หาอีกรอบ สรุปสาเหตุ MH370 เครื่องบินลี้ลับหายสาบสูญ 8 ปี คาด…นักบินฆ่าตัวตาย!




การค้นหาเครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 777 ของสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ เที่ยวบิน MH370 กลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้งในเดือนนี้ (กุมภาพันธ์ 2565) หลังจาก ริชาร์ด ก็อดฟรีย์ วิศวกรด้านการบินและอวกาศ ชาวอังกฤษ ใช้เทคโนโลยีค้นหาแบบใหม่ เพื่อหาจุดตกของเที่ยวบินมาเลเซียแอร์ไลน์ ไฟลต์ MH370 โดยมั่นใจว่า พบจุดตกของเครื่องบินโดยสารมาเลเซียแอร์ไลน์ลำนี้แล้ว หลังจาก MH370 สูญหายไปอย่างปริศนามานานถึง 8 ปี พร้อมกับผู้โดยสารและลูกเรือ 239 ชีวิต หลังจากทะยานขึ้นจากท่าอากาศยานในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 8 มีนาคม 2557

news.com.au รายงานว่า ทีมสอบสวนความปลอดภัยทางการบินของออสเตรเลีย นำทีมโดยนายก็อดฟรีย์ วิศวกรด้านการบินและอวกาศ ได้กลับมาเริ่มค้นหาเครื่องบินโดยสารมาเลเซีย แอร์ไลน์ อีกครั้ง

ก็อดฟรีย์ วิศวกรการบินจากอังกฤษ ติดตามเส้นทางการบินของเที่ยวบิน MH370 ด้วยเทคโนโลยีใหม่ เพื่อหาเบาะแสการสูญหายอย่างลึกลับของเครื่องบินโดยสารที่หนักกว่าสามร้อยตัน โดยมั่นใจว่า MH370 มาเลเซียแอร์ไลน์ ซึ่งเป็นเครื่องบินโดยสาร Boeing 777 แบบสองเครื่องยนต์  ดิ่งทะเลลึก กลางมหาสมุทรอินเดีย ห่างจากเมืองเพิร์ท ของออสเตรเลีย ไปทางตะวันตกประมาณ 1,200 ไมล์ ซากเครื่องบินอยู่บริเวณก้นมหาสมุทร บนพื้นทะเลที่เรียกว่า Broken Ridge (ที่ราบสูงใต้มหาสมุทรอินเดีย ในบริเวณภูเขาไฟใต้ทะเลและหุบเหว) ลึกจากผิวน้ำทะเล 13,000 ฟุต หรือราว 3,962 เมตร (เกือบสี่กิโลเมตรจากผิวน้ำถึงตำแหน่งของเครื่อง) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของมหาสมุทรอินเดีย

ก็อดฟรีย์ กล่าวในรายการข่าวของสถานีโทรทัศน์ช่อง 7News ในออสเตรเลีย เชื่อว่าเครื่องบินมาเลเซียแอร์ไลน์ลำนี้ตก หลังจากถูก ‘จี้กลางอากาศ’ ซึ่งเป็นการก่อการร้าย โดยกัปตัน ซาฮารี อาห์เหม็ด ชาห์ ได้ตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางการบิน หลังเครื่องบินทะยานขึ้นจากท่าอากาศยานกัวลาลัมเปอร์ และทำให้เครื่องบินลำนี้หายไปอย่างไร้ร่องรอยในบริเวณที่ห่างไกลที่สุดแห่งหนึ่งบนโลก

ก็อดฟรีย์ เป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งกลุ่มอิสระ MH370 เป็นวิศวกรการบินที่ทำหน้าที่คิดค้นระบบลงจอดอัตโนมัติและระบบนักบินกลอัตโนมัติแบบใหม่ (auto pilot) สำหรับการบินอัตโนมัติ เขากล่าวว่า: “ผมได้ทำการค้นคว้าเกี่ยวกับระบบข้อมูลและจัดการกับข้อมูลจำนวนมาก นั่นเป็นสิ่งสำคัญในการวิเคราะห์ มีข้อมูลจำนวนมากที่ต้องผ่านเข้าไปและหยิบเข็มที่อยู่ในกองฟางออกมา”

ในปี พ.ศ. 2552 ก็อดฟรีย์มีกำหนดจะเดินทางไปยังประเทศฝรั่งเศส โดยขึ้นบินกับเครื่องบินแอร์ฟรานซ์ 447 จาก รีโอเดจาเนโรไปยังปารีส แต่งานที่ค้างคาอยู่ทำให้เขาต้องอยู่ในบราซิลต่อไป แอร์ฟรานซ์ เที่ยวบินที่ 447 ไม่เคยไปถึงจุดหมายและสูญหายไปในมหาสมุทรแอตแลนติกนานถึง 4 ปี จนเจอกล่องดำในปี พ.ศ. 2556 จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ ริชาร์ด ก็อดฟรีย์ วิศวกรด้านการบินและอวกาศชาวอังกฤษ มีความมุ่งมั่นที่จะค้นหาตำแหน่งที่แท้จริงของเครื่อง MH370 ที่หายสาบสูญอย่างไร้ร่องรอย มีเพียงเศษซากของเครื่องกว่า 30 ชิ้น ที่ลอยมาอยู่บนชายหาดของแอฟริกาและหมู่เกาะในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งสามารถระบุได้ว่า เป็นชิ้นส่วนของเครื่อง MH370 

จากการถอดเทปบันทึกเสียงในหอบังคับการก่อนเกิดเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น เสียงวิทยุจากหอบังคับการบิน แจ้งไปยัง Boeing 777 MH370 ว่า “370 – 32 ขวา นำเครื่องขึ้นได้เลย ราตรีสวัสดิ์” และมีเสียงตอบกลับจากนักบินของ MH370 ว่า “ขอบคุณครับ ราตรีสวัสดิ์” หลังจากนั้นกัปตันเร่งความเร็ว เสียงเครื่องยนต์เทอร์โบแฟนดังกระหึ่มขณะที่เร่งเครื่องยนต์อย่างเต็มที่ 40 วินาทีต่อมา เครื่อง Boeing 777 ของมาเลเซียแอร์ไลน์ ก็ยกตัวพ้นจากพื้นของรันเวย์ เครื่อง Boeing 777 หนัก 340 ตันเศษ และมีความยาว 70 เมตร พุ่งทะยานผ่านความมืดมิด และหายลับไปในท้องฟ้ายามค่ำคืนของมาเลเซีย

หลังจากบินขึ้นไปได้ไม่นานนัก นักบินวิทยุติดต่อเจ้าหน้าที่ควบคุมเส้นทางการบิน และได้รับอนุญาตให้ทำการไต่ระดับขึ้นไปที่ความสูง 350 (35,000 ฟุต) หรือที่ความสูง 10.7 กิโลเมตรจากพื้น ซึ่งเครื่อง Boeing 777-200 จะใช้เวลาในการไต่ระดับเพดานบินประมาณ 20 นาที ไม่นาน มาเลเซียแอร์ไลน์ ไฟลต์ MH370 ได้รับสัญญาณจากระบบเอคาร์ หรือ Aircraft Communications Addressing and Reporting System-ACARS ซึ่งเป็นระบบส่งสัญญาณแบบอัตโนมัติจากเครื่องบินไปยังศูนย์ควบคุมของสายการบิน เพื่อทำการรายงานพิกัดของเครื่องขณะทำการบิน หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ระบบต่างๆ ในเครื่องก็จะทำการรายงานทันที หลังจากบินขึ้นได้ 45 นาที เวลา 01.19 น. ตามเวลาท้องถิ่นของประเทศมาเลเซีย ตามแผนการบินของ MH370 เครื่อง Boeing 777 พร้อมลูกเรือและผู้โดยสาร 239 คน อยู่ในเส้นทางตามตารางการบิน และบินพ้นออกนอกน่านฟ้าของมาเลเซีย โดยมุ่งหน้าขึ้นไปยังทิศเหนือ ตัดตรงผ่านอ่าวไทยไปยังแหลมญวน หอบังคับการบินวิทยุแจ้งให้ MH370 เปลี่ยนคลื่นวิทยุ เพื่อรายงานตัวต่อหอบังคับการของเวียดนาม ที่ความถี่ 120.9 เมกะเฮิรตซ์ เสียงจากหอบังคับการบินแจ้งว่า “มาเลเซีย 370 ติดต่อโฮจิมินห์ 120.9 ราตรีสวัสดิ์” เสียงวิทยุจาก MH370 ตอบกลับหอบังคับการเพื่อทวนคำสั่งว่า “ราตรีสวัสดิ์ มาเลเซีย 370” หลังจากนั้นก็ไม่มีการติดต่อใดๆ กลับมาอีกเลย

หลังจากการหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอยของเครื่องบินโดยสาร Boeing 777-200 หลังจากนั้นไม่นาน ทีมค้นหาได้ขยายวงกว้างออกไปจนกลายเป็นการค้นหาเครื่องบินหายที่กินพื้นที่กว้างที่สุดเท่าที่เคยมีมา ครอบคลุมพื้นที่ทะเลอันดามัน อ่าวเบงกอล และมหาสมุทรอินเดียทางตอนใต้ หลายเดือนผ่านไปจนกลายเป็นหลายปี เจ้าหน้าที่สืบสวนเริ่มเห็นภาพชัดขึ้นว่าเครื่องบินลำนี้อยู่บริเวณใดในช่วงไม่กี่ชั่วโมงก่อนหายสาบสูญ และใช้ข้อมูลดังกล่าวรวมถึงรัศมีของการบินกับตำแหน่งที่เครื่องส่งสัญญาณปิ้งไปยังดาวเทียมมาปรับใช้ในการค้นหา ทีมช่างเทคนิค และวิศวกรทางการบิน ได้ประเมินเส้นทางการบินของ Boeing 777 ไฟลต์ MH370 อย่างคร่าวๆ จากสัญญาณปิ้งที่ส่งออกมา 8 ครั้ง จากตัวเครื่องไปยังดาวเทียมอินมาร์แซท-3 หน่วยงานค้นหาได้มุ่งไปยังพื้นที่รอยต่อระหว่างออสเตรเลียกับหมู่เกาะเคอร์เกอเลนในมหาสมุทรอินเดีย กินพื้นที่กว้างถึง 600,000 ตารางกิโลเมตร และอยู่ห่างจากเมืองเพิร์ทของออสเตรเลียไกลกว่า 3,000 กิโลเมตร

สำหรับหลักฐานที่ตรวจพบและได้รับการยืนยันแล้วว่าเป็นชิ้นส่วนของเครื่อง Boeing 777-200 ก็คือ Flaperon โดยพบที่เกาะเรอูนียง เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2558 Flaperon คือชิ้นส่วนบริเวณปีก ทำหน้าที่สร้างแรงยกระหว่างเครื่องขึ้นและลง ถูกยืนยันโดยเจ้าหน้าที่ออสเตรเลีย นับเป็นเบาะแสแรกหลังเครื่องบินหายสาบสูญไปเมื่อปี พ.ศ. 2557 ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถยืนยันตัวเลขที่พบบน Flaperon เป็นหมายเลขที่ตรงกันกับบริษัท Boeing ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินรุ่นนี้ เกาะเรอูนียงเป็นดินแดนของฝรั่งเศสในมหาสมุทรอินเดีย นอกชายฝั่งของเกาะมาดากัสการ์ หลังจากการตรวจพบเศษซากชิ้นส่วนของตัวเครื่อง หน่วยงานด้านความปลอดภัยทางการบินของฝรั่งเศสได้เดินทางเข้าตรวจสอบหลังจากการค้นพบชิ้นส่วนเครื่องบิน Boeing 777-200ER แล้วนำไปตรวจวิเคราะห์ก็พบว่าชิ้นส่วนปีกเครื่องบินดังกล่าวเป็นซากชิ้นส่วนของเครื่องบิน MH370 เกาะเรอูนียงมีที่ตั้งอยู่ระหว่างมาดากัสการ์ และมอริเชียส ตั้งอยู่ทางตะวันออกของมาดากัสการ์ ประมาณ 900 กิโลเมตร (560 ไมล์) และทางตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดียประมาณ 3,943 กิโลเมตร (2,450 ไมล์)

การคาดการณ์ถึงสถานการณ์บนเครื่อง MH370 ก่อนที่จะดิ่งลงสู่มหาสมุทรอินเดีย มีการคาดกันไปต่างๆ นานา ผู้เชี่ยวชาญทางการบินได้พยายามวิเคราะห์ถึงสาเหตุการสาบสูญของเครื่องบินหนัก 340 ตัน บางคนคาดเดาว่า

1-บนเครื่องบิน มีอุปกรณ์สำคัญที่ไม่อาจให้ฝ่ายตรงกันข้ามได้ไปครอบครอง เครื่องบินจึงถูกนำไปลงอย่างลับๆ ในสถานที่ที่ไม่มีใครรู้

ข้อนี้ตัดออกไปได้ เนื่องจากตรวจพบชิ้นส่วนที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นของเครื่องบิน Boeing 777-200 ไฟลต์ MH370

2-เครื่องบินอาจถูกจี้บังคับด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

หากมีคนสามารถทำเรื่องไฮเทคดังกล่าวได้ เที่ยวบินนับหมื่นเที่ยวต่อวันคงโดนจี้บังคับไม่เว้นแต่ละวัน และยังไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในวงการบินพาณิชย์

3-ระบบปรับความดันอากาศบนเครื่องอาจทำงานผิดพลาดจนทำให้เกิดอุบัติเหตุ

ความดันอากาศที่ผิดพลาด เป็นสาเหตุที่อาจทำให้เครื่องบินตกได้ เนื่องจากคนบนเครื่องขาดอากาศสำหรับหายใจ ผลลัพธ์ของการขาดอากาศ จะทำให้หมดสติทั้งนักบิน ผู้โดยสาร และลูกเรือ ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต

4-อาจจะเกิดเพลิงลุกไหม้สายไฟที่ใช้ควบคุมการบิน จนเครื่องบินออกนอกเส้นทาง และตกลงกลางมหาสมุทรอินเดียที่กว้างใหญ่ไพศาล

สาเหตุของการตกที่อาจเกิดไฟไหม้ภายในห้องนักบินก็มีความเป็นไปได้ เมื่อไฟไหม้สายไฟ หรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการบังคับควบคุม อาจทำให้เครื่องบินสูญเสียการควบคุมอย่างร้ายแรง แต่ไม่ได้มีวิทยุแจ้งอาการหรือเหตุฉุกเฉินดังกล่าวแต่อย่างใดทั้งสิ้น

แต่สิ่งที่น่าจะเป็นมากที่สุดก็คือ การคาดการณ์ว่านี่เป็นการฆ่าตัวตายของกัปตัน หรือนักบินที่ 1!

วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2563 เว็บไซต์เดลี่เมล และเมโทร ได้รายงานว่า ทีมผู้เชี่ยวชาญทางการบินในสหรัฐฯ เปิดเผยผลการสืบสวนใหม่ และพบตำแหน่งหรือจุดตกของเครื่องบินโดยสาร Boeing 777 ของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ เที่ยวบิน MH370 พร้อมผู้โดยสารและลูกเรือ 239 ชีวิต ที่หายไปอย่างปริศนามานานนับ 6 ปีแล้ว ทีมผู้เชี่ยวชาญทางการบิน 4 คน ซึ่งประกอบด้วย ดร.วิกเตอร์ แลนเนลโล, บ็อบบี้ อูลิช, ริชาร์ด ก็อดฟรีย์ (วิศวกรการบินชาวอังกฤษที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ทำการค้นหาจุดตก) และแอนดรูว์ แบงก์ เชื่อว่า เครื่องบิน Boeing 777 MH370 อาจตกลงไปในบริเวณตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดีย ในรัศมี 100 ไมล์ทะเล ของพิกัด S34.2342 และ E93.7875 ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งเมืองเพิร์ทในรัฐเวสเทิร์น ประเทศออสเตรเลีย ประมาณ 2,070 กิโลเมตร ดร.วิกเตอร์ แลนเนลโล ซึ่งช่วยเจ้าหน้าที่ออสเตรเลียทำการค้นหาเครื่อง MH370 ยังเชื่อว่าเครื่องบินของมาเลเซียแอร์ไลน์ ลำนี้ ซึ่งบินออกจากท่าอากาศยานในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ได้บินผ่านประเทศอินโดนีเซีย โดยห่างไปประมาณ 4,340 กิโลเมตร ก่อนจะตกในมหาสมุทรอินเดีย จากการศึกษาค้นคว้าเพื่อหาจุดตกที่แท้จริงของ MH370 นั้น ดร.วิกเตอร์ แลนเนลโล และทีมผู้เชี่ยวชาญการบิน ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในสหรัฐอเมริกา ได้มีการตรวจสอบและประเมินความเป็นไปได้ของเส้นทางบิน MH370 ถึง 2,300 เส้นทาง เพื่อต้องการระบุจุดตก รวมทั้งยังได้พัฒนาแบบจำลองในทุกเส้นทางบินของเครื่องบิน รวมทั้งข้อมูลด้านเชื้อเพลิง ข้อมูลทางทหาร ข้อมูลเรดาร์พลเรือน ข้อมูลสภาพอากาศ และการวิเคราะห์ซากเครื่องบินที่ถูกคลื่นซัดไปเกยชายฝั่ง ซึ่งรายงานเหล่านี้สรุปว่า มีความเป็นได้มากที่สุดที่ MH370 บินในเส้นทางห่างไปทางตะวันตกจากเมืองบันดาอาเจะห์ บนเกาะสุมาตราของประเทศอินโดนีเซีย ประมาณ 100 ไมล์ทะเล

นับตั้งแต่เที่ยวบิน MH370 หายไปอย่างไร้ร่องรอยเมื่อมีนาคม 2557 นั้น รัฐบาลของหลายประเทศได้ร่วมมือกันค้นหาซากเครื่องบินในมหาสมุทรอินเดียมานานกว่า 4 ปี ใช้จ่ายงบประมาณในการค้นหาไปกว่า 6,000 ล้านบาท แต่กลับไม่พบซากเครื่องบินในมหาสมุทรเลย จนการหายไปของ MH370 ถือเป็นปริศนาเครื่องบินสาบสูญที่ยังรอวันถูกทำให้กระจ่างต่อสาธารณชน

ไบรอน เบลีย์ ผู้เชี่ยวชาญทางการบิน ซึ่งเคยเป็นอดีตนักบิน กล่าวว่า ทีมสืบสวนค้นหาบริเวณจุดที่เครื่องบินตกผิดตำแหน่ง และไม่ได้ไปค้นหาลงไปทางใต้ของบริเวณที่กำลังค้นหากันอยู่ พร้อมทั้งกล่าวว่า เขามั่นใจว่า กัปตันกำลังพยายามที่จะขับเครื่องบินลงไปทางใต้ให้ไกลมากที่สุด ในบริเวณที่ห่างไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดว่าทำไม MH370 จึงหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย โดยพบแค่ชิ้นส่วนของเครื่องเพียงไม่กี่ชิ้น แต่การวิเคราะห์ผ่านหลักฐานต่างๆ ทำให้เชื่อได้ว่า อาจเป็นเพราะเป็นการฆ่าตัวตายของกัปตัน ซาฮารี อาห์เหม็ด ชาห์

และนี่คือการสันนิษฐานถึงเหตุการณ์บนเครื่องบิน ก่อนที่ทุกคนจะพบกับจุดจบ…….

Boeing 777-200ER เที่ยวบินที่ MH370 บินขึ้นสู่ท้องฟ้าเมื่อเวลาหลังเที่ยงคืนของวันที่ 8 มีนาคม 2557 และเริ่มไต่ระดับเพดานบินขึ้นสู่ระยะสูงที่กำหนด หลังจากนั้นจึงเริ่มต้นการบินระดับ นักบินที่สองรายงานทางวิทยุกับหอควบคุมการบินมาเลเซียว่าเครื่องบินได้บินอยู่ในเพดานบินที่กำหนดแล้ว กัปตันเริ่มต้นการตรวจเช็กหลังจากการบินระดับ เป็นการตรวจสอบการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่าทุกอย่างยังคงทำงานเป็นปกติ การตั้งเครื่องวัดความสูง เข็มทิศ เครื่องวัดความเร็ว และอื่นๆ จะต้องอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องและใกล้เคียงกัน นักบินทั้งสองนายต้องแน่ใจว่าระบบนักบินกล หรือ Auto Pilot ทำงานตามคำสั่งอย่างถูกต้อง ทั้งการบินระดับในเพดานบินปกติ ความเร็วและระยะสูงตามที่ได้กำหนดไว้ในแผนการบิน เครื่อง Boeing 777 ไฟลต์ MH370 ไต่ระดับความสูงไปที่ตำแหน่ง 350 (35,000 ฟุต) หรือที่ความสูง 10.7 กิโลเมตรจากพื้น ซึ่งเครื่อง B777 จะใช้เวลาในการไต่ระดับเพดานบินประมาณ 20 นาที ไม่นาน มาเลเซียแอร์ไลน์ MH370 ได้รับสัญญาณจากระบบเอคาร์ หรือ Aircraft Communications Addressing and Reporting System-ACARS กัปตันทราบดีว่าจุดเปลี่ยนผ่านการควบคุมการจราจรทางอากาศระหว่างศูนย์ควบคุมการบินของมาเลเซีย กับศูนย์ควบคุมการจราจรทางอากาศของเวียดนามนั้น เครื่องจะบินไปถึงเมื่อไหร่ หากคิดจะขโมยเครื่องบิน จะต้องเป็นเขตแดนที่กำลังจะมีการถ่ายโอนการควบคุมระหว่าง 2 ประเทศ นานหลายนาทีก่อนถึงจุดนั้น กัปตันเอื้อมมือไปดึงตัวตัดวงจรของระบบ ACARS ซึ่งเป็นระบบสื่อสารและรายงานตำแหน่งของเครื่องบิน โดยที่นักบินที่สองไม่ทันสังเกตเนื่องจากกำลังตรวจเช็กการทำงานของระบบต่างๆ ตามขั้นตอนของการบิน ระบบ Aircraft Communications Addressing and Reporting System-ACARS ไม่ได้ทำหน้าที่ควบคุมเครื่องบิน แต่มันมีหน้าที่ในการแจ้งข้อมูลของเครื่องบินไปยังฝ่ายซ่อมบำรุงของบริษัทและที่อื่นๆ เครื่องบินสามารถบินต่อไปได้โดยไม่มีปัญหาอะไรแม้ปราศจากระบบนี้

ก่อนที่นักบินที่สองจะทำการติดต่อวิทยุกับศูนย์ควบคุมการจราจรทางอากาศของเวียดนาม นักบินที่หนึ่งหรือกัปตัน ได้ขอให้นักบินที่สองออกไปเอากาแฟ นักบินที่สองลุกจากที่นั่งเปิดประตูห้องนักบิน แล้วเดินออกไปพบกับพนักงานต้อนรับ เพื่อขอกาแฟให้กัปตัน หลังจากนั้นประตูห้องนักบินจึงถูกปิด แล้วล็อกจากภายใน เป็นการจงใจล็อกของกัปตันเอง วิธีนี้จะเป็นการป้องกันไม่ให้ใครเข้ามาในห้องนักบินได้ นอกจากจะใช้ไฟเป่าให้กลอนล็อกประตูละลาย กัปตันเริ่มปิดสวิตช์เครื่องส่งสัญญาณทางวิทยุ Transponder ปิดระบบไฟส่องสว่างในลำตัวเครื่องบิน รวมถึงปิดระบบไฟเดินอากาศรอบตัวเครื่องจนหมด

ไม่มีใครสามารถมองเห็น MH370 ได้ เนื่องจากความมืดมิดเหนือมหาสมุทรอินเดีย ทั้งเรดาร์หรือการมองเห็นจากเครื่องบินลำอื่นๆ ก็ไม่สามารถตรวจพบ กัปตันนำเอาแผนการบินสำรองหลังจากโปรแกรมแผนการบินใหม่ใส่ลงในคอมพิวเตอร์พกพา นักบินโดยทั่วไปจะคุ้นเคยกับแผนสำรองการบินตลอดเวลา แม้ในระหว่างทำการบิน เนื่องจากหากเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้มีสนามบินสำรองให้ร่อนลงฉุกเฉิน แผนการบินสำรองที่กัปตันใช้ ทำให้ระบบนักบินกลทำงานตามเส้นทางใหม่ที่ถูกโปรแกรมลงไป เครื่อง Boeing 777-200ER เริ่มต้นการเลี้ยวไปยังทิศตะวันตกเฉียงใต้ มุ่งตรงออกไปสู่มหาสมุทรที่กว้างใหญ่ไพศาล กัปตันหยิบหน้ากากออกซิเจนออกมาใส่พร้อมๆ กับไต่ระดับความสูงไปที่ 45,000 ฟุต สันนิษฐานหรือคาดเดาเอาเองว่าเพื่อต้องการหลบเลี่ยงการตรวจจับของเรดาร์จากศูนย์ควบคุมการจราจรทางอากาศของพลเรือน และเพื่อให้แน่ใจได้ว่าจะไม่มีใครบนเครื่องสามารถใช้โทรศัพท์มือถือในขณะนั้นได้อีก

กัปตันกดปุ่มยกเลิกการทำงานของระบบปรับแรงดันภายในตัวเครื่องเพื่อลดความดันลง ทำให้ระยะสูงกับความกดอากาศในตัวเครื่องเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ระยะสูงภายในห้องโดยสารเพิ่มขึ้นเหนือระยะสูงจากภายนอก 10,000 ฟุต หน้ากากออกซิเจนฉุกเฉินของผู้โดยสารและลูกเรือเริ่มหล่นลงมาจากการทำงานแบบอัตโนมัติ เมื่อความดันในห้องโดยสารเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

หน้ากากออกซิเจนจะมีอากาศให้คนบนเครื่องหายใจได้ราว 10-15 นาที ในเหตุการณ์ฉุกเฉิน นักบินจะต้องลดระดับความสูงลงมาทันที โดยลงไปยังระยะสูงที่มีความปลอดภัยมากกว่าเพดานบินปกติของเครื่องบิน Boeing 777 ซึ่งสูงกว่า 13 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก แต่การลดระยะสูงของเครื่อง MH370 ไม่เคยเกิดขึ้น!! หลังจากผ่านไป 20-30 นาที ที่ความดันอากาศในระยะสูงมากกว่า 14 กิโลเมตร หากนักบินที่สอง พนักงานต้อนรับ และผู้โดยสารทั้งหมด ถ้ายังไม่หมดสติเพราะขาดออกซิเจนก็คงจะทุรนทุรายช่วยตัวเองด้วยการใช้ถังออกซิเจนฉุกเฉินสำรองแบบเคลื่อนที่ได้ เมื่ออากาศในถังออกซิเจนหมดลง ผู้โดยสารและลูกเรือส่วนใหญ่ไม่หมดสติ ก็จะขาดอากาศหายใจจนถึงกับเสียชีวิต! ส่วนกัปตันยังคงใส่ออกซิเจนของนักบินแล้วทำการบินลงใต้ต่อไปเรื่อยๆ

บนภาคพื้นดิน สัญญาณหลายแบบหลายประเภท ที่เครื่อง Boeing 777 ส่งลงมายังภาคพื้นดินกลับหยุดหายไปเฉยๆ สัญญาณจากทรานสปอนเดอร์ซึ่งเป็นตัวบอกให้เรดาร์และเครื่องบินลำอื่นๆ รู้ว่าเครื่องบินลำนี้คือ MH370 ได้ขาดหายไปพร้อมกับระบบ ADS-B ซึ่งใช้ระบบจีพีเอสของเครื่องบินในการแจ้งพิกัดความสูงและความเร็วของตัวเครื่อง แล้วส่งเป็นข้อมูลไปยังสถานีภาคพื้นดิน รวมถึงส่งไปยังเครื่องบินลำอื่นๆ ที่บินอยู่ใกล้ๆ ถูกปิดการทำงาน เวลา 01.25 น. เครื่อง Boeing 777 MH370 เบนออกนอกเส้นทางตามตารางการบิน แทนที่จะมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เครื่อง 777 กลับหักเลี้ยวไปทางตะวันตกเฉียงใต้

ข้อมูลจากเรดาร์ทางทหารแจ้งว่า MH370 ทำการไต่ระดับเพดานบินใหม่ โดยบินสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึง 14,000 เมตร หรือ 14 กิโลเมตรจากพื้นดิน เป็นความสูงเกินระดับเพดานบินสูงสุดของเครื่องบิน Boeing 777 ที่ได้รับอนุญาตให้บินเกือบ 1 กิโลเมตร หอบังคับการบินได้ทำการวิทยุแจ้งเตือน MH370 และสั่งให้เครื่องบินลำอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียง พยายามวิทยุติดต่อกับ MH370 แต่เสียงที่ได้ยินทางวิทยุกลับเป็นเสียงซ่าๆ และเสียงพึมพำ

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ทางภาคพื้นดินของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์พยายามส่งข้อความถึงลูกเรือของ MH370 ด้วยระบบเอคาร์ หรือ Aircraft Communications Addressing and Reporting System-ACARS แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ จากข้อมูลที่ได้รับการเปิดเผยในภายหลังบ่งชี้ว่า ข้อความภาคพื้นดินของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ไปไม่ถึงปลายทาง เนื่องจากอุปกรณ์ภาครับสัญญาณของเครื่อง Boeing 777 MH370 ถูกปิดลงอย่างสิ้นเชิง!

หลังจากนั้นเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 45 นาที ทุกคนบนเครื่องส่วนใหญ่เสียชีวิตหรือไม่ก็ใกล้เต็มทน เมื่อนักบินที่หนึ่งแน่ใจว่าคนบนเครื่องเสียชีวิตหมดแล้ว หรือไม่ก็ไม่สามารถที่จะเข้ามาขัดขวางใดๆ ได้ กัปตันเริ่มต้นขั้นตอนการปรับตั้งระบบนักบินกลใหม่ตามที่ต้องการ โดยทราบดีถึงปริมาณเชื้อเพลิงที่เครื่องบินสามารถบินไปถึง และรู้ดีว่าจุดที่ต้องการบินไปนั้นสามารถทำได้ง่ายๆ แค่กำหนดจุดหรือ Way point ด้วยการตั้งค่าพิกัดตามเส้นรุ้งและเส้นแวง Latitude-Longtitude ของเป้าหมาย ป้อนเข้าเครื่องกำหนดเส้นทางการบินหรือ FMC แล้วกด NAV หรือปุ่มบังคับให้นักบินกลทำงานซึ่งอยู่บนแผงควบคุมข้างหน้า ด้วยความเร็ว อุณหภูมิ เครื่องบินใช้เชื้อเพลิงต่อชั่วโมง/ต่อเครื่องยนต์

จุดจบสุดท้ายของ MH370 คืบคลานเข้ามาอย่างรวดเร็ว Boeing 777-200ER เที่ยวบินที่ MH370 พร้อมระบบนักบินกล หรือ Auto Pilot ทำหน้าที่ของมันอย่างซื่อสัตย์ในการลดระยะสูงลงมาตามที่กัปตันได้ปรับตั้งเอาไว้ เครื่องยนต์ทำงานปกติโดยใช้เชื้อเพลิงที่เหลืออยู่ บนเครื่องบินในห้วงเวลานั้นไม่มีใครที่มีชีวิตเหลือรอดแม้แต่คนเดียว เป็นที่มาของเสียงที่ได้ยินทางวิทยุภาคพื้นดินซึ่งเป็นเสียงซ่าจับใจความไม่ได้ ผู้คนส่วนใหญ่คิดว่าทำไมเครื่องบินลำใหญ่ยักษ์หนัก 352 ตัน เมื่อตกกระแทกกับมหาสมุทรที่ความเร็ว 400-500 นอตต่อชั่วโมง (800-900 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ชิ้นส่วนถึงได้หายไปเกือบหมด ที่ความเร็วของการร่วงหล่นในระดับสูงมาก ชิ้นส่วนของเครื่องบินจะแตกกระจัดกระจายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยจากแรงกระแทกมหาศาล

มีข้อสันนิษฐานว่า เมื่อเครื่องบินยังคงบินอยู่ในระดับสูงแล้วเชื้อเพลิงหมดมันจะร่อนลงสู่พื้นน้ำได้อย่างปลอดภัยนั้น อาจเป็นความจริงหากเครื่องบินกำลังบินด้วยการบังคับของนักบิน ไม่ได้บินโดยตั้งระบบนักบินกลไว้ให้รักษาระยะสูง แต่สำหรับ MH370 นักบินได้ทำการปรับตั้งให้บินด้วยระบบนักบินกลเอาไว้ นั่นมันจะกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งทันที เมื่อบินด้วยระบบออโต้ไพลอตแล้วเชื้อเพลิงหมดถัง เครื่องยนต์เทอร์โบแฟนขนาดยักษ์ทั้งสองเครื่องจะหยุดทำงานไปทีละเครื่อง ซึ่งในเหตุการณ์ปกติจะไม่เคยหยุดทำงานพร้อมๆ กันแบบนี้ ตราบใดที่ยังคงมีกระแสไฟฟ้าอยู่ในระบบ นักบินกลหรือ Auto Pilot จะทำหน้าที่นานที่สุดเท่าที่ระบบจะสามารถทำได้ แม้จะเกิดปัญหาแรงขับดันไม่เท่ากันเมื่อเครื่องยนต์หยุดทำงานไปทีละตัว ระบบนักบินกลจะพยายามรักษาระดับความสูงหรือเพดานบินเอาไว้ เมื่อเครื่องยนต์หยุดการทำงานลงทั้งสองเครื่องเนื่องจากเชื้อเพลิงหมด ความเร็วจะลดลงอย่างรวดเร็ว ระบบนักบินกลจะพยายามยกหัวเครื่องเอาไว้เพื่อทำให้แรงยกของปีกมีมากพอที่จะรักษาระยะสูงที่ได้ปรับตั้งค่าเอาไว้ตั้งแต่แรก การยกหัวเครื่องขึ้นในมุมสูง แต่เครื่องยนต์หยุดทำงานนั้น จะยิ่งทำให้ความเร็วลดลงมากขึ้น ในเวลาน้อยกว่า 30 วินาที หลังจากเครื่องยนต์หยุดการทำงาน เครื่องบินจะเริ่มหมุนตัวและตกลงสู่มหาสมุทร ปีกข้างใดข้างหนึ่งจะร่วงหล่นลงมาก่อนอีกข้างหนึ่งเสมอ

หลังจากนั้น ระบบนักบินกลจะหยุดการทำงานลงเนื่องจากเกินขีดข้อจำกัดของตัวมันเอง MH370 เริ่มหมุนตัวอย่างรวดเร็วไปในทิศทางของปีกด้านที่ร่วงหล่น จากนั้นหัวเครื่องจะดิ่งปักลงมาด้วยมุมที่ตั้งชัน แรงดึงดูดของโลกหรือแรงโน้มถ่วงจะเข้ามากระทำหน้าที่สุดท้าย นั่นก็คือการเร่งความเร็วในการร่วงหล่นให้มากยิ่งขึ้น ความเร็วที่หล่นจากฟ้าประมาณ 800-900 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนั้นจะทำลายทุกสิ่งเมื่อตัวเครื่องตกกระทบกับผิวน้ำ

ขอไว้อาลัยให้กับทุกชีวิตบนเครื่องบิน Boeing 777 ไฟลต์ MH370

(เรื่องราวทั้งหมดเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเท่านั้น)

จากบทความของคุณ Pilot 984 ลงในนิตยสารแทงโก ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2557

เอกสารประกอบบทความ
นิตยสาร TANGO พฤศจิกายน 2557

อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail [email protected]
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/