เจาะ MIG-29 ทอ. พม่า บินโจมตีกองกำลังชนกลุ่มน้อยล้ำข้ามพรมแดนไทย




การบินโจมตีกองกำลังกะเหรี่ยงของกองทัพพม่า ด้วยเครื่องบินรบความเร็วเหนือเสียงรุ่น Mig-29 จนรุกล้ำข้ามพรมแดนของไทย สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนคนไทยที่อยู่ใกล้กับจุดปะทะ เครื่องบินรบ Mig-29 ที่บินตีวงล้ำเข้ามาในเขตแดนไทย เพื่อวกกลับไปโจมตีที่มั่นของชนกลุ่มน้อยเกิดขึ้นหลายระลอก และทุกรอบก็บินล้ำแนวเขตแดนเข้ามาลึกถึง 4-5 กิโลเมตร ถือเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยจะเกิดขึ้น เนื่องจากในอดีตกองทัพพม่ามักจะระดมโจมตีด้วยปืนใหญ่หรืออาวุธยิงระยะปานกลางอย่างปืนครก หรือปืนไร้แรงสะท้อนมากกว่าจะเอาเครื่องบินรบสมรรถนะสูงมาบินถล่มด้วยจรวดอากาศสู่พื้นแบบนี้  

Mikoyan MiG-29 ของ ทอ. พม่า ถูกบรรจุเข้าประจำการในกองทัพอากาศมากถึง 26 เครื่อง เมื่อปี พ.ศ. 2531 (อังกฤษ: MiG-29; รัสเซีย: МиГ-29) Mikoyan MiG-29 เป็นเครื่องบินขับไล่รุ่นที่สี่ ออกแบบโดยอดีตสหภาพโซเวียต สำหรับครองความเป็นเจ้าอากาศ Mig-29 ถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2513 โดยบริษัทผลิตอากาศยาน Mikoyan เข้าประจำการในกองทัพอากาศของอดีตสหภาพโซเวียตเมื่อปี พ.ศ. 2526 และยังคงถูกใช้โดยกองทัพอากาศรัสเซียเช่นเดียวกันกับอีกหลาย ๆ ประเทศจนถึงทุกวันนี้ กองกำลังนาโต้ เรียกเครื่อง Mig-29 ว่าฟัลครัม (Fulcrum) นับเป็นเครื่องบินขับไล่ในช่วงสงครามเย็น ซึ่งเกิดกรณีขัดแย้งกันระหว่างฝั่งตะวันตกกับอดีตสหภาพโซเวียตบ่อยครั้ง จากแนวคิดในการพัฒนาเครื่องบินขับไล่สกัดกั้น เพื่อต่อกรกับเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่ของสหรัฐฯ (ในขณะนั้น) ที่มีประจำการอยู่ในกองทัพอากาศไทย นั่นก็คือ F-16 fighting falcon รวมถึง F/A-18  hornet  (ทอ.ไทย ไม่มีเครื่อง F/A-18 ประจำการ) Mig-29 เป็นเครื่องบินขับไล่โจมตีที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ มีเครื่องยนต์ถึงสองเครื่อง เพื่อเพิ่มสปีดความเร็วและความเสถียรขณะบินปฏิบัติการ ทำความเร็วสูงสุด 2 มัค หรือประมาณ 2,400 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีเพดานบินสูงสุด 60,000 ฟุต รัศมีปฏิบัติการ ไกล 800 กิโลเมตร รองรับการติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลางแบบ R27 (AA-10) ขีปนาวุธพิสัยใกล้แบบ R73 (AA-11) ปืนใหญ่อากาศจีเอสเอช-30-1 รวมถึงจรวด และระเบิด Mig-29 บางรุ่นยังถูกดัดแปลงให้สามารถบรรทุกระเบิดนิวเคลียร์ได้อีกด้วย

ระบบอากาศพลศาสตร์ที่คล้ายคลึงกับ Su-27 แต่มีข้อแตกต่างที่โดดเด่นกว่าด้านแอโรไดนามิก โครงสร้างส่วนใหญ่ทำมาจากอะลูมิเนียมและวัสดุผสม ปีกแบบลู่ที่กลืนเข้ากับปีกเสริมที่ส่วนหน้า ทำมุม 40 องศา ส่วนหางที่ลู่ไปทางด้านหลังและหางคู่ติดตั้งอยู่ที่ส่วนท้ายของเครื่องยนต์ แพนปีกส่วนหน้าสี่ส่วนและปรับเป็นแบบห้าส่วนในรุ่นต่อๆ มา เป็นเครื่องบินขับไล่เครื่องยนต์ไอพ่นแบบแรกของรัสเซียที่สามารถทำกระบวนท่าที่เรียกว่าปูกาเชฟส์คอบราได้

Mig-29 มีการควบคุมด้วยไฮดรอลิกและระบบนักบินอัตโนมัติ SAU-451 แต่ไม่เหมือนกับ Su-27 ตรงที่ไม่มีระบบฟลาย-บาย-ไวร์ ซึ่งมีอยู่ในเครื่อง F-16 ของ ทอ. ไทย แต่มีความว่องไวและการหักเลี้ยวที่คล่องตัว สามารถทำมุมปะทะได้ในระดับอัลฟา และมีการต้านทานการหมุน โครงสร้างรับแรงได้ถึง 9 จี ระบบควบคุมการบิน มีการจำกัดเพื่อป้องกันไม่ให้นักบินทำท่าทางการบินที่มีแรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลางมากเกินกว่า 9 จี แต่ก็สามารถปลดระบบนี้ออกได้ ในการฝึกของกองทัพอากาศสหรัฐร่วมกับกองทัพอากาศเยอรมนี Mig-29 ของฝ่ายเยอรมนีได้เอาชนะ F-16 ในการต่อสู้ระยะใกล้แทบจะทุกครั้ง ด้วยการใช้เซนเซอร์ IRST และหมวกบินแสดงภาพ พร้อมกับขีปนาวุธวิมเปล อาร์-73

เครื่องยนต์คลิมอฟ อาร์ดี-33 ขนาดใหญ่สองเครื่องยนต์ ให้อัตราแรงขับ 11,240 ปอนด์ และ 18,277 ปอนด์เมื่อใช้สันดาปท้าย พื้นที่ระหว่างเครื่องยนต์มีไว้เพื่อลดน้ำหนักที่ปีก เพื่อเพิ่มความคล่องตัว เครื่องยนต์มีช่องรับลมทรงลิ่มที่อยู่ใต้ปีกเสริม ซึ่งมีส่วนลาดเอียงที่ปรับระดับได้ เพื่อทำความเร็วเหนือเสียง เมื่อมีการนำมาใช้กับสนามบินที่ขรุขระ ช่องรับลมหลักจะถูกปิดสนิทและใช้ช่องรับลมสำรองที่ด้านบนของลำตัวแทนสำหรับการวิ่งขึ้น ลงจอด หรือบินในระดับต่ำ เพื่อป้องกันไม่ให้มีเศษฝุ่นหลุดรอดเข้าไปในเครื่องยนต์จนเกิดความเสียหาย ดังนั้นเครื่องยนต์จึงถูกออกแบบให้รับอากาศผ่านช่องบานเกล็ดบนปีกเสริม ซึ่งจะเปิดโดยอัตโนมัติเมื่อช่องรับลมหลักถูกปิด อย่างไรก็ตาม Mig รุ่นล่าสุด นั่นก็คือ Mig-35 ได้นำส่วนบานเกล็ดรับอากาศนี้ออกไป และใช้ช่องรับลมที่มีตะแกรงแทน ซึ่งคล้ายคลึงกับของ Su-27 แม้เครื่องยนต์จะให้กำลังสูงมากพอที่จะทำให้เครื่องบินสามารถไต่ระดับได้เหนือกว่าเครื่องบินของอเมริกา แต่อายุการใช้งานของเครื่องสั้นมาก ต้องทำการตรวจเช็กทุกๆ 350 ชั่วโมงบินเป็นอย่างน้อย

พิสัยและระบบเชื้อเพลิง
ความจุเชื้อเพลิงภายในของ Mig-29 B นั้นมีเพียง 4,365 ลิตร โดยแบ่งเป็นหกส่วนในถังเชื้อเพลิง สี่ส่วนในลำตัว และหนึ่งส่วนในปีกแต่ละข้าง ผลที่ได้คือเครื่องบินมีพิสัยที่จำกัดมาก เมื่อเทียบกับเครื่องบินขับไล่สกัดกั้นของโซเวียตแบบดั้งเดิม เพื่อให้ทำการบินได้นานมากขึ้น Mig-29 เพิ่มถังเชื้อเพลิงกลางที่ปลดได้ ขนาด 1,500 ลิตร และถังเชื้อเพลิงข้างที่ปลดได้ ขนาด 1,150 ลิตร สองถัง โดยติดตั้งไว้ใต้ปีก นอกจากนี้ยังมีบางรุ่นที่สามารถติดตั้งระบบเติมเชื้อเพลิงทางอากาศ 

ห้องนักบิน
ห้องนักบินมีจุดเด่นคือคันบังคับตรงกลางและคันเร่งที่ด้านข้าง นักบินจะนั่งอยู่ในเก้าอี้ดีดตัวแบบ ซเวซดา เค-36 ดีเอ็ม ซึ่งมีการทำงานที่ดีมากขณะเกิดเหตุฉุกเฉิน ห้องนักบินมีหน้าปัดเครื่องวัดต่างๆ พร้อมกับหน้าจอ  HUD  หรือ เฮด-อัพ ดิสเพลย์ (head up display) และหน้าจอติดหมวกแบบ ชเชล-2 ยูเอ็ม โดยเน้นไปที่การทำให้ห้องนักบินของ Mig-29 เหมือนกับ Mig-23 และเครื่องบินรบรุ่นอื่น ๆ ของโซเวียต เพื่อความสะดวกในการเปลี่ยนแปลงอะไหล่ชิ้นส่วนมากกว่าความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ ถึงกระนั้น Mig-29 มีทัศนวิสัยมุมมองที่ดีกว่าเครื่องบินขับไล่แบบอื่น ๆ ของรัสเซีย เพราะฝาครอบทรงโค้งที่อยู่ในตำแหน่งสูง ทำให้มองเห็นได้เกือบจะรอบทิศทาง

อาวุธของ Mig-29 ติดตั้งปืนใหญ่อากาศ GSH G-30-1 ขนาด 30 ม.ม.หนึ่งกระบอกที่โคนปีก เดิมใช้แมกกาซีน 150 นัด ต่อมา มีการปรับลดเหลือ 100 นัด Mig-29 B แบบเดิมนั้นไม่สามารถทำการยิงปืนใหญ่อากาศได้ เมื่อต้องติดตั้งถังเชื้อเพลิงตรงกลาง เพราะไปบังช่องดีดปลอกกระสุน ต่อมาได้มีการแก้ไขใน Mig-29 S และรุ่นต่อ ๆ มา มีจุดติดตั้งสามจุดใต้ปีกแต่ละข้าง (บางแบบก็สี่จุด) จุดติดตั้งภายใน สามารถติดตั้งถังเชื้อเพลิงขนาด 1,150 ลิตร ขีปนาวุธอากาศสู่อากาศพิสัยกลางวิมเปล อาร์-27 หนึ่งลูก ระเบิดหรือจรวด สามารถบรรทุกระเบิดนิวเคลียร์ไว้ภายในได้ จุดติดตั้งภายนอกมักติดตั้งขีปนาวุธวิมเปล อาร์-73 แม้ว่าบางครั้งจะมีการใช้จรวดมอลนิยา อาร์-60 ที่เก่ากว่า  Mig-29 รุ่นที่ได้รับการพัฒนา สามารถใช้ระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์ เช่นเดียวกับขีปนาวุธอากาศสู่พื้น

ล่าสุด ทางการของพม่า ได้ออกมาขอโทษจากกรณีที่เครื่องบินรบได้บินรุกล้ำน่านฟ้าและแนวเขตแดนของไทย ตามด้วยเสียงก่นด่าของคนที่เกลียดกองทัพ ซึ่งพากันคิดไปเองว่า ทหารไม่ยอมทำอะไร หรือทำช้าเกินไป กรณีดังกล่าว เป็นเหตุกระทบกระทั่งของเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกัน เหมือนข้างบ้านทะเลาะกัน ขว้างปาสิ่งของจนมาหล่นใส่บ้านเรา จะให้เดินออกไปท้าตีท้าต่อยร่วมวงทะเลาะเบาะแว้งลุกลามใหญ่โต น่าจะเป็นความคิดที่มีเฉพาะคนโง่เท่านั้น เหตุการณ์พม่าโจมตีชนกลุ่มน้อยตามแนวตะเข็บชายแดนนั้น เกิดขึ้นมานานหลายสิบปีแล้ว โดยที่ทหารไทยได้แต่คอยช่วยเหลือผู้อพยพที่หนีร้อนมาพึ่งเย็น หนีไฟสงครามความขัดแย้ง เข้ามาหลบในเขตไทยอยู่เป็นประจำ ทหารไทยคอยช่วยเหลือผู้อพยพเหล่านั้นให้ปลอดภัย เหตุการณ์กระทบกระทั่งกันเองของเพื่อนบ้าน เป็นเรื่องภายในของพม่า จะให้ไทยเข้าไปตอบโต้อย่างรุนแรงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือย้ายประเทศหนีก็คงเป็นไปไม่ได้ และถ้าโดดเข้าไปร่วมวงกับความขัดแย้งนั้น น่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ฉลาดเอาซะเลย กับสถานการณ์โลกในปัจจุบันที่เรากำลังเปิดประเทศ เพื่อทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าและขยายตัวอย่างราดเร็ว แน่นอนว่า การป้องกันประเทศนั้น เป็นหน้าที่ของทหารทั้งสามเหล่าทัพ รวมถึงตำรวจและพลเรือน ซึ่งต่างทำหน้าที่นั้นเป็นประจำอยู่แล้ว มีการลาดตระเวนของทัพบก เรือและอากาศอยู่เป็นประจำ เมื่อมีเครื่องบินรบของเพื่อนบ้านที่มีปัญหาภายในกันเอง บินรุกล้ำข้ามเขตแดนเข้ามา จะจงใจหรือไม่ก็ตาม สิ่งแรกที่จะต้องทำก็คือ การป้องปรามด้วยการส่งเครื่องบินรบขึ้นไปลาดตระเวน และแจ้งเตือนเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมาอีก ครั้นจะให้ส่งเครื่องบินรบของเราขึ้นไปสอยเครื่องบินรบของพม่าที่บินรุกล้ำเข้ามานั้น เท่ากับเป็นการเอาตัวเข้าไปร่วมในความขัดแย้งที่ไม่น่าจะเป็นความคิดของคนฉลาด แต่ดันเป็นความคิดของพวกที่ชังชาติเท่านั้นเองละครับ.