“ไข้หวัดหมู-อหิวาต์สุกร” ระบาดหนัก อินเดียอ่วม…ติดต่อถึงคน




หลังผ่อนคลายจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19ไม่นาน อินเดียก็ต้องเผชิญกับการกลับมาอีกครั้งของไข้หวัดหมู จากไวรัส H1N1 ซึ่งเป็นคนละโรคกับโรคไข้หวัดหมูแอฟริกันที่กำลังระบาดในฟาร์มหมูของรัฐอัสสัม

ตัวเลขผู้ป่วยในโรงพยาบาลในรัฐต่างๆเริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากข้อมูลการสำรวจล่าสุดในเมืองหลวงอย่างนิวเดลีพบว่า มีผู้ป่วยไข้หวัดหมูและอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้น

ประมาณ 41% ของครัวเรือนในนิวเดลีมีสมาชิกอย่างน้อยหนึ่งคนที่มีอาการไข้หวัดใหญ่ ซึ่งประมาณ 80% เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ในขณะที่อีก 20% เป็นไข้หวัดหมู ข่าวดีก็คือในจำนวนนี้มีรายงานผลตรวจโควิดเพียง 0.1% ของประชาชนถูกพบว่าเป็นบวก

สำหรับการแพร่ระบาดของไข้หวัดหมู ซึ่งเกิดจากไวรัส H1N1 ซึ่งเป็นการผสมผสานของไวรัสสายพันธุ์ของคน หมู และนก มีการระบาดครั้งแรกเมื่อปี 2009 มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกกว่า 18,000 คน โดยในอินเดียมีการระบาดหนักในช่วงปี 2019-2010 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,700 คน และมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 50,000 คน และมีการระบาดอีกครั้งในปี 2015 มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,900 คน

Dr.Gauri Rathod รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการสุขภาพ Mumbai Circle บอกว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมถึง 24 กรกฎาคม 2022 มีการตรวจคัดกรองผู้ป่วยทั้งหมด 166,132 ราย มีผู้ป่วยประมาณ 62 ราย ที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ H1N1 โดย 2 รายเสียชีวิต ขณะที่ในช่วง 2 สัปดาห์นี้ พบผู้ป่วยไข้หวัดหมูราว 150 ราย และเสียชีวิต 7 ราย ในรัฐมหาราษฎร์

ผู้คนยังคงสับสนระหว่างไข้หวัดหมูและโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ไข้หวัดหมูเกิดจากเชื้อไวรัส H1N1 ซึ่งเริ่มในสุกร เป็นที่รู้จักครั้งแรกในการระบาดใหญ่เมื่อปี 1919 และยังคงแพร่กระจายเป็นไวรัสไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลโดยตัวของไข้หวัดหมูเกิดจากไวรัสอาร์เอ็นเอ มีผลกระทบต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น นก และมนุษย์ โดยอาการของโรคมีความคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้ ไอ เจ็บคอ หนาวสั่น อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามร่างกาย เด็ก สตรีมีครรภ์ และผู้สูงอายุ มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและมีอาการป่วยหนักได้มากกว่าคนที่แข็งแรงทั่วๆไป

และเพราะมันเป็นไวรัส ไข้หวัดหมูจึงแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในอากาศ จากละอองหายใจในอากาศการสัมผัสพื้นผิวที่ปนเปื้อน น้ำลาย การสัมผัสทางผิวหนัง เช่น จับมือ หรือกอด

การรักษาโรคไข้หวัดหมูโดยทั่วไปจะรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาแก้ไข้ แก้ปวดหัว ในรายที่เป็นมากอาจต้องใช้ยาต้านไวรัส เช่น เดียวกับโควิด-19 แต่ที่สำคัญที่สุดคือ แพทย์มักแนะนำให้พักผ่อนเพื่อเยียวยาตนเองมากที่สุด

แม้การระบาดของไข้หวัดหมู H1N1 ในคนจะดูเหมือนไม่รุนแรงนัก แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพในรัฐมหาราษฎร์ของอินเดียบอกว่า เหตุผลที่รัฐบาลรัฐมหาราษฎร์ รวมทั้งหน่วยงานสาธารณสุขและโรงพยาบาลต้องตื่นตัวในเรื่องดังกล่าว เพราะสถานการณ์ของไข้หวัดหมู H1N1 มาพร้อมๆกับการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ (ASF) และโรคอหิวาต์สุกรคลาสสิก (CSF) เป็นโรคติดต่อร้ายแรงของสุกร ซึ่งมีความเหมือนกันในทางการแพทย์ โรคอหิวาต์สุกรคลาสสิก ถูกเรียกว่า “อหิวาตกโรคหมู” เกิดจากไวรัสในสกุล Pestivirus ของตระกูล Flaviviridae และมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับไวรัสที่ทำให้เกิดโรคท้องร่วงจากเชื้อไวรัสวัว (โรคเยื่อเมือก) ในโค

โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) เกิดขึ้นเฉพาะในสุกรบ้านและหมูป่าบางสายพันธุ์ ขณะที่ไข้สุกร (CSF) เป็นโรคติดต่อร้ายแรงและมักทำให้เสียชีวิตในสุกร รวมทั้งอาจแพร่มาถึงคนได้ ผ่านการสัมผัสโดยตรงกับสุกร อุจจาระ หรือของเหลวในร่างกายที่ติดเชื้อ แพร่กระจายโดยยานพาหนะหรือผู้คนที่ทำงานในฟาร์มสุกร รวมถึงแพร่กระจายโดยการกินหมูที่ติดเชื้อได้ด้วย

อาการของโรคมีความคล้ายกันคือ มีไข้ เลือดออก อ่อนเพลีย อาเจียน ท้องร่วง มีอาการปวดหู ผิวหนังบริเวณช่องท้องและขาส่วนล่างกลายเป็นสีม่วง ในบางรายที่อาการรุนแรง อาจทำให้เกิดปัญหาทางระบบประสาท และยังอาจทำให้เกิดการแท้งลูกได้ในหญิงตั้งครรภ์ด้วย

สำคัญที่สุดคือ ไม่ว่าจะเป็นโรคไข้หวัดหมู หรือไข้ที่เกิดจากโรคอหิวาต์สุกร ต่างก็ไม่มียารักษาโดยตรง มีเพียงการรักษาตามอาการเหมือนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลโดยทั่วไป

ทางที่ดีในภาวะเช่นนี้ การมีสุขอนามัยที่ดี ป้องกันตนเอง ไม่ใช่แค่สวมหน้ากากอนามัย แต่รวมถึงสุขอนามัยในการใช้ชีวิต ทั้งการกิน การล้างมือ การใช้แอลกอ ฮอล์เพื่อฆ่าเชื้อ ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยลดความเสี่ยงจากการติดโรคได้มากที่สุด แม้แต่การติดเชื้อโควิด-19 ก็ตาม.