รู้จักโรคพฤติกรรมการกินผิดปกติ พร้อมสาเหตุ อาการ และผลข้างเคียง




ด้วยกระแสโลกโซเชียลที่ผู้คนมักจะชอบถ่ายรูปของตนเองลงสื่อออนไลน์เป็นกิจวัตร จึงทำให้คนจำนวนมากหันมาสนใจรูปลักษณ์ภายนอกของตัวเองกันมากขึ้น แต่บางคนก็กังวลมากจนส่งผลให้กลายเป็นโรคพฤติกรรมการกินผิดปกติ (Eating Disorders) ที่มีความสัมพันธ์กับสภาวะจิตใจ ทำให้มีน้ำหนักตัวที่มากหรือน้อยกว่าปกติ รวมทั้งยังก่อให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมา เช่น โรคขาดสารอาหาร โรคที่เกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร โรคที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมน โรคกระดูกพรุน โรคหัวใจ และหลอดเลือด ซึ่งหากมีความรุนแรงมากและไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เสียชีวิตได้

ทั้งนี้ โรคพฤติกรรมการกินผิดปกติ (Eating Disorders) แบ่งออกเป็นหลายชนิด ซึ่งมีอาการและส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพที่ต่างกันออกไปด้วย

โรคบูลิเมีย (Bulimia Nervosa)

เป็นโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติทางการกิน ผู้ป่วยจะรับประทานอาหารปริมาณมากตามด้วยการกำจัดอาหารที่เพิ่งรับประทานเข้าไปไม่ให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น โรคบูลิเมีย เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่มักจะพบบ่อยในกลุ่มวัยรุ่นเพศหญิง

สาเหตุ

มักมาจากการที่ผู้ป่วยไม่มีความมั่นใจในตัวเอง มีความกลัวอ้วน กังวลเรื่องแคลอรี และอาหาร โดยไม่มีเหตุผล แม้ว่าจะมีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติก็ตาม ทำให้ผู้ป่วยเข้มงวดในการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย มักจะเริ่มรับประทานไม่หยุดอีกเมื่อไม่สามารถทำตามที่ตนตั้งใจไว้ได้

ผู้ป่วยอาจมีอาการซึมเศร้า วิตกกังวล และมีโอกาสที่จะทำร้ายตัวเอง มีพฤติกรรมที่คาดเดาไม่ได้ และมีการใช้ยาหรือเสพติด เพื่อใช้พฤติกรรมเหล่านี้ในการรับมือกับปัญหาทางอารมณ์ แต่ภายหลังกลับกลายเป็นความคลั่งไคล้โดยที่ผู้ป่วยไม่สามารถบังคับได้

ลักษณะอาการ

ผู้ป่วยมักทำให้ตนเองอาเจียน ออกกำลังกายอย่างหนัก ใช้ยาระบาย ยาขับปัสสาวะ อาจอดอาหารและกำจัดปริมาณอาหาร

ปัญหาสุขภาพ

ส่งผลให้มีอาการคออักเสบ เจ็บคอ มีภาวะฟันสึก ต่อมน้ำลายบวม กรดไหลย้อน เส้นเลือดอุดตัน มีภาวะการขาดน้ำและเกลือแร่ในร่างกายขาดสมดุลซึ่งนำมาสู่ภาวะหัวใจวายได้

โรคคลั่งผอม (Anorexia nervosa)

ผู้ป่วยจะมีความกังวลเกี่ยวกับรูปร่างของตนเองกลัวว่าจะอ้วนเกินไป เกิดขึ้นได้ทั้งคนที่เคยมีปัญหาเรื่องรูปร่างและคนที่มีรูปร่างผิดปกติอยู่แล้ว โดยพยายามควบคุมน้ำหนักให้ต่ำลงเรื่อยๆ กระทั่งรูปร่างของผู้ป่วยจะผอมมากจนเห็นได้ชัด

สาเหตุ

มาจากหลายปัจจัยด้วยกัน ทั้งจากพันธุกรรม ความผิดปกติของสมอง และสารสื่อประสาทในสมองที่ควบคุมเรื่องการกิน ความหิว ความอิ่ม ที่มีการทำงานผิดปกติไป ซึ่งอาจเกิดจากยีนร่วมกับสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ผู้ป่วยมักมีความคิดว่าตนเองยังไม่ดีพอ คลั่งไคล้ความสมบูรณ์แบบ เมื่อรู้สึกว่ารูปร่างยังไม่ดีพอ จึงต้องพยายามลดน้ำหนักมากกว่าปกติ เพื่อให้รูปร่างสมบูรณ์แบบที่สุด เมื่อผอมลงแล้วจะรู้สึกภูมิใจในความสำเร็จนั้น และจะลดน้ำหนักไปเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าผอมมากเกินไปแล้วก็ตาม

ลักษณะอาการ

ผู้ป่วยมักจะคิดว่าตัวเองอ้วนแม้จะผอมมากก็ตาม ชั่งน้ำหนักอยู่ตลอด บริโภคอาหารในปริมาณที่กำจัด โดยโรคคลั่งผอมแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ อดอาหารหรือออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว และอดอาหารหรือออกกำลังกายร่วมกับการกระตุ้นให้อาเจียนออกมา

ปัญหาสุขภาพ

ผู้ป่วยโรคคลั่งผอมมักจะมีปัญหาเรื่องกระดูกเปราะบาง ร่างกายอ่อนแอ ภาวะโลหิตจาง ผมขาดง่ายเล็บเปราะ ความดันต่ำ ส่งผลกระทบต่อหัวใจและสมอง

โรคกินไม่หยุด (Binge eating disorder)

ผู้ป่วยจะทานอาหารปริมาณมากผิดปกติโดยไม่สามารถควบคุมตนเองได้ มักมีการรับประทานอาหารปริมาณผิดปกติแม้จะยังไม่รู้สึกหิว และไม่สามารถควบคุมการรับประทานของตนเองได้ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีน้ำหนักที่เกินหรืออ้วน

สาเหตุ

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคนี้ แต่คาดว่าเกิดจากหลายปัจจัย และโรคนี้สามารถเกิดได้กับคนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นตอนปลายหรือช่วงอายุ 20 ตอนต้น ซึ่งการรักษาและการบำบัดจะแตกต่างกันไปตามปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคขึ้น ทั้งนี้ การรับประทานอาหารปริมาณมากเกินความพอดีอยู่บ่อยครั้งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้ป่วยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ลักษณะอาการ

มักจะมี 3 อย่างขึ้นไป เช่น กินเร็วกว่าปกติ กินจนรู้สึกแน่นไม่สบายตัว กินเยอะมากทั้งที่ไม่รู้สึกหิว รู้สึกรังเกียจตัวเอง ซึมเศร้า รู้สึกผิดมากหลังจากกิน กินคนเดียวเพราะรู้สึกอายที่กินเยอะ ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีพฤติกรรมกินไม่หยุดอย่างน้อย 1 ครั้ง/สัปดาห์ เป็นเวลา 3 เดือน และมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

ปัญหาสุขภาพ

เป็นโรคที่เกี่ยวกับถุงน้ำดี โรคหัวใจ คอเลสเตอรอลสูง ความดันโลหิตสูง มีระดับไตรกลีเซอร์ไรด์สูง

แนวทางการรักษาโรคพฤติกรรมการกินผิดปกติ (Eating Disorders)

หากคิดว่าตนเองหรือคนใกล้ตัวมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคพฤติกรรมการกินผิดปกติ ควรปรึกษาจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ ตรวจร่างกายและตอบคำถามเกี่ยวกับนิสัยการกิน สุขภาพจิต รูปร่าง และความรู้สึกต่ออาหาร เพื่อไปสู่ขั้นตอนการรักษา

ทั้งนี้การบำบัดโรคพฤติกรรมการกินผิดปกติมีทั้งด้านการบริโภค โดยมีนักโภชนาการที่สามารถให้คำปรึกษาได้ การใช้ยาบางชนิดจะช่วยควบคุมความอยากอาหาร ซึ่งจะได้ผลเมื่อทำควบคู่ไปกับการรักษาแบบอื่นๆ เช่น การรักษาด้านสุขภาพจิตของผู้ป่วย ซึ่งคนในครอบครัวและคนใกล้ชิดควรทำความเข้าใจและให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยในการรักษา

ข้อมูลอ้างอิง: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข