อาการลองโควิด (Long COVID) ภัยเงียบต่อสุขภาพ รักษาอย่างไรให้ถูกวิธี




ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 และรักษาจนหายดีแล้ว อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจ เพราะพบว่าร้อยละ 30-50 มักมีอาการลองโควิด (Long COVID) ตามมา ซึ่งทำให้ยังคงมีบางอาการหลงเหลืออยู่ แม้ว่าเชื้อโควิด-19 จะหายไปจากร่างกายแล้วก็ตาม ไทยรัฐออนไลน์ได้รวบรวมแนวทางสำหรับการดูแลรักษาตัวเองในภาวะลองโควิดอย่างถูกวิธี เพื่อฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม

ทำความรู้จัก “อาการลองโควิด” (Long COVID) คืออะไร?

อาการลองโควิด คือ ภาวะอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังจากหายป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 ในบางรายแม้จะรักษาจนหายแล้ว แต่ก็ยังคงมีอาการที่เกิดขึ้นกับระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น ระบบหายใจ ระบบย่อยอาหาร หรือในบางรายอาจส่งผลกระทบต่อภาวะจิตใจด้วย

ส่วนใหญ่ผู้ที่มีภาวะลองโควิด มักมีอาการเกิดขึ้นเป็นระยะเวลา 4-12 สัปดาห์ นับจากวันแรกที่ตรวจพบเชื้อ ซึ่งอาการลองโควิดในแต่ละบุคคลก็มีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงและภูมิคุ้มกันของร่างกาย สำหรับผู้ที่มีแนวโน้มจะเกิดอาการลองโควิดหนักกว่าปกติ ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นต้น

หลังจากหายจากการติดเชื้อโควิด-19 แล้ว หลายคนอาจพบว่าร่างกายตัวเองไม่แข็งแรงเช่นเดิม ซึ่งกระบวนการฟื้นฟูร่างกายของแต่ละคนก็ย่อมแตกต่างกัน จึงแนะนำให้สังเกตสุขภาพของตัวเองว่ามีความผิดปกติหรือไม่ รวมถึงมีอาการลองโควิดต่อไปนี้บ้างหรือไม่

  • รู้สึกอ่อนล้า อ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายกว่าปกติ
  • หายใจลำบาก หอบ เจ็บแน่นหน้าอก
  • จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส
  • ไอเรื้อรัง เสียงแหบ
  • ปวดเมื่อยเนื้อตัว ปวดตามข้อ
  • มีภาวะซึมเศร้า นอนไม่ค่อยหลับ
  • มีอาการเวียนศีรษะ ปวดหัว
  • ท้องอืด ท้องเฟ้อ
  • ผมร่วงมากกว่าปกติ
  • ความจำสั้นลง

8 วิธีดูแลตัวเองง่ายๆ หากมีอาการลองโควิดรักษายังไง?

1. โพรไบโอติกส์ช่วยฟื้นฟูภาวะลองโควิด (Long COVID)
หลังรักษาโควิด-19 จนหายดีแล้ว กรมอนามัยแนะนำให้รับประทานอาหารที่ย่อยง่ายและเป็นจุลินทรีย์สุขภาพ หรือที่เรียกว่า “โพรไบโอติกส์” ได้แก่ นมเปรี้ยว โยเกิร์ต และควรเลือกชนิดที่มีนํ้าตาลน้อย โดยรับประทานร่วมกับอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น กล้วย ธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้ง หัวหอมใหญ่ กระเทียม เพื่อเสริมสร้างภูมิค้มกันของร่างกายให้กลับมาแข็งแรง รวมทั้งวิตามินต่างๆ ที่พบได้ในอาหารและผลไม้จากธรรมชาติ เช่น ส้ม มะละกอสุก ฝรั่ง ไข่แดง นม ผักใบเขียว เป็นต้น

2. เลือกรับประทานโปรตีนที่มีประโยชน์
โปรตีน มีส่วนสำคัญในการซ่อมแซมร่างกายที่สึกหรอ การรับประทานโปรตีนที่มีประโยชน์ เช่น เนื้อสัตว์ ปลา ไข่ นม เนยแข็ง เต้าหู้ และถั่วประเภทต่างๆ จะช่วยให้ร่างกายไม่อ่อนเพลีย เนื่องจากผู้มีภาวะลองโควิดมักมีความผิดปกติทางระบบทางเดินอาหารและระบบย่อยอาหาร บางรายอาจรู้สึกเบื่ออาหารด้วย จึงจำเป็นต้องเลือกโปรตีนเพื่อเพิ่มเรี่ยวแรงให้ร่างกาย ทั้งนี้ควรหลีกเลี่ยงอาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง อาหารหมักดอง ของปิ้งย่าง และของทอด 

3. พักผ่อนให้เพียงพอ ห้ามออกกำลังกายหนัก
ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เฉลี่ยวันละประมาณ 6-8 ชั่วโมง เพราะช่วงที่นอนหลับ ร่างกายจะได้ฟื้นฟูอย่างเต็มที่ และเมื่อตื่นขึ้นมาในตอนเช้าก็จะรู้สึกกระปรี้กระเปร่า ไม่อ่อนเพลีย รู้สึกสดชื่นตลอดทั้งวัน โดยในช่วงนี้ให้เน้นการพักผ่อนไปก่อน อย่าเพิ่งหักโหมออกกำลังกายอย่างหนัก เพราะร่างกายและปอดอาจยังไม่ฟื้นฟูอย่างเต็มที่ หากออกกำลังกายหนัก ก็อาจทำให้ปอดทำงานหนัก และรู้สึกหอบเหนื่อย หายใจลำบากมากกว่าเดิม

4. ยืดกล้ามเนื้อแก้ปวดเมื่อย
เมื่อยังออกกำลังกายหนักๆ ไม่ได้ แนะนำให้ผู้ที่มีอาการลองโควิดหันมาฝึกยืดกล้ามเนื้อแทน เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ไม่ว่าจะเป็นการยืดเส้นยืดสาย เดินเร็ว เต้นแอโรบิก หรือเล่นโยคะ เพียงแค่วันละประมาณ 15-30 นาที ไม่จำเป็นต้องทำทุกวันก็ได้ในช่วงนี้ รอให้อาการดีขึ้น จึงค่อยๆ เพิ่มเป็นสัปดาห์ละประมาณ 3-5 วัน การยืดกล้ามเนื้อจะช่วยลดอาการปวดเมื่อยตามตัว และลดอาการปวดข้อได้ อีกทั้งกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตอีกด้วย

5. ฝึกหายใจบริหารปอด
หนึ่งในอาการลองโควิดที่ทำให้หลายคนรู้สึกว่าส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันคือ มักจะรู้สึกเหนื่อยง่าย หายใจหอบ บางรายอาจมีอาการไอแห้งเรื้อรังด้วย ซึ่งเป็นผลมาจากระบบทางเดินหายใจและปอดได้รับผลกระทบตอนที่ติดเชื้อโควิด-19 แนะนำให้ฝึกหายใจเข้า-ออกลึกๆ วันละประมาณ 10 ครั้ง เพื่อบริหารปอด กระบังลม และทรวงอก วิธีนี้นอกจากจะช่วยให้การหายใจดีขึ้นแล้วยังช่วยให้เราฝึกสังเกตความผิดปกติของร่างกายขณะหายใจเข้า-ออกได้อีกด้วย

6. หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์และกาเฟอีน
ในภาวะลองโควิด ร่างกายของหลายคนยังฟื้นฟูไม่เต็มที่ ในช่วงนี้ควรควบคุมระดับความดันโลหิตให้คงที่ จึงควรงดดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนผสมไปก่อน เพราะจะส่งผลให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น รวมไปถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่อาจส่งผลให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลงในช่วงลองโควิด ทางที่ดีควรหันมาดื่มน้ำเปล่าสะอาดให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความชุ่มชื้นให้ปอด และกระตุ้นการขับถ่ายได้ดี

7. อย่ารับประทานอาหารก่อนนอน
ควรรับประทานอาหารเย็น หรือมื้อค่ำก่อนเข้านอน อย่างน้อย 4 ชั่วโมง เพื่อลดปัญหาเรื่องระบบย่อยอาหาร การงดอาหารมื้อดึกจะช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น ลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียดจากโรคกรดไหลย้อน และโรคกระเพาะอาหารได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการลองโควิด ต้องใส่ใจเรื่องการรับประทานอาหารให้ตรงเวลา และไม่ควรเอนตัวลงนอนทันทีหลังจากรับประทานเสร็จ ควรหากิจกรรมอื่นๆ ทำเพื่อให้อาหารย่อยก่อน 

8. หากิจกรรมผ่อนคลายทำ
ผู้ที่มีอาการลองโควิดจำนวนมากประสบภาวะซึมเศร้า แม้จะรักษาจนหายดีแล้วก็ตาม เนื่องจากกระบวนการรักษาและการกักตัวที่ค่อนข้างใช้เวลานาน ทำให้ต้องใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว มีความกังวลเรื่องสุขภาพ บางรายอาจกังวลเรื่องงานที่ต้องพักไว้ชั่วคราว เพราะต้องมารักษาตัว และเมื่อรักษาหายจนไม่มีเชื้อโควิด-19 ในร่างกายแล้ว ก็ยังมีอาการลองโควิดตามมาอีก จึงทำให้มีความเครียดและวิตกกังวลมากกว่าเดิม หากรู้สึกเช่นนี้ ควรพูดคุยกับครอบครัวและเพื่อนๆ หากิจกรรมผ่อนคลายทำ พยายามไม่ให้ตัวเองเครียด และดูแลสุขภาพให้ดี ร่างกายก็จะฟื้นฟูกลับมาเป็นปกติได้เร็ว

อาการลองโควิดในผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ร่างกายไม่แข็งแรงอยู่แล้ว เมื่อติดเชื้อโควิด-19 และหายเป็นปกติ ส่วนใหญ่มีอาการลองโควิดตามมา และส่งผลกระทบต่อปอดมากที่สุด โดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว ก็จะทำให้รูสึกเหนื่อยอ่อนเพลียได้ง่าย ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เช่นเดิม รู้สึกเหนื่อยง่ายขึ้น มีอาการใจสั่น ไม่มีแรง เนื่องจากช่วงที่พักฟื้นร่างกายไม่ได้ออกกำลังกายเช่นเดิม ทำให้มวลกล้ามเนื้อลดลง บางรายอาจมีภาวะขาดโปรตีนร่วมด้วย นอกจากนี้ก็อาจมีอาการซึมเศร้าและวิตกกังวลจากภาวะลองโควิด เนื่องจากช่วงที่รักษาตัวต้องห่างไกลลูกหลาน ไม่ได้ใกล้ชิดเช่นเคย แต่อาการเหล่าจะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ หากได้รับการดูแลสุขภาพอย่างใกล้ชิด

อาการลองโควิดในเด็กและทารก

เด็กที่หายป่วยจากโควิด-19 พบว่าบางส่วนอาจมีอาการที่เรียกว่า “ภาวะมิสซี” (MIS-C) ตามมา ซึ่งเป็นกลุ่มอาการอักเสบหลายระบบในเด็ก มักจะเกิดขึ้นราว 2-6 สัปดาห์ หลังจากกลุ่มเด็กหายป่วยโควิด-19 แล้ว ทำให้มีอาการตาแดง มีผื่นขึ้นตามตัว ปวดท้อง อาเจียน หายใจหอบ ปวดศีรษะ บางรายมีไข้สูงต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้กลับพบว่าอัตราการเกิดภาวะมิสซีในกลุ่มเด็กไทยและเอเชียมีน้อยมาก ส่วนใหญ่พบในยุโรป อเมริกา และอินเดีย ผู้ปกครองจึงควรหมั่นสังเกตอาการต่างๆ ของเด็กหลังจากหายติดเชื้อโควิด-19

อย่างไรก็ตาม หากพบว่าตัวเองมีอาการลองโควิด และได้ดูแลรักษาตามวิธีเบื้องต้นแล้ว แต่พบว่าอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 1-3 เดือน หรืออาจรู้สึกว่ามีอาการรุนแรงขึ้นกว่าเดิม ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อให้วินิจฉัยร่างกายอย่างละเอียดอีกครั้ง ที่สำคัญอย่าลืมไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มกระตุ้น เพื่อเสริมภูมิต้านทานให้สูงขึ้น ลดอาการเจ็บป่วยรุนแรงและลดอัตราการเสียชีวิต เนื่องจากผู้ที่เคยป่วยติดเชื้อโควิด-19 แล้วก็อาจกลับมาเป็นซ้ำได้อีก.

อ้างอิงข้อมูล : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, โรงพยาบาลพระราม 9

Share

Recent Posts

New York City’s Sweetest Ice Cream Shops To Check Out

New York City is a haven for food lovers, and when it comes to ice… Read More

11 months ago

Explore Montenegro, The Hidden Gem of the Balkans

Montenegro, a hidden gem nestled in the Balkans, offers travelers a captivating experience with its… Read More

11 months ago

Spice Up Your Salad Game With These Tips To Make Salads More Exciting

Salads are a fantastic way to incorporate fresh and nutritious ingredients into our daily meals.… Read More

11 months ago

The Best Travel Destinations For Fitness Enthusiasts

  For fitness enthusiasts seeking to combine their love for travel and physical well-being, there… Read More

11 months ago

What To Do On Your First Visit To Edinburgh

Edinburgh, the capital city of Scotland, is a captivating destination that offers a perfect blend… Read More

12 months ago

Which Are The Consistently Most Popular Starbucks Drinks?

Starbucks has become a global phenomenon, captivating millions of coffee enthusiasts with its diverse menu… Read More

12 months ago