เช็กอาการไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A แนะ 7 กลุ่มเสี่ยงควรฉีดวัคซีนป้องกัน




ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคไข้หวัดใหญ่ ที่มีอาการเบื้องต้นคือ มีไข้ เจ็บคอ มีน้ำมูก แม้ดูเหมือนอาการไม่หนัก แต่ก็ต้องให้ความสนใจตอนนี้ เพราะไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A กลับมาระบาดอีกครั้งในเมืองไทย หากรู้วิธีป้องกันก็จะลดโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อได้ และถ้าฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ที่รวมสายพันธ์ุ A ช่วงนี้ ก็จะลดอาการเจ็บป่วยได้

อาการไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A

ก่อนอื่นมารู้จักอาการไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A กันก่อน ผู้ที่ได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A จะแสดงอาการหลังรับเชื้อ 1-3 วัน บางรายอาจนาน 7 วัน โดยมีอาการ เช่น มีไข้สูง 38 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ไอ เจ็บคอ บางรายรู้สึกเบื่ออาหาร มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ส่วนใหญ่หาหมอกินยา ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล พักผ่อนก็หาย แต่บางรายต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล เพราะมีอาการเหนื่อย หอบ และถึงขั้นปอดอักเสบรุนแรง หายใจลำบาก จนอาจเสียชีวิตได้

การป้องกันติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A

สาเหตุที่ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A แพร่ระบาดจากคนสู่คนได้ง่าย เพราะเชื้ออยู่ในน้ำลาย น้ำมูก เสมหะ เมื่อไอ หรือจาม อยู่ใกล้กันจึงติดเชื้อกันได้ และหากมือของเราสัมผัสพื้นผิวที่มีเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ปนเปื้อนอยู่ แล้วใช้นิ้วแคะจมูก ขยี้ตา เชื้อก็เข้าสู่ร่างกายได้โดยง่าย

ดังนั้นวิธีป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ที่ง่ายที่สุด ไม่ต่างจากการป้องกันเชื้อไวรัสหวัดอื่น และโควิด-19 คือ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ ไม่สัมผัสจมูก ตา หลีกเลี่ยงไปในสถานที่แออัด สำหรับระยะเวลาในการแพร่เชื้อ เกิดได้ตั้งแต่ 1 วันก่อนมีอาการ จากนั้นสามารถแพร่ต่อได้อีก 3-5 วัน หลังมีอาการ


เตือน 7 กลุ่มเสี่ยงควรไปฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

นอกจากป้องกันตนเองแล้ว ยังมีคำแนะนำให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งรวมทั้งไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ตามคำแนะนำของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้แก่

  1. หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
  2. เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปีทุกคน (2 ปี 11 เดือน 29 วัน)
  3. ผู้มีโรคเรื้อรัง ดังนี้ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน
  4. บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
  5. โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ)
  6. โรคอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือ BMI มากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร)
  7. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้

อย่างไรก็ตามข้อห้ามในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ได้แก่

  1. ผู้มีประวัติแพ้ไข่ไก่อย่างรุนแรง
  2. เคยแพ้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่รุนแรง หรือแพ้สารประกอบอื่นๆ ในวัคซีนอย่างรุนแรง
  3. กำลังมีไข้หรือกำลังเจ็บป่วยเฉียบพลัน
  4. เพิ่งหายจากการเจ็บป่วยเฉียบพลันมาไม่เกิน 7 วัน
  5. เพิ่งนอนรักษาตัวและออกจากโรงพยาบาลไม่เกิน 14 วัน
  6. มีโรคประจำตัวเรื้อรังที่มีอาการกำเริบ เช่น เจ็บแน่นหน้าอก ใจสั่น หอบเหนื่อย หรือยังควบคุมอาการของโรคไม่ได้
  7. หากกำลังตั้งครรภ์ มีภาวะครรภ์เสี่ยงสูง หรือเคยมีภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์

อ้างอิงข้อมูล : กรมควบคุมโรค และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ