ส่องรถยนต์ไฟฟ้าห้าแบรนด์ยอดนิยมของคนไทย




การเลือกรถยนต์ไฟฟ้าหมายถึงการปรับเปลี่ยนวงจรของการเดินทางด้วยยานพาหนะแบบใหม่ที่ใช้ระบบขับเคลื่อนไร้มลพิษ ค่าเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันที่ทำให้คนที่กำลังมองหายานพาหนะคันใหม่หันไปหารถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น งานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการพุ่งแรงแซงโค้งด้วยรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่มีราคาไม่แพง จากการปรับลดอัตราภาษีของภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนทำให้รถยนต์ไฟฟ้าได้รับความแพร่หลายอย่างรวดเร็วในประเทศไทยเพื่อก้าวขึ้นเป็นผู้นำในการประกอบรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในภูมิภาคนี้ และนี่คือรถยนต์ไฟฟ้าห้าแบรนด์ดังที่คนไทยกำลังให้ความสนใจ 

อันดับที่ 1 Tesla
อีลอน มัสก์ ได้สร้างสาวกผู้จงรักภักดีจำนวนมากในโลกแห่งยานยนต์พลังงานสะอาด หนึ่งในแฟนคลับที่เหนียวแน่นที่สุดก็คือประเทศไทย มีคนไทยจำนวนไม่น้อยให้ความสนใจในแบรนด์ที่ขายรถไฟฟ้าในไทยได้น้อยอย่าง Tesla รถยนต์ไฟฟ้าของอีลอนในรูปแบบของการนำเข้าจากผู้นำเข้าอิสระที่ขายได้ดีที่สุดและพบเห็นได้บ่อยที่สุดก็คือ Tesla Model 3 ตามด้วย Model S โดยมีของหายากอย่าง Model Y และ X ซึ่งไม่น่าจะมีวิ่งเกิน 5 คันในกรุงเทพมหานคร ความนิยมในแบรนด์ เกิดจากการบุกเบิกรถยนต์ไฟฟ้าจนประสบความสำเร็จ ความสามารถในการทำระยะทาง และเทคโนโลยีระบบขับอัตโนมัติสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ไม่อยากขับรถเองอีกต่อไป ส่วนรูปทรงและงานตกแต่งภายใน ตลอดจนความเนี้ยบในงานประกอบ ยังคงตามหลังพวกเยอรมันอยู่พอสมควร

อันดับที่ 2 ORA
แบรนด์แยกย่อยของ GWM เกรทวอลล์ มอเตอร์ ที่ขายเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเดียวถือกำเนิดขึ้นมาไม่นานแต่ได้รับความนิยมอย่างมากในไทย เมื่อทีมการตลาดของ GWM เชื่อมโยงความน่ารักและรูปแบบที่ทันสมัยผนวกเข้ากับระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าและราคาที่พอจะจับต้องได้  ORA Good Cat มีให้เลือกสามรุ่นสามระดับราคา ภาษีใหม่ทำให้ ORA เสียรังวัดไปพอสมควร เนื่องจากกดราคาแล้วก็ยังแพงกว่าคู่ต่อสู้อย่าง MG ZS EV และ MG EP รุ่น 400 Tech ราคา 828,500 บาท และ 400 Pro ราคา 898,500 บาท ทำระยะทางได้ 400 กิโลเมตร ส่วน 500 Ultra ราคา 1,038,500 บาท ไปได้ไกลเกือบๆ 500 กิโลเมตร อีกไม่นานก็จะมีน้องใหม่คันเล็กน่ารักอย่าง ORA Black Cat ออกมาขายเพื่อเอาใจวัยรุ่นที่อยากได้รถยนต์ไฟฟ้าแนวคิขุ ถ้า GWM ปรับให้รถมีความเสถียรมากกว่านี้ ตำแหน่งเบอร์หนึ่งยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าคงไม่หนีไปไหน ขอให้รีบลงมือทำเร็วๆ ก็แล้วกัน 

อันดับที่ 3 Volvo 
ค่ายไวกิ้งแต่มีเจ้าของเป็น Geely จากจีนแผ่นดินใหญ่ การชุบชีวิตให้ Volvo กลับมาเกิดใหม่อีกครั้งด้วยรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดรวมถึงรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่คันแรกของแบรนด์อย่าง Volvo XC40 Recharge Pure Electric และสุดหล่อไฟฟ้าหลังคาลาดอย่าง Volvo C40 Coupe Recharge Pure Electric Crossover Coupe ทั้งสองรุ่นมีประสิทธิภาพที่ใกล้เคียงกัน XC40 Recharge ติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้า กำลัง 408 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 660 นิวตันเมตร แบตเตอรี่ 78 kWh ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ชาร์จแบตฯ เต็มไปไกล 400 กิโลเมตร ราคา 2,590,000 บาท ส่วน New Volvo C40 Recharge Pure Electric ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าที่รับแหล่งพลังงานจากแบตเตอรี่ สมรรถนะการขับ มอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ Dual Motor AWD ให้กำลังสูงสุด 408 แรงม้า แรงบิด 660 นิวตันเมตร อัตราเร่งจาก 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงใน 4.7 วินาที ความเร็วสูงสุด 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะทางการขับต่อการชาร์จแบตเตอรี่จนเต็มไกล 500 กิโลเมตร แบตเตอรี่มีระบบรองรับการชาร์จเร็ว DC ใช้เวลาการชาร์จจาก 0-80% แค่ 37 นาที ระบบการขับขี่แบบ One Pedal Drive ที่ให้การเร่ง ชะลอ และเบรก ทำได้ด้วยแป้นเหยียบเพียงแป้นเดียว และเริ่มขับโดยไม่ต้องกดปุ่มสตาร์ต ราคา 2,690,000 บาท

อันดับที่ 4 Toyota 
ตัวเป็นๆ ของครอสโอเวอร์ไฟฟ้า Toyota bZ4X ที่นำมาจัดแสดงในงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ บ่งบอกถึงทิศทางในการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทย ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ด้วยรถไฟฟ้ารุ่นหัวหมู่ทะลวงฟันอย่าง bZ4X ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนงานยานยนต์พลังงานไฟฟ้า 30 รุ่นที่จะทยอยเปิดตัวนับจากนี้ไปจนถึงปี 2030 Toyota bZ4X ซึ่งมีแผนที่จะวางจำหน่ายในไทยช่วงปลายปี 2022 มีให้เลือกสองรุ่น ขึ้นอยู่กับจำนวนมอเตอร์ไฟฟ้า รุ่นพื้นฐานขับเคลื่อนล้อหน้า ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเพียงตัวเดียว ที่ติดตั้งบนเพลาหน้า มีกำลังสูงสุด 201 แรงม้า (150 กิโลวัตต์) และแรงบิดแบบฉับพลันทันทีในระดับ 195 ปอนด์-ฟุต (265 นิวตัน-เมตร) รุ่น FWD ขับเคลื่อนล้อหน้า มอเตอร์เดี่ยวของ Toyota bZ4X สามารถเร่งความเร็วจากจุดหยุดนิ่ง หรือ 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใน 8.4 วินาที และเข้าถึงความเร็วสูงสุดที่ 99 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไปให้เร็วกว่านั้นก็ได้ แต่มันจะรับประทานแบตเตอรี่ วิศวกรของ Toyota จึงจำกัดความเร็วของ bZ4X ไว้แค่ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วน bZ4X รุ่นขับเคลื่อนสี่ล้อใช้ มอเตอร์ไฟฟ้าสองตัว หนึ่งตัวสำหรับเพลาหน้า อีกตัวขับเคลื่อนเพลาหลัง มอเตอร์คู่ที่แยกกำลังกันปั่นล้อ มีม้าให้ใช้ 215 ตัว (160 กิโลวัตต์) และแรงบิด 248 ปอนด์-ฟุต หรือ 336 นิวตันเมตร Toyota กล่าวว่า แรงบิดดังกล่าวเพียงพอที่จะสร้างอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใน 7.7 วินาที ในขณะที่ความเร็วสูงสุดยังคงไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับรุ่นเริ่มต้นที่โดนจำกัดเอาไว้แค่ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สิ่งหนึ่งที่เป็นไดนามิกส์สำคัญ และควรค่าแก่การชี้ให้เห็นก็คือรุ่นท็อปของ bZ4X มีระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ AWD ที่พัฒนาร่วมกับ Subaru ส่วนราคาค่าตัวน่าจะเกิน 1.7 ล้านบาท หรือในอนาคต ถ้า Toyota มีการเปิดไลน์ประกอบรถยนต์ไฟฟ้าในไทย ราคาของ bZ4X ก็จะถูกลงไปอีก รถยนต์ของพี่โตนั้นมีดีตรงที่ความน่าเชื่อถือและความคงทน รถยนต์ไฟฟ้าที่พัฒนามานาน 30 ปีแล้วแต่ไม่เป็นข่าว พอประธานบริษัทออกมาแถลงเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมาว่าจะผลิตรถไฟฟ้าออกมาขายมากถึง 30 รุ่น ภายใน 8 ปีนี้ก็สร้างความฮือฮาได้ไม่น้อยเลยทีเดียว 

อันดับที่ 5 BMW
BMW i มียานยนต์พลังงานไฟฟ้าเข้ามาขายในไทยเร็วกว่า Mercedes-EQ เริ่มจาก BMW iX3 เอสยูวีพลังงานไฟฟ้า ราคา 3,399,000 บาท เป็นรถยนต์อเนกประสงค์ ขับเคลื่อนสี่ล้อพลังงานไฟฟ้า มอเตอร์ไฟฟ้ามีกำลังสูงสุด 210 กิโลวัตต์ หรือ 286 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 400 นิวตันเมตร มอเตอร์ไฟฟ้าของ iX3 มีประสิทธิภาพสูงกว่าในยานยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่นอื่นๆ จากความสามารถในการคงแรงบิดระหว่างรอบสูง มีอัตราเร่งจาก 0 ถึง 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ภายใน 6.8 วินาที ทำความเร็วสูงสุดได้ 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (จำกัดความเร็วเพื่อลดการสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้า) มอเตอร์มีความหนาแน่นของพลังงานมากกว่า BMW i3 ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ตามข้อมูลของ BMW นั้นมีประสิทธิภาพ 93 เปอร์เซ็นต์ (เครื่องยนต์สันดาปอยู่ที่ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์)

BMW iX
นี่คือรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่มีคนอยากได้มากที่สุดหากไม่ติดกับราคาค่าตัวที่สูงถึง 5,999,000 บาท (นำเข้า CBU) BMW Group แสดงตัวเลขการใช้พลังงานน้อยกว่า 21 กิโลวัตต์ชั่วโมง/100 กิโลเมตร และบรรลุเป้าหมายในการชาร์จหนึ่งครั้งที่สามารถทำระยะทางได้มากกว่า 600 กิโลเมตร (ทั้งสองอย่างคำนวณจากการทดสอบของ WLTP) ด้วยฟังก์ชันชาร์จเร็ว DC (สูงสุด 200 กิโลวัตต์) ชาร์จไฟยัดใส่แบตได้เร็วแค่ 40 นาที แบตเตอรี่ก็จะมีประจุไฟพร้อมใช้งานมากถึง 80% BMW กล่าวว่า iX ที่มีระบบชาร์จเร็ว สามารถเพิ่มระยะทางมากกว่า 120 กม. โดยการชาร์จในเวลาเพียงสิบนาที การชาร์จด้วยพลังไฟกระแสแรงสูงทำให้วิศวกรต้องจัดการกับระบบระบายความร้อนของชุดแบตฯ เพื่อทำให้การชาร์จเร็วมีประสิทธิภาพสูงสุด ส่วนการชาร์จไฟผ่านอุปกรณ์ Wallbox ขนาด 11 kW ใช้เวลาประมาณ 10 ชั่วโมง ในการชาร์จแบตเตอรี่จาก 0-100% ในความเป็นจริง BMW อ้างว่า ถ้าระบบระบายความร้อนของชุดแบตฯ ถูกปรับให้มีประสิทธิภาพมากพอ จะสามารถชาร์จแบตเตอรี่ได้ตั้งแต่ 10 ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ในเวลาน้อยกว่า 40 นาทีด้วยซ้ำ! iX 50 eDRIVE ติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้าคู่สองตัว ที่เพลาหน้าและเพลาหลัง ขับเคลื่อนสี่ล้อด้วยระบบ xDRIVE มอเตอร์ไฟฟ้าแฝด ให้กำลัง 523 แรงม้า แรงบิดสูงสุดมากถึง 765 นิวตันเมตร แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ความจุ 111.5 กิโลวัตต์/ชั่วโมง เมื่อชาร์จไฟจนเต็ม iX 50eDRIVE สามารถขับใช้งานได้ไกลถึง 550-630 กิโลเมตร แบตเตอรี่ลิเทียมพร้อมระบบระบายความร้อนที่มีประสิทธิภาพ สามารถชาร์จเร็วด้วยระบบชาร์จไฟแบบ DC ได้ 200 กิโลวัตต์/ชั่วโมง อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใน 4.6 วินาที ความเร็วสูงสุด 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ชาร์จไฟผ่าน BMW Wall Box จนเต็ม 100% ใช้เวลาในการชาร์จนาน 7.5 ชั่วโมง ส่วนการชาร์จเร็วแบบ DC 200 Kwh ได้ไฟ 80% ในเวลาประมาณ 30 นาที (แบตเตอรี่มีระบบระบายความร้อน) และเมื่อชาร์จแบตเตอรี่ด้วยการชาร์จแบบ DC 50 กิโลวัตต์ ใช้เวลา 21 นาที จะวิ่งต่อได้ 100 กิโลเมตร iX ติดตั้งระบบป้องกันการลื่นไถลของล้อ (Near-actuator wheel slip limitation) ควบคู่กับระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ ป้องกันการลื่นไถลของล้อและเพิ่มความเสถียรภาพในการควบคุม

BMW i4 40/M50
BMW i4 eDrive40 M Sport ราคา 4,499,000 บาท ส่วนรุ่นสูงสุด BMW i4 M50 ราคาทะยานขึ้นไปถึง 4,999,000 บาท ทั้งสองหล่อ เป็นรถยนต์ไฟฟ้านำเข้าจากเยอรมนี สำหรับ BMW i4 M50 เป็นรถยนต์ BMW M รุ่นแรกจาก M GmbH พร้อมระบบขับเคลื่อนปราศจากมลพิษ (อัตราการใช้ไฟฟ้ารวม 22.5 – 18 กิโลวัตต์ชั่วโมง / 100 กิโลเมตร ตามมาตรฐาน WLTP และการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 0 กรัม / กิโลเมตร) ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าสองตัว บริเวณเพลาหน้าและด้านหลังของรถ ส่งพลังได้ถึง 400 กิโลวัตต์ หรือแรงสุดกู่ด้วยกำลังที่มากถึง 544 แรงม้า ชาร์จแบตเตอรี่จนเต็ม ทำระยะทางได้สูงสุด 521 กิโลเมตร วิ่งจริง 480 กิโลเมตรก็ยิ้มหน้าบานแล้ว ส่วนรุ่นที่รองลงมาอย่าง BMW i4 eDrive 40 M Sport ขวัญใจไฮโซ ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 250 กิโลวัตต์ หรือ 340 แรงม้า เข้ากับระบบขับเคลื่อนล้อหลังแบบคลาสสิก ชาร์จแบตเตอรี่จนเต็ม ทำระยะทางสูงสุดถึง 590 กิโลเมตร หักกลบลบหนี้ วิ่งจริง 500 กิโลเมตรได้อย่างสบายๆ 

รถยนต์ไฟฟ้าในยุคแรกที่กำลังแพร่หลายยังคงเป็นได้แค่รถยนต์คันที่สองของครอบครัว จากความสามารถในการทำระยะทาง ซึ่งใกล้เคียงกับรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิง แต่มีค่าใช้จ่ายในการชาร์จพลังงานที่ถูกกว่า รอนานกว่าการเติมน้ำมันและยังมีสถานีบริการชาร์จกระแสไฟฟ้าตามพื้นที่ห่างไกลน้อยเกินไป มันเหมาะสมมากกับการใช้งานในเมืองที่ไม่ต้องกังวลว่าจะหาสถานีชาร์จไฟไม่ได้ แต่ถ้าออกทางไกลก็ต้องวางแผนการเดินทางให้ดีๆ เผื่อเวลาที่จะไปถึงและเตรียมความพร้อมกับการหาสถานีชาร์จไฟที่มีอยู่ทั่วไปตามหัวเมืองใหญ่ในประเทศ สักวันหนึ่งอีกไม่นานนับต่อจากนี้ รถยนต์ไฟฟ้าก็จะเข้ามาแทนที่รถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงโดยสมบูรณ์ แต่ในยุคเริ่มต้นของการเดินทางด้วยยานยนต์ไฟฟ้า รถยนต์พลังงานสะอาดเหล่านี้ทำได้เพียงแค่เป็นรถยนต์คันที่สองของครอบครัวเท่านั้นละครับ อย่าลืมเผื่อใจเอาไว้ในเรื่องของความไม่เสถียรต่างๆ ที่เราอาจต้องพบเจอ ลดการใช้งานระบบช่วยขับ กลับมาระแวดระวังด้วยตัวเอง ไม่เลื่อนลอยเวลาอยู่หลังพวงมาลัย เพราะระบบต่างๆ คอยประคับประคองจนทำให้คุณขับรถแย่ขึ้นแบบไม่รู้ตัว.

อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail [email protected]
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358