วิเคราะห์สุขภาพด้วยเอไอ เลียนแบบสมอง




ทุกวันนี้การได้รับข้อมูลในเชิงลึกเกี่ยวกับสุขภาพของคนเรา คือการต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือคลินิก แต่ในอนาคตสุขภาพของผู้คนอาจติดตามได้อย่างต่อเนื่องโดยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สวมใส่ได้ ซึ่งสามารถตรวจหาโรคได้แม้กระทั่งก่อนที่อาการจะเกิดขึ้น ดังนั้น นักวิจัยจึงพยายามพัฒนาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์แบบสวมใส่ได้ที่ไม่ก่อความรำคาญแก่ร่างกาย

ล่าสุด ซีฮง หวัง นักวิจัยจากวิทยาลัยวิศวกรรม โมเลกุลพริตซ์เกอร์ (PME) ของมหาวิทยาลัยชิคาโก ในสหรัฐอเมริกา เผยว่าได้เชื่อมโยงเทคโนโลยีที่สวมใส่ได้เข้ากับปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ และการเรียนรู้ของจักรกล จนพัฒนาชิปประมวลผลที่ยืดหยุ่นได้เพราะทำจากโพลีเมอร์และสารกึ่งตัวนำ ซึ่งจะใช้ประมวลผลข้อมูลโดยเลียนแบบสมองของมนุษย์ โดยมีเป้าหมายเพื่อบ่งชี้สุขภาพที่ซับซ้อนตั้งแต่ระดับของออกซิเจน น้ำตาล การเผาผลาญ รวมถึงโมเลกุลภูมิคุ้มกันในเลือดของคนเรา และกุญแจสำคัญอย่างหนึ่งคือทำให้เซ็นเซอร์เหล่านี้ปรับผสานให้เข้ากับผิวหนังได้อย่างลงตัว เรียกว่าเป็นแบนด์-เอด (Band-Aid) ที่ชาญฉลาด

ทีมได้ทดสอบอุปกรณ์ใหม่กับวิธีตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) ที่แสดงถึงกิจกรรมทางไฟฟ้าของหัวใจมนุษย์ ทีมเผยว่าได้ฝึกอุปกรณ์เพื่อจำแนกการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจออกเป็น 5 ประเภท ประกอบด้วยสัญญาณที่แข็งแรง และสัญญาณที่ผิดปกติ 4 ประเภท ซึ่งไม่ว่าชิปจะยืดหรืองอหรืออยู่ในสภาพปกติก็ตาม ทีมพบว่าชิปสามารถจำแนกการเต้นของหัวใจได้อย่างแม่นยำ อย่างไรก็ตาม ยังต้องฝึกการทดสอบในการประมวลผลด้านสุขภาพและโรคต่างๆ ต่อไป เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เสถียรทั้งความแม่นยำและประสิทธิภาพ.

(Credit : Wang Group)