หนังตาตก (Ptosis or Drooping Eyelid) ต้นเหตุผู้สูงอายุ…มองเห็นลดลง




ปัญหาหนึ่งที่มักเกิดขึ้นเมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น โดยที่คิดว่าเป็นปัญหาเล็กๆ นั่นก็คือ ภาวะหนังตาตก หรือที่ศัพท์ทางการแพทย์ เรียกว่า Ptosis or Drooping Eyelid ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ปัญหาเล็กน้อยเลย เพราะอาจส่งผลต่อการมองเห็นที่ลดลงได้

นพ.อภิชัย สิรกุลจิรา ผอ.รพ.เมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวว่า หนังตาตกในผู้สูงอายุมักเป็นสองข้างพอๆกัน และค่อยๆเป็นเพิ่มขึ้นช้าๆตามวัย ในกรณีที่เป็นมากอาจทำให้บดบังการมองเห็นจนอาจเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวันและการเข้าสังคมได้

“ส่วนใหญ่ภาวะหนังตาตกในผู้สูงอายุ มักไม่ใช่ความผิดปกติของการทำงานของระบบประสาทหรือกล้ามเนื้อที่ยกเปลือกตาหรือเบ้าตาโดยตรง ภายนอกอาจพบลักษณะชั้นของเปลือกตาสูงขึ้นหรือหายไป เนื่องจากการยืดหย่อนของพังผืดกล้ามเนื้อที่ยกเปลือกตาหรือเลื่อนหลุดจากตำแหน่งจุดเกาะที่เปลือกตาเดิม ซึ่งเกิดตามวัย มักพบร่วมกับการหย่อนคล้อยของผิวหนังบริเวณเปลือกตา และคิ้วตกร่วมด้วยได้” คุณหมออภิชัย บอกว่า การรักษาทำได้โดยการผ่าตัดเปลือกตาเพื่อปรับตำแหน่งการยึดเกาะ หรือเพิ่มแรงยกของพังผืดกล้ามเนื้อยกเปลือกตาที่เลื่อนหลุดหรือยืดหย่อน อาจทำร่วมกับการผ่าตัดบางส่วนของผิวหนังเปลือกตาที่หย่อนคล้อยซึ่งยังบดบังการมองเห็นอยู่ออกไป ซึ่งการเลือกชนิดและตำแหน่งของการผ่าตัดรักษาอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดหลังจากได้ตรวจอย่างละเอียด

ด้าน นพ.ปรเมศวร์ เลาวณาภิบาล จักษุแพทย์อนุสาขาประสาทจักษุ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ภาวะหนังตาตกที่เป็นในภายหลังสามารถพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ได้แก่ ก้อนบริเวณเปลือกตา เปลือกตาบวมอักเสบ การอักเสบในเบ้าตา ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง หรือการบาดเจ็บของเส้นประสาท กล้ามเนื้อ พังผืดของกล้ามเนื้อที่ยกเปลือกตาภายหลังอุบัติเหตุหรือการผ่าตัด การถูขยี้ตาบ่อยๆ การใช้คอนแทกเลนส์ชนิดแข็งเป็นเวลานาน หรือโรคที่พบได้น้อยและถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น โรคกล้ามเนื้อลีบฝ่อ โรคไมโตรคอนเดรียผิดปกติ เป็นต้น รวมทั้งอาจพบเป็นอาการเริ่มต้นของโรคที่พบได้น้อยแต่มีความร้ายแรงได้ เช่น ภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพองกดทับเส้นประสาทสมองเส้นที่ 3 ภาวะความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ เป็นต้น

“ผู้ที่มีหนังตาตกโดยเฉพาะเมื่อเป็นในตาข้างเดียวและมีการเกิดแบบฉับพลันการดำเนินโรคเร็วและมีอาการร่วมอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ ได้แก่ ปวดศีรษะ ปวดเบ้าตา ตามัวลง ภาพดับมืดชั่วขณะ ตาโปน ตาเข เห็นภาพซ้อน ตาแดง สู้แสงไม่ได้ หนังตาตกมีลักษณะไม่คงที่ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างเร่งด่วน” คุณหมอปรเมศวร์บอก

จักษุแพทย์อนุสาขาประสาทจักษุยังบอกด้วยว่า โรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันต่อเนื้อเยื่อตัวเองมีการสร้างแอนติบอดีต่อตัวรับสารสื่อประสาทบริเวณรอยต่อของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ ทำให้ประสิทธิภาพของการทำงานของกล้ามเนื้อลดลงเมื่อถูกกระตุ้น โดยเฉพาะเมื่อกระตุ้นซ้ำๆหรือใช้งานนานๆ อาการได้แก่ หนังตาตกข้างเดียวหรือสองข้าง อาจเท่าหรือไม่เท่ากันก็ได้ และอาจพบร่วมกับอาการภาพเบลอไม่ชัด ภาพซ้อน กลอกตาติด ตาเขได้

นอกจากนี้ ยังมีอาการจำเพาะที่สำคัญของโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงที่ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอ่อนแรงบริเวณอื่นๆร่วมด้วย ได้แก่ กลืนลำบาก หายใจเหนื่อย ยกแขนขาไม่ไหว เป็นต้น ดังนั้น ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม ไม่ควรรีบทำการผ่าตัดแก้ไขเปลือกตาในขณะที่อาการและการดำเนินโรคยังไม่คงที่ แนวทางการดูแลรักษาก่อนที่จะตัดสินใจเลือกแก้ไขโดยการผ่าตัดเพื่อยกเปลือกตาขึ้น ควรจะปรึกษาจักษุแพทย์โดยละเอียด.