เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “โรคลมชัก” (ตอน 1)




“โรคลมชัก” คือ อาการแสดงความผิดปกติของระบบประสาท ซึ่งเกิดจากการที่มีคลื่นไฟฟ้าสมองที่ผิดปกติ หรือคลื่นชัก ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้เอง โดยที่ไม่มีปัจจัยใดมากระตุ้น โดยคลื่นชักที่เกิดขึ้นเป็นพักๆ เกิดขึ้นซ้ำๆ และหายไปได้เอง โดยกลไกการทำงานของสมอง อาการแสดงความผิดปกติของระบบประสาทซึ่งเกิดจากการที่มีคลื่นไฟฟ้าสมองที่ผิดปกติดังกล่าว แม้จะเกิดเป็นพักๆ และหยุดได้เอง แต่โรคลมชักมีผลกระทบในการดำรงชีวิตประจำวันทั้งในแง่ร่างกาย จิตใจและสังคม ของผู้ป่วยโรคลมชัก

อาการแสดงของผู้ป่วยโรคลมชักขึ้นกับว่าคลื่นชักเกิดขึ้นที่ตำแหน่งใดของสมอง มีการแพร่กระจายไปยังส่วนใดของสมอง อาการแสดงที่เกิดขึ้นนั้น ขึ้นกับว่าเป็นส่วนใดของสมองที่ได้รับการกระตุ้น เช่น ถ้าคลื่นชัก มีการแพร่กระจายไปยังบริเวณที่ควบคุมการเคลื่อนไหว ผู้ป่วยจะมีอาการแขนขากระตุก ถ้าคลื่นชัก มีการแพร่กระจายไปยังบริเวณที่ควบคุมระดับความรู้สึกตัว ผู้ป่วยจะมีอาการสูญเสียความรู้สึกตัวไปชั่วขณะที่กำลังมีอาการชัก เป็นต้น ระยะเวลาของอาการชักขึ้นอยู่กับว่าคลื่นชักเริ่มและสิ้นสุดเมื่อใด โดยส่วนใหญ่ระยะเวลาของอาการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัวจะสามารถหยุดได้เองภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 นาที และอาการชักแบบเหม่อไม่ตอบสนอง จะสามารถหยุดได้เองภายในระยะเวลาไม่เกิน 10 นาที ด้วยกลไกการทำงานของสมอง ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีอาการชักไม่สามารถหยุดได้เองโดยกลไกการทำงานของสมองภายในระยะเวลาดังกล่าว เรียกว่าภาวะชักแบบต่อเนื่อง ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉิน จำเป็นต้องได้รับการรักษาและรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน

สาเหตุของโรคลมชัก

การหาสาเหตุของโรคลมชักขึ้นอยู่กับประวัติและข้อมูลอาการของผู้ป่วยแต่ละราย การประเมินผู้ป่วยทางคลินิก สาเหตุของโรคลมชักสามารถแบ่งได้เป็น 6 กลุ่ม ดังนี้ คือ

1. กลุ่มที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม
2. กลุ่มที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง ซึ่งเกิดจากการมีรอยโรค หรือบริเวณของสมองที่มีการทำงานผิดปกติ
3. กลุ่มที่เกิดจากความผิดปกติในเมตาบอริซึม ของสารเคมีในร่างกาย
4. กลุ่มที่เกิดจากความผิดปกติในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
5. กลุ่มที่เกิดจากโรคติดเชื้อ
6. กลุ่มที่ไม่ทราบสาเหตุ

กลไกในการเกิดโรคลมชักปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัด และขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ ปัจจัยในผู้ป่วยแต่ละราย หลักฐานทางวิทยาศาสตร์การแพทย์เชื่อว่าเกิดจากวงจรเครือข่ายของสมองที่ปล่อยกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติ (epileptic networks) มาเป็นพักๆ โดยการเกิดวงจรเครือข่ายของสมองที่ผิดปกติน่าจะเกิดจากสาเหตุของโรคลมชักดังที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ ร่วมกันกับปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่สนับสนุนในการเกิดโรคลมชักในผู้ป่วยแต่ละราย

ปัจจัยเสี่ยงของโรคลมชัก

ได้แก่ ภาวะการขาดออกซิเจนแรกคลอด อาการชักจากการมีไข้สูงในเด็ก ประวัติโรคลมชักในครอบครัว ประวัติการติดเชื้อของสมอง และประวัติการได้รับการบาดเจ็บที่ศีรษะแบบรุนแรง

การมีปัจจัยเสี่ยงของโรคลมชักอาจจะเพิ่มโอกาสเกิดโรคลมชักในผู้ป่วย แต่การที่มีปัจจัยเสี่ยงโรคลมชักไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยจะมีอาการแสดงของโรคลมชักในอนาคตเสมอไป

อาการแสดงขณะที่ผู้ป่วยกำลังมีอาการชัก มีอาการอะไรบ้าง?

การจำแนกลักษณะอาการแสดงของโรคลมชักสามารถแบ่งได้ตามจุดกำเนิดคลื่นไฟฟ้าที่ผิดปกติ ได้แก่

ลักษณะอาการชักที่มีจุดกำเนิดคลื่นไฟฟ้าเฉพาะที่ (focal onset seizure)

ลักษณะอาการชักที่มีจุดกำเนิดคลื่นไฟฟ้าทั่วสมองพร้อม ๆ กัน (generalized onset)

ลักษณะอาการชักที่ไม่ทราบจุดกำเนิดคลื่นไฟฟ้าสมอง (unknown onset)

อาการแสดงของอาการชักขึ้นอยู่กับว่าจุดกำเนิดคลื่นไฟฟ้าอยู่ในบริเวณใดของสมองและแพร่กระจายไปยังบริเวณใดของสมอง ดังนั้นอาการแสดงของอาการชักจะขึ้นกับว่าบริเวณของสมองที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นไฟฟ้าสมองที่ผิดปกติ ดังกล่าวมีหน้าที่ควบคุมการทำงานสิ่งใด 
หากแบ่งหน้าที่สำคัญต่าง ๆ ของสมองจะแบ่งได้ดังนี้ คือ

– การทำงานของสมองที่เกี่ยวกับสติ ความตระหนักรู้สึกตัว (consciousness)
– การทำงานของสมองระดับสูง (higher cortical function)
– การทำงานของสมองซึ่งความคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย (motor symptoms)
– การทำงานของสมองซึ่งความคุมเกี่ยวกับอวัยวะรับความรู้สึก (sensory symptoms)
– การทำงานของสมองซึ่งความคุมเกี่ยวกับระบบประสาทอัตโนมัติ (autonomic symptoms)

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าอาการแสดงของอาการชักสามารถที่จะมีอาการแสดงได้หลายรูปแบบ แต่โดยทั่วไปผู้ป่วยโรคลมชักแต่ละรายสามารถที่จะมีอาการแสดงของโรคลมชักได้มากกว่าหนึ่งแบบ แต่โดยทั่วไปมักจะไม่เกิน 3 แบบ

อาการแสดงของลักษณะอาการชักที่มีจุดกำเนิดคลื่นไฟฟ้าเฉพาะที่ (focal onset seizure) สามารถที่จะแยกแยะอาการแสดงออกได้เป็น 2 รูปแบบ คือ แบบที่ 1 ผู้ป่วยจะสูญเสียการรับรู้สิ่งรอบตัวไปชั่วขณะที่มีอาการชัก หรือแบบที่ 2 ผู้ป่วยมีการรับรู้สิ่งรอบตัวเป็นปกติในขณะที่มีอาการชัก

แบบที่ 1 ผู้ป่วยจะสูญเสียการรับรู้สิ่งรอบตัวไปชั่วขณะที่มีอาการชัก เช่น ผู้ป่วยจะสูญเสียการรับรู้สิ่งรอบตัวไปชั่วขณะที่มีอาการชักได้ เช่น ชักเหม่อ เรียกไม่รู้สึกตัวไปชั่วขณะ ซึ่งในบางครั้งผู้ป่วยโรคลมชักอาจจะไม่ทราบว่าตนเองมีอาการชัก บางครั้งผู้เห็นเหตุการณ์จะสามารถบอกได้ เช่น ผู้ป่วยมีอาการชักเหม่อ เรียกไม่ตอบสนองไปชั่วขณะ

แบบที่ 2 เช่น ผู้ป่วยมีอาการชักโดยที่มีการรับรู้สิ่งรอบตัวเป็นปกติได้เช่นกัน เช่น ผู้ป่วยมีแขนเกร็งกระตุกหนึ่งข้างเป็นพักๆ โดยที่มีระดับความรู้สึกตัวเป็นปกติ

อาการแสดงของลักษณะอาการชักที่มีจุดกำเนิดคลื่นไฟฟ้าทั่วสมองพร้อม ๆ กัน (generalized onset) มีอาการแสดงได้หลายลักษณะเช่นกัน เช่น ชักเหม่อ ชักเกร็งกระตุกทั้งตัว เป็นต้น

การจำแนกลักษณะอาการแสดงของโรคลมชัก สามารถแบ่งได้ตามจุดกำเนิดคลื่นไฟฟ้าที่ผิดปกติ ส่วนใหญ่จะสามารถพอที่จะบอกได้จากการซักประวัติและตรวจร่างกายโดยแพทย์ แต่มีผู้ป่วยโรคลมชักส่วนหนึ่งที่ข้อมูลจากการซักประวัติและตรวจร่างกายโดยแพทย์อาจจะไม่เพียงพอที่ได้ข้อสรุปถึงจุดกำเนิดคลื่นไฟฟ้าที่ผิดปกติ เนื่องจากในบางกรณีข้อมูลที่ได้จากการซักประวัติและตรวจร่างกายผู้ป่วยโรคลมชักนั้นได้ข้อมูลไม่เพียงพอ หรือ ผู้ป่วยไม่ทราบว่าตนเองกำลังชักอยู่ไม่สามารถจำเหตุการณ์ได้ทั้งหมดในขณะที่มีอาการชัก ดังนั้นการพิจารณาส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาจุดกำเนิดคลื่นไฟฟ้าที่ผิดปกติ อาจจะทำให้ได้ข้อมูลเพิ่มขึ้น ชนิดของการตรวจเพิ่มเติมขึ้นกับข้อมูลผู้ป่วยในแต่ละราย เช่น การทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง และการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง เป็นต้น

สัปดาห์หน้ายังมีเรื่องราวน่ารู้ของการวินิจฉัย อันตรายของโรคลมชัก และการรักษาโรคลมชัก รอติดตามกันนะครับ

______________________________________

แหล่งข้อมูล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิสิทธิ์ บุญเกิด สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

รูปภาพ
อาจารย์แพทย์หญิง วันนิษา วงษ์พิพัฒน์พงษ์ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล