“เบาหวานขึ้นจอประสาทตา” ภาวะที่ผู้ป่วยเบาหวานควรระวัง




“ภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา” เป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคเบาหวาน ซึ่งมีผลต่อการมองเห็นในผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ทำให้เกิดภาวะสายตาเลือนรางจนถึงตาบอดได้

สาเหตุเกิดจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของผนังหลอดเลือด มีการลดลงของเซลล์รอบๆ หลอดเลือดฝอย และเซลล์เนื้อเยื่อเอ็นโดทีเลียม ทำให้เกิดการโป่งพองของหลอดเลือดขนาดเล็ก หลอดเลือดขาดความยืดหยุ่นจนเปราะแตกง่าย เกิดภาวะเลือดออกในน้ำวุ้นตา และเกิดหลอดเลือดงอกใหม่ผิดปกติบริเวณผิวของจอประสาทตา ส่งผลให้จอประสาทตาลอก

ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดเบาหวานขึ้นจอประสาทตา คือ ระยะเวลาที่เป็นเบาหวาน ซึ่งพบว่า ยิ่งเป็นเบาหวานระยะเวลานาน จะมีโอกาสเป็นเบาหวานขึ้นจอประสาทตามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่ไม่สามารถคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติได้ การมีโรคความดันโลหิตสูงร่วมด้วยจะเป็นตัวส่งเสริมให้เกิดภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตามากขึ้น การตั้งครรภ์จะกระตุ้นให้เกิดภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาได้ในกลุ่มที่เป็นเบาหวานก่อนการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ ภาวะโรคอ้วน และภาวะไขมันในเลือดสูง ก็เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาได้เช่นกัน

ความผิดปกติของจอประสาทตาที่เกิดจากการเป็นเบาหวานที่พบ ได้แก่ ภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา (diabetic retinopathy: DR) และภาวะศูนย์กลางจอประสาทตาบวม (diabetic macular edema: DME)

ภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา (diabetic retinopathy: DR) เป็นความผิดปกติที่พบได้บ่อยที่สุด สามารถแบ่งระดับความรุนแรงได้หลายระดับ ดังนี้

1. No apparent retinopathy ระดับนี้จะยังตรวจไม่พบความผิดปกติของจอประสาทตาที่มีสาเหตุจากโรคเบาหวาน

2. Mild non proliferative diabetic retinopathy (NPDR) จะตรวจพบว่ามีภาวะหลอดเลือดโป่งพองขนาดเล็ก

3. Moderate non proliferative diabetic retinopathy จะพบลักษณะของหลอดเลือดโป่งพองขนาดเล็ก ร่วมกับมีเลือดออกที่ชั้นจอประสาทตา หรือสารคัดหลั่งเกิดขึ้นที่ชั้นจอประสาทตา หรือมีจุดสีขาวอยู่ในชั้นตื้นของจอประสาทตา อย่างใดอย่างหนึ่ง

4. Severe non proliferative diabetic retinopathy ในระยะนี้จะแบ่งจอประสาทตาเป็น 4 ส่วน โดยลากเส้นแนวนอนและแนวตั้งตัดกันผ่านศูนย์กลางจอประสาทตา ในระยะนี้จะพบว่ามีเลือดออกในชั้นจอประสาทตามากกว่า 20 จุด หรือพบการโป่งพองของหลอดเลือดเป็นจุดเรียงกันเป็นเส้น หรือมีความผิดปกติของหลอดเลือดขนาดเล็กในจอประสาทตา

5. Proliferative diabetic retinopathy (PDR) ในระยะนี้จะพบว่ามีหลอดเลือดงอกใหม่ผิดปกติ มีเลือดออกหน้าจอประสาทตา หรือในน้ำวุ้นตา มีเนื้อเยื่อพังผืด ซึ่งต่อมาจะพบว่ามีทั้งเลือดออกและเกิดจอประสาทตาลอก

ภาวะศูนย์กลางจอประสาทตาบวม (Diabetic macular edema: DME)

เป็นภาวะความผิดปกติที่เกิดบริเวณศูนย์กลางจอประสาทตา ซึ่งเป็นจุดรวมแสงทำให้สามารถรับภาพชัดที่สุด บางครั้งเรียกว่าจุดรับภาพชัด ซึ่งจะมีเพียงจุดเดียวเท่านั้น หากเกิดความผิดปกติที่บริเวณนี้ จะทำให้การมองเห็นที่จุดรับภาพชัดเสียไป ไม่สามารถโฟกัสภาพได้ จะเห็นเพียงแค่ลานสายตาเท่านั้น หากจอประสาทตาบริเวณอื่นยังปกติอยู่

ภาวะศูนย์กลางจอประสาทตาบวม แบ่งออกเป็น 2 ระดับ ดังนี้

1. Non apparent DME ในระยะนี้จะตรวจไม่พบการหนาตัวของจอประสาทตา หรือศูนย์กลางจอประสาทตา

2. Diabetic macular edema: DME อาจจะพบร่วมกับ NPDR หรือ PDR เกิดจากการยอมให้ของเหลวซึมผ่านของหลอดเลือดฝอยจอประสาทตาเพิ่มขึ้นจนเกิดการรั่วซึมของสารน้ำและโปรตีนออกมาในชั้นจอประสาทตา ทำให้เกิดการหนาตัวและบวมขึ้นของจอประสาทตาจนถึงศูนย์กลางจอประสาทตา

อาการ

ผู้ป่วยจะมีอาการตามัวบริเวณลานสายตาด้านตรงข้ามกับตำแหน่งที่มีพยาธิสภาพ แต่ถ้าพยาธิสภาพเกิดที่บริเวณศูนย์กลางจอประสาทตาจะมีอาการตามัวในจุดที่มอง หรือจุดที่โฟกัส

การรักษา มีด้วยกันหลายวิธี ดังนี้

1. ให้คำแนะนำเรื่องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เพราะหากสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี ก็จะไม่ทำให้เกิดภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา

2. ควรตรวจจอประสาทหลังจากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 แล้ว 5 ปี และตรวจจอประสาทตาทันทีที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน ชนิดที่ 2

3. กรณีที่เป็น severe NPDR จะต้องยิงเลเซอร์จอประสาทตา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพของโรค

4. ฉีดยา anti-VEGF กรณีที่เป็น DME เพื่อรักษาอาการบวมของจอประสาทตา หรืออาจใช้ยาสเตียรอยด์ฉีดรักษาอาการบวมได้

________________________________________

แหล่งข้อมูล

ผศ.ดร.องุ่น น้อยอุดม สาขาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล