เมื่อลูกต้องอยู่บ้านมากขึ้น นี่คือวิธีส่งเสริมพัฒนาการในเด็กยุควิกฤติโควิด-19




ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง เด็กๆ ส่วนใหญ่เปิดเทอมและเริ่มไปโรงเรียนกันแล้ว บ้างก็ยังคงเรียนออนไลน์ที่บ้าน ซึ่งแต่ละโรงเรียนมีการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องไปกับสถานการณ์ COVID-19 โดยบางโรงเรียนจัดให้เข้าเรียนที่โรงเรียนวันเว้นวัน บางโรงเรียน จัดให้เรียนสัปดาห์เว้นสัปดาห์ เป็นต้น ส่วนในวันที่หยุดอยู่บ้านก็อาจมีเรียนออนไลน์เสริม ดังนั้น ในช่วงนี้เด็กๆ จะมีเวลาอยู่ที่บ้านมากขึ้น พ่อแม่จึงควรรู้ถึงวิธีการดูแลเด็กๆ ในยุคนี้

เมื่อเด็กมีเวลาอยู่บ้านมากขึ้น พ่อแม่รับมือได้อย่างไรบ้าง

  • แน่นอนว่าคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ที่ดูแลเด็ก ต่างก็ต้องปรับตัวในสถานการณ์แบบนี้เช่นกัน ดังนั้นเมื่อเด็กๆ จะต้องอยู่ที่บ้านคุณพ่อคุณแม่ควรจัดสรรเวลาของตนเองให้ตรงตามตารางการเรียนและกิจกรรมของลูกๆ
  • เวลาที่เหลือนอกเหนือไปจากการเรียนออนไลน์ ควรวางแผนการทำกิจกรรมในแต่ละวัน อาจช่วยกันคิดกิจกรรมร่วมกับเด็กๆ โดยควรมีกิจกรรมที่หลากหลาย และมีการกำหนดตารางเวลาของแต่ละกิจกรรมอย่างชัดเจน
  • สำหรับตัวอย่างกิจกรรมที่ช่วยเสริมพัฒนาการเด็ก เช่น กิจกรรมศิลปะ วาดภาพ ระบายสี ปั้นดินน้ำมัน กิจกรรมอ่านหนังสือนิทาน กิจกรรมเกม ต่อจิ๊กซอว์ จับคู่รูปภาพ ลากเส้นต่อจุด บันไดงู กิจกรรมการเต้นเข้าจังหวะ ร้องเพลง เล่นดนตรี กิจกรรมการทำอาหารหรือขนม กิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวหรือออกกำลังกาย ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ เตะฟุตบอล เป็นต้น

  • นอกจากกิจกรรมต่างๆ แล้ว ควรฝึกให้เด็กๆ ได้ช่วยเหลือตนเอง ทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ด้วยตัวเอง เช่น รับประทานอาหาร อาบน้ำ แปรงฟัน แต่งตัว เป็นต้น นอกจากนั้นอาจมอบหมายงานบ้านง่ายๆ ให้ทำ เช่น พับผ้าห่ม เก็บที่นอนหลังจากตื่นนอน เอาผ้าไปใส่ถังซักผ้า ตากผ้า ล้างจาน รดน้ำต้นไม้ เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้สื่อผ่านจอต่างๆ ติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน ควรกำหนดระยะเวลาในการใช้สื่อผ่านจอให้ชัดเจน เช่น ใช้ได้ไม่เกินวันละ 1-2 ชั่วโมง เป็นต้น

ในช่วงเวลาที่เด็กๆ ได้มีเวลาอยู่บ้านนานๆ แบบนี้ คุณพ่อคุณแม่จะได้สัมผัสกับความซุกซน ความดื้อของเด็กๆ มากกว่าช่วงที่ไปโรงเรียน บวกกับความเครียดส่วนตัวของคุณพ่อคุณแม่เอง ซึ่งอาจทำให้เกิดความเครียดและปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัวได้มากขึ้น ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกของท่านมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น ซุกซนมากกว่าปกติ ไม่จดจ่อหรือไม่มีสมาธิ รอคอยไม่ได้ หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ควรพาเข้ามาพบแพทย์เพื่อปรึกษาเพิ่มเติม

บทความโดย : พญ.ณิชา ลิ้มตระกูล กุมารแพทย์ด้านพฤติกรรมและพัฒนาการ ศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลพญาไท 2