สรุปยารักษาโควิด 4 ชนิด อาการหนักเบา ได้กินยาตัวไหนบ้าง




ยารักษาโควิด 4 ชนิด คือ ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) เรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) โมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) แพกซ์โลวิด (Paxlovid) เป็นยาที่อยู่ในแผนของกระทรวงสาธารณสุขไทย ในการนำมารักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่แต่ละคนจะได้กินยาต่างกัน ตามเงื่อนไขที่กรมการแพทย์กำหนดล่าสุดของ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565

เช็กอาการโควิดกับเงื่อนไขได้กินยารักษาโควิด 4 ชนิด

ผู้ติดเชื้อโควิดที่ไม่มีอาการ ให้รักษาแบบผู้ป่วยนอก และกักตัว โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ในการให้ยาฟ้าทะลายโจร

ผู้ติดเชื้อโควิดที่แสดงอาการ แต่ไม่มีปอดอักเสบ และไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง พิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์ โดยเร็วที่สุด

ผู้ติดเชื้อโควิดที่มีอาการเล็กน้อย และมีปัจจัยเสี่ยง หรือเป็นกลุ่มเสี่ยง มีโรคประจำตัว และมีเริ่มมีอาการปอดอักเสบ แบ่งการให้ยาดังนี้

-ไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับวัคซีน 1 เข็ม มีปัจจัยเสี่ยง 1 ข้อ ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ 5-10 วัน, ถ้ามีปัจจัยเสี่ยง 2 ข้อ หรือมากกว่า ให้ยาเรมเดซิเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ แพกซ์โลวิด
-ได้รับวัคซีน 2 เข็ม หรือมากกว่า มีปัจจัยเสี่ยงมากกว่าหรือ 1 ข้อ ให้ฟาวิพิราเวียร์ 5-10 วัน

ผู้ติดเชื้อโควิดที่อาการหนัก ปอดอักเสบ และอยู่ในภาวะออกซิเจนลดต่ำ หรือภาวะพร่องออกซิเจน ให้ยาเรมเดซิเวียร์ 5-10 วัน และหากมีแนวโน้มอาการมากขึ้นจะให้ยาสเตียรอยด์

ข้อห้ามการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ และแพกซ์โลวิด

ส่วนรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเงื่อนไขการให้ยารักษาโควิดที่ชื่อว่า โมลนูพิราเวียร์ ว่า ผู้ติดเชื้อโควิดต้องอายุเท่ากับหรือมากกว่า 60 ปี มีปัจจัยโรครุนแรง อาจทำให้เสียชีวิตอย่างน้อย 1 ข้อ คือ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจ และหลอดเลือด โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน ตับแข็ง ภาวะอ้วน และภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นต้น มีประวัติไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับ 1 เข็ม

ทั้งนี้ยาโมลนูพิราเวียร์ และแพกซ์โลวิด จะไม่ให้กินในสตรีมีครรภ์ จะเตรียมไว้สำหรับกลุ่มเสี่ยง คืออายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 โรคเรื้อรัง คือโรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน

แหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าสถานการณ์น่าเป็นห่วงคือผู้ติดเชื้อที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ แต่ก็มั่นใจได้ระดับหนึ่งว่ายารักษาโควิดอยู่ในสต๊อกมีเพียงพอ คือ ยาฟาวิพิราเวียร์ เรมเดซิเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ เพราะส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อเป็นสายพันธุ์โอมิครอนจะไม่แสดงอาการ คิดเป็นจำนวนกว่าครึ่งของผู้ติดเชื้อ

ส่วนยาที่ยังอยู่ระหว่างการส่งมอบคือแพกซ์โลวิดที่หวังว่าผู้ผลิต คือไฟเซอร์จะตกลงส่งมอบได้ทันช่วงสงกรานต์ โดยได้สั่งซื้อไปสำหรับรักษาผู้ติดเชื้อ 50,000 คน เน้นในกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มที่มีโรคประจำตัว และยังไม่ฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุด.