วิธียื่นภาษีออนไลน์ 2565 จากภาษีเงินได้ปี 2564




ฤดูกาลยื่นภาษี 2565 เริ่มแล้ว การยื่นภาษีเป็นหน้าที่ของประชาชนที่มีรายได้ การยื่นภาษีในแต่ละปีนี้เริ่มวันที่ 1 มกราคม ถึง 8 เมษายน 2565 วิธีการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้นทำได้ด้วยตัวเองผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร ยิ่งกรอกรายละเอียดและส่งเอกสารเร็ว ก็จะยิ่งได้เงินคืนภาษีเร็วขึ้นด้วย

วิธียื่นภาษีออนไลน์ 2564

การยื่นภาษีในปี 2565 เป็นการใช้ข้อมูลเงินได้ของปีก่อน นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2564 ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง มีดังนี้

  • ชื่อ สกุล ของผู้ยื่นภาษี และคู่สมรส
  • เลขประจำตัวผู้เสียภาษีของบริษัทที่ทำงานอยู่ หรือนายจ้างที่จ่ายค่าจ้างอื่นๆ
  • ยอดเงินที่เป็นรายได้
  • ยอดที่จ่ายให้กับกองทุนต่างๆ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, SSF, RMF, LTF, กองทุนประกันสังคม, กองทุนการออมแห่งชาติ เป็นต้น
  • หนังสือรับรองการหักเสียภาษี ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ)
  • เลขบัตรประจำตัวประชาชนของคู่สมรส, บุตร, บิดามารดา ที่นำมากรอกยื่นเพื่อลดหย่อนภาษี
  • หนังสือรับรองการจ่ายเบี้ยประกันชีวิตของผู้ยื่นภาษี และประกันสุขภาพของบิดาหรือมารดาที่นำมายื่นลดหย่อนภาษี
  • ข้อมูลการยื่นลดหย่อนภาษีอื่นๆ เช่น ใบเสร็จหรือหนังสือรับรองการบริจาคให้แก่สถานพยาบาล หรือ มูลนิธิที่กำหนด

ขั้นตอนในการยื่น ภ.ง.ด.90/91

มีทั้งหมด 5 ขั้นตอน

  1. กรอกข้อมูลผู้เสียภาษีเงินได้
  2. กรอกเงินได้
  3. กรอกค่าลดหย่อน
  4. ตรวจสอบข้อมูล
  5. ยืนยันข้อมูล

ควรเตรียมเอกสารต่างๆ ให้พร้อมก่อนยื่นกรอกข้อมูล เพื่อการขอคืนภาษีได้ครบถ้วย ถูกต้อง เนื่องจากมีการขอให้อัปโหลดเอกสารเพื่อยื่นยันในภายหลัง ดังนั้นหากกรอกตัวเลขไม่ถูกต้อง ก็ต้องยื่นคำร้องขอแก้ไขและอาจเสียค่าธรรมเนียมและค่าปรับภายหลัง

ขั้นตอนที่ 1 กรอกข้อมูลผู้เสียภาษีเงินได้

สิ่งที่ใช้ Log In ลงทะเบียน เข้าเว็บไซต์กรมสรรพากร

– เลขบัตรประจำตัวประชาชน
– รหัสผ่าน
– หมายเลขโทรศัพท์มือถือเพื่อรับ OTP

หลังจากนั้นตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคล ได้แก่ คำนำหน้าชื่อ ชื่อสกุล ที่อยู่ปัจจุบัน และข้อมูลการยื่นภาษีร่วมหรือแยกกับคู่สมรส เมื่อกรอกข้อมูลเสร็จแล้ว กด “ถัดไป” หรือ “บันทึกร่าง”

ขั้นตอนที่ 2 กรอกข้อมูลเงินได้

เตรียมเอกสาร 50 ทวิ ที่ได้จากการจ้างงานทั้งหมด ทั้งงานประจำจากนายจ้าง หรือฟรีแลนซ์ใช้หนังสือรับรองการหักภาษี มากรอกในรายได้ต่างๆ ดังนี้

1. รายได้จากเงินเดือน เป็นเงินเดือนหรือเงินได้ตามสัญญาจ้างแรงงาน มาตรา 40(1) หรือเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน

2. รายได้จากฟรีแลนซ์ รับจ้างทั่วไป วิชาชีพอิสระ เบี้ยประชุม หรือค่านายหน้า มาตรา 40(2) หรือ ค่าตอบแทนจากการประกอบวิชาชีพอิสระ วิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลปะ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม มาตรา 40(6)

3. รายได้จากทรัพย์สิน และการทำธุรกิจ ได้แก่

– ค่าลิขสิทธิ์ ค่าสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา (Royalty) และ ค่ากู๊ดวิลล์ (Goodwill) หรือ เงินได้รายปีที่ได้มาจากนิติกรรม และคำพิพากษาของศาล มาตรา 40(3)
– ค่าเช่า ค่าผิดสัญญาเช่าซื้อหรือซื้อขายเงินผ่อน มาตรา 40(5)
– เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ ที่ต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระ ในส่วนสำคัญ นอกจากเครื่องมือ มาตรา 40(7)
– เงินได้จากธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง และเงินได้อื่นๆ มาตรา 40(8)
– เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 40(8)

4. รายได้จากการลงทุน ได้แก่

– ดอกเบี้ย เงินปันผลจากบริษัทต่างประเทศ ประโยชน์ใดๆ จากคริปโตเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล เงินเพิ่มทุน เงินลดทุน มาตรา 40(4)
– เงินปันผล ส่วนแบ่งกำไรจากหุ้น/กองทุน มาตรา 40(4)(ข)
– เงินได้พึงประเมินที่ได้ใช้สิทธิเลือกเสียภาษีโดยไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่น
– กำไรจากการขายกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
– กำไรจากการขายกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)
– กำไรจากการขายกองทุนเพื่อการออม (SSF)

5. รายได้จากมรดกหรือได้รับมา เงินได้จากการให้หรือการรับ มาตรา 40(8)

ขั้นตอนที่ 3 กรอกค่าลดหย่อน

1. ค่าลดหย่อนส่วนตัว

ค่าลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว บุตร, บิดามารดา, เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา, อุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ

2. ค่าลดหย่อนยกเว้นด้านการออมและการลงทุน ได้แก่

– กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
– เงินสะสมกองทุนบำเหน็จบำนาญ (กบข.)
– เงินสะสมกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน
– เงินค่าชดเชยที่ได้รับตามกฎหมายแรงงาน (กรณีนำมารวมคำนวณภาษี)
– เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
– เงินสมทบกองทุนประกันสังคม
– เบี้ยประกันชีวิต
– เบี้ยประกันสุขภาพ
– เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ
– ค่าซื้อหน่วยลงทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
– ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม SSF
– เงินลงทุนในหุ้น หรือการเป็นหุ้นส่วนเพื่อจัดตั้ง หรือเพิ่มทุนบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับจดทะเบียนวิสาหกิจเพื่อสังคม และได้จดแจ้งการเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม

3. ค่าลดหย่อน/ยกเว้น จากสินทรัพย์และมาตรการนโยบายภาครัฐ
– ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย
– เงินบริจาคพรรคการเมือง
– ค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร

4. เงินบริจาค
– เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษา/สถานพยาบาล/สภากาชาดไทย/อื่นๆ
– เงินบริจาค

ขั้นตอนที่ 4 ตรวจสอบข้อมูล

ตรวจสอบข้อมูลเงินได้และรายการลดหย่อนทั้งหมด ระบบจะคำนวณการเสียภาษีมาให้ หากชำระภาษีไปแล้ว ก็จะมียอดที่ชำระไว้เกินปรากฏ

หากต้องการขอคืนภาษี กด “ต้องการขอคืน” หรือ “ไม่ต้องการ” และสามารถเลือกอุดหนุนเงินภาษีให้แก่พรรคการเมืองได้อีกด้วย

ขั้นตอนที่ 5 ยืนยันข้อมูล

เมื่อกรอกแบบ ภ.ง.ด. 91, ภ.ง.ด. 90 เรียบร้อยแล้ว สามารถเลือกพิมพ์แบบ บันทึกร่าง หรือกดยืนยันเพื่อส่งแบบยื่นภาษี 2564 ได้ทันที หากต้องการขอคืนภาษี ก็เลือกช่องทางโอนเข้าพร้อมเพย์ หรือตามวิธีในประกาศแต่ละปีของกรมสรรพากร

ยื่นภาษี 2564 หมดเขตเมื่อไหร่

การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในแต่ละปีจะเปิดให้ยื่นช่วง 1 มกราคม – 31 มีนาคม สำหรับปี 2565 นี้ ยื่นได้ถึงวันที่ 8 เมษายน 2565 ยกเว้นจะมีสถานการณ์พิเศษอื่นๆ ที่ทำให้ต้องประกาศเลื่อนการยื่นภาษีออกไป ติดตามได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร