12 months ago

Which Are The Consistently Most Popular Starbucks Drinks?

Starbucks has become a global phenomenon, captivating millions of coffee enthusiasts with its diverse menu… Read More

12 months ago