เปิดประวัติ กิเลน ประลองเชิง เรียนรู้วิชารู้จักมนุษย์ กับความภูมิใจในรางวัลศรีบูรพา 2565




“รางวัลศรีบูรพานั้นมีค่า และไม่ฝันว่าจะมีวันนี้ เพราะรู้ว่าตัวเองมีปมด้อยที่เรียนน้อย แต่เรียนน้อยก็เป็นกู” เป็นประโยคเปิดใจ และเล่าย้อนประวัติ ความเป็นมาบนเส้นทางชีวิตจาก “ประกิต หลิมสกุล หรือ กิเลน ประลองเชิง” คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ ชักธงรบ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เมื่อถูกถามถึงความรู้สึกกับรางวัลล่าสุด “รางวัลศรีบูรพา 2565

ด้วยหลักการทำงานในเส้นทางของความเป็นนักข่าว นักเขียน ที่ลุยในทุกสนามข่าวตั้งเริ่มต้นเส้นทางชีวิตสายสื่อสารมวลชนนี้ ตั้งแต่ตลาดสด จนถึงสนามสู้รบพื้นที่ขัดแย้ง สนามการเมือง และปัญหาของชาวบ้าน  กิเลน ประลองเชิง จะศึกษาทุกเรื่องอย่างจริงจัง คิดจะทำอะไร ก็ต้องเรียนรู้เรื่องนั้น ศึกษาและอ่านข้อมูลอย่างเต็มที่

ที่สำคัญต้องเรียนรู้ “วิชารู้จักมนุษย์” อธิบายความเพิ่มเติมคือ ไม่ว่าจะคุยกับคนที่อยู่ริมถนน หรือกับรัฐมนตรี ต้องมีความรู้สึกที่เท่าเทียมกัน ต้องเคารพมนุษย์อย่างเท่ากัน ไม่รู้สึกว่ามนุษย์แตกต่าง ต้องเห็นใจคนจน และช่วยคนเล็กคนน้อย และคนด้อยโอกาส

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในหลักคิดของ “ประกิต หลิมสกุล หรือ “กิเลน ประลองเชิง” ในวัย 77 ปี ในการทำงาน ที่หลายคนเป็นแฟนประจำ และติดตามอ่านคอลัมน์ของเขามานานกว่า 30 ปี จนปัจจุบันประจำการที่คอลัมน์ ชักธงรบ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มาตั้งแต่ปี 2542

การเปิดเผยความรู้สึกถึงความภาคภูมิใจ ของกิเลน ประลองเชิง เป็นผลจากเนื่องในวันสำคัญวันนี้ ที่กองทุนศรีบูรพาร่วมกับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมวันครบรอบชาตกาล 117 ปี ศรีบูรพา หรือนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้ประกาศมอบรางวัลศรีบูรพาประจำปี 2565 ให้แก่ นายประกิต หลิมสกุล หรือ กิเลน ประลองเชิง คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ ชักธงรบ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ โดยระบุถึงคุณสมบัติข้อหนึ่งว่านายประกิตได้ทำงานต่อเนื่องในการเป็นคิดนักเขียนและมีผลงานยาวนานกว่า 30 ปี

สำหรับประวัติที่นายประกิตได้มอบให้เผยแพร่ในเฟซบุ๊ก มูลนิธิศรีบูรพา ระบุรายละเอียดว่า เกิดวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488 ที่บ้านริมคลองบางเรือหัก ตำบลท้ายหาด หมู่ที่ 7 อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นลูกชายคนเดียว ลำดับคนที่ห้า แม่มีประสบการณ์คลอดมากพอ คลอดลูกแล้ว แม่สั่ง “เจ๊ฮง” ลูกสาวหัวปี เอาธงชาติไปปักหน้าบ้าน แม่ตั้งชื่อ ประกิต นามสกุล หลิมสกุล ตามเตี่ยที่เป็นผู้ใหญ่บ้าน

การศึกษาเรียนชั้น ป.เตรียม โรงเรียนนิพัทธหริณสูตร (วัดประทุมคณาวาส) จบ ป.4 ต่อ ม.1 โรงเรียนศรัทธาสมุทร ปลายปี ม.2 ลาออกไปบวชเณรที่วัดเขาย้อย เพชรบุรี หลวงน้าช่วยสมภาร ส่งไปอยู่วัดดาวดึงษ์ บางยี่ขัน ธนบุรี เรียนบาลีตอนบ่าย เรียนนักธรรมตรีตอนหัวค่ำที่วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์

ปี 2502-2503 ย้ายไปวัดบ้านแหลม สมุทรสงคราม เรียนบาลีต่อ แต่ไม่จบ
ปี 2505 สอบนักธรรมเอกได้ สนามสอบเดียวกับเณรโรจน์ งามแม้น (เปลว สีเงิน) ศิษย์หลวงพี่ปลัดเลียด วัดบางจะเกร็ง
ปี 2507 สึกจากเณร เป็นลูกเรืออวนลาก ทั้งในทะเลอ่าวไทย ทั้งทะเลอันดามัน ขึ้นชั้นเป็นนายท้าย แต่งกลอน ลง “กวีศรีสยาม” นิตยสารศรีสยาม ได้สี่ห้าชิ้น กลอนบทหนึ่ง “นาฏกรรมในเกลียวคลื่น” (ราวปี 2511) ที่ว่า
“ความเป็นชายสอนให้ไม่เลือกว่า
ทะเลบ้าฟ้าครางหรือกลางฝน
เราเคยกลัวความตายกลางสายชล
เหมือนกลัวตนเปลี่ยวเหงาก็เปล่าเลย”

กลอนบทนี้ อีกห้าสิบปีต่อมา ท่านอดุล จันทรศักดิ์ ศิลปินแห่งชาติ อ่านแล้วจำ ท่องให้ฟังต่อหน้า ปลื้มเสียยิ่งกว่าที่เคยได้รับรางวัลใดๆ ในชีวิตตัวเอง

ปี 2509-2511 นายประกิตได้เป็นนายท้ายเรืออวนลาก เป็นทหารเกณฑ์  ตำแหน่งกะลาสีเรือจันทร (จัน-ทะ-ระ)

ปี 2513 ในวัยเบญจเพส หลับในถือท้ายเรืออวนชนโป๊ะปลาทูพัง ต้องขายพระสมเด็จในคอจ่ายค่าเสียหาย แล้วหนีชีวิตนายท้ายเรืออวน พเนจรไปอยู่กับญาติที่ยะลา เรียนโรงเรียนผู้ใหญ่ได้ระดับ 4 และเริ่มงานนักข่าวภูธรในเดือนธันวาคม 2513 ได้ส่งข่าวโจรใต้มอบตัวทางการให้หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

2518 ประจำการ เป็นนักข่าวเดลินิวส์ กลางปีถ่ายภาพ ได้รางวัลข่าวภาพยอดเยี่ยม สมาคมนักข่าวฯ ถูกมอบให้ทำงานข่าวเฉพาะกิจ ทำข่าวทั่วประเทศ เขียนคอลัมน์จิปาถะ

ปี 2522 ย้ายจากเดลินิวส์ มาอยู่ไทยรัฐ รุ่นเดียวกับ โรจน์ งามแม้น ชัย ราชวัตร

ปี 2531 เติมการศึกษา จบปริญญาตรีนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เขียนคอลัมน์ กลืนไม่เข้าคายไม่ออก (แทนคอลัมน์ ไว ตาทิพย์ กระพริบที่นี่)

ปี 2534 ได้รางวัล ม.ร.ว.อายุมงคล โสณกุล

ปี 2535 เขียนสังคมหน้า 4 นามปากกา “เหยี่ยวพญา” และเป็นเลขาฯ หัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ นายสราวุธ วัชรพล

จากนั้นหลังเหตุหัวหน้าข่าวภูมิภาคไทยรัฐ (วิทูรย์ กวยะปาณิก) ถูกยิงตาย ได้ลาออกไปเร่ร่อนอยู่ นสพ. หลายฉบับ ตั้งแต่ผู้จัดการ สยามโพสต์ แนวหน้า สยามรัฐ ไทยไฟแนนเชียล แล้วก็หมดฤทธิ์เดช กลับไทยรัฐสังกัดเดิม

ปี 2542 เป็นหัวหน้า “สกู๊ปข่าวหน้า1” และ กิเลน ประลองเชิง ก็ถูกส่งมารับงานคอลัมน์ ชักธงรบ จนถึงวันนี้ ก็ยังชักธงรบ อยู่ทุกวัน

หากย้อนไปที่มาของการได้เขียนคอลัมน์ ชักธงรบนั้น นายประกิตเล่าว่า เมื่อได้รับมอบหมายจากนายสราวุธให้เขียนคอลัมน์แทนนักหนังสือพิมพ์ผู้ล่วงลับ “โกวิท สีตลายัน” เจ้าของนามปากกา มังกรห้าเล็บ ในคอลัมน์ “ลั่นกลองรบ” ที่โด่งดัง นายประกิตจึงมองหานามปากกาที่เหมาะสม โดยเฉพาะการใช้ชื่อที่ถือเป็นรุ่นน้องของมังกรได้อย่างลงตัว มาจากการค้นหาข้อมูลอยู่นาน 3 เดือน ที่บังเอิญได้อ่านชุดคำอธิบายเรือพระที่นั่งในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในอดีต พบว่ามีหมู่เรือตำรวจหลวง ที่มีกลุ่มเรือคู่ คือเสือทะยานชล เสือคำรณสินธุ์ และคู่ กิเลน ประลองเชิง กิเลน ระเริงชล

ความบังเอิญ ที่เหมือนเป็นโชคชะตา คือหากย้อนไปเมื่อปี 2511 เมื่อครั้งที่ นายประกิต เป็นทหารเรือ (ทหารเกณฑ์) ในปี 2509-2511 ก็ได้เคยเป็นฝีพาย เรือดั้งในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในพระราชพิธีทอดกฐินวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหารอีกด้วย 

ส่วนที่มาของชื่อคอลัมน์ ชักธงรบ ก็มาจากคำแนะนำของนายสราวุธเช่นกัน ที่เห็นว่ามีชื่อนี้ที่เก็บไว้ ซึ่งได้มาจาก มังกรห้าเล็บ เจ้าของคอลัมน์ ลั่นกลองรบ ได้ตั้งชื่อนี้ไว้ก่อนหน้านี้

ด้านชีวิตส่วนตัว ปี 2519 แต่งงานกับ อุบล ตั้นพันธุ์ นักสังคมสงเคราะห์บ้านทักษิณ ยะลา ซึ่งเกษียณอายุราชการ ตำแหน่งรองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ