108 คำถาม ถุงน้ำในรังไข่หลายใบ PCOS




ประจำเดือนมาผิดปกติ มีภาวะอ้วนหรืออ้วนลงพุง มีปัญหามีบุตรยาก อาจต้องสงสัยว่าจะเป็นกลุ่มอาการ PCOS ควรมารับการตรวจเพื่อวินิจฉัยหาความผิดปกติและรับการรักษา ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง

พันธุกรรม อาจมีส่วนทำให้เกิดโรค PCOS ได้มากขึ้น โดยพบว่า ถ้ามีประวัติในครอบครัวโดยเฉพาะในลำดับญาติสายตรง เช่น แม่ ลูก พี่น้อง เป็น PCOS สตรีวัยเจริญพันธุ์ในครอบครัวนั้นมีโอกาสเป็น PCOS ได้มากกว่าคนทั่วไป

โรค PCOS อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก โรคอ้วน และภาวะมีบุตรยาก ผู้ที่เป็นโรคนี้จึงควรกินยาตามแพทย์สั่ง รับการตรวจติดตามอย่างสม่ำเสมอ หากเกิดอาการผิดปกติใดๆ ควรรีบพบแพทย์

1. PCOS คืออะไร

กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ หรือ PCOS (Polycystic ovarian syndrome) เป็นภาวะที่มีความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ โดยลักษณะของกลุ่มอาการนี้จะมีอาการหลายอย่างร่วมกัน เช่น มีอาการแสดงของฮอร์โมนเพศชายเกิน ภาวะไม่ตกไข่เรื้อรังทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ภาวะดื้อต่ออินซูลิน ภาวะอ้วนลงพุง ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานมากขึ้นในอนาคต

2. สาเหตุของ PCOS คืออะไร

ปัจจุบันยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงของกลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ แต่เชื่อว่ามีความผิดปกติอยู่ที่หลายๆ กลไกซึ่งมีผลสืบเนื่องเกี่ยวพันกัน

3. ใครที่มีภาวะเสี่ยงเป็น PCOS

พบได้ประมาณร้อยละ 10-20 ของสตรีวัยเจริญพันธุ์ และพบได้มากขึ้นในสตรีที่มีภาวะอ้วน

4. กรรมพันธุ์เกี่ยวกับการเกิดโรค PCOS หรือไม่

จากการศึกษาพบว่า พันธุกรรม อาจมีส่วนทำให้เกิดโรคได้มากขึ้น โดยพบว่า ถ้ามีประวัติในครอบครัวโดยเฉพาะในลำดับญาติสายตรง (First-degree relative) เช่น แม่ ลูก พี่น้อง เป็น PCOS สตรีวัยเจริญพันธุ์ในครอบครัวนั้นมีโอกาสเป็น PCOS ได้มากกว่าคนทั่วไป ซึ่งสาเหตุทางพันธุกรรมพบว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของยีน (gene) CYP17A และ CYP11A ส่งผลทำให้มีการทำงานของเอนไซม์ (enzyme) ที่ผิดปกติไป และมีการถ่ายทอดพันธุกรรมแบบ X-linked dominant

5. ทำไมผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน ประจำเดือนมาไม่ปกติจึงมีความเสี่ยงเป็น PCOS

ผู้หญิงที่มีน้ำหนักเกิน หรือภาวะอ้วน โดยเฉพาะคนที่มีลักษณะอ้วนลงพุง คือมีการสะสมไขมันมากในบริเวณผนังหน้าท้องและในช่องท้อง มากกว่าไขมันสะสมที่อื่น การที่มีลักษณะอ้วนลงพุงนั้น พบว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะดื้ออินซูลิน ความเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานมากขึ้นกว่าสตรีที่มีรูปร่างปกติ นอกจากนี้ยังพบว่า ทำให้เกิดความผิดปกติของการสร้างฮอร์โมน ทำให้รังไข่มีการผลิตฮอร์โมนเพศชายมากขึ้นกว่าปกติ ประจำเดือนมาผิดปกติ จึงเป็นสาเหตุของการเกิดโรค PCOS ได้

6. อาการใดที่น่าสงสัยว่าเป็น PCOS

อาการแสดงของกลุ่มอาการถุงน้ำในรังไข่หลายใบ จะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยหากพบอาการผิดปกติเหล่านี้ ควรไปปรึกษาแพทย์ เช่น

  1. ประจำเดือนมาผิดปกติ เช่น ประจำเดือนไม่มาติดต่อกันนานหลายเดือน ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ
  2. ประจำเดือนมานานและอาจมามากหรือน้อยผิดปกติ
  3. มีอาการแสดงของฮอร์โมนเพศชายเกิน เช่น มีสิวมาก หน้ามัน ขนดก ศีรษะล้าน ผมบาง มีลักษณะกล้ามเนื้อแบบเพศชาย หรือเสียงแหบแบบเพศชาย เป็นต้น
  4. ภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน หรือตรวจพบภาวะเบาหวาน
  5. ภาวะมีบุตรยาก
  6. ตรวจอัลตราซาวนด์พบถุงน้ำหลายใบในรังไข่ (Polycystic ovaries)

7. ควรตรวจหา PCOS เป็นประจำหรือไม่/ควรตรวจเมื่อใด

การตรวจวินิจฉัย PCOS ในปัจจุบันไม่ได้มีคำแนะนำให้ตรวจคัดกรองโรคเป็นประจำทุกปี แต่ในสตรีที่มีอาการผิดปกติ หรือสงสัยภาวะ PCOS ควรมาปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม

8. การวินิจฉัยโรค PCOS ทำได้อย่างไร

  • การตรวจวินิจฉัย PCOS นั้น จะใช้ข้อมูลทั้งจากการซักประวัติอาการผู้ป่วยอย่างละเอียด การตรวจร่างกาย การทำอัลตราซาวนด์ (Ultrasound) โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อประเมินถุงน้ำรังไข่
  • การตรวจเลือด เพื่อวัดระดับของฮอร์โมนเพศ ระดับน้ำตาลในเลือด รวมถึงตรวจวัดระดับไขมันในเลือด

9. การรักษา PCOS

การรักษานั้น แบ่งเป็น

  1. การรักษาแบบไม่ใช้ยา
    โดยการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อให้มีการเผาผลาญพลังงานมากขึ้น จากการศึกษาพบว่าการควบคุมอาหารและออกกำลังกายจนทำให้มีการลดลงของน้ำหนักอย่างน้อยร้อยละ 5 ของน้ำหนักเริ่มต้น พบว่าทำให้สตรีกลุ่มนี้มีการตกไข่ที่ดีขึ้น มีรอบเดือนที่สม่ำเสมอขึ้น และมีประโยชน์ต่อการควบคุมรักษาอาการแสดงออกของฮอร์โมนเพศชายเกิน และลดภาวะดื้ออินซูลิน ที่เป็นสาเหตุของโรคเบาหวานได้
  2. การรักษาแบบใช้ยา
    เพื่อควบคุมรอบประจำเดือนให้มาสม่ำเสมอ การรักษาหรือลดอาการแสดงของฮอร์โมนเพศชายเกิน การลดภาวะดื้ออินซูลินและการเกิดโรคเบาหวาน และการรักษาเรื่องภาวะมีบุตรยาก

10. อันตรายของ PCOS

สตรีที่เป็นกลุ่มอาการนี้ ถ้าไม่ได้รับการรักษา จะเพิ่มความเสี่ยงในแง่ต่างๆ ดังนี้

  • มีความเสี่ยงในการเกิดเยื่อบุมดลูกหนาตัวและมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกเพิ่มขึ้น เนื่องจากไม่มีการหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูกมาเป็นประจำเดือนเหมือนสตรีที่มีประจำเดือนมาสม่ำเสมอ ซึ่งมักจะแสดงอาการผิดปกติให้เห็นในช่วงอายุที่มากขึ้น หรือวัยหมดประจำเดือน
  • มีความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน เนื่องจากกลุ่มอาการนี้มีความสัมพันธ์ในการเกิดโรคเบาหวานภาวะอ้วนโดยเฉพาะอ้วนลงพุง มีความเสี่ยงในการมีระดับไขมันสูงกว่าปกติ และโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งถ้าไม่ได้รับการตรวจรักษาอย่างต่อเนื่อง จะมีความเสี่ยงในการเกิดกลุ่มอาการโรคอ้วนลงพุง นำมาสู่ความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจขาดเลือด อัมพฤกษ์ และอัมพาต มากขึ้นในอนาคต

11. ภาวะแทรกซ้อนจากโรค PCOS

ภาวะแทรกซ้อนจากโรค PCOS ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก โรคอ้วน และภาวะมีบุตรยาก

การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรค PCOS สามารถทำได้โดย

  1. ควบคุมน้ำหนักหรือลดน้ำหนัก โดยการควบคุมอาหารและออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  2. กินยาตามแพทย์สั่งสม่ำเสมอ ไม่ควรหยุดยาหรือลดยาเอง
  3. ควรรับการตรวจติดตามตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ
  4. หากเกิดอาการผิดปกติใดๆ ควรรีบพบแพทย์

12. เป็น PCOS สามารถมีลูกได้หรือไม่

ผู้ป่วย PCOS สามารถมีลูกได้ แต่เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้ จะมีลักษณะภาวะไม่ตกไข่เรื้อรัง ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มีภาวะมีบุตรยาก แต่อย่างไรก็ตาม ภาวะมีบุตรยากสามารถรักษาได้ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์

13. PCOS สามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่

กลุ่มอาการถุงน้ำหลายใบในรังไข่ (PCOS) ถือเป็นโรคเรื้อรังในสตรีวัยเจริญพันธุ์ไม่มีคำตอบว่าจะใช้เวลารักษานานเท่าใดจึงจะหายจากโรค อาการแสดงออกในแต่ละคนไม่เหมือนกัน มีความเกี่ยวเนื่องกับความเสี่ยงในการเกิดโรคอื่นๆ ถ้าไม่ได้รับวินิจฉัยและการรักษาอย่างต่อเนื่อง

14. วิธีการดูแลตนเองและข้อจำกัดเมื่อรู้ว่าเป็น PCOS (จะอยู่กับมันอย่างไร)

เมื่อสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่มีอาการประจำเดือนมาผิดปกติ ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอทุกเดือน มีอาการแสดงออกของฮอร์โมนเพศชายเกิน มีภาวะอ้วนหรืออ้วนลงพุง มีปัญหามีบุตรยาก อาจต้องสงสัยว่าจะเป็นกลุ่มอาการนี้ควรมารับการตรวจรักษาเพื่อวินิจฉัยหาความผิดปกติและรับการรักษากับแพทย์อย่างถูกวิธี ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง หรือขาดการรักษาต่อเนื่อง และควรหมั่นออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก และปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร

15. การป้องกันการเกิดโรค PCOS

โรค PCOS นั้น ยังไม่มีวิธีการป้องกันโรคที่ชัดเจน แต่การดูแลสุขภาพ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ และการรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ สามารถช่วยลดโอกาสการเกิดกลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบได้ นอกจากนี้หากพบว่ามีอาการที่ผิดปกติไป เช่น ประจำเดือนมาผิดปกติ มีสิว ผิวมันมากขึ้น ตรวจอัลตราซาวนด์มดลูกและรังไข่พบความผิดปกติ ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ เพื่อได้รับการรักษาที่ทันท่วงที

บทความโดย : พญ.อริสา คงเจริญสุขยิ่ง อนุสาขาเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โรงพยาบาลสมิติเวช