“ไขมันพอกตับ” ภัยเงียบใกล้ตัวที่ควรรู้จัก




“ไขมัน” เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่หากได้รับปริมาณที่มากเกินไป ก็จะส่งผลเสียต่อร่างกาย อาทิ โรคอ้วน ไขมันอุดตันในเส้นเลือด รวมถึงโรคอื่นๆ เช่น “โรคไขมันพอกตับ” ซึ่งจะพาไปรู้จักในสัปดาห์นี้

“โรคไขมันพอกตับ” คือ โรคตับเรื้อรังอันเนื่องมาจากการมีไขมันสะสมในตับมากกว่าปกติ ที่ไม่ได้มาจากการดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลให้เกิดการอักเสบของตับซ้ำไปซ้ำมา เกิดพังผืดจนกลายเป็นโรคตับแข็ง และมีภาวะแทรกซ้อนของโรคตับแข็งตามมา เช่น ท้องมาน อาเจียนเป็นเลือด มะเร็งตับ เป็นต้น

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของโรคไขมันพอกตับ หลักๆ เกิดจากการมีน้ำหนักเกิน หรือภาวะอ้วนลงพุง โรคเบาหวาน การได้รับยาบางชนิด โรคถุงน้ำรังไข่ ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น

โรคไขมันพอกตับ เป็นโรคที่พบประมาณ 25% แต่ในผู้ป่วยเบาหวานอาจพบได้สูง 50-60% ดังที่กล่าวไปแล้วว่าการเป็นโรคเบาหวานเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรค

อาการ

ในระยะแรก ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ มักตรวจพบจากการตรวจเลือด หรือตรวจสุขภาพพบผลการทำงานของตับผิดปกติ แต่ในระยะท้ายจะมาด้วยอาการแทรกซ้อนของการเป็นตับแข็ง เช่น ตัว-ตาเหลือง มีน้ำในช่องท้อง เป็นต้น

การวินิจฉัยโรค

เมื่อสงสัยภาวะนี้ มักจะพบร่วมกับการมีปัจจัยเสี่ยง ต้องอาศัยการตรวจเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการตรวจเลือด หรือการทำ ultrasound ช่องท้อง เพื่อหาหลักฐานของการมีไขมันพอกตับ หรือการมีพังผืดในตับ

การรักษา แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

1. การปรับพฤติกรรม ที่สำคัญคือ การลดน้ำหนักในคนที่น้ำหนักเกิน แนะนำให้ลดแคลอรีลงประมาณ 500-1000 กิโลแคลอรีต่อวัน เพื่อให้สามารถลดน้ำลงลดได้ 0.5-1 กก.ต่อสัปดาห์ โดยเป้าหมายที่จะสามารถลดไขมันพอกตับได้มีประสิทธิผลดี คือ ต้องลดอย่างน้อย 7-10% ต่อมาคือ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และเลี่ยงพฤติกรรมที่ส่งผลต่อการทำงานของตับ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยาสมุนไพรและอาหารเสริม หรือยาโดยไม่มีข้อบ่งชี้

2. การรักษาโดยการใช้ยา ที่มีข้อมูลสนับสนุน คือ การใช้วิตามินอีและยาลดน้ำตาลในเลือดบางชนิด ซึ่งการพิจารณาใช้ควรอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ หลังจากที่ผู้ป่วยรับทราบประโยชน์และผลข้างเคียงของยาเป็นอย่างดีแล้ว

3. รักษาโรคร่วม เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง นอนกรน เป็นต้น

การป้องกัน

เน้นเรื่องการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค เช่น การควบคุมน้ำหนัก การออกกำลังกายสม่ำเสมอ และตรวจสุขภาพประจำปี

@@@@@@

แหล่งข้อมูล

อ.พญ.ศุภมาส เชิญอักษร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล