ส่องเทรนด์การลงทุนในศิลปะไทย ทางเลือกใหม่ให้ผลตอบแทนเกินคาด




การลงทุนในศิลปะกำลังเป็นทางเลือกสำคัญที่ให้ผลตอบแทนดีทั่วโลก เฉพาะปี 2565 ตัวเลขเงินหมุนเวียนในการซื้อขายศิลปะทั่วโลกสูงถึง 2.3 ล้านล้านบาท รวมผลงาน 36.7 ล้านชิ้น โดยราคาของศิลปะทั่วอาเซียนเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอินโดนีเซีย, เวียดนาม และฟิลิปปินส์ มีการประมูลงานศิลปะด้วยมูลค่าสูงเป็นประวัติการณ์ ไม่ว่าจะเป็นผลงานของศิลปินอินโดนีเซีย “Raden Saleh” ทุบสถิติประมูลสูงลิ่ว 260 ล้านบาท, ผลงาน “Portrait de Mademoiselle Phuong” (1930) โดยศิลปินเวียดนาม “Mai Trung Thu” มีราคาประมูลถึง 77 ล้านบาท และผลงาน “Space Transfiguration” ของศิลปินฟิลิปปินส์ “José Joya” เคาะประมูลที่ 54 ล้านบาท ในขณะที่ประเทศไทยยังมีมูลค่างานศิลปะต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านเป็นเท่าตัว ทั้งๆที่ศิลปินไทยมีศักยภาพไม่ด้อยกว่าชาติไหน คนไทยควรใช้โอกาสนี้สะสมงานของศิลปินไทย เพื่อเป็นทางเลือกใหม่สร้างผลตอบแทนในอนาคต พร้อมช่วยขับเคลื่อนศิลปะไทยให้มีโอกาสได้ฉายแสงบนเวทีโลก

เพื่อส่งเสริมศิลปะไทยให้ก้าวไกลระดับโลก ประธานกลุ่มอาร์ต แทงก์ กรุ๊ป “เสริมคุณ คุณาวงศ์” เป็นโต้โผคัดสรรผลงานศิลปะชั้นเยี่ยมจากศิลปินเรืองนามต่างยุคสมัยของไทย 60 ชิ้นงาน นำมาจัดการประมูลครั้งใหญ่ ภายใต้ธีม “The Iconic Treasure” ในวันที่ 11 ก.ย.นี้ ณ TRUE ICON HALL Convention ชั้น 7 ศูนย์การค้าไอคอนสยาม โดยงานนี้เปิดให้ชมแบบ เอกซ์คลูซีฟที่ Private Gallery ภายในอาคาร CW Tower และชมเต็มรูปแบบ วันที่ 8-11 ก.ย. 2565 ณ TRUE ICON HALL Convention
หากจะเจาะลึกถึงแก่นการลงทุนในศิลปะไทย สามารถวิเคราะห์การแบ่งกลุ่มศิลปะไทยเป็น 4 กลุ่ม คือ “กลุ่มศิลปะไทยประเพณีเดิม (Thai Old Master)” นำโดยสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์, พระสรลักษณ์ลิขิต, ขรัวอินโข่ง, ครูทองอยู่ และครูคงแป๊ะ สองครูช่างประชันวาดกั้นม่านท้าฝีมือเขียนผนังสมัยรัชกาลที่ 3 ณ โบสถ์วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร ริมคลองบางกอกน้อย ผลงานศิลปะกลุ่มนี้มีจำนวนจำกัดมาก จึงไม่เกิดการหมุนเวียนในการสะสมและลงทุน

“กลุ่มศิลปะสมัยใหม่ในไทย (Thai Modern Art)” กลุ่มศิลปินที่ศึกษาต่อในต่างประเทศและกลับมาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะไทยโดยใช้เทคนิคตะวันตก อาทิ เฟื้อ หริพิทักษ์, เขียน ยิ้มศิริ, ชำเรือง วิเชียรเขตต์, ชลูด นิ่มเสมอ, ถวัลย์ ดัชนี และสมโภชน์ อุปอินทร์ มาจนถึงศิษย์รุ่นหลังของ “อ.ศิลป์ พีระศรี” เช่น จักรพันธุ์ โปษยกฤต, เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, ปัญญา วิจินธนสาร และเริงศักดิ์ บุณยวาณิชย์กุล เนื่องจากศิลปินจำนวนมากในกลุ่มนี้เสียชีวิตไปแล้ว ทำให้จำนวนของชิ้นงานจำกัด จึงมีแนวโน้มที่มูลค่าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ

“กลุ่มศิลปะร่วมสมัย (Thai Com temporary Art)” นำโดย มณเฑียร บุญมา, คามิน เลิศชัยประเสริฐ, นที อุตฤทธิ์, พิณรี สันพิทักษ์, อารยา ราษฎร์จําเริญสุข และฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ผู้ให้กำเนิดลัทธิศิลปะแขนงใหม่ “สุนทรีย ศาสตร์เกี่ยวเนื่อง” ถือเป็นหมุดหมายสำคัญในประวัติศาสตร์ศิลปะไทยในการก้าวไปสู่การยอมรับระดับโลก การลงทุนศิลปะในกลุ่มนี้เหมาะกับวิถีชีวิตสมัยใหม่

“กลุ่มศิลปิน Thai Art Now” เติบโตมาพร้อมยุคโซเชียลมีเดียที่เชื่อมโลกเป็นหนึ่งเดียว และการนำศิลปะผสานเชื่อมโยงกับสินค้าของใช้ประจำวัน โดยศิลปินไทยที่โดดเด่นคือ “ก้องกาน (กันตภณ เมธีกุล)” ทำงานร่วมกับจอห์นนี่ วอล์กเกอร์ กับหลุยส์ วิตตอง และ “ยูน-ปัณพัท เตชเมธากุล” ร่วมโปรเจกต์กับกุชชี่ ราคาผลงานของศิลปินกลุ่มนี้ยังอยู่หลักแสนต้นๆไปถึงหลักล้านต้นๆ ซึ่งถือเป็นราคาที่น่าลงทุน อาจมีความเสี่ยงบ้าง แต่เป็นกลุ่มที่ลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนไว เจ้าพ่อวงการอาร์ตไทยแนะว่า หากสนใจลงทุนในศิลปะไทยควรกำหนดแนวทางชัดเจน เช่น แบบคอนเซอร์เวทีฟวางน้ำหนักที่กลุ่มศิลปะสมัยใหม่ในไทย 60% และแบ่งไปกลุ่มอื่นๆ 40% หรือแบบแอกเกรสซีฟวางน้ำหนัก 60-70% ที่กลุ่มศิลปิน Thai Art Now ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มอื่นๆ.