ไหว้พระขอพรให้ลูกสอบติดสำเร็จ พ่อแม่สายมูต้องรู้ ทำแค่ไหนเป็นผลดีมากกว่าผลเสีย




เชื่อว่าตอนเด็กๆ ผู้ใหญ่หลายคนต้องเคยมีประสบการณ์ดูดวงและไหว้ขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้สอบติดกันมาบ้าง แม้แต่ในปี 2022 เองก็ตาม เด็กยุคใหม่จำนวนไม่น้อยก็น่าจะเคยถูกคุณพ่อคุณแม่พาไปกราบไหว้ขอพรเพื่อให้สอบเข้าโรงเรียนดีๆ ถึงแม้จะผ่านไปหลายยุคสมัย แต่ความเชื่อเรื่องนี้ก็ยังไม่เคยเปลี่ยนไป แต่ในทางกลับกัน จะส่งผลต่อความมั่นใจและการเห็นคุณค่าในตัวเอง (Self Esteem) ของลูกในระยะยาวหรือไม่ พญ.พิชญา ตันธนวิกรัย จิตแพทย์เด็ก รพ.พหลพลพยุหเสนา จะมาให้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้

พญ.พิชญา ตันธนวิกรัย จิตแพทย์เด็ก รพ.พหลพลพยุหเสนา

“ความเชื่อเรื่องการขอพร การบนบาน เป็นเหมือนการขอร้องในสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมของเรา ทั้งนี้ ในการทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จ ก็มีทั้งปัจจัยที่เราควบคุมได้ และปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ ถ้าเราขอพรมากจนเกินไป ก็อาจจะเป็นการละเลย หรืออาจลดทอนความสำคัญของคุณค่าที่มาจากความพยายาม และความตั้งใจของเด็กได้ เพราะ Self Esteem นั้น คือการที่เด็กเห็นคุณค่าในตัวเอง เห็นถึงสิ่งดีๆ ที่ตนเองทำได้ จนเกิดเป็นความภาคภูมิใจในตัวเองค่ะ เชื่อว่าถ้าเด็กสามารถบรรลุเป้าหมายของตนเองได้ ก็คงอยากให้คนยอมรับ ชื่นชม และให้เครดิตในความพยายามที่เกิดจากตัวเขาเอง มากกว่าปัจจัยภายนอก”

พญ.พิชญา ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ปัจจัยที่เราควบคุมได้ก็คือความตั้งใจ ความพยายาม การเตรียมตัวของลูก ส่วนปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ ก็คืออุบัติเหตุ ความบังเอิญ การกระทำของคนอื่น ดังนั้นการขอพร การบนบาน ถ้าทำเพื่อความสบายใจ มีความมั่นใจมากขึ้น ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่ถ้าให้ความสำคัญกับส่วนนี้มากเกินไป ก็จะเป็นการละเลยปัจจัยที่สำคัญมากกว่า นั่นคือความตั้งใจ พยายาม และเตรียมตัวด้วยตนเอง

ดังนั้นพ่อแม่จึงควรสื่อสารให้ลูกได้รับรู้ว่า หากเขามีเป้าหมายที่ตั้งไว้ สิ่งที่สำคัญ คือการพยายามทำในสิ่งที่อยู่ในความควบคุมของเราให้ดีที่สุด ซึ่งแม้จะต้องเหนื่อย ใช้การทุ่มเท ใช้เวลา ผู้ปกครองก็พร้อมจะสนับสนุนและให้กำลังใจ ส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่อยู่เหนือการควบคุมของเรานั้นเป็นเรื่องที่สำคัญรองลงไป

ขอพรไม่กดดันหากมีการสื่อสารที่เข้าใจ

นอกจากนี้ การที่พ่อแม่พาลูกหลานไปขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้สอบติดหรือประสบความสำเร็จในการแข่งขันต่างๆ นับว่าเป็นการสร้างความกดดันลูกอย่างหนึ่ง ด้วยความหวังที่จะต้องเห็นการชนะในสิ่งนั้นๆ ซึ่งเรื่องนี้ พญ.พิชญา ได้ให้ความเห็นว่า

“การตั้งความหวังที่ผลสำเร็จ ว่าจะต้องชนะ หรือสอบได้ ถึงแม้ว่าจะมีการขอพรหรือไม่มี ก็อาจสร้างความกดดันให้เด็กได้ แม้ความจริงแล้วจะเป็นธรรมดาของผู้ปกครองที่จะคาดหวังสิ่งดีๆ ให้กับลูก ดังนั้นจะแอบไปขอพรก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่จะต้องระวังในการสื่อสาร เพื่อลดการสร้างความกดดันให้กับเด็ก เพราะว่าไม่มีใครที่จะเป็นผู้ชนะได้ทุกครั้ง เราจึงควรให้ความสำคัญกับความพยายามของเด็กมากกว่าผลลัพธ์ ในทุกๆ ครั้งที่ลูกต้องแข่งขัน ควรสื่อสารให้เขารู้ว่า พ่อแม่เห็นและชื่นชมในความพยายาม ความตั้งใจของเขาเป็นกำลังใจให้เขา และไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร พ่อแม่ก็ภูมิใจในตัวเขา”

อนาคตของลูกเมื่อพ่อแม่พึ่งสายมูมากเกินไป

เพราะเรื่องความเชื่อเรื่องดวงและการขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน แต่ในมุมนักจิตวิทยาเด็กก็อยากให้พ่อแม่และผู้ปกครองคอยสำรวจตนเองอยู่เสมอว่าความเชื่อนั้นส่งผลกระทบต่อตนเองและคนรอบข้างมากน้อยแค่ไหน

“หากว่าเชื่อมากจนเกินไปก็กลายเป็นความทุกข์ เกิดความกังวลใจ กลัว ไม่มั่นใจ เพราะเชื่อในคำทำนาย อาจส่งผลให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัว เพราะความเชื่อของคนในบ้านในแต่ละรุ่นไม่ตรงกัน จากที่ความเชื่อที่หวังจะช่วยเพิ่มความสบายใจ ก็กลายเป็นสร้างความทุกข์ แบบนี้ก็ควรหยุดทบทวน และปรับแนวคิดกันเสียใหม่”

ขณะเดียวกันก็อาจส่งผลให้อนาคตของเด็กที่อยู่มากับความเชื่อเหล่านี้ มีแนวโน้มที่โตขึ้นมาจะชอบดูดวง และไปขอพรเมื่อเกิดความไม่สบายใจหรือเมื่อพบเจอปัญหามากขึ้น เพื่อเป็นที่พึ่งทางใจอย่างหนึ่งนั่นเอง

ดังนั้น สิ่งที่ พญ.พิชญา อยากให้เน้นย้ำแก่พ่อแม่ที่สนใจเรื่องความเชื่อเหล่านี้ คือเรื่องความสำเร็จที่มีทั้งส่วนที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ อยากให้พ่อแม่ให้กำลังใจลูกให้เต็มที่กับส่วนที่ลูกสามารถควบคุมได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้มากกว่าการไปพึ่งพาปัจจัยภายนอก