MERCEDES-EQ พาชม โซลาร์เซลล์ลอยน้ำใหญ่สุดในโลก! สถานีจ่ายไฟจากพลังงานแสงอาทิตย์ในเขื่อนสิรินธร




การเปลี่ยนแปลงพลังงานที่ใช้ในการขับเคลื่อนรถยนต์ จากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ปล่อยมลภาวะมาเป็นพลังงานไฟฟ้าที่ปราศจากมลพิษกำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ไฟฟ้าที่นำมาชาร์จให้กับรถยนต์ที่ใช้มอเตอร์ขับเคลื่อน ส่วนหนึ่ง ได้มาจากการเผาเชื้อเพลิง ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน หรือถ่านหิน อีกส่วน ได้มาจากพลังงานธรรมชาติ เช่น น้ำในเขื่อน พลังงานคลื่น กังหันลมและแสงอาทิตย์ ซึ่งถือเป็นพลังงานสะอาดที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นแหล่งพลังงานทดแทนประเภทหมุนเวียนที่ใช้แล้วเกิดขึ้นใหม่ได้ตามธรรมชาติ เป็นพลังงานสะอาด ปราศจากมลพิษ และเป็นพลังงานที่มีศักยภาพสูง การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ สามารถจำแนกออกเป็น 2 รูปแบบคือ การใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตความร้อน

เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า
ระบบผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ 

เซลล์แสงอาทิตย์แบบอิสระ (PV Stand alone system) เป็นระบบผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการออกแบบสำหรับใช้งานในพื้นที่ชนบทที่ไม่มีระบบสายส่งไฟฟ้า อุปกรณ์ระบบที่สำคัญประกอบด้วยแผงเซลล์แสงอาทิตย์ อุปกรณ์ควบคุมการประจุแบตเตอรี่ แบตเตอรี่ และอุปกรณ์เปลี่ยนระบบไฟฟ้ากระแสตรงเป็นไฟฟ้ากระแสสลับแบบอิสระ

เซลล์แสงอาทิตย์แบบต่อกับระบบจำหน่าย (PV Grid connected system) เป็นระบบผลิตไฟฟ้าที่ถูกออกแบบสำหรับผลิตไฟฟ้าผ่านอุปกรณ์เปลี่ยนระบบไฟฟ้ากระแสตรงเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ เข้าสู่ระบบสายส่งไฟฟ้าโดยตรง ใช้ผลิตไฟฟ้าในเขตเมือง หรือพื้นที่ที่มีระบบจำหน่ายไฟฟ้าเข้าถึง อุปกรณ์ระบบที่สำคัญประกอบด้วยแผงเซลล์แสงอาทิตย์ อุปกรณ์เปลี่ยนระบบไฟฟ้ากระแสตรงเป็นไฟฟ้ากระแสสลับชนิดต่อกับระบบจำหน่ายไฟฟ้า

Mercedes-EQ แบรนด์ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า พาสื่อมวลชนเดินทางจากกรุงเทพฯไปยังเขื่อนสิรินธรจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเยี่ยมชมโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์จากทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร นับเป็นโครงการจัดหาพลังงานไฟฟ้าที่สะอาดและมีความยั่งยืนเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน หลังจากโครงการเสร็จสิ้นลงและ กฟผ. เริ่มการปล่อยกระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับประชาชนบริเวณใกล้เคียงกับตัวเขื่อน Mercedes-EQ จะทำการติดตั้งสเตชั่นชาร์จไฟ ร่วมกับ กฟผ. บริเวณจุดชาร์จพลังงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตในเขื่อนสิรินธร เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ใช้งานยานยนต์พลังงานไฟฟ้า ที่เดินทางไกลเพื่อแวะไปเที่ยวชมธรรมชาติรอบเขื่อน

โรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ในเขื่อนสิรินธร ได้รับการอนุมัติก่อสร้างจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2550 เป็นโรงไฟฟ้าที่ตอบสนองนโยบายภาครัฐ เรื่องการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้า ทำให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย อีกทั้งช่วยอนุรักษ์พลังงาน และลดปัญหาภาวะโลกร้อน โรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ เขื่อนสิรินธรแห่งนี้ ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยว และแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานไฟฟ้าของจังหวัดอุบลราชธานีที่มีความสำคัญในด้านพลังงานที่ยั่งยืนของประเทศอีกด้วย

โรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ เขื่อนสิรินธร เป็นหนึ่งในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2547-2558 (PDP 2004) ความโดดเด่นของโรงไฟฟ้าอยู่ที่การออกแบบด้วยการนำระบบติดตามดวงอาทิตย์แบบถ่วงน้ำหนัก โดยใช้น้ำเป็นตัวกลางในการถ่วงน้ำหนัก ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ต้นทุนต่ำ และช่วยเพิ่มค่าประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าแบบที่ติดตั้งคงที่ นวัตกรรมการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานจากดวงอาทิตย์ เป็นการคิดค้นโดย กฟผ. โดยทำการจดอนุสิทธิบัตรในปี พ.ศ. 2546 และได้รับรางวัล ASEAN Energy Award เมื่อปี พศ. 2548 สำหรับระบบติดตามดวงอาทิตย์ดังกล่าว แผงโซลาร์เซลล์จะสามารถเคลื่อนที่ตามการโคจรของดวงอาทิตย์ตั้งแต่เช้าจรดเย็น ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้ในปริมาณที่พอเพียงต่อการใช้งาน

30 กรกฎาคม 2564 โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร (หก-ทน.) ร่วมกับกองโรงไฟฟ้าเขื่อนสิรินธร (กธอ-ฟ.) และบริษัทคู่สัญญา B.Grimm Power-Energy China Consortium ดำเนินการทดสอบขนานระบบผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำฯ เข้ากับระบบโครงข่ายไฟฟ้าของ กฟผ. ครั้งแรก (First Synchronization) เมื่อเวลา 10.29 น. โดยเริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าจากระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำฯ มายังหม้อแปลงไฟฟ้า (Transformer) และอินเวอร์เตอร์ (Inverter) ชุดที่ 1 จากทั้งหมด 7 ชุด ที่ติดตั้งอยู่บนโป๊ะเหล็กกลางน้ำ (Floater Boat) หมายเลข 35FT-1 ระหว่างแผงโซลาร์เซลล์ทุ่นลอยน้ำเกาะที่ 3 และ 5 จากนั้นได้ทดสอบการสั่งปลดระบบผลิตไฟฟ้า (Load Rejection) และได้ขนานระบบผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำฯ เข้ากับระบบโครงข่ายไฟฟ้าของ กฟผ. ครั้งแรกสำเร็จ เมื่อเวลา 10.47 น.

การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ แม้จะตอบโจทย์ในการช่วยลดภาวะโลกรวน แต่ด้วยความที่พลังงานแสงอาทิตย์ยังมีข้อจำกัด จะนำมาใช้ได้ก็ต่อเมื่อมีแสงแดดและมีความเข้มแสงที่เหมาะสมเท่านั้น เพราะหากมีเมฆมาบดบัง เกิดฝนตก หรือแม้แต่ในเวลากลางคืน แสงแดดก็จะหายไป ทำให้ไม่สามารถนำพลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตไฟฟ้าได้เต็มรูปแบบ เมื่อเทียบกับพลังงานฟอสซิล การนำพลังงานสะอาดอย่างพลังงานจากดวงอาทิตย์ที่เป็นดาวฤกษ์ขนาดใหญ่หรือที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า ดาวยักษ์เหลือง ดูท้าทายไม่ใช่น้อย พลังงานของดวงอาทิตย์เกิดที่แก่นกลาง ซึ่งเป็นชั้นในที่สุดของดวงอาทิตย์ เป็นบริเวณที่มีอุณหภูมิและความดันสูงมาก ทำให้เกิดปฏิกิริยาเทอร์โมนิวเคลียร์ ที่แก่นกลางของดวงอาทิตย์ ซึ่งเกิดจากโปรตอนหรือนิวเคลียสของธาตุไฮโดรเจน 4 นิวเคลียสหลอมไปเป็นนิวเคลียสของธาตุฮีเลียม 1 นิวเคลียส พร้อมกับเกิดพลังงานจำนวนมหาศาล จากการเกิดปฏิกิริยาพบว่า มวลที่หายไปนั้นเปลี่ยนไปเป็นพลังงาน ซึ่งสามารถคำนวณได้จากสูตร ความสัมพันธ์ระหว่างมวล (m) และพลังงาน (E) ของไอน์สไตน์ ( E = mc2) เมื่อ C คือ อัตราความเร็วของแสงสว่างในอวกาศซึ่งเท่ากับ 300,000 กิโลเมตร/วินาที

ถ้าจะทำให้พลังงานหมุนเวียนเข้ามาแทนที่พลังงานฟอสซิลที่ยังผลิตไฟฟ้าเป็นหลักอยู่ในปัจจุบัน จึงน่าสนใจว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะต่อสู้กับความท้าทายเพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดของพลังงานหมุนเวียนได้อย่างไร? 

ชนินทร์ สาลีฉันท์ หัวหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร กฟผ. ซึ่งเป็นหัวหน้าของงานก่อสร้างโครงการ โซลาร์เซลล์ลอยน้ำระบบไฮบริดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก กล่าวว่า “ถ้ามองเทรนด์ของโลก ทั่วโลกต่างต้องการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เข้ามาแทนที่โรงผลิตกระแสไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และจะมาเร็วมากขึ้น แต่การสร้างโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ขนาดใหญ่ ต้องใช้พื้นที่กว้างใหญ่มากๆ สำหรับติดตั้งอุปกรณ์ สำหรับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต มีเขื่อนอยู่แล้วหลายแห่งทั่วประเทศ พื้นที่ผิวน้ำของเขื่อนไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์อย่างจริงจังเท่าที่ควร และระบบส่งไฟฟ้าของเขื่อนก็มีความพร้อมรองรับอยู่แล้ว กฟผ. จึงมีแนวคิดจะนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

‘โซลาร์เซลล์ลอยน้ำผลิตไฟฟ้าร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ หรือที่เรียกว่าระบบไฮบริด’ สามารถตอบโจทย์การผลิตกระแสไฟด้วยพลังงานสะอาดจากธรรมชาติได้ดีที่สุด โดยเลือกเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี เป็นโครงการนำร่องเพื่อต่อยอดงานวิจัยโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำขนาดเล็กในเขื่อนสิรินธรที่มีอยู่เดิม ภายใต้โครงการ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ ร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร ด้วยกำลังการผลิตไฟฟ้า 45 เมกะวัตต์ (เทียบได้กับปริมาณการใช้ไฟฟ้าของห้างใหญ่ๆ อย่างไอคอนสยามมากถึง 4 ห้าง) และไม่มีการปล่อยมลภาวะใดๆทั้งสิ้น จึงถือเป็นโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และยังเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยอีกด้วย

คอนเซปต์ของโรงไฟฟ้า คือการจับคู่พลังงานหมุนเวียน 2 ประเภท ระหว่าง พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังน้ำจากเขื่อน ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง

เมื่อวางแผนงานชัดเจนแล้ว ทีมงานวิจัยและทดสอบของ กฟผ ได้ร่วมกันคิดค้นพัฒนาระบบควบคุมบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System: EMS) เข้ามาเป็นตัวช่วยในการควบคุมพลังงานทั้งสองเพื่อผสานการผลิตไฟฟ้าร่วมกัน มีการนำระบบพยากรณ์พลังงานหมุนเวียน (RE Forecast) เข้ามาช่วยคาดการณ์สภาพอากาศล่วงหน้า เพื่อสั่งการระบบผลิตไฟฟ้าให้แม่นยำมากขึ้น ทำให้สามารถก้าวข้ามขีดจำกัดของพลังงานหมุนเวียน โดยให้โซลาเซลล์ผลิตไฟฟ้าในช่วงเวลากลางวัน และใช้พลังน้ำจากเขื่อนผลิตไฟฟ้าในช่วงเวลาที่แสงแดดไม่เพียงพอ ในตอนกลางคืน

การนำแผงโซลาร์เซลล์และทุ่นลอยน้ำวางปกคลุมบนผิวน้ำ ยังช่วยลดการระเหยของน้ำในเขื่อนได้ประมาณ 460,000 ลบ.ม./ปี (อ้างอิงจากรายงานศึกษาความเหมาะสมโครงการฯ) ด้วยความเย็นของผิวน้ำ ทำให้การระบายความร้อนของแผงโซลาร์เซลล์ดีขึ้นกว่าการวางบนพื้น เพราะบนพื้นดิน หรือหิน จะทำให้ความร้อนสะท้อนกลับมาด้านหลังของแผง ทำให้ผลิตไฟได้น้อยกว่าแบบลอยน้ำ ในอนาคต ระบบกักเก็บพลังงานจากแบตเตอรี่ สามารถนำมาใช้ได้แพร่หลาย และมีราคาถูกลง กฟผ. จะนำมาใช้ร่วมกับโครงการโซลาร์เซลล์ไฮบริดที่เขื่อนแห่งอื่นๆ ทำให้สามารถนำพลังงานแสงอาทิตย์ที่เหลือจากการผลิตไฟฟ้าในช่วงเวลาที่มีผู้ใช้ไฟน้อย มาสำรองไว้ในระบบกักเก็บพลังงาน พอช่วงกลางคืนก็ดึงพลังงานออกมาใช้ได้

โซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในเขื่อนสิรินธร เขื่อนที่ใช้พระนามของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ใช้แผงโซลาร์เซลล์กว่า 1.4 แสนแผง ติดตั้งในอ่างเก็บน้ำที่มีระดับความลึกถึง 10-30 เมตร และยังมีระดับน้ำที่จะขึ้น-ลงแตกต่างกันประมาณ 3-5 เมตร จากการปล่อยน้ำตามภารกิจปกติของเขื่อน ถ้าหากออกแบบการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไม่เหมาะสมก็จะเกิดความเสียหายได้

“ถือเป็นเรื่องใหม่และท้าทายที่จะทำให้แผงโซลาร์เซลล์บนผิวน้ำถูกยึดตรึงให้อยู่กับที่โดยไม่เคลื่อนย้าย และไม่เกิดการชนกัน วิศวกรของ กฟผ. ต้องหาแนวทางการออกแบบให้เหมาะสมและปลอดภัยที่สุด ทีมงานของ กฟผ. ได้ร่วมกันคิดค้นระบบยึดโยงแผงใต้น้ำ ที่เปรียบเหมือนกับสมอเรือป้องกันไม่ให้แผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำลอยไปตามแรงลมและกระแสน้ำ” ทีมงาน กฟผ. ออกแบบการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ออกเป็น 7 ชุด ไม่ได้ยึดโยงให้เป็นผืนใหญ่ผืนเดียวกันทั้งหมด ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในกรณีเกิดลมพายุพัดเข้ามา ส่วนระบบยึดโยง ใช้สายสลิงเป็นตัวยึดทุ่นลอยน้ำไปกับสมอคอนกรีตลูกปูนทรงสี่เหลี่ยม หล่อคลุมโครงสร้างเหล็กด้านใน เพื่อถ่วงน้ำหนักลงไปใต้น้ำ ลูกปูนจะต้องสัมผัสกับพื้นดินและไม่ลอยไปตามกระแสลมและกระแสน้ำ ใช้น้ำหนักลูกปูนแต่ละลูก หนัก 3-6 ตัน โดยได้คำนวณน้ำหนักให้สัมพันธ์กับทิศทางลม และตำแหน่งการวางลูกปูนใต้น้ำ ที่สำคัญ ลูกปูนแต่ละลูกจะต้องทำหน้าที่เป็นสายดิน เพื่อป้องกันในกรณีเกิดกระแสไฟฟ้ารั่วไหล



การหย่อนสมอคอนกรีตในเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีความลึก 15-30 เมตร มีความยุ่งยากและค่อนข้างซับซ้อน ตั้งแต่ขั้นตอนการลำเลียงขึ้นเรือ การหย่อนลงในน้ำให้ตรงกับตำแหน่งที่ระบุไว้ตาม GPS ให้นึกภาพเหมือนกับการนำลูกโป่งไปกดในน้ำ ซึ่งกระแสน้ำในเขื่อนที่ไม่หยุดนิ่ง จะทำให้ลูกปูนวางตรงจุดที่ต้องการได้ยาก ทีมงาน กฟผ. คิดหาวิธีที่ดีที่สุดและปลอดภัย โดยมีบริษัทที่เชี่ยวชาญในด้านนี้ เข้ามาช่วย ทำให้วางลูกปูนทั้งหมดเสร็จสิ้นลงโดยไม่เกิดปัญหาแต่อย่างใดทั้งสิ้น

ก่อนลงมือติดตั้งจริง วิศวกรและช่างของ กฟผ. ได้ทำการศึกษาตัวแปรทั้งหมดที่อาจจะทำให้เกิดความเสียหายต่อแผงโซลาร์เซลล์และระบบยึดโยงใต้น้ำ โดยเฉพาะแรงลม ผ่านการคำนวณในโมเดลจำลอง ด้วยการใส่ค่าความเร็วของลมที่ 40 เมตรต่อวินาที หรือเทียบเท่าความเร็วลมของพายุไต้ฝุ่นที่พัดกระหน่ำเข้าใส่พื้นที่เขื่อนสิรินธร ในเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา เกิดพายุฝนพัดกระหน่ำพัดเข้ามาที่แผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งขณะนั้นได้ติดตั้งและยึดโยงลงใต้น้ำไปแล้ว 2 ชุด แต่จากการคำนวณ และออกแบบระบบยึงโยงที่มีความแข็งแรง แผงและสลิงที่ใช้ยึดทุ่นลอยไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด กฟผ. มั่นใจว่า การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่ออกแบบไว้สามารถรับแรงลมจากพายุได้อย่างสบายๆ

ย้อนกลับไปในช่วงที่เริ่มงานก่อสร้างโครงการยักษ์ โซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในเขื่อนสิรินธร กฟผ. รับคนในพื้นที่ เข้ามาทำงานเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วนกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ มีการว่าจ้างเจ็ตสกีของชุมชนที่ปกติจะใช้รับส่งนักท่องเที่ยว มาช่วยลากแผงโซลาร์เซลล์ไปติดตั้งในอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งจ้างเรือหางยาวไว้รับ-ส่งคนงาน ช่วยให้ชุมชนมีรายได้โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่นักท่องเที่ยวหาย ขาดรายได้และคนตกงานมากขึ้น แต่เหนืออื่นใดคือการสร้างการมีส่วนร่วม ชุมชนเกิดความภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จของโครงการฯ การจ้างงานช่วงการก่อสร้างอาจช่วยให้ชุมชนมีรายได้แต่ก็ไม่ยั่งยืน จึงเป็นที่มาของการทำเส้นทางเดินชมธรรมชาติ (Nature Walkway) เพื่อปลุกปั้นให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งใหม่ในพื้นที่ โดยร่วมกับจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งพอเปิดตัวไปแล้วก็มีคนสนใจอยากจะเข้ามาชมเป็นจำนวนมาก คาดว่าจะเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ในเดือนมกราคม ปี 2565 เมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามา ชุมชนก็จะมีรายได้ในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการนำผลิตภัณฑ์ชุมชนมาขายให้กับนักท่องเที่ยว เป็นมัคคุเทศก์นำเที่ยว หรือบริการด้านอื่นๆ ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงวางแผนพัฒนาร่วมกัน

เส้นทางเดินชมธรรมชาติ หรือ Nature Walkway แลนด์มาร์ก ริมอ่างเก็บน้ำ ออกแบบให้มีลักษณะเป็นวงล้อพลังงาน 7 แฉก สื่อแทนพลังงานสะอาดที่นำมากลับหมุนเวียนใช้อย่างไม่มีวันหมด ทางเดินออกแบบให้เป็นตะแกรงเหล็กโปร่ง เมื่อมองลงไปจะมองเห็นพื้นด้านล่างตลอดทาง ไฮไลต์อยู่ที่บริเวณทางเดิน 3 แฉกบริเวณริมน้ำ ออกแบบเป็นพื้นกระจก มีความสูงถึง 10 เมตร นอกจากนี้ ยังมีอาคารไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยว และเตรียมสร้างสวนหย่อม ธารน้ำตก สระน้ำ จัดแต่งสวนหิน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกสารทิศที่อยากจะเข้ามาพักผ่อนหย่อนใจท่ามกลางบรรยากาศอันร่มรื่น

ในอนาคต (อันใกล้) กฟผ. วางแผนพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดบริเวณเขื่อนอื่นๆ ของ กฟผ. อีก 9 เขื่อน ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง คาดว่า หากโครงการพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์จากแผงโซลาเซลล์ในเขื่อนเสร็จสิ้นลงทั้งหมด จะสามารถรวมกำลังผลิตไฟฟ้าได้มากถึง 2,725 เมกะวัตต์ เพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดของพลังงานหมุนเวียนอย่างยั่งยืน และเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาสภาพอากาศให้กับโลก

โซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดใหญ่ที่สุดในโลกเสร็จสมบูรณ์แล้วในเขื่อนสิรินธร กฟผ.ได้ทำการส่งไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดให้กับประชาชนที่อยู่ใกล้เคียง ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการจัดสรรพลังงานจากธรรมชาติที่ปราศจากมลพิษ เป็นก้าวแรกที่มีความสำคัญ เพื่อพิสูจน์ความสำเร็จในการร่วมกันฝ่าฟันอุปสรรคและความท้าทายของการผลิตกระแสไฟด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ และเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย กฟผ. พร้อมเปิดบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกให้เข้ามาสัมผัส โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร ฝีมือคนไทยที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี.

อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail [email protected]
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/