รู้จัก “พาร์กินสัน โรคที่มีมากกว่าอาการสั่น” (ตอน 1)




ปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ร่างกายมีความเสื่อมตามไปด้วย และโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ก็เพิ่มขึ้นไปด้วย จนบางครั้งความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุในบ้านของเรา ทำให้ผู้ดูแลเข้าใจว่าเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นตามอายุ แต่ในความเป็นจริงแล้ว นั่นอาจเป็นอาการเริ่มต้นของ “โรคพาร์กินสัน” ซึ่งหากสามารถตรวจพบ วินิจฉัย และรักษาได้เร็ว ก็จะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพ คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และวันนี้เราจะพาไปรู้จักโรคนี้กัน

โรคพาร์กินสัน คือ อะไร?

“โรคพาร์กินสัน” เป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมของเซลล์ประสาทบริเวณก้านสมองส่วนบน จากการที่สารสื่อประสาทโดปามีน ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายให้เป็นไปอย่างคล่องแคล่ว มีการทำงานผิดปกติ จึงส่งผลให้เกิดปัญหาต่อการเคลื่อนไหว ได้แก่ การเคลื่อนไหวช้า มือสั่น มีอาการเกร็ง นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อเซลล์ประสาทอื่นๆ ในร่างกาย เช่น นอนหลับไม่สนิท ท้องผูก ฝันร้ายตอนกลางคืน ได้กลิ่นลดลง เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงของโรคคือ พบในคนอายุ 60 ปีขึ้นไป พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง และจะพบมากเป็น 3 เท่า เมื่ออายุ 80 ปีขึ้นไป ในเรื่องของพันธุกรรมอาจจะมีส่วนบ้างเล็กน้อย แต่บทบาทของพันธุกรรมจะเด่นชัดกว่าในโรคพาร์กินสันที่เริ่มเป็นเมื่ออายุน้อย ซึ่งพบได้น้อยกว่าชนิดทั่วไปที่เริ่มเป็นเมื่ออายุมาก

โรคพาร์กินสันมีทั้งหมด 5 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 ผู้ป่วยส่วนมากมักจะไม่มีอาการใดๆ แสดงให้เห็นในระยะนี้ ผู้ป่วยยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เดินเหินได้ตามปกติ
ระยะที่ 2 ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการแกว่งแขนช้าลงขณะก้าวเดิน โดยอาจจะเริ่มเป็นที่ข้างใดข้างหนึ่ง เริ่มมีอาการเดินได้ช้าลง
ระยะที่ 3 ผู้ป่วยมีอาการหลังค่อม การก้าวเดินเริ่มติดขัด ก้าวขาได้ไม่สม่ำเสมอ มีโอกาสหกล้มได้ง่าย เวลาลุกยืนจะลำบาก
ระยะที่ 4 ผู้ป่วยจะมีปัญหาการเดินมากขึ้น โดยจะเดินแล้วหยุดมากขึ้น โดยเฉพาะเวลาเลี้ยว เปลี่ยนทิศทาง จะเคลื่อนไหวอย่างช้าๆ ร่วมกับมีอาการเกร็ง และสั่นมากขึ้น
ระยะที่ 5 ผู้ป่วยจะมีอาการเกร็งทั้งตัว จนไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ ต้องนั่งรถเข็น และในที่สุดก็กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง

อาการแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

อาการที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวผิดปกติ กล่าวคือ มีอาการเคลื่อนไหวช้า แขนสั่น ขาสั่น กล้ามเนื้อแขนขาเกร็ง อาจจะเป็นข้างใดข้างหนึ่งมากกว่าอีกข้างหนึ่งก็ได้ บางคนจะเป็น 2 ข้าง บางคนก็เป็นข้างเดียว เมื่อโรคดำเนินไประยะหนึ่ง ผู้ป่วยจะสูญเสียการทรงตัว และส่งผลให้ล้มได้

ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันส่วนมากจะมีอาการสั่น แต่ไม่ใช่ทุกราย พบผู้ป่วย 1 ใน 3 ที่ไม่มีอาการสั่น แต่มาด้วยอาการเคลื่อนไหวช้า เป็นอาการสำคัญที่เป็นหลัก

อาการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว ได้แก่ ท้องผูก ฝันร้ายตอนกลางคืน ได้กลิ่นลดลง นอนหลับไม่สนิท แต่เมื่อโรคดำเนินมาระยะหนึ่งแล้ว พบว่าผู้ป่วยบางรายมีอาการที่เกี่ยวข้องระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ความดันโลหิตตกเวลาเปลี่ยนจากท่านอนเป็นท่านั่งหรือยืน นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นๆ ได้แก่ ความจำลดลง กลืนอาหารลำบาก สำลัก มีอาการซึมเศร้า วิตกกังวล เป็นต้น

การวินิจฉัย

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคพาร์กินสันจากการซักประวัติและตรวจร่างกายเป็นหลัก ซึ่งการตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ ไม่ได้มีความจำเป็น ยกเว้นว่าผู้ป่วยมีอาการอื่นๆ ที่อาจสงสัยว่าจะเป็นโรคอื่น หรือเกิดจากสาเหตุอื่นที่มีอาการคล้ายพาร์กินสัน จึงจะส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัยต่อไป

อันตรายและภาวะแทรกซ้อน

หากโรคพาร์กินสันดำเนินไปถึงระยะที่ 3 แล้ว ผู้ป่วยจะมีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวและการทรงตัวค่อนข้างมาก ทำให้เสี่ยงต่อการหกล้ม ส่วนอาการอื่นๆ อย่างการกลืนลำบาก ส่งผลให้ผู้ป่วยสำลัก และเสี่ยงต่อการเกิดปอดติดเชื้อตามมา นอกจากนี้อาการนอนหลับไม่สนิท การเห็นภาพหลอน ก็อาจส่งผลกระทบต่อผู้ดูแลด้วยเช่นกัน

การรักษา แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ

1. การรักษาโดยใช้ยา

เป้าหมายของการใช้ยา เพื่อไปทดแทนสารสื่อประสาทโดปามีน ซึ่งจะช่วยให้อาการเกร็งแขนขาลดลง และทำให้การเคลื่อนไหวดีขึ้น โดยยาหลักที่ใช้คือ “ลีโวโดปา (Levodopa)” ซึ่งจะดูดซึมเข้าสู่ประสาทส่วนกลางแล้วเปลี่ยนเป็นโดปามีน ผู้ป่วยพาร์กินสันจะมีการตอบสนองที่ดีต่อยาลีโวโดปา ทำให้เคลื่อนไหวได้ดี การเกร็งลดลง เมื่อรับประทานยาไประยะหนึ่ง ผู้ป่วยอาจมีการตอบสนองต่อยาไม่สม่ำเสมอ แพทย์ก็จะปรับยาให้เหมาะสม

2. การรักษาโดยไม่ใช้ยา ได้แก่

การผ่าตัด โดยการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าเข้าไปที่สมอง ซึ่งไม่ได้มีประโยชน์ในผู้ป่วยพาร์กินสันทุกราย ส่วนมากจะใช้ในผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ คือ

– ผู้ป่วยที่มีการตอบสนองต่อยาลีโวโดปาไม่สม่ำเสมอ ที่ยังเป็นมากหลังจากปรับยาแล้ว
– มีอาการสั่นมาก หลังรักษาด้วยยาอย่างเหมาะสมแล้ว

“โรคพาร์กินสัน” เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งการทำกายภาพบำบัด หรือการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ก็จะช่วยชะลอการดำเนินโรคไม่ให้แย่ลงไปกว่าเดิม และทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

ยังมีเรื่องราวของ “การออกกำลังกายในผู้ป่วยพาร์กินสัน” ซึ่งเป็นหนึ่งในการรักษาโดยไม่ใช้ยา รอติดตามบทความนี้ได้ในสัปดาห์หน้า

_____________________________________________________

แหล่งข้อมูล
อ.นพ.พิเชฐ เติมสารทรัพย์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ และ อ.พญ.พีรยา รุธิรพงษ์ ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล