COVID–19 กับเด็ก แพทย์แนะ “ฉีดวัคซีน” ลดเสี่ยง




แม้จะดูเหมือนสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย หลายประเทศทยอยผ่อนคลายมาตรการ คลายล็อกเพื่อเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวและฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาอีกครั้ง ขณะที่ประเทศไทยก็เตรียมพร้อมที่จะปรับระดับจากโรคระบาดให้เป็นโรคประจำถิ่นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่ก็ยังมีกลุ่มที่น่าเป็นห่วงบางกลุ่มที่จำเป็นต้องสื่อสารให้ข้อมูลที่ถูกต้อง โดยเฉพาะเรื่องของการฉีดวัคซีน นั่นก็คือกลุ่มเด็กและเด็กเล็ก

นพ.ฆนัท ครุฑกูล นายกสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ ให้ข้อมูลผ่านรายการ Covid Forum ที่นี่มีคำตอบในประเด็น “โควิด-19 อันตรายกับเด็กอย่างไร” ว่า เด็กเป็นกลุ่มที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด และพ่อแม่จำนวนไม่น้อยที่เป็นกังวลต่อการติดเชื้อโควิด-19 ของลูกหลาน โดยเฉพาะอาการลองโควิดที่อาจจะตามมา รวมทั้งความปลอดภัยในเรื่องของการฉีดวัคซีน ที่อัตราการฉีดวัคซีนในเด็กยังค่อนข้างต่ำ

ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย และรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสยาม บอกว่า อาการทั่วไปของ COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน ไม่แตกต่างจากสายพันธุ์เดิม เพียงแต่ความรุนแรงลดลง แต่แพร่เชื้อง่ายขึ้น ซึ่งการติดเชื้อในเด็ก สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือ การแยกเด็กติดเชื้อออกจากผู้สูงอายุหรือผู้ป่วย โรคประจำตัว เพื่อป้องกันการแพร่และติดเชื้อในกลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรง ซึ่งเด็กที่ติดเชื้อส่วนใหญ่ เบื้องต้นจะมีอาการคล้ายไข้หวัด เช่น ไข้สูง 38-39 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะและกล้ามเนื้อ ไอ เจ็บคอ อ่อนเพลีย หนาวสั่น เบื่ออาหาร คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ ไอแห้งๆ อาจเกิดร่วมกับอาการอาเจียน ท้องเสีย หรือสูญเสียประสาทรับกลิ่น รับรสชั่วคราว ให้สังเกตว่าถ้ามีอาการเจ็บคอ หายใจลำบาก บางรายมีอาเจียน คลื่นไส้ ให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่าอาจจะติดเชื้อโควิด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

“เด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 มากกว่า 90% ไม่มีอาการรุนแรงและสามารถหายได้เอง แต่เมื่อหายแล้วให้สังเกตอาการทั่วไปหลังจากหาย เช่น การเดิน นั่ง นอน การรับประทานได้เป็นปกติ ก็ไม่มีความน่าห่วงกังวลอื่นเพิ่มเติม แต่ถ้า 2-6 สัปดาห์ที่หายจากโควิดแล้วมีอาการ เช่น เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ขาบวม ที่เป็นการอักเสบทั่วร่างกายอย่างที่พบในผู้ใหญ่ที่หายจากโควิด ให้รีบมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย” ศ.นพ.อมร บอกและว่า ภาวะลองโควิด-19 (Long Covid-19) ในเด็กพบได้ประมาณ 25-45% โดยมักพบในระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท ระบบภูมิคุ้มกัน ฯลฯ สำหรับเด็กที่ได้รับวัคซีนเข็ม 1 แล้ว ถ้าติดเชื้อก็จะเหมือนการรับวัคซีนตามธรรมชาติ 1 เข็ม หากจะฉีดวัคซีนเข็ม 2 ที่เป็นเข็มต่อเนื่อง ต้องรอหลัง จากหายจากการติดเชื้อแล้วอย่างน้อย 3 เดือน

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น กล่าวว่า การติดเชื้อโควิดในเด็กเป็นเรื่องที่ผู้ปกครองกังวลใจอย่างมาก โดยเฉพาะในด้านการดูแลสุขภาพ ผู้ปกครองต้องหมั่นสังเกตว่าเด็กมีอาการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นหรือไม่ เพื่อส่งต่อการรักษาได้ทันท่วงที นอกจากนั้นยังต้องคำนึงถึงสุขภาพจิตใจของเด็ก จึงต้องมีการวางแผนดูแลป้องกันภาวะเครียดระหว่างการรักษาอาการโควิด-19 ที่ต้องใช้

เวลาหลายวัน เพราะเด็กๆถูกจำกัดพื้นที่ พ่อแม่จึงต้องมีพี่เลี้ยงที่รู้ใจ พูดคุยคลายความวิตกกังวล แลกเปลี่ยนความรู้สึก โดยผู้รับฟังไม่มีการแทรกแซงในระหว่างที่เล่า ให้กำลังใจโดยการสร้างทัศนคติในเชิงบวก มีกิจกรรมสร้างสรรค์ในรูปแบบต่างๆ เช่น การวาดรูป การร้องเพลง การเล่นดนตรี การเล่านิทาน การประดิษฐ์งานศิลปะที่ชื่นชอบ

“ช่วงการระบาดที่ผ่านมา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงวัฒนธรรม ได้ออก “คู่มือการดูแลสุขภาพจิต ฉบับประชาชน” เพื่อให้ประชาชนสามารถประเมินความเครียดของคนรอบข้างได้เบื้องต้น ภายในคำถาม 10 ข้อ เพื่อจำแนกระดับความเครียด 3 กลุ่มสี ให้ได้รับการดูแลตามเหมาะสม ทั้งนี้ สามารถติดต่อขอรับได้ที่สายด่วนกระทรวงวัฒนธรรม 1765 และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทุกจังหวัด รวมถึงสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เพื่อนำมาปรับใช้ดูแลด้านสุขภาพจิตเด็กๆ ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและต้องช่วยกันดูแลให้ดีที่สุด” คุณหมอสุริยเดว บอกและว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการป้องกันไม่ให้บุตรหลานติดเชื้อ โดยการป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างและล้างมือ.