อาการโรค “PTSD” บาดแผลทางใจที่ต้องเยียวยา คุณเข้าข่ายหรือไม่?




สุขภาพจิตและภาวะความเจ็บป่วยทางด้านจิตใจเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะโรคที่เรียกว่า “PTSD” ย่อมาจาก Post-Traumatic Stress Disorder หนึ่งในกลุ่มโรคที่มีอาการบาดเจ็บทางจิตใจ จำเป็นต้องรักษาและเยียวยาอย่างจริงจัง เพื่อช่วยให้สามารถกลับมาดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติได้

รู้จักโรค PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) คืออะไร?

PTSD คือ โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคที่เกิดจากความกดดันทางจิตใจชนิดหนึ่ง มักเกิดขึ้นกับผู้ที่มีประสบการณ์ผ่านเหตุการณ์สะเทือนใจ หรือสะเทือนขวัญขั้นรุนแรง หรือต้องเผชิญกับความรู้สึกเครียดที่รุนแรงทางจิตใจ

แม้จะผ่านเหตุการณ์นั้นไปแล้ว แต่เมื่อถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยต่างๆ เช่น ภาพ กลิ่น รส เสียง ฯลฯ ที่ย้ำเตือนถึงความรู้สึกสะเทือนใจที่เกิดขึ้น ก็อาจทำให้อาการกำเริบขึ้นมาได้ ผู้เป็นโรค PTSD จะรู้สึกหวาดกลัวราวกับว่ากำลังเผชิญกับเหตุการณ์นั้นอยู่จริงๆ เช่น ทหารผ่านศึกที่เคยอยู่ท่ามกลางความโหดร้ายของสงคราม ก็มักจะมีอาการ PTSD ตามมา ทำให้รู้สึกว่าสงครามนั้นตามหลอกหลอนอยู่ตลอดเวลา เป็นต้น

ตัวอย่าง เหตุการณ์รุนแรงที่อาจทำให้เป็นโรค PTSD

  • สงคราม
  • อุบัติเหตุร้ายแรง
  • ภัยพิบัติทางธรรมชาติ
  • ถูกทำร้ายร่างกาย
  • ถูกคุกคามทางเพศ
  • ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคร้ายแรง
  • เหตุการณ์สะเทือนใจอย่างรุนแรงอื่นๆ

อาการของโรค PTSD เป็นอย่างไร?

ผู้ที่เป็นโรค PTSD มีอาการแสดงออกมาให้เห็นหลายลักษณะ ส่วนใหญ่มักจะหวนนึกถึงเหตุการณ์สะเทือนใจซ้ำๆ อยู่ตลอดเวลา มักจะหวาดระแวง วิตกกังวล ฝันร้าย มองโลกในแง่ร้าย หรืออารมณ์ฉุนเฉียว โกรธง่ายอยู่บ่อยๆ อาการเหล่านี้จะแสดงออกมานานกว่า 1 เดือน หลังจากเผชิญกับเหตุการณ์รุนแรง โดยสามารถแบ่งผู้เป็น PTSD ออกเป็นกลุ่มต่างๆ ดังนี้

  • กลุ่มที่หวนนึกถึงเหตุการณ์รุนแรงซ้ำๆ มักจะฝันร้ายถึงเหตุการณ์นั้นอยู่บ่อยๆ
  • กลุ่มที่พยายามหลีกเลี่ยงความทรงจำ ที่จะกระตุ้นเหตุการณ์รุนแรง เช่น สถานที่ สิ่งของ ฯลฯ
  • กลุ่มที่มีอาการหวาดกลัว ขี้กังวล ตื่นกลัว ตกใจง่าย นอนไม่หลับ เริ่มส่งผลต่อชีวิตประจำวัน
  • กลุ่มที่อารมณ์แปรปรวน โกรธง่าย อารมณ์ไม่มั่นคง มองโลกผิดไปจากความเป็นจริง หากปล่อยไว้นานอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า และปัญหาด้านสุขภาพจิตอื่นๆ ได้

วิธีรักษาโรค PTSD ทำให้หายขาดได้ไหม?

PTSD หายได้ไหม? ในปัจจุบันการรักษาโรค PTSD รักษาได้ด้วยการทำจิตบำบัด (Psychotherapy) ซึ่งสามารถทำได้หลายรูปแบบ มีการพูดคุยกับจิตแพทย์ ฝึกรับมือกับความเครียด เพื่อเรียนรู้วิธีการจัดการอารมณ์ที่เกิดจากความทรงจำเลวร้ายในอดีตด้วยตัวเอง เพื่อเยียวยาสภาพจิตใจให้แข็งแรง รวมถึงการกินยารักษาตามอาการ ที่สำคัญคือการให้กำลังใจจากครอบครัวและคนรอบข้าง เพื่อให้ก้าวผ่านโรค PTSD ไปได้

หากคุณสงสัยว่าตัวเองอาจมีอาการเข้าข่ายโรคดังกล่าว สามารถทำแบบประเมิน PTSD ได้ ที่นี่ เพื่อวิเคราะห์โรคเครียดหลังเหตุการณ์ร้ายแรง อย่างไรก็ตาม หากพบว่า เหตุการณ์สะเทือนใจที่เคยเผชิญนั้น กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง ทำให้เกิดอาการต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน แนะนำเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อประเมินอาการ สาเหตุ เพื่อหาแนวทางรักษาโรค PTSD อย่างถูกวิธี

อ้างอิงข้อมูล : กรมสุขภาพจิต, โรงพยาบาลพญาไท