โรคเซ็บเดิร์ม สาเหตุและวิธีการรักษา




  • โรคเซ็บเดิร์ม ส่วนมากพบในเด็กอายุน้อยกว่า 3 เดือน และผู้ใหญ่อายุช่วง 30-60 ปี และพบบ่อยในเพศชาย
  • อาการของเซ็บเดิร์มมักเกิดขึ้นบริเวณที่มีความมัน มีต่อมไขมันอยู่มาก เช่น ใบหน้า หลัง หน้าอก จมูก หนังศีรษะ รอบสะโพก ขาหนีบ โดยผิวหนังจะแดง แห้ง เป็นวง จนถึงเกิดเป็นสะเก็ด รวมถึงมีอาการเหมือนเป็นรังแคที่หนังศีรษะ
  • แม้โรคเซ็บเดิร์ม จะไม่มีความรุนแรง แต่ก็สร้างความรำคาญใจ เพราะเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด ไม่มีสัญญาณเตือนว่าโรคจะกลับมาเป็นอีกเมื่อใด จึงควรพยายามหลีกเลี่ยงโลชั่นที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่แพทย์แนะนำ ดูแลร่างกายให้แข็งแรง ไม่เครียด ออกกำลังกาย รวมถึงหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์

ผิว คือ ส่วนแรกที่คนภายนอกมองเห็น แต่หากผิวมีสิ่งแปลกปลอมเกิดขึ้น จะสร้างความกังวลให้กับเจ้าของผิวมากเพียงใด โดยเฉพาะผิวที่ไม่เรียบเนียน เป็นผื่นคันและลอกออกเป็นขุย ยิ่งเป็นตัวเพิ่มความกังวลมากขึ้น

เซ็บเดิร์ม คืออะไร

“โรคเซ็บเดิร์ม” (Seborrheic Dermatitis) คือ โรคเกี่ยวกับการอักเสบเรื้อรังของผิวหนังหรือมีอีกชื่อว่า โรคต่อมไขมันอักเสบ ซึ่งโรคเซ็บเดิร์มจะเกิดขึ้นบริเวณที่มีความมัน มีต่อมไขมันอยู่มาก เช่น ใบหน้า หลัง หน้าอก จมูก หนังศีรษะ รอบสะโพก ขาหนีบ ส่วนมากแล้วจะมีลักษณะเป็นผื่นแดง มีสะเก็ดสีขาวหรือสีเหลืองบริเวณผิวหนัง และมักมีอาการคันบริเวณผื่นหรือสะเก็ด

ทำความรู้จักกับโรคเซ็บเดิร์ม

โรคเซ็บเดิร์มเป็นโรคเกี่ยวกับผิวหนังที่พบมากในปัจจุบัน และเป็นโรคที่ต้องใช้ระยะเวลาและใช้ความพยายามในการรักษา โรคดังกล่าวสามารถลุกลามไปทั่วร่างกายได้ โดยบางครั้งอาจจะเกิดขึ้นบริเวณศีรษะและลุกลามไปยังหลังและหน้าอก อีกทั้งยังเป็นโรคเกี่ยวกับผิวหนังที่สร้างความรำคาญให้กับเจ้าของร่างกาย และเป็นโรคที่แม้หายแล้วก็สามารถกลับมาเป็นอีกได้ การทำความรู้จักโรคเซ็บเดิร์มจึงเป็นปราการป้องกันไม่ให้เกิดโรค เป็นตัวช่วยทำให้โรคหายหรือช่วยลดความรุนแรงของโรคลงได้

อาการของโรคเซ็บเดิร์ม

  1. ผิวหนังตกสะเก็ดเป็นรังแคบนหนังศีรษะ หรือบริเวณที่มีเส้นผม คิ้ว หรือหนวดเครา
  2. ผิวมันเป็นแผ่น ปกคลุมด้วยสะเก็ดสีขาวหรือเหลือง หรือมีสะเก็ดแข็งบนหนังศีรษะ ใบหู ใบหน้า หน้าอก รักแร้ ถุงอัณฑะ หรือตามร่างกายส่วนอื่นๆ
  3. มีอาการคัน แดง ผิวหนังลอกเป็นขุยสีขาวหรือสีเหลือง ผิวมัน
  4. เปลือกตาอักเสบ มีอาการแดงหรือมีสะเก็ดแข็งติด
  5. มีอาการปวดหรือคันร่วมด้วย
  6. อาจมีอาการผมร่วงเกิดขึ้น
  7. อาการอาจรุนแรงมากขึ้นหากมีความเครียดและมักจะเกิดรุนแรงในฤดูหนาวและฤดูร้อน
  8. ในทารกอายุน้อยกว่า 3 เดือนมักจะมีเกล็ดสีเหลืองหรือน้ำตาลบนศีรษะ แต่มักจะหายไปก่อนอายุครบ 1 ปี

อาการของโรคเซ็บเดิร์มบางครั้งอาจมีอาการไม่รุนแรงและไม่รบกวนการใช้ชีวิต แต่บางคนก็อาจรุนแรงจนกระทบกับชีวิตประจำวัน ได้แก่

  1. นอนไม่หลับ เมื่อโรคเซ็บเดิร์มทำให้ทรมาน อึดอัดมากจนนอนไม่หลับหรือทำให้เกิดความฟุ้งซ่าน
  2. ลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น เช่น ไม่มั่นใจในผิวของตนเอง มีสะเก็ดผิวหนังมาก มีผื่นคันจนไม่สามารถใช้ชีวิตปกติได้
  3. วิตกกังวล
  4. สงสัยว่าผิวหนังเริ่มมีอาการติดเชื้อ
  5. เมื่อดูแลรักษาด้วยตนเองแล้วแต่อาการไม่ดีขึ้น

โรคเซ็บเดิร์มนั้นค่อนข้างมีอาการที่คล้ายคลึงกับโรคผิวหนังอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคสะเก็ดเงิน หรืออาการภูมิแพ้ในเด็กทารก จึงอาจมีการเข้าใจผิดได้ว่าโรคเซ็บเดิร์มคือโรคผื่นผ้าอ้อม ดังนั้น จึงควรมีการสังเกตร่างกายตนเองหรือทารกอยู่เสมอ หากไม่แน่ใจในอาการควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย

ความแตกต่างของโรคเซ็บเดิร์มและโรคผิวหนังอื่นๆ

  1. โรคสะเก็ดเงิน มักทำให้เกิดรังแคและผิวหนังแดง ปกคลุมด้วยสะเก็ดเล็กๆ แต่โรคนี้จะทำให้เกิดสะเก็ดมากกว่า โดยมีสีขาวออกเงิน
  2. โรคผื่นผิวหนังอักเสบ โรคที่จะทำให้เกิดอาการคันและอักเสบของผิวหนัง มักเกิดบริเวณข้อพับแขน ข้อพับขา หรือที่ด้านหน้าลำคอ
  3. โรคโรซาเซีย โรคผิวหนังอักเสบที่โดยมากจะเกิดขึ้นบนใบหน้า และปรากฏเป็นสะเก็ดเล็กๆ
  4. โรคผื่นผ้าอ้อมในเด็กทารก มีผื่นสีแดงเป็นผื่นหรือผด บริเวณผิวหนังที่สัมผัสกับผ้าอ้อมโดยตรง เช่น ก้น โคนขา และอวัยวะเพศของเด็ก แต่ผิวหนังที่ไม่ได้สัมผัสโดนผ้าอ้อมจะไม่พบผื่นชนิดนี้

สาเหตุของโรคเซ็บเดิร์ม

  1. โรคเซ็บเดิร์มยังไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นโรคภายในร่างกาย สภาพอากาศภายนอกหรือผลข้างเคียงจากยาบางชนิด โดยสามารถสรุปสาเหตุที่อาจก่อให้เกิดโรคเซ็บเดิร์มได้ดังต่อไปนี้
  2. ปฏิกิริยาการอักเสบของยีสต์ Malassezia ส่วนเกิน ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่ปกติอาศัยอยู่บนผิวหนัง เป็นสาเหตุที่เป็นไปได้ของโรคเซ็บเดิร์ม
  3. ภูมิต้านทานผิดปกติ
  4. ภาวะทางระบบประสาทและจิตเวช เช่น โรคพาร์กินสันและภาวะซึมเศร้า
  5. ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น พบในผู้รับการปลูกถ่ายอวัยวะและผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ตับอ่อนอักเสบจากแอลกอฮอล์และมะเร็งบางชนิด โรคอ้วน
  6. การฟื้นตัวจากสภาวะทางการแพทย์ที่ตึงเครียด เช่น หัวใจวาย
  7. ความเครียด
  8. การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนหรือการเจ็บป่วย
  9. ได้รับสารซักฟอกที่รุนแรง ตัวทำละลาย สารเคมี และสบู่
  10. ยาบางชนิด เช่น psoralen interferon และ lithium
  11. ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไป มักปรากฏในทารกและหายไปก่อนวัยแรกรุ่น
  12. การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างรวดเร็ว
  13. โลชั่นที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
  14. พันธุกรรม

ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคเซ็บเดิร์ม

โรคเซ็บเดิร์มมักเกิดได้ในคนทุกเพศ ทุกวัย แต่ส่วนมากจะเจอในเด็กอายุน้อยกว่า 3 เดือน และผู้ใหญ่ที่มีอายุระหว่าง 30-60 ปี ซึ่งมักจะพบบ่อยในเพศชาย โดยในทารกนั้น อาการมักจะหายเองเมื่ออายุมากขึ้น แต่ในผู้ใหญ่ โรคเซ็บเดิร์มมักจะเป็นๆ หายๆ และจะมีอาการต่อเนื่อง กินระยะเวลาหลายปี

การรักษาโรคเซ็บเดิร์ม

โรคเซ็บเดิร์มเป็นโรคที่เกิดขึ้นและอาจหายเองได้ แต่ในบางคนก็มีอาการต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หากเป็นโรคเซ็บเดิร์ม และตัวโรคยังไม่ส่งผลเสียต่อการดำเนินชีวิต สามารถดูแลได้ด้วยตนเอง โดยมีวิธีดังต่อไปนี้

  1. ดูแลผิวพรรณ ผิวหนังของตนเองด้วยแชมพูขจัดรังแค โลชั่น โดยแชมพูมีส่วนประกอบเป็น กรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) เซเลเนียม ซัลไฟด์ (Selenium Sulfide) ซิงก์ ไพริไธออน (Zinc Pyrithione) โคล ทาร์ (Coal tar) โดยหากแชมพูมีประสิทธิภาพลดลง ให้เปลี่ยนไปใช้ยี่ห้ออื่นสลับกันไป ส่วนผิวบริเวณอื่น สามารถบรรเทาด้วยการหาซื้อผลิตภัณฑ์ต้านเชื้อราหรือโลชั่นคอร์ติโคสเตียรอยด์
  2. รักษาความสะอาดบริเวณที่เป็นอยู่เสมอ โดยการล้างด้วยสบู่และน้ำเปล่า
  3. ล้างทำความสะอาดร่างกายและหนังศีรษะเป็นประจำ
  4. หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้เป็นมากขึ้น
  5. โกนหนวดเคราให้หมด เนื่องจากหนวดและเคราจะยิ่งทำให้ผิวหนังบริเวณที่เป็นเซ็บเดิร์มแย่ลงได้
  6. สวมใส่เสื้อผ้าเนื้อเรียบลื่น เพื่อป้องกันการระคายเคือง
  7. ออกไปรับแสงแดดภายนอก แสงแดดจะช่วยหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อราที่เป็นสาเหตุของการอักเสบ แต่ควรทาครีมกันแดดเพื่อป้องกันรังสียูวีด้วย
  8. เลี่ยงการขีดข่วนหรือเกาที่จะทำให้เกิดการระคายเคืองและติดเชื้อตามมาได้ หากคันให้ใช้ครีมไฮโดรคอร์ติโซนหรือคาลาไมน์ช่วยระงับอาการชั่วคราว
  9. ทำความสะอาดบริเวณเปลือกตาเบาๆ หากเปลือกตามีลักษณะแดงหรือมีสะเก็ด โดยล้างด้วยแชมพูเด็กแล้วเช็ดสะเก็ดออกด้วยแผ่นสำลี
  10. ขจัดความเครียดและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  11. ลดการระคายเคืองบริเวณผิวที่เป็นเซ็บเดิร์มสระผมเบาๆ ห้ามเกา ซับเช็ดหน้าเบาๆ การทายา ให้แตะเบาๆ แทน
  12. สำหรับทารกที่มีไขหรือสะเก็ดบนหนังศีรษะ พ่อแม่อาจสระผมให้ทุกวันด้วยแชมพูที่อ่อนโยนสำหรับเด็กและน้ำอุ่น หากไม่ได้ผลควรปรึกษากุมารแพทย์เกี่ยวกับแชมพูที่ใช้รักษา ไม่ควรหามาทดลองใช้เอง เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อศีรษะของทารกได้ ส่วนแผ่นสะเก็ดรังแคนั้นสามารถทำให้นุ่มลงด้วยการใช้น้ำมันมะกอกถูแล้วหวีด้วยแปรงเพื่อให้สะเก็ดรังแคหลุดลอกออกมา
  13. หากโรคเซ็บเดิร์มทำให้การดำเนินชีวิตลำบากและเกิดความวิตกกังวล ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา

การป้องกันโรคเซ็บเดิร์ม

โรคเซ็บเดิร์มเป็นโรคที่ไม่สามารถหาวิธีป้องกันได้ ไม่ว่าสาเหตุจะมาจากพันธุกรรมหรือสาเหตุอื่นๆ แต่สามารถลดความรุนแรงของอาการและช่วยป้องกันไม่ให้โรคเกิดขึ้นซ้ำ โดยปฏิบัติดังต่อไปนี้

  1. ดูแลรักษาหนังศีรษะด้วยแชมพูต้านเชื้อ ดูแลรักษาผิวหนังของร่างกายให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำเปล่าเป็นประจำทุกวัน เพื่อไม่ให้เกิดคราบมันบนผิวหนังที่เป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดเซ็บเดิร์ม และช่วยลดจำนวนของเชื้อราบนผิวหนัง
  2. หลีกเลี่ยงโลชั่นที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
  3. ใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่แพทย์แนะนำ
  4. ดูแลร่างกายให้แข็งแรง ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ ขจัดความเครียด ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงสถานการณ์เสี่ยงจากโรคต่างๆ เช่น โรคเอชไอวี โรคอ้วน เป็นต้น
  5. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์

แม้อาการของโรคเซ็บเดิร์ม จะไม่มีความรุนแรงมากนัก แต่ก็สร้างความรำคาญใจและวิตกกังวลให้กับผู้ที่เป็นได้ ซ้ำยังเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด ไม่มีสัญญาณเตือนว่าโรคจะกลับมาเป็นอีกเมื่อใด ดังนั้น การรู้ว่าพื้นฐานของโรคเซ็บเดิร์มเป็นอย่างไรจะช่วยลดความเสี่ยงของโรคได้

บทความโดย : พญ.ลออ อรุณพูลทรัพย์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคผิวหนัง ศูนย์ผิวหนังและความงาม รพ.สมิติเวช ศรีนครินทร์