เร่งวูบ วิ่งกระตุก ตบแล้วสั่น ความบรรลัย มีที่ไปและที่มา




สัปดาห์นี้น้าฉ่าง อาคม รวมสุวรรณ ให้การบ้านมาว่าอยากให้ผมเขียนเรื่อง รถสั่น เร่งไม่ขึ้น เร่งแล้ววูบ ซึ่งก็โชคดีว่าน้าแกให้งานแบบที่ผมพอเขียนถึงได้ ชีวิตผมอยู่กับรถเก่ามาตลอด ด้วยอายุกว่า 4 ทศวรรษ สารภาพว่าเพิ่งเคยซื้อรถป้ายแดงไปสองคัน นอกนั้นแล้วล้วนใช้รถมีอายุ คันที่เก่าที่สุดของผมก็ปาเข้าไป 30 ปีแล้ว ถ้าเป็นหญิงล่ะก็ เข้าวัยกำลังมีเสน่ห์กลมกล่อมลงตัวเป็นที่สุด..แต่พอมันเป็นรถ เขาเรียกว่าวัยเฝ้าระวัง..คือมันใช้งานได้ แต่อย่าคิดว่าทุกการเดินทางจะไร้ปัญหาตลอดไป รถเก่าที่ผมใช้ รวมถึงการคลุกคลีอยู่กับวงเพื่อนพี่น้องที่เล่นรถเก่า ทำให้ผมคุ้นชินกับปัญหาเหล่านี้เป็นอย่างดี

ความบรรลัยที่เกิดขึ้นเมื่อเรากดคันเร่งหมายจะเรียกพลัง แล้วแทนที่จะได้แรงดึงหลังติดเบาะ คุณกลับได้อาการแปลกประหลาด ไม่ว่าจะเป็นการวูบเหมือนคนแข้งขาอ่อน การไปแบบสะดุดพรืดๆ การไปแบบเร่งไปเย่อไปเหมือนรถคุณเพิ่งดูหนัง AV มาแล้วอารมณ์มันค้าง มันมีที่มาอยู่ภายในตัวรถนี่ล่ะแต่มันมาจากจุดไหน ก็มีวิธีไล่ดูได้ หรือถ้าคุณไม่ได้คิดจะซ่อมเอง อย่างน้อย เวลาช่างบอกว่าเกิดจากอะไร คุณยังสามารถวิเคราะห์ได้ว่ามันมีความน่าจะเป็นมากน้อยเพียงไร

ก่อนอื่นสำหรับคนที่ไม่ได้บ้ารถ คุณต้องเข้าใจก่อนว่าเครื่องยนต์ทำงานโดยการบึม (การจุดระเบิด) ในเครื่อง แรงที่ถีบรถคุณไปข้างหน้าได้นั้นมาจากการบึมระเบิดภายในห้องเล็กๆ ที่อยู่ในเครื่องยนต์ ซึ่งพอบึมแล้ว มันก็จะไปถีบลูกสูบโลหะให้กระเด็นลงไปก่อนที่จะถูกชักกลับขึ้นมาเพื่อถีบเอาไอเสียที่เกิดจากการบึมนั้นออกไป แล้วเคลื่อนที่ลงไปใหม่ก่อนจะถูกจิกหัวกลับมารับแรงบึมนี้อีกครั้ง เพราะการบึม-ถีบ-ชัก-ไล่ควัน-ชักลง-แล้วกลับมาบึมอีกนี่ล่ะรถเราถึงเคลื่อนที่ไปข้างหน้า และเพราะมัน เราถึงมีไอเสีย นี่พูดเฉพาะรถที่มีเครื่องยนต์ก่อนนะ ไม่นับรถไฟฟ้า

รถเครื่องเบนซิน ปัจจัยของการบึมคือ อากาศที่ดูดเข้าเครื่อง + น้ำมันเบนซิน จะฉีดเข้าหน้าประตูห้องบึม (วาล์ว) หรือฉีดเข้าห้องโดยตรงก็แล้วแต่เทคโนโลยีที่เครื่องนั้นมี + ประกายไฟจากหัวเทียน ขาดไป 1 อย่าง เครื่องเบนซินก็หลับ

รถเครื่องดีเซล มักน้อยกว่า เพราะชีวิตมันไม่ต้องการอะไรมาสปาร์กจอย แค่มีอากาศเข้าไปในห้องบึม กับน้ำมันดีเซล ฉีดเข้าไปตอนที่ลูกสูบอัดอากาศในห้องจนร้อนจัด น้ำมันดีเซลมันบึมง่าย ไม่ต้องมีหัวเทียน แค่ทำให้บริเวณห้องบึมร้อนมากๆ ฉีดเข้าไปได้ตรงจังหวะ มันจะบึมได้เอง

ก็เท่ากับว่า เพื่อให้เร่งเครื่องแล้วรอบกวาดฟาดสะใจ รถเบนซิน ต้องมี 3 อย่างที่สมบูรณ์ ส่วนรถดีเซลมีแค่ 2 อย่าง แต่ในระหว่างทางการนำส่งปัจจัยทั้ง 3 หรือ 2 อย่างนั้น มีอุปกรณ์ มีองค์ประกอบอื่นๆ ที่จะส่งผลต่อการเร่งที่เนียนได้มากมาย ผมจะลองเล่าให้ฟังบางเรื่อง เผื่อคุณพบอาการนี้กับรถตัวเองแล้วมันอาจเป็นกรณีเดียวกัน

อาการแบบที่รถเร่งได้ปกติเวลากดคันเร่งไม่เยอะ ขับแบบคนนิสัยดี แต่พอคุณคิดจะเลวขึ้นมา กระแทกลากรอบ ปรากฏว่าลากไปแล้วเครื่องมีอาการสะดุด ถุดๆ เหมือนคนพูดติดอ่าง เดินๆ หยุดๆ แต่จังหวะที่สะดุดนั้น จะสะดุดครั้งละสั้นๆ แบบเสี้ยววินาที ป๊าดด..พรึด! ป๊าดด..พรึดๆๆ แบบนั้น ในรถเบนซินโดยเฉพาะรถเก่า ปัญหาส่วนมาก มักมาจากเรื่องประกายไฟหัวเทียน ซึ่งอาจเกิดได้จาก หัวเทียนบอด เสื่อม ก็ลองถอดมาเช็ก หรือเช็กประวัติรถ หัวเทียนยุคเก่าอยู่ได้ห้าหมื่นโล หัวเทียนช่วง 20 ปีหลังมานี้ พัฒนาจนใช้ได้ทะลุแสนโล แต่บางคนใช้สองแสนโลไม่เคยถอดเช็กก็มี

หัวเทียนไม่เป็นไร แต่สิ่งที่ส่งพลังไฟให้หัวเทียน มีปัญหา ในรถยุคก่อนปี 2000 หลายคันจะใช้ระบบส่งพลังไฟสปาร์กแบบจานจ่าย ถ้ารถคุณใช้ระบบนี้ ให้ดูที่ฝาครอบเครื่องด้านบน มุมซ้ายหรือขวา จะมีอวัยวะคล้ายกระเปาะอันเท่ากำปั้น แล้วมีสายไฟงอกออกมา ลากยาวไปที่ฝาเครื่องบริเวณเหนือห้องบึม (ลูกสูบ) เช่นถ้าเครื่อง 4 สูบ คุณก็จะเห็นสายแบบที่ว่านี่ 4 สาย บางครั้งสายหัวเทียนโดนหนูกัดแหว่ง หรือเสื่อมตามสภาพก็ต้องเปลี่ยน หรือบางครั้ง สายหัวเทียนยังไม่เป็นไร แต่ตัวจานจ่ายกับคอยล์สร้างไฟเริ่มเสื่อม พอมันเสื่อม เวลาเราวิ่งช้าๆ รอบเครื่องไม่สูงเกินเลข 3 มันบอกว่ายังพอจ่ายไฟให้ไหว แต่พอหมุนรอบสูง ภาระหน้าที่เกินอายุ ส่งไฟไม่ทันใจ จุดผิดจุดถูก ทำให้เครื่องเร่งรอบสูงแล้วเกิดอาการสะดุดนั่นเอง

สำหรับรถยุคใหม่ที่ไม่มีจานจ่าย+คอยล์สร้างไฟ เขาจะใช้วิธีเอาคอยล์สร้างไฟเนี่ยแหละ ไปแปะบนฝาเครื่อง ต่อไฟลงตรงที่หัวเทียนเลย ซึ่งทำให้ได้กำลังไฟสม่ำเสมอ รถพวกนี้น่ะบนฝาครอบเครื่อง ถ้า 4 สูบ 4 ห้องบึม คุณจะเห็นมันเป็นเม็ดดำๆ ขนาดเท่ากระปุกครีมทาสิวขนาดจิ๋วอยู่ 4 เม็ด ซึ่งภาษาคนเล่นรถ เรียกว่า คอยล์แยก หรือ Direct Coil ซึ่งมันก็เสียได้เหมือนกัน แต่ข้อดีของระบบนี้คือ ในเครื่องแบบโบราณ คอยล์เดียวรับผิดชอบทุกลูกสูบ ถ้าคอยล์เดี้ยง ก็วิ่งไม่ได้เลย แต่ในรถคอยล์แยก คอยล์พังสักตัว ไอ้ตัวที่เหลือก็ยังพอให้คุณคลานไปอู่ได้ แต่มันจะมีอาการเครื่องสะดุด ถ้าพังแบบเสื่อมสภาพเฉยๆ ในบางลูก ก็จะมีอาการสะดุดที่รอบสูง แต่ถ้าพังแบบตายสนิทเลย แค่จอดเดินเบา เสียงเครื่องก็ผิดปกติแล้ว มันจะบุ่มๆๆๆๆ เป็นจังหวะไม่เรียบ พวก Nissan ยุคปี 2000-2010 ที่ใช้ LPG คอยล์มักเสื่อมเร็ว รวมถึงพวกตีนหนักเช่นกัน บางที 50,000 กิโลเมตร คอยล์ลาโลกไปแล้ว

นอกจากนี้ อาการสะดุดที่รอบสูง ยังไม่ได้มาแค่จากหัวเทียนหรือคอยล์เสื่อม สาเหตุที่ “โคตรโง่” ที่สุดที่ผมเคยเจอ เพราะคุณผู้อ่านเพิ่งมาเล่าให้ฟัง เจอกับตัวเองมาหยกๆ ก็คือ ช่างที่ศูนย์ ขันคอยล์ปิดไป แต่ไม่ได้ขันหัวเทียนให้เข้าที่ ไม่ได้ตรวจสอบก่อน รถเดินสะดุดที่รอบสูงเพราะกำลังอัดรั่วออกทางเบ้าหัวเทียน ซึ่งเรื่องนี้เกิดจากความสะเพร่าของช่างล้วนๆ คุณอย่าคิดนะว่าคุณจะไม่เจอ ช่างศูนย์ หรือช่างอู่ หรือเจ้าของรถ ทุกคนก็คือคนที่บางทีก็ทำพลาดกันได้

อีกอาการหนึ่งอันเป็นที่มาของความสะดุด คือ แอร์โฟลว์พัง แอร์โฟลว์นั้น ชื่อจริงของมันคือ Air Flow Meter ครับ และมันมีหน้าที่คล้ายลูกสมุน ยืนแปะอยู่ในท่ออากาศ มีหน้าที่เอาข้อมูลอากาศที่เดินผ่านไปบอกบอสของมัน ซึ่งก็คือกล่องสมองกลคุมเครื่อง อากาศเข้ามากหรือน้อย แอร์โฟลว์ก็จะคอยบอกสมองกลเพื่อให้ปรับการจุดระเบิดและการจ่ายน้ำมันได้อย่างถูกต้อง

แต่บางครั้งลูกสมุนอย่างแอร์โฟลว์ก็เดี้ยง ทั้งจากการเดี้ยงตามสังขารธรรมชาติของมัน ไปจนถึงการเสื่อมสภาพ เพราะมีของเหลวปะปนไปแปะอยู่บนตัวมัน แอร์โฟลว์เนี่ยเวลาเขาจะวัดการไหลอากาศ เขาจะใช้เส้นลวดขนาดเล็กเหมือนหนวดมดเป็นตัววัด พวกเราบางคนที่ชอบใช้กรองอากาศเปลือยแบบพ่นน้ำยาจับฝุ่น บางทีก็คิดไปเองว่าพ่นน้ำยาเยอะๆ ฝุ่นจะได้ไม่เข้าเครื่อง..ครับ..ฝุ่นแม่งไม่เข้าหรอก แต่น้ำยาส่วนเกินนี่แหละเยิ้มทะลุเข้าไปเกาะเส้นลวดแอร์โฟลว์ ส่งค่าเพี้ยน พาเครื่องเดินสะดุดไปก็มี บางคนไม่ได้ใช้กรองเปลือย แต่เห็นเพื่อนทำความสะอาดแอร์โฟลว์เลยอยากลองมีสกิลช่าง เอาสเปรย์น้ำมันครอบจักรวาลไปพ่นลวด ก็จองศาลาวัดให้แอร์โฟลว์ไปครับ ถ้าจะทำความสะอาดรบกวนใช้ยาล้างหัวเทป หรือใช้ Contact Cleaner Spray นะครับ

นี่ยังไม่รวมเคสแปลกๆ ที่รถเร่งรอบสูงแล้วสะดุด อย่างที่เคยเจอมาเคสนึงก็คือ เกียร์พังครับ ในรถของพี่สาวผมเอง Suzuki Swift Eco นี่ล่ะ เกิดอาการเร่งรอบสูงแล้วรถมีอาการเร่งไปสะดุดไป แต่จะไม่เหมือนอาการสะดุดแบบระบบจุดระเบิดพังก็ตรงที่จังหวะการเย่อจะยาวบ้างสั้นบาง รถกระตุกหนักบ้างเบาบ้าง ไม่ได้เป็นเสียงพรึด! สั้นๆ ปัญหานี้เกิดจากกลไกของเกียร์อัตโนมัติแบบ CVT เสื่อมสภาพ ทำให้เวลาเค้นพลังจากรถ มีอาการลื่นบ้างจับบ้าง รถเกียร์ CVT ทั้งหลาย ถ้าดูห้องเครื่องครบทุกจุดแล้วไม่เจออะไรผิดปกติ มาดูที่เกียร์ได้เลยครับ โอกาสเป็นมีสูงมาก

แล้วมีบ้างไหม? ที่ปัญหาการเร่งสะดุดจะมาจากเรื่องอากาศเข้าเครื่อง? น้อยมากครับ อาการที่เกี่ยวกับอากาศ สังเกตดูนะครับ เวลาเร่งมันจะไม่พรืด ไม่สะดุด แต่มันจะเหนื่อย เนือย เร่งแล้วไม่ค่อยอยากไป ต่อเนื่อง..แต่อืดหนืดช้ามาก แบบนั้นลองเปิดหม้อกรองอากาศเช็กครับ บางทีไส้กรองอากาศก็ตัน รถที่ใช้เครื่องเทอร์โบ เวลากรองตัน ผลเสียมันจะชัดเจนกว่ารถทั่วไปมาก

ผมเคยรับรถ Soluna ของเพื่อนออกจากอู่ แล้วสงสัยมากว่า ทำไมอัตราเร่งมันอืดชิบ เลยจอดที่ปั๊มแล้วยืมเครื่องมือพี่แท็กซี่ (รถเพื่อนผมเธอไม่พกเครื่องมืออะไรสักอย่าง) มาไขหม้อกรองดู ก็พบว่ากรองอากาศสะอาดสวยปิ๊ง ก็งงมากว่าทำไม พี่แท็กซี่เลยให้ผมสตาร์ตเครื่องแล้วลองเบิ้ลดู เขาบอกว่า “เสียงดูดมันเงียบผิดปกตินะน้อง” ก็เลยชวนกันรื้อท่ออากาศดู เจอผ้าสีเข้มอุดท่ออากาศอยู่ข้างใน เลยโทรไปเม้งช่างที่ทำรถ ได้ความว่า มันมีการถอดอุปกรณ์ทำความสะอาด ช่างกลัวหนูหรือแมลงไต่เข้าไปในท่อเลยเอาผ้ายัดหัวและท้าย ตอนประกอบกลับอาจจะลืมเอาออกไปผืนนึง แค่นั้น พอดึงผ้าออก รถวิ่งเป็นปกติทันที แล้วจบที่ผมยื่นค่าเหนื่อยให้พี่แท็กซี่ 200 บาท พี่แท็กซี่บอกไม่เอา

ทีนี้ จบจากรถเบนซิน เรามาต่อกันที่รถดีเซลบ้าง

รถเครื่องดีเซล มีจุดให้เกิดปัญหาไม่มากเท่าเบนซิน แต่ไม่ได้แปลว่าไม่ต้องดูแลนะครับ ดีเซลไม่มีหัวเทียน แต่พวกเครื่องคอมมอนเรลยุคใหม่ๆ มีปั๊มที่ทำงานภายใต้แรงดันมหาศาล ดึงหัวฉีดออกมาฉีดตูดใครมีตายแน่นอน อีกทั้งยังมีเซนเซอร์อีกหลายจุดที่ละเอียดกว่ารถเบนซินด้วยซ้ำ โชคดีตรงที่ว่าอาการสะดุดส่วนมาก หาสาเหตุไม่ยาก

ประการแรก ให้สำรวจกรองน้ำมันดีเซลก่อน เพราะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนได้ในราคาไม่กี่ร้อย ถ้าเข้าอู่ข้างทาง ลองให้ช่างเปิดแล้วเอาให้ดูก็ได้ครับ บางคนโชคไม่ค่อยดี อาศัยอยู่ละแวกที่ปั๊มไม่ค่อยควบคุมเรื่องความสะอาด บางที 40,000 กิโลเมตรถอดมากรองดีเซลดำปิ๊ดปี๋เลย ก็จัดการเปลี่ยนซะ ชิ้นส่วนนี้ บางคนใช้ได้ไม่กี่หมื่นกิโลเมตร บางคนใช้ได้เกือบแสน ขึ้นอยู่กับความสะอาดของน้ำมันที่เติมครับ หรือบางคนขับไม่เร็ว ขับแต่ทางราบๆ ไม่ขึ้นเขาสูงๆ ต่อให้กรองตันใกล้ฉิบหาย แต่การไม่เคยกดคันเร่งหนัก ทำให้ไม่รู้ว่ากรองมันตันแล้ว

อาการของกรองดีเซลตัน จะคล้ายเครื่องเบนซินที่กรองอากาศตันครับ คือขับปกติไม่ค่อยรู้สึก แต่เวลาเร่งเยอะ ลากรอบสูง หรือขึ้นทางภูเขา รถจะไม่ค่อยมีพลัง แต่ถ้าสมมติว่าเร่งปุ๊บ สะดุด กระตุก หรือพลังวูบหายไปเลย อาจจะไม่ใช่กรองดีเซลแล้ว ที่ตรงตูดปั๊มคอมมอนเรลดีเซล จะมีสิ่งที่เรียกว่า SCV Valve (Suction Control Valve) ซึ่งมีหน้าที่คอยคุมปริมาณน้ำมันดีเซลที่จะเข้าสู่ตัวปั๊ม เหมือนการ์ดรักษาความปลอดภัยหน้าผับนั่นแหละ ซึ่งถ้าคุณใช้รถกระบะดีเซลหลังปี 2004 เป็นต้นมา วาล์วตัวนี้ยังไงคุณต้องมี เมื่อวาล์วตัวนี้เสื่อมลง แรงดันและปริมาณของน้ำมันที่เข้าสู่ปั๊มก็จะแปรปรวน เวลากดคันเร่งไปมีเดินสะดุด หรือเร่งปุ๊บก็เกิดอาการวูบ

สองสาเหตุนี้ มักเป็นจุดที่พบเยอะสุดในรถดีเซลที่ใช้งานมามาก หรือเป็นรถที่เจ้าของซื้อมือสองมาแล้วไม่ได้รับการตรวจเช็คอย่างเป็นประจำ ส่วนสาเหตุอื่นๆจากการเร่งสะดุดนั้นมีได้หลายจุด ถ้าหากอาการที่เกิดขึ้นนั้นประกอบกับมีไฟรูปเครื่องยนต์โชว์ที่หน้าปัด เมื่อนำเข้าอู่ที่ชำนาญเรื่องดีเซล หรือศูนย์บริการ เสียบกับคอมพิวเตอร์ บางครั้งจะมีการแจ้งความผิดพลาดออกมาเป็น Code ซึ่งเมื่อเปิดเทียบคู่มือการซ่อม สามารถบอกได้ว่า ส่วนไหนที่พัง ไม่ว่าจะเป็นหัวฉีด ตัวปั๊มดีเซลเอง หรือเซนเซอร์ส่วนใดส่วนหนึ่งที่มีผลต่อการสั่งการของสมองกลควบคุมเครื่อง

กรณีที่พบได้แต่ไม่บ่อยนัก และพบในรถใหม่ๆบางคันคือ สมองกลควบคุมเครื่องนั่นล่ะ มีการชำรุด หรือสายไฟเซนเซอร์ต่างๆ ในห้องเครื่องยนต์ โดนหนูแทะแบบหวิดขาด บางทีเวลาขับๆ ไปสายไฟแตะกันบ้างไม่แตะบ้าง ทำให้รถออกอาการเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เวลาพวกน้องๆผมไปตระเวนหาซื้อรถมือสอง ถ้าเปิดฝากระโปรงดูแล้วเจอรอยเท้าหนู ขี้หนู เศษอาหารอยู่ตามห้องเครื่อง เรามักจะไม่เสียงจับซื้อรถคันนั้นมาครับ ใครจะไปรู้ว่ามันจะไปเกิดปัญหาตอนไหนอีก

รถดีเซลโดยเฉพาะพวกกระบะน่ารักตรงนี้ จุดที่ต้องเช็กมันมีไม่เยอะ แต่อวัยวะบางส่วนจะมีราคาสูงกว่ารถเบนซินที่ราคาค่าตัวรถไล่เลี่ยกัน แค่นั้นแหละครับ

ท้ายสุดนี้ อาการสำคัญที่ทำให้เครื่องกระตุกอีกอย่างที่ไม่ว่าจะเบนซินหรือดีเซลก็เกิดได้ นั่นก็คือ เชื้อเพลิงที่มีน้ำปะปนครับ ในปั๊มน้ำมันบางแห่งที่ไม่ได้มีการดูแลถังเก็บน้ำมันใต้ดินดีพอ เมื่อฝนตกหนัก จะมีน้ำและสิ่งสกปรกเข้าไปปะปนกับเชื้อเพลิงด้วย และอาการมันจะออกในทันที เรียกได้ว่า คุณออกมาจากปั๊มไม่เกิน 3 กิโลเมตร ความผิดปกติก็จะเกิดขึ้น รถจะสะดุดได้ โดยไม่ต้องลากรอบสูงหรือกดคันเร่งหนักครับ ขับปกติ อาการก็เห็นได้ชัด ก็ต้องแก้โดยการถ่ายน้ำมันในถังออกให้หมด ไล่น้ำมันค้างในระบบ แล้วเติมน้ำมันใหม่เข้าไป

หลายปีก่อน มีเพื่อนผมเจอกรณีแบบนี้ คุณเพื่อนเธอโทรหาผม ซึ่งผมก็แนะนำตามย่อหน้าข้างบนนี้แหละ สองชั่วโมงกว่าๆ ต่อมา เธอก็โทรกลับมาบอกว่าอาการเหมือนจะหายแล้วก็เป็นอีก ผมพยายามจะแนะนำให้ดูจุดต่างๆ แล้วสุดปัญญา จึง Google หาศูนย์ที่ใกล้ตัวเธอที่สุดให้ และประสานงานคุยกับช่างให้ สักครู่ ช่างถ่ายน้ำมันออกมา มีน้ำปนออกมาด้วยจำนวนมาก ผมเลยด่าเพื่อนไปว่า “เธอบอกว่าเธอไปถ่ายน้ำมันออกแล้วไง”
“ก็ถ่ายออกแล้ว ชั้นยืนดูเขาถ่ายน้ำมันออกแล้ว”
“แล้วเธอไปทำที่ไหน”
“ก็เติมที่ปั๊มที่ชั้นเติมนั่นแหละ ชั้นขับรถวนกลับไป”
“แล้วน้ำมันที่เติมเข้าไปใหม่ล่ะ?”
“ก็น้ำมันของปั๊มเดิมนั่นแหละ”
“เธอเติมปั๊มเดิม มันก็กระตุกเหมือนเดิมน่ะซี”

ไม่รู้จะด่าใคร แต่วันนั้นสรุปคนโดนด่าเป็นผม เพราะผมลืมบอกเพื่อนว่า ต้องไปถ่ายน้ำมันที่อื่นที่ไม่ใช่ปั๊มเดิม ชีวิตของคนเล่นรถก็แบบนี้ล่ะครับ เวลาเราพลาดใส่คนอื่น โดนด่าเละ..

Pan Paitoonpong