อาการ “ติดเชื้อในกระแสเลือด” อันตรายต่อชีวิต ป้องกันและรักษาอย่างไร?




หนึ่งในภาวะติดเชื้อที่เป็นอันตรายถึงชีวิตก็คือ “ติดเชื้อในกระแสเลือด” เป็นคำที่หลายคนคงเคยได้ยินบ่อยๆ และถือเป็นโรคที่มีอัตราเสียชีวิตสูงมาก แต่เคยสงสัยกันไหมว่าจริงๆ แล้วอาการติดเชื้อในกระแสเลือดเกิดจากอะไร มีวิธีรักษาหรือไม่ หากเป็นแล้วสามารถกินอะไรได้บ้าง มาหาคำตอบได้จากบทความนี้

ทำความรู้จัก “ติดเชื้อในกระแสเลือด” คืออะไร? 

ติดเชื้อในกระแสเลือด (Septicemia) คือ การติดเชื้อส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา และการติดเชื้อที่อวัยวะส่วนต่างๆ จนเกิดอาการอักเสบรุนแรงและเชื้อแบคทีเรียก็ซึมเข้าสู่กระแสเลือด ส่งผลให้การทำงานของอวัยวะภายในร่างกายล้มเหลว ผู้ที่ติดเชื้อในกระแสเลือดมีความเสี่ยงที่จะมีภาวะความดันต่ำอย่างรุนแรง ซึ่งอาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้ หากไม่รีบรักษาอย่างถูกวิธี

กลุ่มเสี่ยงภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
– ผู้ป่วยสูงอายุ ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ
– ผู้ป่วยเด็กเล็ก ที่ภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่เต็มที่
– ผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง
– ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคไตวายเรื้อรัง โรคปอด โรคตับ โรคเบาหวาน เป็นต้น

ติดเชื้อในกระแสเลือด เกิดจากอะไร?

สาเหตุของภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด เกิดจากการติดเชื้อในช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ เพราะเชื้อโรคสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายและเข้าได้หลายทาง เช่น ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร ทางเดินปัสสาวะ ทางผิวหนัง และทางบาดแผลส่วนต่างๆ อีกทั้งยังรวมถึงการติดเชื้อในระบบของร่างกาย เช่น ติดเชื้อที่ปอด ติดเชื้อในตับ ติดเชื้อในถุงน้ำดี ไส้ติ่งอักเสบ รวมถึงการติดเชื้อไวรัส เชื้อรา หรือพยาธิในส่วนต่างๆ ของร่างกาย 

อาการติดเชื้อในกระแสเลือด

  • มีไข้สูง
  • หายใจเหนื่อย
  • รู้สึกซึม บางรายหมดสติ
  • ปัสสาวะน้อยลง
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • มือและเท้าเย็น
  • ความดันโลหิตต่ำรุนแรง (อาจนำไปสู่ภาวะช็อกได้)

ระดับความรุนแรงของอาการติดเชื้อในกระแสเลือด

ระดับที่ 1
อาการติดเชื้อในกระแสเลือดแบบทั่วไป รู้สึกได้ว่าร่างกายมีความผิดปกติ มีอาการติดเชื้อส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย

ระดับที่ 2
อาการติดเชื้อในกระแสเลือดแบบรุนแรง อวัยวะต่างๆ ในร่างกายเริ่มทำงานผิดปกติ มีอาการรุนแรงอื่นๆ ตามมา

ระดับที่ 3
อาการติดเชื้อในกระแสเลือดแบบรุนแรงมาก ผู้ป่วยที่ภูมิต้านทานต่ำจะมีอาการช็อก อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ 

วิธีรักษาอาการติดเชื้อในกระแสเลือด

ติดเชื้อในกระแสเลือด รักษากี่วัน? ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย ในเบื้องต้นแพทย์จะประเมินอาการ รักษาด้วยยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาในโรคที่ต้องสงสัยก่อน มีการนำตัวอย่างเลือดไปเพาะเชื้อเฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ในรายที่มีไข้สูง หายใจเหนื่อยหอบ ความดันโลหิตต่ำ จะต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาล ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากทีมแพทย์

วิธีป้องกันการติดเชื้อในกระแสเลือด

  • พยายามรักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ
  • รักษาสุขอนามัยรอบตัว ล้างมือให้สะอาด ใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหาร
  • รักษาโรคประจำตัวอย่างต่อเนื่อง ไปพบแพทย์ตามนัด เพื่อรักษาร่างกายให้มีภูมิต้านทานแข็งแรง
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ตามคำแนะนำของแพทย์ให้ครบถ้วน
  • หากพบความผิดปกติของร่างกาย ไข้สูง หายใจหอบเหนื่อย ใจสั่น มีอาการซึม และอาการอื่นๆ ที่ผิดปกติไปจากเดิม ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยโรค

ติดเชื้อในกระแสเลือด กินอะไรได้บ้าง?

สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดควรรับประทานอาหารที่สุกสะอาดถูกตามหลักอนามัย เพื่อป้องกันการติดเชื้อเพิ่ม แนะนำให้รับประทานอาหารอ่อนๆ ที่ย่อยง่าย นอกจากนี้ ควรงดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะมีผลให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายตก

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาวะการติดเชื้อในกระแสเลือดจะเป็นโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตสูง แต่หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องรวดเร็วจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ควบคู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการรักษาอาการติดเชื้อในกระแสเลือดให้หายเป็นปกติได้

อ้างอิงข้อมูล : โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์