วันสงกรานต์ วันผู้สูงอายุ อย่าลืมดูแลกว่า 8 แสนคนอยู่คนเดียว




วันผู้สูงอายุ ตรงกับวันสงกรานต์ 13 เมษายนของทุกปี ซึ่งผู้สูงอายุหลายคนมีลูกหลานมาหามารดน้ำขอพรอย่างอบอุ่น แต่อีกจำนวนมากเป็นผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว โดดเดี่ยวและเดียวดายทุกวัน น่าเป็นห่วงทั้งความปลอดภัยในการใช้ชีวิตอยู่คนเดียว และในด้านของสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ

10 จังหวัดผู้สูงวัยอยู่คนเดียวมากที่สุด

ข้อมูลจากการสำรวจสถิติย้อนหลัง ที่รายงานอยู่ในเว็บไซต์ของสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ได้ระบุถึงจำนวนผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว หรืออยู่ลำพัง รวบรวมล่าสุดไว้เมื่อปี 2563 พบว่า มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่อยู่คนเดียวทั่วประเทศ 6.84 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด เมื่อลองคำนวณแล้วพบว่ามีจำนวน 806,923 คน จากจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด 11,627,130 คน หรือเท่ากับว่าผู้สูงอายุ 100 คน มีเกือบ 7 คนที่อยู่คนเดียว

จังหวัดที่มีผู้สูงอายุมากที่สุดคือกรุงเทพมหานคร 1,108,219 คน และมีผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว 60,398 คน แม้จะมีสัดส่วนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ แต่ในเมืองใหญ่ที่แสนจะคึกคักด้วยประชากรกว่า 5 ล้านคน การอยู่คนเดียวสำหรับบางคนนั้นสุดแสนจะเหงาอย่างแน่นอน

ภาพกราฟิกโดย Sathit Chuephanngam

ส่วนเมืองใหญ่ที่เป็นจังหวัดท่องเที่ยวอย่างเชียงใหม่ ที่มักคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีผู้สูงอายุรวม 349,755 คน น้อยกว่ากรุงเทพฯ 3 เท่า แต่มีผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวมากถึง 33,227 คน หรือ 100 คน มีถึงเกือบ 10 คนที่อยู่คนเดียว สัดส่วนพอๆ กับบุรีรัมย์ ซึ่งมีผู้สูงอายุในระดับกว่า 2 หมื่นคน และยังมีนครราชสีมา ศรีสะเกษ นครศรีธรรมราช ขอนแก่น ส่วนจังหวัดที่มีจำนวนมากกว่า 1 หมื่นคนที่อยู่ในท็อป 10 คือ อุดรธานี อุบลราชธานี และชลบุรี

ผลกระทบด้านสุขภาพจิตของผู้สูงวัยที่อยู่คนเดียว

ผลวิจัยจากกรมสุขภาพจิต เผยว่าในช่วงสงกรานต์ผู้สูงอายุที่อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป มักมีอาการ “เหงาเฉียบพลัน” เนื่องจากหลายคนมักจะคาดหวังว่ามีลูกหลานมาเยี่ยมเยียนในเทศกาลนี้ อาการที่พบคือมีความรู้สึกโดดเดี่ยว น้อยใจ หงุดหงิด นอนไม่หลับ เศร้า รู้สึกว่าตนเองไม่มีความสำคัญ ไม่มีใครคิดถึง ไม่มีใครรัก ซึ่งอาการนี้สามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่พบได้บ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุที่ลูกหลานไม่ได้กลับมาเยี่ยมบ้าน เป็นกลุ่มเสี่ยงเกิดสูงที่สุด

จากงานวิจัย พบว่าผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้น จะเผชิญกับอาการความเหงาเฉียบพลันได้ 1 ใน 10 คน หากอายุมากกว่า 80 ปีขึ้นไป จะพบได้สูงถึง 1 ใน 2 คน หากปล่อยไว้โดยไม่แก้ไขจะกลายเป็น ความเหงาเรื้อรัง (Chronic loneliness) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโรคซึมเศร้า และเป็นปัจจัยเสี่ยงการเจ็บป่วยทางจิตใจที่ส่งผลเกิดโรคทางกายหลายโรค เช่น ความดันโลหิตสูง ภูมิต้านทานต่ำลง การนอนผิดปกติ ติดเหล้า โรคอ้วน การตายก่อนวัยอันควร ดังนั้นลูกหลานจึงไม่ควรมองข้าม

สอดคล้องกับผลวิจัยจากสำนักสถิติที่พบว่าผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวส่วนใหญ่ 53.8 เปอร์เซ็นต์ มักมีปัญหาความรู้สึกเหงาและว้าเหว่ รองลงมา 26.5 เปอร์เซ็นต์ มีปัญหาไม่มีคนดูแลยามเจ็บป่วย และอีก 15.3 เปอร์เซ็นต์ ประสบปัญหาต้องเลี้ยงชีพด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากการที่ลูกหลานต้องแยกย้ายไปทำงานที่จังหวัดอื่น จึงทำให้ไม่มีผู้ดูแล

วิธีรับมือกับปัญหาผู้สูงวัยที่อยู่คนเดียว

สำหรับลูกหลานที่จำเป็นต้องออกจากบ้านไปทำงานต่างเมือง จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้พ่อแม่หรือผู้สูงวัยที่บ้านต้องอาศัยอยู่ตามลำพัง และเกิดความคาดหวังให้ลูกหลานกลับบ้านมาเยี่ยมในช่วงสงกรานต์ ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้มีคำแนะนำแก่ลูกหลานเพื่อรับมือกับปัญหาสุขภาพจิตของผู้สูงวัยไว้ดังนี้

  1. ให้นึกอยู่เสมอว่ามีคนรอคอยอยู่ที่บ้าน
  2. ใช้เวลาแห่งความสุขที่อยู่ร่วมกันอย่างมีคุณค่า
  3. หากิจกรรมที่สามารถทำร่วมกันได้ทุกวัย
  4. หากไม่สามารถกลับมาอยู่กับครอบครัวได้ อย่าเงียบเฉย ให้ติดต่อกลับบ้านพูดคุยไต่ถามสารทุกข์สุกดิบซึ่งกันและกัน ไม่ให้ผู้สูงวัยรู้สึกว่าตนเองไร้ค่าและโดดเดี่ยว

ขณะเดียวกัน ผู้สูงวัยที่อยู่คนเดียวก็ควรมีวิธีเยียวยาจิตใจคลายความเหงาด้วยตนเองด้วยเช่นกัน นั่นคือ

  1. เข้าใจความจำเป็นที่ลูกหลานไม่สามารถกลับมาเยี่ยมในช่วงสงกรานต์
  2. ไม่เปรียบเทียบกับครอบครัวอื่น
  3. พยายามอย่าอยู่คนเดียวหรือคิดหมกมุ่น น้อยใจ
  4. ทำกิจกรรมที่ชื่นชอบหรือเข้าร่วมกิจกรรมวันสงกรานต์ของชุมชน จะช่วยให้คลายความเหงาได้
  5. หากมีความทุกข์ใจ หรือไม่สบายใจ สามารถติดต่อปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต โทร. 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

ด้วยสภาพสังคมในปัจจุบันที่ต้องบีบคั้นให้ลูกหลานวัยทำงานออกไปหาเลี้ยงชีพเพื่อมีรายได้มาจุนเจือครอบครัว ดังนั้นทั้งลูกหลานและผู้สูงอายุเองต่างก็จำเป็นต้องทำความเข้าใจและปรับตัวเข้าหากัน เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขด้วยกันทั้งสองฝ่าย

ข้อมูลอ้างอิง: สภาพัฒน์, สำนักงานสถิติ และกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข