ไมเกรน โรคยอดฮิตของคนทำงาน ที่ไม่ควรมองข้าม




ไมเกรน โรคที่เป็นกันบ่อยมาก โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงาน คือ โรคของระบบการรับความรู้สึกของเส้นเลือดไวผิดปกติ ส่งผลให้เกิดอาการปวดหัวด้านใดด้านหนึ่ง ไมเกรน มีลักษณะอาการเฉพาะตัวที่สำคัญ คือ ปวดหัวไมเกรนตุ๊บๆ ปวดรุนแรง ปวดติดต่อกัน 4 – 72 ชม. มักปวดศีรษะข้างเดียว หรือย้ายข้างไปมา บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย มักมีอาการมากขึ้นเมื่อมีสิ่งเร้า เช่น การขยับศีรษะ การมองเห็นแสงจ้า อยู่ในที่อากาศร้อน หรือเย็นจัด มีเสียงดังรบกวน ชีวิตคนทำงานบางคนมียาพาราเซตามอลเป็นยาประจำตัว เนื่องจากปวดหัวไมเกรนเป็นประจำ

บางรายที่มีอาการปวดเรื้อรัง หรือในบางรายที่ทานยาพาราเซตามอลก็ไม่ช่วยให้อาการปวดศีรษะดีขึ้น เพราะร่างกายชินกับยาไปแล้ว ต้องเพิ่มความรุนแรงของการออกฤทธิ์ เพื่อบรรเทาอาการปวดหัวไมเกรนที่เกิดขึ้น สาเหตุของไมเกรนเกิดจากหลายปัจจัย เช่น ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ การเกร็งตัวของกล้ามเนื้อในระหว่างวัน หรืออาจเกิดจากโรคร้ายที่ซ่อนอยู่ภายในสมอง เช่น หลอดเลือดสมองตีบ เนื้องอกในสมอง เลือดออกในสมอง เป็นต้น

ปวดศีรษะไมเกรน สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม

  • กลุ่มที่ไม่มีอาการเตือน (Migraine without Aura) ซึ่งเป็นกลุ่มที่พบได้มากที่สุดในผู้ป่วยปวดศีรษะไมเกรน
  • กลุ่มที่มีอาการเตือน (Migraine with Aura) ในผู้ป่วยไมเกรนกว่า 1 ใน 3 จะมีอาการเตือนก่อนจะเกิดอาการปวดศีรษะไมเกรน โดยมักจะกินระยะเวลาประมาณ 5 นาที ถึง 1 ชั่วโมง

อาการเตือน (aura) แบบนี้ มักเกิดขึ้นก่อน “ปวดศีรษะไมเกรน”

  • การมองเห็นผิดปกติ เห็นแสงไฟกะพริบ มองเห็นภาพต่างๆ เป็นจุดหรือเป็นเส้นซิกแซ็ก หลับตาแล้วยังเห็นได้อยู่
  • ในผู้ป่วยไมเกรนบางราย จะมีอาการชา รู้สึกเหมือนมีเข็มเล็กๆ มาจิ้ม ประสาทสัมผัสไม่สามารถรับรู้ได้ชั่วคราว อาจมีอาการจากส่วนปลายนิ้ว เคลื่อนไปยังแขนหรือใบหน้า อาจมีอาการชาที่มือ-แขน หรือชารอบปาก

มีการศึกษาของ Cephalalgia Magazine พบว่าผู้ป่วยไมเกรนกว่า 36% มีอาการหาวบ่อยๆ อาจจะทุกๆ 2 – 3 นาที ก่อนที่จะมีอาการไมเกรนเกิดขึ้น

ปวดหัวลักษณะแบบไหนที่เรียกว่า “ปวดหัวไมเกรน”

หลายคนไม่แน่ใจกับอาการปวดศีรษะ บางรายปวดมากจนอาจคิดไปว่าเป็นโรคหลอดเลือดอุดตันในสมองหรือไม่ ลักษณะอาการปวดศีรษะที่จำเพาะกับปวดศีรษะไมเกรน คือจะมีอาการปวดศีรษะข้างเดียว อาจย้ายข้างได้ มีอาการปวดศีรษะแบบตุ้บๆ (คล้ายเส้นเลือดเต้น) ตามจังหวะการเต้นของหัวใจ มักปวดศีรษะด้านใดด้านหนึ่ง และอาจมีอาการอื่นร่วม เช่น มีอาการคลื่นไส้อาเจียน โดยผลสำรวจของ American Migraine Study พบว่า ผู้ป่วยไมเกรนกว่า 3,700 ราย จะมีอาการคลื่นไส้ 73% และมีอาเจียน 29% หรือมีอาการปวดโพรงตาร่วมด้วย หรือมีอาการไซนัสร่วมด้วย โดยมีการศึกษาพบว่าผู้ป่วยที่มีอาการปวดไซนัสกว่า 90% มักมีอาการไมเกรนร่วม

ผู้ป่วยไมเกรน…กับภาวะ “ตาไม่สู้แสง” พบว่าผู้ป่วยไมเกรนกว่า 80% มีอาการไวต่อแสง โดยภาวะนี้จะเริ่มจากประสาทตาส่งสัญญาณไปยังสมอง ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทนต่อแสงได้ โดยเฉพาะแสงจ้า เช่น แสงแดด หรือแสงแฟลช ซึ่งผู้ป่วยสามารถหลีกเลี่ยงแสงจ้าได้ด้วยวิธีนี้

  • ใช้ผ้าม่านกันแสงปิดหน้าต่าง เพื่อป้องกันแสงแดดลอดผ่านเข้ามาในห้อง
  • ไม่ใช้หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ หรือหลอดนีออน เพราะแสงจากหลอดไฟชนิดนี้อาจทำให้เกิดอาการไมเกรนในผู้ป่วยบางรายได้
  • ปรับความสว่างของจอคอมพิวเตอร์ไม่ให้สว่างเกินไป และปรับมุมองศาของจอเพื่อลดการสะท้อนของแสง
    ติดตั้งไฟให้ห่างจากบริเวณที่อาจเกิดการสะท้อนของแสงจ้าได้ เช่น กระจก

การรักษาปวดศีรษะไมเกรน

การรักษาไมเกรนให้หายขาดยัง ปัจจุบันยังไม่สามารถทำได้ จึงเป็นการรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรน ในรูปแบบของการควบคุมด้วยการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง และการใช้ยาอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะผู้ที่เป็นบ่อยๆ เช่นเดือนหนึ่งเป็น 2 ครั้ง หรือมากกว่า แพทย์มักจะแนะนำให้รับประทานยาป้องกัน ยากลุ่มนี้เป็นยาที่ต้องรับประทานทุกวัน รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดหรือลดความถี่ ความรุนแรงของอาการปวดศีรษะ

เลี่ยงปัจจัยกระตุ้น…ช่วยลดการเกิดไมเกรน

ไม่เพียงแค่แสงจ้าที่ผู้ป่วยไมเกรนควรหลีกเลี่ยง แต่ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ดังๆ เช่น คอนเสิร์ต รวมทั้งให้ความสำคัญกับการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีน เช่น กาแฟ, น้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มชูกำลัง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการไมเกรนถี่ๆ และรุนแรงมากยิ่งขึ้น

หากมีอาการปวดไมเกรน ผู้ป่วยควรหยุดพักในห้องที่มืดอากาศเย็นและเงียบสงบ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นใน 10-20 นาที ควรทานยาแก้ปวด แต่ควรเป็นยาที่จ่ายโดยแพทย์ ไม่ใช่ยาที่ซื้อทานเอง เพราะการซื้อยาไมเกรนทานเองติดต่อกันไปนานๆ อาจก่อให้เกิดภาวะปวดศีรษะจากการใช้ยา ซึ่งส่งผลให้มีอาการรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม

บทความโดย : โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน แผนกโรคระบบประสาทและสมอง