ส่องเครื่องบินรบพญามังกร บินว่อนรอบเกาะไต้หวัน!




ความตึงเครียดแถวหมู่เกาะไต้หวัน จากการยั่วยุของอเมริกันต่อนโยบายจีนเดียว ทำให้สถานการณ์ในคาบสมุทรจีนตอนใต้ร้อนระอุขึ้นมาทันที และมีทีท่าว่าจะเกิดการกระทบกระทั่งกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อกองทัพจีนสั่งซ้อมรบด้วยกระสุนและจรวดของจริง โดยจะเริ่มต้นการซ้อมรบครั้งใหญ่รอบๆ เกาะไต้หวัน ตั้งแต่วันที่ 4 ไปจนถึงวันที่ 7 สิงหาคม 2565 มีการระดมพลมากมายทั้งบก เรือ อากาศ โดยเฉพาะกองทัพอากาศจีนที่มีเครื่องบินรบรุ่นใหม่ ซึ่งเข้าประจำการอยู่ในฐานบินทหารรอบๆ ชายฝั่งและสามารถบินเข้าไปในแผ่นดินไต้หวัน ด้วยเวลาบินเพียงแค่ 7 นาทีเท่านั้นเอง ล่าสุด ทางการจีนออกประกาศให้เครื่องบินทุกประเภท หลีกเลี่ยงการบินเข้าใกล้เกาะไต้หวันในระหว่างการซ้อมรบครั้งใหญ่

Chengdu J-20
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศจีนได้ใช้แนวทางการทหารที่โปร่งใสมากขึ้น แม้ว่าจะมีข้อมูลอย่างเป็นทางการเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับเครื่องบินล่องหนรุ่นใหม่อย่าง J-20 ซึ่งเป็นเครื่องบินรบพิสัยปานกลาง มีความสามารถในบินขับไล่ทางยุทธวิธี การโจมตีภาคพื้นดิน และใช้เวลาบินแค่ 7 นาที จากชายฝั่งเข้าไปยังผืนแผ่นดินของไต้หวัน เทคโนโลยีพรางตัวทำให้เครื่องขับไล่โจมตี J-20 ตรวจจับได้ยาก นับเป็นเครื่องบินรบอนาคตที่ก้าวล้ำมากที่สุดของกองทัพอากาศจีน และน่าจะมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับ F-22 Raptor บริษัท เฉิงตู แอร์คราฟท์ อินดัสทรี กรุ๊ป (Chengdu Aircraft Industry Group) (CAC) พัฒนาและสร้าง J-20 โดยใช้โครงสร้างหลักที่มีความคล้ายคลึงกับ F-35 ค่อนข้างมาก ขณะที่ลำตัว มีขนาดใหญ่กว่า F-22 ไม่มากนัก J-20 ใช้เครื่องยนต์แบบ Saturn 117s ที่ผลิตในรัสเซียจำนวน 2 เครื่องยนต์ ระบบเรดาร์เป็นแบบ Active Electronically Scanned Array (AESA)

J-20 เครื่องบินรบล่องหนรุ่นใหม่ของจีน ถูกออกแบบมาเพื่อแข่งขันกับเครื่องบินรบรุ่นที่ห้าของสหรัฐอเมริกาอย่าง F-22 Raptor รวมถึงเครื่องบินรบยุคอนาคตของรัสเซีย เช่น Su-57 คาดว่า การพัฒนาอากาศยานรบรุ่นนี้ ได้รับความช่วยเหลือจากบริษัท Mikoyan (Russia) การผลิตเบื้องต้นของเครื่องบินรบจีนรุ่นใหม่ เริ่มต้นขึ้นในปี 2015 มีการนำเทคโนโลยี Stealth จึงนับเป็นเครื่องบินรบล่องหนลำแรกของจีน ที่มีการส่งมอบให้กับกองทัพอากาศจีนในปี 2016 และนำมาใช้บินอย่างเป็นทางการในปี 2017 ปัจจุบัน เข้าประจำการในกองทัพอากาศจีน เพื่อเป็นกำลังรบหลักในการป้องกันประเทศ

Chengdu J-20 ออกแบบให้มีช่องติดตั้งอาวุธขนาดใหญ่สองตำแหน่ง สำหรับติดตั้งขีปนาวุธอากาศสู่อากาศระยะไกลและสองช่องเล็กเพื่อติดตั้งขีปนาวุธอากาศสู่อากาศระยะสั้น ขีปนาวุธจะถูกเก็บไว้ในลำตัวเพื่อลดการตรวจจับจากเรดาร์ นอกจากนี้ยังมีถังเชื้อเพลิงขนาดใหญ่สำหรับปฏิบัติการบินระยะไกล J-20 สามารถโหลดเชื้อเพลิงและอาวุธได้มากกว่า F-22 Raptor และมีขีดความสามารถในการปฏิบัติการด้วยความเร็วสูง เครื่องยนต์เทอร์โบแฟน WS-15 จำนวน 2 เครื่อง ทำความเร็วสูงสุดได้ 2.0 มัค หรือ 2,120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีเพดานบินสูงสุด 59,055 ฟุต พิสัยบินปฏิบัติการไกล 3,400 กิโลเมตร เทคโนโลยีใหม่ของการออกแบบพื้นผิวบังคับอันก้าวล้ำมีส่วนสำคัญที่ทำให้เครื่องบินขับไล่ล่องหน Chengdu J-20 Stealth Fighter มีความแตกต่างไปจากเครื่องบินรบทั่วไป หลักอากาศพลศาสตร์แบบใหม่ ประกอบไปด้วยระบบแอโรไดนามิกที่ถูกขัดเกลาในอุโมงค์ลม J-20 Stealth Fighter ใช้การออกแบบพื้นผิวสำหรับการสร้างแรงยกมหาศาล รวมถึงยังสามารถสร้างแรงกดได้เท่าที่ต้องการ และเมื่อวิศวกรการบินของกองทัพอากาศจีนได้ควบรวมแรงทั้งสองโดยออกแบบผิวพื้นของตัวเครื่องให้สามารถสร้างได้ทั้งแรงยกและแรงกดในระดับสูง ประสิทธิภาพทางการบินของ J-20 อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับเครื่องบินรบของสหรัฐอเมริกา

J-20 Stealth Fighter ใช้ชื่อโครงการว่า J-XX เริ่มต้นการวิจัยและพัฒนาในทศวรรษที่ 1990 โดยเริ่มต้นทำการทดสอบการบินในช่วงปลายปี 2010 กับเครื่องต้นแบบ J-XX และมีการคาดการณ์ว่า J20 Stealth Fighter จะเข้าประจำการประมาณปี 2017-2019 โดยจะเป็นเครื่องบินขับไล่โจมตีแบบล่องหนที่สามารถปฏิบัติการบินทางยุทธวิธีได้หลากหลาย เช่นเดียวกับเครื่องบินขับไล่ล่องหน F-35 ของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา ด้วยความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีการบิน J-20 จึงกลายเป็นเครื่องบินรบในยุคที่ 5 ที่มีเทคโนโลยีล่องหนหรือ Stealth เช่นเดียวกับ F-22 แร็พเตอร์, F-35 ไลท์นิ่ง II ของสหรัฐอเมริกา และ ซุคฮอย T-50 ของรัสเซีย โดย J-20 สามารถบรรทุกอาวุธและเชื้อเพลิงได้มากกว่า F-22 และมีพิสัยทำการ รวมถึงการโหลดอาวุธได้มากกว่าเครื่อง F-22 ทำให้ภารกิจของเครื่องบินขับไล่ J-20 Stealth Fighter มีความหลากหลายมากกว่า ทั้งการบินโจมตีระยะไกลและการบรรทุกอาวุธจำนวนมาก

Shenyang J-11
Shenyang J-11 หรือ Jian-11 เป็นเครื่องบินขับไล่หลายบทบาทของกองทัพอากาศจีน ผลิตโดย Shenyang Aircraft Corporation (SAC) เป็นอากาศยานรบรุ่นใหม่ ที่ได้รับการแผนแบบมาเครื่องบินขับไล่ Sukhoi Su-27SK (ชื่อรหัส Nato: Flanker) เครื่องบินขับไล่ J-11 เข้าประจำการในกองทัพอากาศ-กองทัพปลดแอกประชาชน (PLAAF) 

Shenyang J-11 เป็นเครื่องบินรบที่มีความคล่องตัวสูง สามารถทำภารกิจโจมตีทางอากาศและโจมตีภาคพื้นดินได้อย่างหลากหลาย Sukhoi และ SAC ได้ลงนามในสัญญาก่อสร้าง มูลค่า 2.5 พันล้านดอลลาร์ เพื่อร่วมผลิตเครื่องบินขับไล่รุ่นนี้ จำนวน 200 ลำ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1996 ส่วนหนึ่งของสัญญานี้ บริษัท Sukhoi ของรัสเซีย รับผิดชอบในการจัดหาส่วนประกอบหลัก โครงเครื่องบินของ J-11 ถูกแผนแบบมาจาก Su-27SK ส่วนของลำตัวเครื่องบินรวมห้องนักบิน ส่วนเรดาร์ และช่องติดตั้งระบบ avionics ทำจากไทเทเนียมและอะลูมิเนียมอัลลอย ชิ้นส่วนหลักถูกผลิตในรัสเซียแล้วนำมาประกอบในจีน ส่วนการติดตั้งระบบควบคุมการบินและระบบอาวุธทำในจีนทั้งหมด

J-11 มีความยาว 21.9 ม. ปีกกว้าง 14.7 ม. และสูง 5.9 ม. พื้นที่ปีกของเครื่องบินคือ 62 ตร.ม. มีน้ำหนักบินขึ้นสูงสุด 33,000 กิโลกรัม ห้องนักบินแบบ glass cockpit ของ J-11 รองรับนักบินหนึ่งนาย มาพร้อมจอแสดงผลมัลติฟังก์ชันสี (MFDs) จอภาพบนกระจกหน้า (HUD) ระบบป้องกันภาพสั่นไหวติดตั้งบนหมวกบินนิรภัย (HMS) และระบบควบคุมการบินแบบดิจิทัลที่มีซอฟต์แวร์ก้าวล้ำ ชุดอุปกรณ์ avionics ควบรวมระบบตรวจสอบและพิสูจน์ฝ่าย IFF, ระบบอ้างอิงภูมิประเทศและควบคุมทิศทาง, ระบบติดตามและค้นหาทิศทางของเป้าหมายแบบอัตโนมัติ, ระบบค้นหาและติดตามเป้าหมายด้วยแสงเลเซอร์, ระบบนำทาง INS/GPS, เรดาร์ควบคุมการยิง และเรดาร์แบบ pulse-Doppler ระบบตรวจสอบอัตโนมัติบนเครื่อง ประกอบด้วยระบบแจ้งเตือนล่วงหน้า ระบบบันทึกข้อมูลเที่ยวบิน และอุปกรณ์เตือนสถานการณ์ฉุกเฉิน

อาวุธของ Shenyang J-11 มีการติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 30 มม. GSh-30-1 ขีปนาวุธอากาศสู่อากาศ นำวิถีด้วยเรดาร์ PL-12, ขีปนาวุธอากาศสู่อากาศระยะประชิด PL-9, ขีปนาวุธนำวิถีอากาศสู่อากาศ (AAM), ขีปนาวุธอากาศสู่อากาศ PL-8, ขีปนาวุธอากาศสู่อากาศพิสัยกลาง Vympel R-77, ขีปนาวุธอากาศสู่อากาศพิสัยกลาง Vympel R-27 และขีปนาวุธอากาศสู่อากาศพิสัยใกล้ Vympel R-73 – ขีปนาวุธสู่อากาศ PL-12 บรรทุกหัวรบแบบกระจายตัวด้วยระเบิดแรงสูง เครื่องยิงจรวดแบบกระเปาะ และลูกระเบิด cluster bombs ขนาด 500 กิโลกรัม

J-11 ใช้เครื่องยนต์เทอร์โบแฟน Lyulka AL-31F หรือ FWS-10A Taihang จำนวน 2 เครื่อง แต่ละเครื่องยนต์ มีแรงขับดันมากถึง 75.22kN / 89.17kN ส่วนแรงขับดันแบบจุดระเบิด afterburner thrust ที่ 123kN / 132kN ต่อมา กองทัพอากาศจีน พัฒนาเครื่องยนต์เทอร์โบแฟน FWS-10A TaiHang และทำการเปิดตัวในงานแสดงแสนยานุภาพ Zhuhai Air Show ครั้งที่ 6 เมื่อปี 2549 เชื่อกันว่า เครื่องยนต์รุ่นนี้แผนแบบมาจากครื่องยนต์เทอร์โบแฟน AL-31F ที่ผลิตในรัสเซีย ในแง่ของเทคโนโลยีและประสิทธิภาพ J-11 มีเพดานบินสูงสุดมากถึง 19,000 เมตร (19 กิโลเมตรเหนือพื้นดิน) อัตราการไต่ระดับความสูง 300m/s ความเร็วสูงสุด 2.35 มัค หรือ 2,870 กิโลเมตร พิสัยบิน (บินไกล) 3,530 กิโลเมตร ความเร็วสูงสุดในการบินที่ระดับน้ำทะเลโดยไม่มีอาวุธภายนอกอยู่ที่ 1,400 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

Sukhoi Su-30 MMK
เครื่องบินขับไล่ Sukhoi Su-30 ที่มีชื่อรหัสว่า “Flanker-C/G/H” เป็นเครื่องบินหลายบทบาทแบบสองที่นั่งที่คล่องแคล่วว่องไวสูง สร้างโดย Sukhoi Aviation Corporation เปิดตัวในปี 2012 เครื่องบิน Flanker-C /G/H สามารถนำไปใช้ในการครองน่านฟ้า และการปฏิบัติการทางอากาศภายใต้สภาพอากาศที่รุนแรง มีสามรุ่นของ Su-30 ซึ่งสร้างขึ้นโดยสององค์กรที่แตกต่างกัน Su-30MKK และ Su-30MK2 สร้างขึ้นโดย KnAAPO เพื่อส่งออกไปยังจีน เวเนซุเอลา อินโดนีเซีย และยูกันดา ในทางกลับกัน Su-30MKI ได้รับการพัฒนาโดย Irkut เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการโจมตีภาคพื้นดิน หลังจากการล่มสลายของอดีตสหภาพโซเวียต โครงการทางทหารทั้งหมดถูกยกเลิก แต่เครื่อง Sukhoi Su-30 MMK ได้ขจัดข้อสงสัยของผู้เชี่ยวชาญทางทหาร เกี่ยวกับขีดความสามารถในการพัฒนาเครื่องบินขับไล่ขั้นสูงของกองทัพอากาศจีน

Su-30 MMK เป็นเครื่องบินขับไล่ไอพ่นสองเครื่องยนต์ที่เร็วและมีความคล่องตัวสูง เป็นส่วนหนึ่งของอากาศยานรบในตระกูล Sukhoi Flanker ของรัสเซีย ซึ่งรวมถึง Su-27, Su-30, Su-33, Su-34 และ Su-35 สมรรถนะ มีประสิทธิภาพสูงในการบินรบทุกสภาพอากาศ การโจมตีภาคพื้นดิน และความสามารถในการต่อสู้กับเครื่องบินขับไล่ของฝั่งตะวันตก คู่แข่งของอเมริกันที่ใกล้เคียงกับมันมากที่สุด คือ เครื่องบินขับไล่ F-15E Strike Eagle ยอดส่งออกของ Su-30 จำนวนมากแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการพัฒนาขีดความสามารถ กับหลายประเทศที่ซื้อไปปฏิบัติการในกองทัพอากาศ เช่น อินเดีย เวียดนาม ยูกันดา อินโดนีเซีย และเวเนซุเอลา ส่วนกองทัพอากาศจีนใช้ Su-30 รุ่น MKK2

Xi’an H-6 (กองทัพอากาศจีน : Hong-6 )
นี่คือเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ที่แผนแบบมาจากเครื่องบินทิ้งระเบิด Tu-16 ของอดีตสหภาพโซเวียต การส่งมอบ Tu-16 ไปยังประเทศจีน เริ่มขึ้นในปี 2501 ต่อมา มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมผลิตกับอดีตสหภาพโซเวียต ในช่วงในปลายทศวรรษ 1950 โดยบริษัท Xi’an Aircraft Industrial Corporation (XAC) ผลิตเครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่นนี้ ในชื่อ “H-6” และทำการขึ้นบินครั้งแรกในปี 2502 จนถึงปี 2563 กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน มี Xi’an H-6 ประจำการอยู่ถึง 231 ลำ

Xi’an H-6 รุ่นล่าสุดคือ H-6K ซึ่งเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิด ที่ออกแบบใหม่ทั้งหมด สามารถเติมเชื้อเพลิงทางอากาศและบรรทุกขีปนาวุธร่อนแบบปล่อยกลางอากาศได้ วิศวกรการบิน เหอ เซิ้งเฉียง หัวหน้าทีมวิจัยและพัฒนาเครื่องบิน H-6 ของกลุ่มรัฐวิสาหกิจอุตสาหกรรมอากาศยานจีน หรือ Aviation Industry Corporation of China (AVIC) เปิดเผยในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า เครื่องบินทิ้งระเบิด H-6K ได้รับการปรับปรุงใหม่ ซึ่งเป็นรุ่นที่ตอบสนองตรงต่อความต้องการของกองทัพประชาชนจีน ด้วยระบบต่างๆ ที่มีความทันสมัย H-6K ถูกแผนแบบให้เป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดหนักพิสัยปฏิบัติการปานกลาง-ไกล ที่ตอบสนองต่อระบบยุทโธปกรณ์ของกองทัพอากาศจีน มีการปรับปรุงหลักๆ คือความก้าวหน้าเกี่ยวกับเครื่องยนต์ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ การปรับแต่งและออกแบบห้องนักบิน ช่วยลดภาระของนักบิน รวมทั้งมีการแบ่งงานที่ชัดเจน เนื่องจากในสภาพแวดล้อมการสู้รบ จำเป็นต้องรับรองความปลอดภัยในการบินและการโจมตีที่แม่นยำอย่างสมบูรณ์แบบ ในขณะเดียวกันก็สามารถรับประกันการปฏิบัติของนักบินในการบินเจาะแนวรับได้อย่างราบรื่นรวมทั้งการเผชิญหน้ากับการจู่โจมของเครื่องบินขับไล่ฝ่ายศัตรู ความสามารถในการรับข้อมูล ซึ่งได้รับการปรับปรุงอย่างมากเมื่อเทียบกับเครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่นก่อนๆ ถึงระดับของเครื่องบินรบรุ่นที่ 3 หรือแม้แต่รุ่นที่ 4

Xi’an H-6K สามารถบรรทุกจรวดร่อน (cruise missile) ทั้งประเภทโจมตีภาคพื้นดินและประเภทต่อต้านเรือผิวน้ำได้หลายหลากแบบ รวมถึงจรวดนำวิถีที่มีความแม่นยำสูง เช่น ติดตั้งจรวดร่อนแบบยิงจากอากาศที่มีพิสัยทำการ 1,600 กิโลเมตร ใต้ปีกมี 6 จุดสำหรับติดตั้งขีปนาวุธ สามารถบรรทุกขีปนาวุธต่อต้านเรือผิวน้ำ CJ-10A พร้อมหัวรบธรรมดาหรือหัวรบนิวเคลียร์ สำหรับ CJ-10 เป็นขีปนาวุธโจมตีระยะไกลที่พัฒนาขึ้นในประเทศจีน ได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อตอบโต้กองเรือบรรทุกเครื่องบินของกองทัพเรือสหรัฐฯ CJ-10A มีพิสัยปฏิบัติการไกล 2,000-2,200 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังสามารถบรรทุกขีปนาวุธต่อต้านเรือรบ YL-12 อาวุธปล่อยจากอากาศยานเพื่อต่อต้านเรือผิวน้ำรุ่นดังกล่าว สามารถกระทบเป้าหมายอย่างแม่นยำที่ระยะไกลถึง 400 กิโลเมตร 

เครื่องยนต์เทอร์โบแฟน D-30KP-2 ของรัสเซีย แต่มีการยกระดับความสามารถ โดยลงมือปรับปรุงทางวิศวกรรม เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องยนต์ที่ทำในประเทศจีนให้ดีกว่าเดิม เครื่องยนต์รุ่นใหม่ มีแรงขับที่มากขึ้น ทำให้ H-6K มีน้ำหนักบรรทุกสูงสุดขณะขึ้นบินสูงกว่าเดิม มีอัตราส่วนน้ำหนักต่อแรงขับที่ดีขึ้น ส่งผลให้ประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงและระยะการใช้งานเพิ่มขึ้น ช่องเก็บลูกระเบิดถูกออกแบบใหม่ให้กลายเป็นถังเชื้อเพลิง ทำให้ H-6K บินได้ไกลมากกว่า H-6 รุ่นก่อน โดยมีพิสัยปฏิบัติการไกล 3,500 กิโลเมตร. 

อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail [email protected]
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/