เอไออาจทำนาย ความเสี่ยงมะเร็งตับอ่อน




ปัจจุบันยังไม่มีตัวชี้บ่งทางชีวภาพหรือเครื่องมือตรวจคัดกรองที่เชื่อถือได้ พอที่จะตรวจหามะเร็งตับอ่อนได้ตั้งแต่เนิ่นๆ นับเป็นความท้าทายให้นักวิจัยเร่งพัฒนาวิธีตรวจหรือสร้างอุปกรณ์ใหม่ๆ ทว่าความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ (Artificial Intelligence-AI) ก็ทำให้นักวิจัยมองเห็นหนทางที่จะบรรลุสิ่งที่ใฝ่ฝันได้

ล่าสุดทีมวิจัยนำโดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในสหรัฐอเมริกา และมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนในเดนมาร์ก ได้นำเสนอวิธีที่จะช่วยให้แพทย์ระบุผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อมะเร็งตับอ่อนได้ โดยใช้แบบจำลองเอไอให้ช่วยทำนาย ทีมเผยว่าได้ป้อนลำดับการวินิจฉัยทางการแพทย์จากบันทึกสุขภาพแบบอิเล็กทรอนิกส์ ภาพรังสีวิทยา สไลด์ พยาธิวิทยา ของหน่วยงาน Danish National Patient Registry ที่มีบันทึกเกี่ยวกับผู้ป่วย 6.1 ล้านราย ซึ่งรักษาในช่วงปี 2520-2561 และมี 24,000 คนเป็นมะเร็งตับอ่อน ทั้งนี้ การป้อนข้อมูลผู้ป่วยแต่ละรายก็เพื่อสอนแบบจำลองเอไอว่า รูปแบบการวินิจฉัยใดที่ทำนายความเสี่ยงมะเร็งตับอ่อนได้มากที่สุด

ทีมทำการทดสอบความสามารถของแบบจำลอง เอไอดังกล่าว ในการทำนายการเกิดมะเร็งตับอ่อนภายในช่วงเวลา 3-60 เดือนหลังจากการประเมินความเสี่ยง ซึ่งสามารถระบุกลุ่มย่อยของบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับอ่อนถึง 25 เท่า ภายใน 3-36 เดือน อย่างไรก็ตาม การใช้ชุดข้อมูลยังจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์เพิ่มเติมเพื่อที่จะอธิบายอย่างชัดเจน ถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ อีกทั้งความแม่นยำในการทำนายก็จะลดลงตามช่วงเวลาที่นานขึ้นระหว่าง ช่วงการประเมินความเสี่ยงกับการเกิดมะเร็ง.

(Credit : public domain)