โรคยอดฮิตของระบบทางเดินอาหารที่ควรรู้จัก (ตอน 1)




“ระบบทางเดินอาหาร” เป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะในร่างกาย มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการย่อยอาหาร การดูดซึม และการขับถ่าย โดยจะเริ่มตั้งแต่ ปาก คอหอย กระเพาะอาหาร ลำไส้ ตับ ถุงน้ำดีและตับอ่อน หากเกิดความผิดปกติเกิดขึ้น ก็จะส่งผลต่างๆ ต่อร่างกายตามมา ซึ่งโรคยอดฮิตของระบบทางเดินอาหารที่ควรรู้จัก มีดังนี้

1. โรคริดสีดวงทวาร

โรคริดสีดวงทวาร เป็นโรคที่เกิดจากเส้นเลือดดำทวารหนัก หรือส่วนปลายสุดของลำไส้ใหญ่เกิดอาการบวมพองหรือยืดตัว มีอาการยื่นนูนเป็นติ่งออกมาจากทวารหนัก มีเลือดออกเมื่อถ่ายอุจจาระ มีก้อนยื่นที่ปากทวารหนัก คันบริเวณก้น หรือ ปวดจากการอุดตันของก้อนเลือดที่บริเวณริดสีดวงภายนอก

สาเหตุหลักของโรค คือ การขับถ่ายที่ผิดปกติ เช่น ท้องผูกเยอะ ถ่ายยาก ถ่ายลำบาก หรือถ่ายบ่อยเกินไป เป็นต้น ชนิดของริดสีดวงแบ่งออกเป็น ริดสีดวงภายนอกและภายใน

ริดสีดวงภายนอก คือ ริดสีดวงเกิดขึ้นตรงขอบทวารหนักรอบนอก

ริดสีดวงภายใน คือ ริดสีดวงที่เกิดขึ้นภายในทวารหนักตรงบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลายที่เชื่อมติดกับทวารหนักส่วนบน สามารถแบ่งความรุนแรงออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้

          ระยะที่ 1 ริดสีดวงบวมมีขนาดเล็กอยู่ในช่องทวารหนัก และไม่ยื่นออกมานอกขอบทวาร

          ระยะที่ 2 ริดสีดวงเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิมและยื่นออกมา ภายนอกเมื่อมีการเบ่งหรือถ่ายอุจจาระ และสามารถหดกลับเข้าไปข้างในได้เอง

          ระยะที่ 3 ริดสีดวงยื่นออกนอกขอบทวาร ขณะถ่ายอุจจาระ และหลังถ่ายอุจจาระต้องใช้มือดันกลับเข้าไปในทวารหนัก

          ระยะที่ 4 ริดสีดวงเลื่อนตัวลงมาทางปากทวารหนัก ไม่สามารถใช้มือดันกลับเข้าไปเองได้ ทำให้เกิดอาการเลือดออกขณะถ่ายอุจจาระ หรือออกตลอดเวลา

อันตรายและภาวะแทรกซ้อน

โรคริดสีดวงทวารเป็นโรคที่ไม่มีความอันตรายมากนัก เพียงแค่คุณปรับสุขลักษณะในการขับถ่ายก็สามารถหายได้เองถ้าหากเป็นไม่มาก แต่มักสับสนกับ “โรคมะเร็งทวารหนัก” เพราะมีอาการคล้ายๆ กัน ดังนั้น ถ้าคุณไม่มีความเสี่ยงของโรคมะเร็ง นั่นคือ อายุที่มากขึ้น หรือมีญาติเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ และการตรวจเบื้องต้นไม่พบสาเหตุอื่น ก็จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคริดสีดวงทวารก่อนเสมอ ซึ่งนอกจากโรคริดสีดวงแล้วยังมีโรคอื่น ที่อาการคล้ายโรคริดสีดวงได้ เช่น โรคแผลปริขอบทวาร ฝีคัณฑสูตร เป็นต้น

การรักษา มีหลายระดับ ดังนี้

1. ปรับสุขลักษณะในการขับถ่าย โดยการขับถ่ายให้เป็นเวลา ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว รับประทานอาหารที่มีกากใย ไม่นั่งถ่ายอุจจาระนานๆ และไม่เบ่งอุจจาระแรงเกินไป

2. รับประทานยาระบาย เพื่อให้อุจจาระนิ่มลง ทำให้ขับถ่ายง่ายขึ้น

3. การรัดหัวริดสีดวง โดยการใช้ยางรัดบริเวณฐานของก้อนริดสีดวงทวาร ทำให้ไม่มีเลือดไปเลี้ยงที่ก้อนริดสีดวงได้ ก้อนริดสีดวงทวารจะมีขนาดเล็กลงและฝ่อไปภายใน 1-2 สัปดาห์ จากนั้นจะหลุดออกมาพร้อมกับการถ่ายอุจจาระ

4. การผ่าตัด โดยทั่วไปสามารถทำได้หลายแบบ ซึ่งปัจจุบันมีการผ่าตัดแบบใช้เครื่องตัดต่ออัตโนมัติสำหรับรักษาริดสีดวงภายในที่ยื่นออกมา ซึ่งทำให้เจ็บแผลน้อยลง และคนไข้ฟื้นตัวได้เร็ว จึงเป็นหัตถการที่ไม่ได้สร้างความน่ากลัวและสร้างความเจ็บปวดให้คนไข้ และทำให้หายจากโรค

5. การทำเลเซอร์ โดยการใช้คลื่นความร้อนของเลเซอร์เผาบริเวณ ริดสีดวง ก้อนริดสีดวงก็จะแฟบลง จากนั้นแพทย์ก็จะผ่าตัดตกแต่งแผลอีกเล็กน้อย ซึ่งแผลก็มีขนาดเล็ก และหายเร็วขึ้นเช่นกัน

6 วิธีอื่นๆ เช่น การฉีดสารเพื่อทำลายผนังหลอดเลือดดำ การใช้ความร้อนหรือความเย็นจี้ริดสีดวงเป็นต้น

การป้องกัน

เพียงแค่คุณมีสุขลักษณะในการขับถ่ายที่ดี ขับถ่ายเป็นเวลา ดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอในแต่ละวัน รับประทานผักและผลไม้ที่มีกากใย เพื่อป้องกันอาการท้องผูก แค่นี้ก็สามารถห่างไกลจาก “โรคริดสีดวงทวาร” ได้แล้ว แต่หากมีอาการต่างๆ ดังที่กล่าวไปข้างต้น ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้เช่นกัน

สัปดาห์หน้ายังมีความรู้ของโรคระบบทางเดินอาหารอีกโรคคือ “โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่” น่าสนใจไม่แพ้กัน รอติดตามกันต่อนะครับ

@ @ @ @ @ @

แหล่งข้อมูล

รศ.นพ.ไชยรัตน์ ทรัพย์สมุทรชัย ศัลยศาสตร์มะเร็งวิทยา สาขาศัลยศาสตร์ทางเดินอาหารและศัลยศาสตร์ทั่วไป ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล