ใครบ้างเสี่ยงโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง (Aortic Aneurysm)




สถิติผู้ป่วยในประเทศไทยที่เป็นโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองนั้นมีตัวเลขบันทึกไว้ราว 5-10 คน ต่อประชากรแสนคน เมื่อแบ่งตามกลุ่มอายุจะพบว่าโอกาสเกิดโรคดังกล่าวนี้จะพบในผู้สูงอายุ และโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในท้องนั้นมีโอกาสพบมากกว่าหลอดเลือดแดงที่ทรวงอกถึง 7 เท่า โรคนี้ที่น่ากลัวคือ ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตกะทันหันได้ เพราะหลอดเลือดที่โป่งพองอาจแตกทันทีทันใดโดยไม่มีอาการเตือน

หลอดเลือดแดงใหญ่มีหน้าที่ทำอะไร

หลอดเลือดแดงใหญ่มีความสำคัญต่อร่างกายอย่างมาก เพราะมีหน้าที่นำเลือดออกจากหัวใจห้องซ้ายล่างไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย และเมื่อเรามีอายุมากขึ้นหลอดเลือดแดงใหญ่ก็จะค่อยๆ เสื่อมลง และเร็วขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มที่อายุ 50–60 ปีขึ้นไป การที่หลอดเลือดแดงใหญ่เสื่อมลงเร็วนั้นมีปัจจัยส่วนหนึ่งมาจาก ผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ หรือไขมันในเลือดสูง นอกจากนี้ยังรวมไปถึงกลุ่มที่มีพันธุกรรมบางอย่าง เช่น กลุ่มอาการมาร์แฟน (Marfan Syndrome) เป็นโรคทางพันธุกรรมที่ผู้ป่วยมีลักษณะรูปร่างสูงผอม แขนขายาว เพดานปากสูง สายตาผิดปกติ ส่งผลให้เนื้อเยื่ออ่อนแอกว่าคนปกติด้วยเช่นกัน เพราะผนังหลอดเลือดจะไม่ค่อยแข็งแรง ทำให้เสื่อมได้เร็วขึ้น แตกง่ายตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งการรักษาโรคของกลุ่มนี้จะเริ่มรักษาตั้งแต่เริ่มโป่งพอง มีขนาดผ่าศูนย์กลางไม่มาก เพราะมีความเสี่ยงที่หลอดเลือดแดงจะแตกง่าย แต่ในกลุ่มโรคทางพันธุกรรมจะพบเพียงประมาณ 10% ของผู้เป็นโรคนี้เท่านั้น โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองโดยส่วนใหญ่จะพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงเกือบ 10 เท่า

ลักษณะการโป่งพองของหลอดเลือดแดงใหญ่

1. หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองทั้งเส้นรอบวง เป็นแบบที่พบมากที่สุด ซึ่งในกลุ่มนี้โอกาสที่จะแตกขึ้นอยู่กับขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางที่มีขนาดใหญ่มากเกินกว่า 5 เซนติเมตร หรือสองเท่าของหลอดเลือดแดงใหญ่ปกติที่อยู่ติดกัน ถือเป็นสัญญาณอันตราย ควรได้รับการรักษาตั้งแต่ตรวจพบแรกๆ

2. หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่ง เป็นการโป่งพองเฉพาะที่ จะมีโอกาสแตกได้ง่ายถึงแม้ว่าจะมีขนาดไม่ใหญ่มาก โดยสาเหตุจะเกิดจากการติดเชื้อในกระแสโลหิตแล้วไปเกาะที่ผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ หรือพบในผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ แล้วทำให้เกิดการฉีกขาดเฉพาะที่ คนไข้ส่วนมากที่เกิดการบาดเจ็บของหลอดเลือดแดงใหญ่จะเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ในกลุ่มที่รอดมาถึงโรงพยาบาล หากไม่ได้รับการรักษา หลอดเลือดแดงใหญ่อาจแตกและเสียชีวิต ในบางรายที่รอดในระยะแรก หากปล่อยไว้โดยไม่รู้ตัวอาจส่งผลให้มีขนาดใหญ่ขึ้นจนแตกได้ จะเป็นอันตรายต่อชีวิต

วิธีการตรวจรักษา โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง (Aortic Aneurysm)

ในคนอายุต่ำกว่า 50 ปี และไม่ได้เป็นกลุ่มที่มีพันธุกรรม ก็จะมีโอกาสที่จะเป็นโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองไม่มาก แต่ถ้าเป็นกลุ่มที่มีอายุมากขึ้น ควรจะมีการตรวจโรคก่อนที่จะมีอาการ เช่น หลอดเลือดโป่งพองในทรวงอก การตรวจเอกซเรย์ทรวงอกธรรมดาก็พอจะมองเห็นได้ เพราะเงาของหลอดเลือดแดงใหญ่จะโตกว่าปกติ ส่วนหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในช่องท้อง จะทำการตรวจโดยการอัลตราซาวนด์ช่องท้อง โดยปกติหากไม่มีอาการอะไร แนะนำว่าควรตรวจปีละครั้ง แต่ถ้าทำตรวจแล้วพบว่าหลอดเลือดแดงใหญ่มีขนาดประมาณ 4-5 เซนติเมตร ก็ควรต้องเริ่มระวังไว้เพราะโอกาสจะแตกมากขึ้น ก็จะทำการตรวจขั้นตอนต่อไปอย่างละเอียดด้วยการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งโดยปกติถ้าหากว่าเราสงสัย หรือมีอาการของหลอดเลือดแดงโป่งพอง ก็จะทำการตรวจทีเดียวทั้งทรวงอก และท้องเลย เนื่องจากว่ามีโอกาสประมาณ 25% ที่จะพบการโป่งพองในทรวงอกและช่องท้องพร้อมกัน และการรักษา จำเป็นต้องรู้การโป่งพองทุกตำแหน่งเพื่อวางแผนการรักษาได้ถูกต้อง

หลังจากการตรวจเบื้องต้นแล้วพบว่ามีภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง แต่ยังไม่ใหญ่มาก เช่น มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4 เซนติเมตร และยังไม่มีอาการ แพทย์จะเริ่มรักษาจากการสั่งจ่ายยาให้รับประทานก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้หลอดเลือดแดงตรงส่วนที่โป่งพองนั้นมีขนาดโตเร็ว หรือแตกได้ และต้องควบคุมความดันให้ดี งดสูบบุหรี่ รวมไปถึงการควบคุมไขมันในเลือดที่สูงให้อยู่ในระดับปกติด้วยเช่นกัน

ในกรณีที่คนไข้มีอาการเช่นปวดท้อง ปวดหลัง หรือมีอาการเสียงแหบในกรณีหลอดเลือดโป่งพองในทรวงอก เพราะหลอดเลือดแดงไปเบียดเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงสายเสียง มีอาการไอ ไอเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือดเป็นต้น ถือว่าเป็นข้อบ่งชี้ที่ต้องรักษาอย่างรวดเร็วเพื่อให้ชีวิตคนไข้ปลอดภัย เพราะอาการบ่งบอกว่าหลอดเลือดแดงใหญ่ที่โป่งพองแตกไปเบียดอวัยวะข้างเคียงก่อนที่จะแตกออกและมีเลือดออกจนเป็นอันตรายถึงชีวิต

ในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ แต่พบว่าหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง มีขนาด 5 เซนติเมตร หรือเกินสองเท่าของเส้นผ่านศูนย์กลางของหลอดเลือดส่วนที่ติดกัน แล้วจะต้องมาเลือกวิธีการรักษาจากตำแหน่งที่โป่งพอง แบ่งออกได้ ดังนี้

1. หลอดเลือดแดงโป่งพองส่วนที่ชิดกับหัวใจจะต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดใหญ่แบบเปิด (open surgery) เป็นการผ่าตัดผ่านทางกระดูกหน้าอก แล้วทำตัดส่วนที่โป่งพองออกและเย็บหลอดเลือดเทียมเข้าไปทดแทน

2. หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในทรวงอกส่วนที่ให้แขนงไปเลี้ยงสมอง หรือโป่งพองทางด้านซ้ายล่างของทรวงอก ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอัตราเสี่ยงในการผ่าตัดที่ไม่สูง มักจะรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดแบบเปิด (open surgery) แต่ในรายที่มีความเสี่ยงในการผ่าตัดสูง เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัวร่วมมาก คนไข้ที่เคยเป็นโรคปอด เคยผ่าตัดช่องปอด เป็นโรคถุงลมโป่งพอง จะใช้วิธีการรักษาโดยการใส่หลอดเลือดเทียมชนิดหุ้มด้วยขดลวด (Stent Graft) ซึ่งเป็นการผ่าตัดผ่านหลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบเพื่อสอดหลอดเลือดแดงเทียมเข้าไปแทนบริเวณที่มีการโป่งพองหรือปริแตก ซึ่งวิธีนี้มีแผลขนาดเล็ก ทำให้ลดความเสี่ยง และการเสียเลือดลงได้ และช่วยลดโอกาสแตกของหลอดเลือดแดงใหญ่ให้น้อยลงได้ สามารถใช้ชีวิตได้ยาวนานขึ้น

3. ถ้าในกรณีที่เป็นในช่องท้อง ในส่วนที่ต่ำกว่าไต เกิน 90% สามารถรักษาให้หายได้โดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ แต่จะใช้วิธีการรักษาโดยการผ่าตัดใส่หลอดเลือดเทียมชนิดหุ้มด้วยขดลวด (Stent Graft) แต่ถ้าเป็นหลอดเลือดแดงส่วนเหนือหลอดเลือดไต การรักษาแนะนำให้ผ่าตัดแบบเปิด แต่ถ้าคนไข้มีความเสี่ยงต่อการผ่าตัดมากก็อาจรักษาด้วยขดลวดหุ้มหลอดเลือดเทียมโดยต้องมีวิธีที่ทำให้มีเลือดไปเลี้ยงลำไส้ ตับ ไต พร้อมกันไปด้วย

ซึ่งไม่ว่าจะได้รับการรักษาด้วยวิธีไหนแพทย์จะต้องติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ และมาตรวจเอกซเรย์เพื่อตรวจดูอาการอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อติดตามผลของขดลวดเทียมที่ใส่เข้าไปหุ้มหลอดเลือดว่ายังสามารถเกาะหลอดเลือดได้ปกติดีหรือไม่ หากพบว่าผิดปกติจะได้รีบดำเนินการแก้ไขได้ทันเวลาทันเวลา

พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน มีอะไรที่เป็นความเสี่ยงบ้าง

ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองอย่างหนึ่งนั่นคือ ความดันโลหิตสูง ซึ่งคนไทยเป็นกลุ่มคนที่มีความดันโลหิตสูงเป็นโรคประจำตัวมาก เนื่องจากปัจจัยต่างๆ จากการใช้ชีวิตในปัจจุบัน เช่น ความเครียด ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย อาหารที่ทานเค็มมาก ไขมันสูง สิ่งเหล่านี้มีส่วนส่งผลต่อความดันโลหิตทั้งสิ้น ในบางคนมีความเข้าใจว่า ความดันโลหิตสูงจะรักษาก็ต่อเมื่อมีอาการเช่นปวดศีรษะ พอทานยาอาการดีขึ้นก็คิดว่าหายแล้ว ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง และเป็นอันตราย ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องทานยาไปตลอดและคอยติดตามอาการสม่ำเสมอ ในบางครั้งการปรับพฤติกรรมอาจช่วยให้ควบคุมความดันโลหิตได้ดีจนเกือบจะหยุดยาลดความดันโลหิตได้ ความดันโลหิตสูงนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้หลอดเลือดแดงโป่งพองเร็ว และแตกเร็ว ดังนั้นการควบคุมความดันให้ดีอย่างสม่ำเสมอจะทำให้คนไข้ปลอดภัยมากขึ้น

ลักษณะอาการที่ส่งสัญญาณเตือนอันตราย ควรพบแพทย์

โรคหลอดเลือดแดงโป่งพองจะแสดงอาการก็ต่อเมื่อมีขนาดใหญ่เสี่ยงอันตรายจนเกือบจะแตก โดยมีอาการเกิดขึ้น 2 อย่างคือ
1. หลอดเลือดโตแล้วไปกดทับอวัยวะข้างเคียง เช่น หลอดเลือดแดงใหญ่ส่วนที่ติดกับหัวใจ อาจนำไปสู่ลิ้นหัวใจรั่วทำให้มีอาการหัวใจวาย หรือหลอดเลือดแดงใหญ่ในทรวงอกส่วนที่ 2 จะอยู่บริเวณหลอดลม ถ้าโตขึ้นก็จะเบียดหลอดลม ทำให้หายใจเสียงดัง มีอาการเหนื่อยหอบ ถ้าเป็นส่วนทรวงอกข้างซ้าย จะกดตรงบริเวณกระดูกสันหลัง จะมีอาการปวดหลัง
2. ภาวะแทรกซ้อน เช่น เส้นเลือดโป่งพองทะลุเข้าไปในปอด มีอาการไอเป็นเลือด หรือทะลุเข้าไปในหลอดอาหารก็มีอาการอาเจียนเป็นเลือด ส่วนผู้ที่หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในท้อง ส่วนใหญ่จะมีอาการปวดท้อง ปวดหลัง ในคนผอมจะมีก้อนเต้นตามจังหวะการเต้นของหัวใจอยู่รอบๆ สะดือ ที่ผู้ป่วยสามารถสังเกตตัวเองได้
ดังนั้น พออายุเริ่มเกิน 50 – 60 ปีขึ้นไป ควรจะเริ่มตรวจสุขภาพประจำปี เพราะเบื้องต้นเรามีการเอกซเรย์ เช่น ถ้าเราทำการเอกซเรย์ปอด มันก็จะสามารถดูได้ว่าหลอดเลือดแดงใหญ่ผิดปกติหรือไม่ หรือการตรวจอัลตราซาวนด์ในช่องท้องก็สามารถเห็นได้ว่าโป่งพองหรือไม่ และถ้าหลอดเลือดแดงใหญ่เริ่มโป่งพอง มักจะไม่มีอาการเป็นสัญญาณเตือนให้ทราบได้ เพราะในกลุ่มที่มีอาการส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่หลอดเลือดแดงใหญ่แตก จะมีอาการอยู่ๆ ก็เจ็บหน้าอก เจ็บหลัง หรือปวดท้องขึ้นมาในทันที อย่างรุนแรง และจะเป็นอาการปวดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งในบางรายที่แตกแล้วอาจเสียชีวิตได้ทันที แต่ในบางรายหลอดเลือดค่อยๆ ปริ ออกมาก หมอจะยังสามารถช่วยรักษาได้ทัน

เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด ผู้ป่วยสามารถฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้หรือไม่

ผู้ป่วยควรได้รับวัคซีนเป็นอย่างมาก เพราะจะช่วยทำให้โอกาสที่เชื้อทำให้เกิดอาการรุนแรงที่ปอดอักเสบน้อยลง จากรายงานที่บอกว่าฉีดวัคซีนแล้วมีการแข็งตัวของเลือดผิดปกตินั้น ไม่มีผลกับหลอดเลือดแดงใหญ่ เพราะมีขนาดใหญ่มาก ดังนั้นผู้ป่วยจึงสามารถฉีดวัคซีนโควิดได้ และจำเป็นที่จะต้องฉีดเป็นอย่างมาก เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะเป็นกลุ่มที่มีอายุมาก ถ้าปล่อยให้เป็นโควิดจะอันตรายมากกว่า

ข้อจำกัดในการออกกำลังของผู้ป่วย

หากผู้ป่วยมีอาการหลอดเลือดแดงโป่งพองระยะแรก ยังมีขนาดไม่ใหญ่มาก ยังไม่มีอาการ สามารถออกกำลังกายได้ แต่ถ้าหากมีอาการแน่นหน้าอก เจ็บหลังแล้วแพทย์แจ้งว่าควรรีบผ่าตัด ไม่ควรออกกำลังกาย เพราะผนังหลอดเลือดที่โป่งพอง พร้อมจะแตกแล้วนั้นมีความบางมาก ในขณะที่ออกกำลังกายโดยความดันจะเพิ่มสูงขึ้น จึงเสี่ยงอันตรายอย่างมากต่อการทำให้หลอดเลือดแดงที่โป่งพองนั้นแตกได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น การออกกำลังกายไม่ควรที่จะหักโหมมากจนเกินไป เพราะไม่ได้มีส่วนช่วยให้อาการของโรคหายได้

ความรู้ทางการแพทย์ในปัจจุบัน มีแนวทางและวิธีการรักษามากเพียงพอที่จะช่วยเหลือให้ผู้ป่วยให้มีเวลาใช้ชีวิตได้ยาวนานใกล้เคียงกับคนปกติ เมื่อเรามีอายุเพิ่มขึ้น หลอดเลือดก็มีโอกาสที่จะเริ่มเสื่อมมากขึ้น ดังนั้นเราจึงควรตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละครั้งเพื่อดูว่าหลอดเลือดแดงใหญ่เริ่มโป่งพองหรือไม่ ถ้าหากพบแล้วก็ควรที่เข้ารับการรักษาโดยทันที ไม่ควรปล่อยให้เป็นหนักจนเกิดอาการ จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงได้

บทความโดย รศ.นพ.กิตติชัย เหลืองทวีบุญ แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์หลอดเลือดและทรวงอก การผ่าตัดปลูกถ่ายปอดและหัวใจ โรงพยาบาลพญาไท 2