เช็กอาการติดโควิด-19 หนักแค่ไหนมีสิทธิเข้าโรงพยาบาล




เมื่อติดโควิด-19 มีเงื่อนไขต้องรอเช็กอาการว่าหนักแค่ไหนถึงจะมีสิทธิเข้าโรงพยาบาล กลายเป็นคำถามที่หลายคนสงสัยมากขึ้น เพราะยอดผู้ป่วยติดโควิด-19 เริ่มกลับมาทะลุหลักหมื่นคนตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา และยังไม่มีทีท่าว่าจะกลับไปน้อยกว่าหลักหมื่น แล้วในยุคของโอมิครอนระบาดเร็ว แต่ไม่รุนแรง กลุ่มไหนเสี่ยงที่จะติดโควิดบ้าง และเมื่อรู้ว่าเสี่ยงต้องปฏิบัติอย่างไร

ข้อแรกที่ต้องรู้ก่อนคือ เราเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงของผู้ติดเชื้อโควิดหรือไม่ และควรปฏิบัติตัวอย่างไร

กรมควบคุมโรคอธิบายถึง ผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงล่าสุด คือผู้ที่ไม่สวมหน้ากากอนามัย หรือไม่ได้ใส่ชุดพีพีอี ตามมาตรฐานตลอดช่วงเวลาที่สัมผัส และใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อที่เข้าข่าย หรือยืนยันในวันเริ่มป่วย หรือภายใน 3 วันก่อนมีอาการ

หรือผู้ที่อยู่ใกล้ หรือพูดคุยกับผู้ติดเชื้อ ที่เข้าข่าย หรือยืนยัน ในระยะ 2 เมตร นานกว่า 5 นาที หรือถูกไอ จาม รดจากผู้ป่วย

หรืออยู่ในสถานที่ปิด ไม่มีอากาศถ่ายเทมากนัก กับผู้ป่วยนานกว่า 30 นาที

5 ข้อปฏิบัติตัวเมื่อรู้ว่าอยู่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด หรือเข้าข่ายเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงของผู้ติดเชื้อโควิด มีดังนี้

  • กักตัวที่บ้าน 7 วัน ตรวจสอบอาการป่วยทุกวัน
  • ตรวจ ATK ครั้งที่ 1 ในวันที่ 5-6 หลังเจอผู้ติดเชื้อครั้งสุดท้าย
  • หากตรวจ ATK แล้วติดเชื้อ ให้ลงทะเบียน โทร 1330 สปสช.เพื่อรับการดูแลกักตัวที่บ้าน
  • จากนั้นสังเกตอาการตนเองอีก 3 วัน ระหว่างนี้ออกจากบ้านได้ถ้าจำเป็น ป้องกันตนเองแบบเต็มที่ ไม่ไปที่สาธารณะ เลี่ยงใช้ระบบขนส่งสาธารณะที่หนาแน่น
  • ตรวจ ATK ครั้งที่ 2 ในวันที่ 10 หลังเจอผู้ติดเชื้อครั้งสุดท้าย

อาการติดโควิด-19 หนักแค่ไหนมีสิทธิเข้าโรงพยาบาลรักษา

สำหรับเกณฑ์ที่รัฐจะพิจารณาว่า ติดโควิดแล้วอาการหนักแค่ไหนถึงจะส่งต่อเข้าโรงพยาบาล ยังคงยึดตามข้อมูลจากกรมการแพทย์ที่เคยระบุไว้ว่า กรณีผู้ติดโควิดอยู่ระหว่างการกักตัว และดูอาการที่บ้าน (Home Isolation หรือ HI) หรือ อยู่ในพื้นที่ที่ชุมชนจัดให้ (Community Isolation หรือ CI) หากมีอาการเหล่านี้ ให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ในการส่งต่อผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาล ดังนี้

  • เมื่อมีอาการไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ในระยะเวลานานกว่า 24 ชั่วโมง
  • ค่าออกซิเจน (Oxygen saturation) ต่ำกว่า 94% หายใจมากกว่า 25 ครั้งต่อนาทีในผู้ใหญ่ หรือหากหายใจมากกว่า 20 ครั้งต่อนาที ควรติดต่อแพทย์ที่ดูแลในระบบ HI และ CI
  • กลุ่มผู้ป่วย 608 คือผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยง หรือจำเป็นต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด รวมทั้งกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่มีอาการเปลี่ยนแปลง
  • สำหรับผู้ป่วยเด็ก ที่มีอาการไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส หรือ ค่าออกซิเจน (ต่ำกว่า 94% หรือมีอาการหายใจลำบาก หายใจเร็วเกินเกณฑ์อายุ) ซึมลง ดื่มนม หรือทานอาหารน้อยลง