106 ปี “ตรุษจีน” ปากน้ำโพ สืบสานประเพณียุค “โควิด”




ตรุษจีนปีนี้มาเร็วหน่อย เพราะเพียงแค่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ก็มาถึงแล้ว…ไม่เหมือนปีก่อนๆ ที่อาจจะล่วงเลยไปถึงวันที่ 10 กว่าๆของกุมภาพันธ์…และในบางปีจะใกล้กับวัน “วาเลน ไทน์” 14 กุมภาพันธ์เสียด้วยซ้ำ สามารถฉลอง 2 อย่างไปพร้อมๆกันได้เลย ทั้งเทศกาลแห่งความรักและเทศกาลตรุษจีน

แต่ไม่ว่าจะมาช้าหรือมาเร็ว และจะทับซ้อนกับวันแห่งความรักหรือไม่ก็ตาม…จะมีอยู่วันหนึ่งที่คอลัมน์ “ซอกแซก” ยกเนื้อที่ให้เต็มๆ สำหรับการโฆษณาประชาสัมพันธ์ “งานตรุษจีน” ของจังหวัดหนึ่ง โดยไม่มีการงดเว้นเลยแม้แต่ปีเดียว…ท่านที่เป็นแฟนเก่าแก่ของคอลัมน์คงจะจำได้

“ตรุษจีนปากน้ำโพ” หรือ “ตรุษจีนนครสวรรค์” นั่นแหละครับ คอลัมน์นี้เขียนให้ตั้งแต่ปี 2516 ซึ่งเป็นปีแรกที่มาประจำการ ณ ไทยรัฐ…นับมาถึงบัดนี้ 47 ปีเต็มๆ ย่างเข้าปีที่ 48…เรียกว่า “ตรุษจีนปากน้ำโพ” จัดมาแล้ว 105 ปี และปีนี้ เป็นปีที่ 106…ที่นี่เขียนให้ถึง 48 ปีซ้อนๆ เกือบครึ่งหนึ่งเลยนะครับเนี่ย

สาเหตุที่เขียนให้มากมายถึงเพียงนั้น ก็สืบเนื่องมาจากคำสอนอันเป็นประเพณีของชาวนครสวรรค์เคียงคู่มากับประเพณีการจัดงาน “ตรุษจีน” นั่นเอง…ได้แก่ คำสั่งสอนที่ว่า “ลูกปากน้ำโพทุกคนจะต้องนึกถึงเทศกาลตรุษจีนบ้านเราอยู่เสมอ ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน”

หัวหน้าทีมซอกแซกออกเดินทางจากปากน้ำโพเมื่ออายุ 17 ปีเต็มๆ…สมัยเป็นนักเรียนนักศึกษาพอมีเวลาว่างก็จะเดินทางกลับบ้านในช่วงตรุษจีนทุกปี แต่เมื่อเริ่มทำงาน แม้จะประจำการอยู่กรุงเทพฯทว่าชีวิตช่วงหนึ่งต้องเดินสายไป

ทั่วประเทศ ทำให้โอกาสที่จะกลับบ้านในช่วงเทศกาลตรุษจีนเริ่มน้อยลง

จำเป็นต้องปฏิบัติตามคำสั่งสอนของรุ่นพ่อรุ่นแม่…ว่า…ถ้ากลับไม่ได้ก็ส่งใจกลับไป… และเผอิญเรามีคอลัมน์อยู่ในไทยรัฐ 1 คอลัมน์ ก็เลยเขียนถึงควบคู่ไปด้วย ถือเป็นการส่งใจกลับบ้านอีกทางหนึ่ง ด้วยประการฉะนี้

หัวหน้าทีมซอกแซกเดินทางมาเรียนหนังสือในตัวเมืองปากน้ำโพและต้องอยู่ค้างเป็นประจำเพราะเส้นทางคมนาคมยุคโน้นไม่สะดวกเหมือนยุคนี้ จากบรรพตพิสัยเข้าปากน้ำโพขาล่องมาทางเรือ ใช้เวลาเกือบ 4 ชั่วโมง และถ้าขาขึ้นกลับบ้านก็ประมาณ 8 ชั่วโมง ออกเช้าๆไปถึงเอาเกือบคํ่า… ไม่มีโอกาสไปเช้าเย็นกลับเหมือนสมัยนี้

ซึ่งก็ดีไปอย่างทำให้มีโอกาสได้หล่อหลอม

ตัวเองเข้ากับเพื่อนๆชาวปากน้ำโพ กลายเป็นเด็กปากน้ำโพเต็มตัวเมื่อเรียนจบชั้นมัธยม

คุ้นเคยกับประเพณีแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่อย่างดียิ่งและในบางปีก็เคยไปร่วมตีล่อโก้วในขบวนแห่มาแล้วด้วยซ้ำ

ในช่วงตรุษจีนเราจะมีการแสดงงิ้ว และอัญเชิญเจ้าพ่อเจ้าแม่จากทุกศาลมาสถิตที่ศาลชั่วคราวริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา บริเวณที่เราเรียกว่า “ตึกขาว” ซึ่งมีลานกว้างพอที่จะตั้งโรงงิ้วและศาลเจ้าชั่วคราวได้

สำหรับวัน “แห่เจ้า” หรือวันอัญเชิญเจ้าพ่อเจ้าแม่ เคลื่อนไปตามท้องถนนต่างๆของปากนํ้าโพนั้น จะเป็นวัน “ชิวสี” หรือวันขึ้นปีใหม่วันที่ 4 ซึ่งถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่หัวหน้าทีมจำความได้

ต่อมามีการเสนอให้จัดแห่พิเศษในตอนกลางคืนของวัน “ชิวซา” ด้วย ซึ่งจะสามารถเล่นแสงเล่นสีได้ จัดงานให้ อลังการได้…ก็จึงมีพิธีแห่ภาคกลางคืนเพิ่มมาอีก 1 วัน

งานค่อยๆใหญ่ขึ้น และโด่งดังมากขึ้นไปทั่วประเทศไทย และข้ามประเทศไปยังมาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง หรือแม้แต่อินโดนีเซีย…แต่ละปีจะมีพี่น้องชาวจีนจากประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้มาร่วมชมพิธีแห่จำนวนเป็นหมื่นๆคน

การแสดงก็ค่อยๆพัฒนาขึ้นจากขบวนสิงโตแต้จิ๋วไหหลำ และจีนแคะ ซึ่งเป็นขบวนหลัก ก็มี “มังกรทอง” บังเกิดขึ้น…และขนาดของมังกรก็ใหญ่ขึ้น และฤทธิ์เดชมากขึ้น สามารถพ่นไฟและเล่นไฟกลางอากาศได้อย่างสวยงาม… คราวนี้เลยดังไปถึงเมืองจีน ซึ่งก็เริ่มเปิดประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวจีนแห่มาดูมังกรปากนํ้าโพปีละหลายๆหมื่นคนเช่นกันยิ่งใหญ่ขึ้นทุกปีแล้วก็ดังขึ้นทุกปี เพิ่งจะมาซาลงในยุค “โควิด–19” นี่แหละครับ

โดยเฉพาะปีนี้เท่าที่ติดตามข่าวมาก็เกือบไม่ได้จัดเสียด้วยซํ้า แต่หลังจากปรึกษาหารือกับคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อประจำจังหวัด ซึ่งส่วนมากก็เป็นลูกหลานนครสวรรค์ หรือไม่ก็จิตใจเป็นนครสวรรค์ไปหมดแล้ว…ในที่สุดก็มีมติว่าจัดได้ แต่ต้องปฏิบัติตามกฎกติกาของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดทุกกระเบียดนิ้ว

และนี่ก็คือรูปแบบของการจัดงานในปีนี้

-เวทีกลางบริเวณหาดทราย (จำกัดคนไม่เกิน 500 คน) ศาลเจ้าชั่วคราว (ศาลเหนือ จำกัดผู้เข้าสักการะไม่เกิน 70 คน), การแสดงอุปรากรจีนหรืองิ้ว สำหรับศาลเหนือ 1 โรง

-ศาลเจ้าชั่วคราว (ศาลใต้ จำกัดผู้เข้าสักการะไม่เกิน 417 คน) อุปรากรจีนหรืองิ้ว สำหรับศาลใต้ 1 โรง

-การแสดงเพื่อสืบสานประเพณีวัฒนธรรมไทยจีน, การออกบูธสินค้าของผู้สนับสนุนภายในงาน (แบบหลวมๆ) ยังคงมีต่อไป

-การตกแต่งถนนสายวัฒนธรรมด้วยโคมไฟและแสงสี (ซอยศรีไกรลาศ) ยังมีเช่นทุกปี ขณะนี้เริ่มแล้ว ได้ข่าวว่าสวยมาก

แล้วอะไรบ้างล่ะที่จะงดในปีนี้? คำตอบก็คือ

งดขบวนแห่เฉลิมฉลองภาคกลางคืน หรือชิวซา…งดการแสดงดนตรีสดจากศิลปินดาราทุกค่าย…งดการจัดประกวดเวทีสาวงามทุกชนิด…

งดการจัดเทศกาลอาหาร…งดการจัดมหกรรมจำหน่ายสินค้า และงดการประทับทรงของ

องค์เจ้าทุกพระองค์ในขบวนแห่กลางวัน (ชิวสี่)

ส่วนขบวนแห่กลางวัน…วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ยังมีนะครับ แต่ผู้เข้าร่วมงานทุกคนต้องปฏิบัติตัวตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดการเข้าร่วมทุกกิจกรรม และผู้เข้าร่วมจะต้องเป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนครบตามกำหนด พร้อมแสดงหลักฐาน หรือมีผลตรวจ ATK เป็นลบภายใน 7 วัน หรือมีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อและรักษาหายดีแล้วภายใน 1-3 เดือน พร้อมใบรับรองแพทย์ ฯลฯ

เห็นหรือล่ะว่าปฏิบัติตามกฎกติกาเคร่งครัด

ขนาดไหน…ซึ่งก็ไม่เป็นไรครับสนุกแบบระมัดระวัง แต่ได้บุญได้กุศล และได้พรเต็มที่ เพราะเจ้าพ่อเจ้าแม่ทุกองค์ยังเสด็จครบ ก็ขอให้อดทนกันไปก่อน

รอปีหน้าปีที่ 107 โควิด–19 คงหายแล้ว คณะกรรมการ หรือ “เถ้านั้ง” ยืนยันว่าจะจัดงานให้ยิ่งใหญ่อลังการเหมือนในอดีตกาล อันระบือลือลั่นอย่างแน่นอนครับ.

“ซูม”